คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4833/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามสัญญาข้อ19(3)กำหนดไว้ว่าจำเลยจะเรียกค่าใช้จ่ายในการควบคุมงานได้ต่อเมื่อจำเลยต้องจ้างผู้ควบคุมงานอีกต่อหนึ่งแต่ข้อเท็จจริงได้ความว่าด. ผู้ควบคุมงานก่อสร้างคนแรกและส. ผู้ควบคุมงานก่อสร้างคนต่อมาต่างเป็นลูกจ้างของจำเลยเองจำเลยไม่ต้องจ้างผู้ควบคุมงานอีกต่อหนึ่งฉะนั้นจำเลยจึงไม่มีสิทธิเรียกเงินค่าควบคุมงานตามสัญญาข้อ19(3) ตามสัญญาข้อ20มีข้อความว่า”ถ้าผู้ว่าจ้างบอกเลิกสัญญาแล้วผู้รับจ้างยอมให้ผู้ว่าจ้างดำเนินการดังต่อไปนี้ (1)ริบหลักประกันสัญญาดังกล่าวในสัญญาข้อ3 (2)ยินยอมให้ผู้ว่าจ้างเรียกเอาค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นเพราะจ้างบุคคลอื่นทำการนี้ต่อไปจนงานแล้วเสร็จบริบูรณ์ (3)เรียกเอาค่าใช้จ่ายในการควบคุมงานในเมื่อผู้ว่าจ้างต้องจ้างผู้ควบคุมงานนั้นอีกต่อหนึ่งจนงานแล้วเสร็จบริบูรณ์ (4)เรียกค่าเสียหายอันพึงมีจากผู้รับจ้าง”ตามข้อสัญญาดังกล่าวเห็นได้ว่าการที่โจทก์ยอมให้จำเลยเรียกเอาค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นหรือค่าใช้จ่ายในการควบคุมงานซึ่งจำเลยว่าจ้างบุคคลอื่นให้ทำการต่อไปภายหลังที่จำเลยบอกเลิกสัญญาจนงานแล้วเสร็จบริบูรณ์นั้นแสดงว่าโจทก์จำเลยมีเจตนาจะให้โจทก์ต้องรับผิดสำหรับค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นตามสัญญาข้อ20(2)ต่อเมื่อจำเลยดำเนินการจ้างบุคคลอื่นทำการก่อสร้างต่อไปจนงานแล้วเสร็จบริบูรณ์ตามโครงการเสียก่อนเพื่อจะได้ทราบว่าค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นซึ่งโจทก์ต้องรับผิดนั้นมีจำนวนเท่าใดเพราะกรณีของโจทก์จำเลยในคดีนี้ค่าถมทรายราคาขึ้นลงไม่แน่นอนเมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าหลังจากจำเลยบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์จำเลยได้ว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดน. ก่อสร้างเขื่อนและถมทรายหลังเขื่อนต่อจากโจทก์ห้างหุ้นส่วนดังกล่าวถมทรายได้บางส่วนแล้วจำเลยให้หยุดและจำเลยไม่ได้จ้างบุคคลอื่นทำการถมทรายต่อจนแล้วเสร็จบริบูรณ์ตามโครงการจำเลยจึงยังไม่ได้ปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วนตามสัญญาข้อ20(2)จำเลยย่อมไม่มีสิทธิเรียกเอาค่าจ้างในส่วนราคาทรายที่เพิ่มขึ้นจากโจทก์ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2530 จำเลยทำสัญญาจ้างโจทก์ก่อสร้างเขื่อนคันดิน เขื่อนไม้ระบายน้ำ และถมทรายหลังเขื่อนคันดินที่อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ในราคา9,200,000 บาท โดยจำเลยตกลงจ่ายค่าจ้างให้โจทก์เป็นงวดและกำหนดให้งานแล้วเสร็จภายในวันที่ 17 มีนาคม 2531 ในวันทำสัญญาโจทก์ได้นำหนังสือค้ำประกันของธนาคารนครหลวงไทย จำกัด สาขาราชดำเนินจำนวนเงิน 460,000 บาท มอบไว้แก่จำเลยเป็นประกันการปฏิบัติตามสัญญา โจทก์ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาให้เสร็จภายในกำหนดได้เนื่องจากหุ้นส่วนผู้จัดการของโจทก์ถึงแก่ความตาย ภายหลังทำสัญญาเพียง 2 วัน ทำให้โจทก์มีเหตุขัดข้องในการบริหารงาน ต่อมาโจทก์ได้จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงหุ้นส่วนผู้จัดการใหม่เป็นนายอนันต์ ลีลาสิริวรนนท์ โจทก์ใช้เวลาจัดการเรื่องต่าง ๆข้างต้นประมาณ 45 วัน นอกจากนี้โจทก์ไม่สามารถนำทรายทะเลจากแม่น้ำปากพนังมาถมสถานที่รับจ้างตามสัญญาเพราะการเอาทรายดังกล่าวมาถมจะต้องขออนุญาตต่อทางราชการก่อน แต่จำเลยหาได้ขออนุญาตไม่ โจทก์จึงต้องขออนุญาตเอง ทำให้เสียเวลาเกือบ 6 เดือน อีกทั้งจำเลยมีคำสั่งให้โจทก์เปลี่ยนแปลงแบบก่อสร้างแนวคันดินและบริเวณที่จะถมทรายตามสัญญาจ้างเดิมทำให้โจทก์เสียเวลาและเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในส่วนนี้ 250,000 บาทและเสียค่าใช้จ่ายในการขุดคันดินเป็นเงิน 300,000 บาทการเปลี่ยนแปลงแบบดังกล่าวทำให้โจทก์ต้องนำเรือขนทรายเข้ามาขนถ่ายทรายออกจากที่ถมไว้เดิมไปถมที่ใหม่ห่างจากที่เดิม 42 เมตรซึ่งเป็นงานนอกเหนือสัญญาจ้างเดิม และเสียค่าใช้จ่ายในการขุดลอกเพิ่มขึ้น 650,000 บาท โจทก์ต้องใช้รถยนต์บรรทุกลำเลียงทรายไปไกลกว่าเดิมมากต้องเสียค่าใช้จ่ายในส่วนนี้อีกประมาณ650,000 บาท อีกทั้งในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม 2530เกิดฝนตกหนัก ทำให้การทำงานของโจทก์ล่าช้าถึง 55 วัน เหตุดังกล่าวทำให้โจทก์มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 1,700,000 บาท และต้องใช้เวลาทำงานเพิ่มขึ้นประมาณ 230 วัน โจทก์ขอต่ออายุสัญญาจ้างออกไปอีกพร้อมทั้งขอให้ชดเชยค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น จำเลยตกลงต่ออายุสัญญาให้โจทก์เพียง 61 วัน นับแต่วันที่ 17 มีนาคม 2531ส่วนค่าชดเชยนั้นให้โจทก์ไปตกลงกับจำเลยภายหลัง ในระหว่างเจรจานั้นโจทก์ยังคงปฏิบัติงานตามสัญญาจ้างเรื่อยมาโดยจำเลยมิได้ทักท้วงทั้งที่กำหนดเวลาก่อสร้างตามสัญญาจ้างได้สิ้นสุดแล้วต่อมาเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2531 โจทก์แจ้งให้จำเลยทราบว่าโจทก์ได้ทำเขื่อนคันดินมีความยาวไม่น้อยกว่า 1,300 เมตรอันเป็นงานบางส่วนเสร็จแล้ว ขอให้จำเลยส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจงานและชำระค่าจ้างตามผลงานให้โจทก์ แต่จำเลยบิดพลิ้ว ต่อมาจำเลยได้แจ้งว่างานที่โจทก์ทำนั้นไม่ถูกต้องตามสัญญาจ้างและบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ การที่โจทก์ทำงานไม่เสร็จตามกำหนดเวลามิใช่ความผิดของโจทก์ การเลิกสัญญาทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยต้องรับผิดใช้ค่าแห่งผลงานที่โจทก์ทำไปแล้ว คือ เขื่อนคันดินและเขื่อนไม้กันคันดินยาว 1,685 เมตร เป็นเงิน 400,000 บาทโครงเหล็กสำหรับเครื่องขึ้นทรายพร้อมทั้งอุปกรณ์เป็นเงิน700,000 บาท ค่าจ้างขุดร่องเทียบเรือตักทราย 3,400 ลูกบาศก์เมตรกับฐานรากรับโครงเหล็กเป็นเงิน 250,000 บาท และค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการที่จำเลยเปลี่ยนแปลงแนวคันดินและบริเวณที่จะถมทรายเป็นเงิน 1,550,000 บาท รวมเป็นค่าแห่งผลงานทั้งสิ้น2,900,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 2,900,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยคืนหนังสือสัญญาค้ำประกันของธนาคารนครหลวงไทย จำกัด สาขาราชดำเนิน เลขที่ อาร์ดีเอ็น.92/2530 ฉบับลงวันที่ 9 กันยายน 2530 จำนวนเงิน 460,000 บาทให้แก่โจทก์
ระหว่างพิจารณา จำเลยยื่นคำร้องพร้อมคำให้การและฟ้องแย้งขอให้เรียกนายอนันต์ ลีลาสิริวรนนท์ เข้าเป็นโจทก์ร่วมศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่สามารถปฏิบัติงานให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาตามสัญญาเพราะความผิดของโจทก์การที่หุ้นส่วนผู้จัดการของโจทก์ถึงแก่กรรมไม่เป็นเหตุขัดข้องในการปฏิบัติงานตามสัญญา จำเลยไม่มีหน้าที่ขออนุญาตขุดทรายต่อทางราชการให้โจทก์ ต่อมาจำเลยได้เปลี่ยนแปลงแบบก่อสร้างแนวการถมทรายใหม่โดยเลื่อนออกจากแนวเดิมประมาณ 42 เมตรส่วนปริมาณทรายที่ใช้ถมจำนวน 222,000 ลูกบาศก์เมตร ราคาค่าก่อสร้างและระยะเวลาในการก่อสร้างเท่าเดิม จำเลยได้แจ้งและส่งแบบแปลนกำหนดแนวก่อสร้างใหม่ให้โจทก์ทราบ ซึ่งโจทก์ได้ตกลงในการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว และได้ก่อสร้างตามแนวคันดินใหม่ที่จำเลยขอให้เปลี่ยนแปลงแล้ว การเปลี่ยนแปลงแนวคันดินใหม่ไม่ทำให้โจทก์เสียเวลาและเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด เพราะจำเลยได้พิจารณาต่อสัญญาให้โจทก์รวม 61 วัน และได้พิจารณาจ่ายเงินชดเชยค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างแนวคันดินเดิมที่โจทก์ได้ก่อสร้างไปแล้วจำนวน 155,000 บาท โจทก์มิได้รื้อถอนหรือทำความสะอาดคันดินตามสัญญาเดิมที่โจทก์ก่อสร้างไปแล้ว จึงมิได้เสียเวลาหรือค่าใช้จ่ายจำนวน 300,000 บาท นอกจากนี้โจทก์ยังมิได้เริ่มถมทรายมิได้นำเรือขนทรายเข้ามาขนถ่ายทรายออกจากที่ถมไว้เดิมเพื่อไปถมที่ใหม่ โจทก์จึงมิได้เสียเวลาหรือค่าใช้จ่ายจำนวน 650,000 บาททั้งโจทก์มิได้ใช้รถยนต์บรรทุกทรายใด ๆ จึงมิได้เสียเวลาหรือค่าใช้จ่ายอีกเป็นจำนวน 650,000 บาท การที่โจทก์หยุดก่อสร้างเนื่องจากความผิดของโจทก์ที่ปล่อยปละละเลยไม่พยายามก่อสร้างหรือเร่งรัดให้แล้วเสร็จตามสัญญา โจทก์ได้ก่อสร้างเขื่อนคันดินยาวไม่น้อยกว่า 1,300 เมตร อันเป็นงานก่อสร้างตามสัญญางวดที่ 1แต่ได้ส่งมอบงานล่าช้าล่วงเลยวันแล้วเสร็จตามสัญญาที่จำเลยต่ออายุให้ถึงวันที่ 17 พฤษภาคม 2531 เป็นเวลา 27 วันโจทก์ต้องเสียเงินค่าปรับและค่าควบคุมงานวันละ 9,450 บาทรวมเป็นเงิน 255,150 บาท จำเลยยังมิได้จ่ายเงินค่าก่อสร้างงวดที่ 1 จำนวน 400,000 บาท ให้โจทก์ตามสัญญา เพราะโจทก์ตกเป็นผู้ผิดสัญญาและจำเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีจำเลยได้คืนหนังสือค้ำประกันให้ธนาคารนครหลวงไทย จำกัดสาขาราชดำเนิน ผู้ค้ำประกันไปแล้ว การที่โจทก์ผิดสัญญาเป็นเหตุให้จำเลยต้องว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดนครทวีกิจก่อสร้างงานที่เหลือคือเขื่อนคันดินและเขื่อนไม้ระบายน้ำจนแล้วเสร็จแต่ในส่วนของการถมทรายหลังเขื่อนคันดินที่เคยว่าจ้างโจทก์ถมทรายให้จำนวน 222,000 ลูกบาศก์เมตร ไม่อาจทำได้เนื่องจากราคาทรายเพิ่มขึ้น สามารถถมทรายได้เพียง 97,191 ลูกบาศก์เมตร โจทก์จึงต้องรับผิดใช้เงินค่าเสียหายที่ทรายขาดไปจำนวน 124,809 ลูกบาศก์เมตรค่าถมทรายลูกบาศก์เมตรละ 83.50 บาท เป็นเงิน 10,421,551.50 บาทแต่เนื่องจากเดิมจำเลยว่าจ้างโจทก์ถมทรายจำนวน 222,000 ลูกบาศก์เมตรในราคา 8,639,320 บาท จำเลยจึงต้องจ่ายเงินค่าถมทรายเพิ่มขึ้น9,897,680 บาท ส่วนค่าก่อสร้างเขื่อนคันดินและเขื่อนไม้ระบายน้ำจำเลยว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างเป็นเงิน 598,700 บาท เมื่อหักเงินค่าจ้างงวดแรกจำนวน 400,000 บาท จึงเหลือเงินที่จะใช้ก่อสร้างเขื่อนคันดินและเขื่อนไม้ระบายน้ำจำนวน 189,700 บาท จำเลยว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดนครทวีกิจก่อสร้างในส่วนที่เหลือจากว่าจ้างโจทก์เป็นเงิน 144,551.50 บาท เหลือเงินค่าก่อสร้างจำนวน54,148.50 บาท เมื่อนำไปหักออกจากค่าทรายที่เพิ่มขึ้นจำนวน9,897,680 บาท จึงเป็นค่าเสียหายที่โจทก์จะต้องรับผิดต่อจำเลยจำนวน 9,843,531.50 บาท นอกจากนี้โจทก์ยังต้องชำระเงินค่าปรับในอัตราวันละ 9,200 บาท และค่าควบคุมงานในอัตราวันละ 250 บาทนับแต่วันที่ 18 พฤษภาคม 2531 อันเป็นวันผิดสัญญาจนถึงวันที่30 มิถุนายน 2531 ซึ่งเป็นวันบอกเลิกสัญญารวม 44 วัน เป็นเงิน415,800 บาท รวมเป็นเงินที่โจทก์ต้องชำระให้จำเลยจำนวน10,259,331.50 บาท เมื่อหักเงินค่าชดเชยในการก่อสร้างเขื่อนคันดินเดิมบางส่วนจำนวน 155,000 บาท เป็นเงินที่โจทก์ต้องชำระให้จำเลยทั้งสิ้น 10,104,331.50 บาท โจทก์ต้องชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2532 อันเป็นวันที่ครบกำหนดตามหนังสือบอกกล่าวจนถึงวันฟ้องเป็นเงิน107,963.96 บาท รวมเป็นเงินที่โจทก์ต้องรับผิดต่อจำเลยทั้งสิ้น10,212,295.46 บาท เนื่องจากโจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีโจทก์ร่วมเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดจึงต้องร่วมกับโจทก์รับผิดต่อจำเลย ขอให้ยกฟ้องโจทก์และบังคับให้โจทก์กับโจทก์ร่วมร่วมกันชำระเงินจำนวน 10,212,295.46 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาโจทก์ไม่ต้องรับผิดใช้ค่าจ้างในการที่จำเลยว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดนครทวีกิจก่อสร้างงานแทนโจทก์ และการที่จำเลยว่าจ้างห้างหุ้นส่วนดังกล่าวเป็นการกระทำที่ไม่สุจริต เพราะมิได้เปิดประมูลงานจ้างอย่างถูกต้องตามระเบียบของทางราชการ ทำให้ราคาทรายสูงกว่าปกติและสูงกว่าราคาเดิมถึงลูกบาศก์เมตรละ43.86 บาท เหตุที่ราคาค่าถมทรายเพิ่มขึ้นถึง 9,897,680 บาทเป็นความผิดของจำเลยเอง โจทก์มิได้ผิดสัญญาจึงไม่ต้องรับผิดในเงินค่าปรับและค่าควบคุมงานจำนวน 415,800 บาท ขอให้ยกฟ้องแย้ง
โจทก์ร่วมขาดนัดยื่นคำให้การแก้ฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 467,000 บาท ให้แก่โจทก์คำขออื่นให้ยก
จำเลย อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
จำเลย ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยฎีกาข้อแรกว่า ศาลล่างทั้งสองกำหนดเบี้ยปรับให้จำเลยวันละ 2,000 บาท น้อยเกินไป ข้อนี้นายมนัส เหมนุกูล พยานจำเลยเบิกความว่า โจทก์ทำงานไม่เสร็จทำให้จำเลยไม่อาจดำเนินงานต่อไปได้ตามแผนงานเดิม คือ อาคารแพปลาอาคารพาณิชย์พื้นที่ทำอุตสาหกรรมบางส่วน นอกจากนี้ดินบริเวณโครงการเป็นดินอ่อนสไลด์เข้าไปสู่บริเวณที่ถมทรายไว้ไม่เต็มเห็นว่า ตามคำเบิกความของพยานจำเลยดังกล่าวไม่ชัดแจ้งว่าจำเลยได้รับความเสียหายคิดเป็นเงินเท่าใด ฉะนั้นที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดเบี้ยปรับให้โจทก์ต้องชำระแก่จำเลยวันละ 2,000 บาทรวม 44 วัน เป็นเงิน 88,000 บาท จึงเหมาะสมแก่รูปคดีแล้ว
จำเลยฎีกาต่อไปว่า จำเลยมีสิทธิได้รับเงินค่าควบคุมงานตามสัญญาในอัตราวันละ 250 บาท นับแต่วันผิดสัญญาจนถึงวันบอกเลิกสัญญา รวม 44 วัน เห็นว่า ตามสัญญาเอกสารหมาย จ.3 ข้อ 19(3)กำหนดไว้ว่า จำเลยจะเรียกค่าใช้จ่ายในการควบคุมงานได้ต่อเมื่อจำเลยต้องจ้างผู้ควบคุมงานอีกต่อหนึ่ง แต่ข้อเท็จจริงได้ความตามที่จำเลยนำสืบว่า นายดิเรก คุโณปการวงศ์ ผู้ควบคุมงานก่อสร้างคนแรกและนายสุรพงษ์ เย็นใจ ผู้ควบคุมงานก่อสร้างคนต่อมาต่างเป็นลูกจ้างของจำเลยเอง จำเลยไม่ต้องจ้างผู้ควบคุมงานอีกต่อหนึ่ง ฉะนั้นจำเลยจึงไม่มีสิทธิเรียกเงินค่าควบคุมงานตามสัญญาข้อ 19(3)
จำเลยฎีกาข้อสุดท้ายว่า จำเลยควรได้รับค่าเสียหายจากราคาทรายที่เพิ่มขึ้น ในปัญหานี้ตามสัญญาเอกสารหมาย จ.3 ข้อ 20มีข้อความว่า “ถ้าผู้ว่าจ้างบอกเลิกสัญญาแล้ว ผู้รับจ้างยอมให้ผู้ว่าจ้างดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) ริบหลักประกันสัญญาดังกล่าวในสัญญาข้อ 3
(2) ยินยอมให้ผู้ว่าจ้างเรียกเอาค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นเพราะจ้างบุคคลอื่นทำการนี้ต่อไปจนงานแล้วเสร็จบริบูรณ์
(3) เรียกเอาค่าใช้จ่ายในการควบคุมงานในเมื่อผู้ว่าจ้างต้องจ้างผู้ควบคุมงานนั้นอีกทอดหนึ่งจนงานแล้วเสร็จบริบูรณ์
(4) เรียกค่าเสียหายอันพึงมีจากผู้รับจ้าง”
ศาลฎีกาเห็นว่า สัญญานั้นท่านให้ตีความไปตามความประสงค์ในทางสุจริตโดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 368 และในกรณีที่มีข้อสงสัย ให้ตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่คู่กรณีซึ่งจะเป็นผู้ต้องเสียในมูลหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 11 เมื่อพิจารณาข้อความข้อความในสัญญาเอกสารหมาย จ.3 ข้อ 20(2) และ (3) แล้ว เห็นได้ว่าการที่โจทก์ยอมให้จำเลยเรียกเอาค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นหรือค่าใช้จ่ายในการควบคุมงานซึ่งจำเลยว่าจ้างบุคคลอื่นให้ทำการต่อไปภายหลังที่จำเลยบอกเลิกสัญญาจนงานแล้วเสร็จบริบูรณ์นั้น แสดงว่าโจทก์จำเลยมีเจตนาจะให้โจทก์ต้องรับผิดสำหรับค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นตามสัญญาข้อ 20(2) ต่อเมื่อจำเลยดำเนินการจ้างบุคคลอื่นทำการก่อสร้างต่อไปจนงานแล้วเสร็จบริบูรณ์ตามโครงการเสียก่อนเพื่อจะได้ทราบว่าค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นซึ่งโจทก์ต้องรับผิดนั้นมีจำนวนเท่าใด เพราะกรณีของโจทก์จำเลยในคดีนี้ค่าถมทรายราคาขึ้นลงไม่แน่นอน เมื่อข้อเท็จจริงได้ความตามที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยโดยจำเลยมิได้ฎีกาโต้แย้งว่า หลังจากจำเลยบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ จำเลยได้ว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดนครทวีกิจก่อสร้างเขื่อนและถมทรายหลังเขื่อนต่อจากโจทก์ ห้างหุ้นส่วนดังกล่าวถมทรายได้บางส่วนแล้ว จำเลยให้หยุดและจำเลยไม่ได้จ้างบุคคลอื่นทำการถมทรายต่อจนแล้วเสร็จบริบูรณ์ตามโครงการ จำเลยจึงยังไม่ได้ปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วนตามสัญญาข้อ 20(2) จำเลยย่อมไม่มีสิทธิเรียกเอาค่าจ้างในส่วนราคาทรายที่เพิ่มขึ้นจากโจทก์ได้
พิพากษายืน

Share