คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4486/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แผนที่ทางหลวงเป็นเอกสารราชการของกรมทางหลวงโจทก์ได้ขออนุมัติกรมทางหลวงเพื่อจัดพิมพ์โดยโจทก์ได้นำแผนที่ของกรมทางหลวงมาปรับปรุงเพิ่มเติมให้สวยงานเมื่อความเหมาะสมในการใช้แต่โจทก์มิได้ปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมอันเป็นสาระสำคัญจากแผนที่เดิมแต่อย่างใดสำหรับสัญลักษณ์ต่างๆรวมทั้งรูปแบบเข็มทิศและเส้นมาตราส่วนตลอดจนแผนภูมิระยะทางระหว่างจังหวัดในแผนที่ทางหลวงในประเทศไทยก็เป็นสัญลักษณ์สากลและใช้กันทั่วไปในแผนที่ต่างๆซึ่งบุคคลทั่วไปก็ย่อมมีสิทธิใช้ได้งานที่โจทก์ทำจึงเป็นการปรับปรุงเล็กน้อยโดยลอกเลียนมาจากของเดิมที่มีอยู่แล้วและใช้กันทั่วไปโจทก์ไม่ใช่ผู้คิดค้นหรือสร้างสรรค์ขึ้นโดยความคิดริเริ่มของโจทก์เองจึงไม่มีลิขสิทธิ์ในสัญลักษณ์แผนภูมิระยะทางรูปเข็มทิศและมาตราส่วนในแผนที่ทางหลวงในประเทศไทยการที่โจทก์เพียงแต่ได้นำแผนที่ของกรมทางหลวงมาแบ่งส่วนใหม่รวมเป็นรูปเล่มและให้สีเท่านั้นถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้ปรับปรับแก้ไขเพิ่มเติมแผนที่ทางหลวงของกรมทางหลวงในสาระสำคัญถึงขนาดสร้างสรรค์ขึ้นใหม่อันจะพอถือได้ว่าเป็นการดัดแปลงโจทก์จึงไม่ได้ลิขสิทธิ์ในรูปแผนที่ทางหลวงในประเทศไทยตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์พ.ศ.2521มาตรา9ประกอบมาตรา4

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้รับอนุญาตจากกรมทางหลวงให้นำต้นฉบับแผนที่จากกรมทางหลวงและข้อมูลต่าง ๆ มาปรับปรุงและจัดพิมพ์ใหม่เป็นรูปเล่ม โจทก์ได้จัดพิมพ์แผนที่ทางหลวงในประเทศไทยขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2529 แผนที่ทางหลวงในประเทศไทยฉบับดังกล่าวจึงเป็นงานที่โจทก์สร้างสรรค์ขึ้นเป็นงานวรรณกรรมและศิลปกรรมอันเป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์ จำเลยทั้งสี่ได้จงใจลอกเลียนดัดแปลงรูปแผนที่ทางหลงในประเทศไทยของโจทก์ไปแสวงหาประโยชน์ส่วนตัวในทางการค้าโดยรู้อยู่แล้วว่าแผนที่ดังกล่าวเป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์แต่ผู้เดียว เป็นการจงใจละเมิดและละเมิดลิขสิทธิ์ต่อโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายซึ่งโจทก์ขอคิดค่าเสียหายในส่วนนี้เพียง 1,000,000 บาท โจทก์เพิ่งทราบการกระทำละเมิดลิขสิทธิ์ของจำเลยทั้งสี่ดังกล่าวเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2532 ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน 1,000,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จและให้จำเลยทั้งสี่ระงับการจัดพิมพ์และจำหน่ายแผนที่ประเทศไทยซึ่งได้ลอกเลียนแบบลิขสิทธิ์ของโจทก์ กับให้จำเลยที่ 1และจำเลยที่ 4 ส่งมอบต้นฉบับแบบพิมพ์ รูปแผนที่ (ART WORK)ฟิลม์ (FILM) และเพลท (PLATE) ซึ่งเป็นต้นฉบับสำหรับการพิมพ์แผนที่ทางหลวงในประเทศไทยของโจทก์คืนโจทก์
จำเลยทั้งสี่ให้การและฟ้องแย้งว่า รูปร่างลักษณะประเทศไทยแม่น้ำ ภูเขา เกาะต่าง ๆ ชื่อตำบล อำเภอ จังหวัด รวมทั้งเส้นทางถนนสายต่าง ๆ หรือสัญลักษณ์ในทางสากล หลักการเขียนแผนที่ตามฟ้องเป็นสิ่งต่าง ๆ บนผิวโลกที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและคนไทยแต่โบราณกำหนดและทำขึ้นมา โจทก์ไม่ได้เป็นผู้ค้นคิดหรือประดิษฐ์ขึ้นโจทก์ไม่ใช่ผู้สร้างสรรค์ไม่อาจเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียวตามกฎหมายได้ นอกจากนี้ชื่อเส้นทางหลวงหมายเลขทางหลวงสายต่าง ๆ ในแผนที่ประเทศไทยตามฟ้องโจทก์ก็ไม่ได้เป็นผู้คิดค้นประดิษฐ์หรือกำหนดขึ้น หากแต่เป็นหน่วยราชการต่าง ๆ หลายแห่งเป็นผู้กำหนดขึ้น ทั้งนี้เพื่อประโยชน์สาธารณะ และไม่มีข้อห้ามไม่ให้ประชาชนทำแผนที่เดินทางโดยอาศัยข้อมูลจากแผนที่ของหน่วยราชการต่าง ๆ โจทก์จึงไม่ใช่เจ้าของลิขสิทธิ์แผนที่ในทางหลวงประเทศไทย ไม่มีอำนาจฟ้องการที่โจทก์มีหนังสือถึงผู้ว่าการการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยว่าตามที่การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยมอบหมายให้จำเลยที่ 1จัดพิมพ์แผนที่ประเทศไทยชนิดแผ่นพับ มาตราส่วน 1 ต่อ 1,500,000ให้ จำนวน 25,000 ฉบับ เป็นการทำซ้ำและดัดแปลงต้นฉบับงานแผนทีทางหลวงในประเทศไทยซึ่งโจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์ขึ้น การที่การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยว่าจ้างจำเลยที่ 1 จัดพิมพ์แผนที่ชนิดพับ ถือว่าการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการละเมิดลิขสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ ซึ่งเป็นความเท็จผู้ว่าการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยได้รับทราบแล้วและไม่ให้ความเชื่อถือไว้วางใจจำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเดียวกันและไม่ว่าจ้างจำเลยที่ 3 จัดพิมพ์แผนที่อีก จำเลยทั้งสี่ประกอบการค้าโดยสุจริตเป็นที่รู้จักแพร่หลายทั้งในและต่างประเทศการกระทำของโจทก์ทำให้จำเลยทั้งสี่ได้รับความเสียหายจากการขาดรายได้และเสื่อมเสียชื่อเสียงทางทำมาหาได้ ขอให้ยกฟ้องโจทก์และขอให้บังคับโจทก์ชดใช้ค่าเสียหายให้จำเลยทั้งสี่เป็นเงิน1,000,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ที่โจทก์มีหนังสือไปถึงผู้ว่าการการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยเป็นเรื่องที่โจทก์ใช้สิทธิในฐานะเจ้าของลิขสิทธิ์ในแผนที่ทางหลวงในประเทศไทย จึงเป็นการใช้สิทธิโดยชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้องแย้งจำเลยทั้งสี่
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์และยกฟ้องแย้งจำเลยทั้งสี่
โจทก์ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้โดยคู่ความมิได้โต้แย้งกันว่า กรมทางหลวงเป็นเจ้าของแผนที่ทางหลวงในประเทศไทยโจทก์ได้ขออนุญาตกรมทางหลวงเพื่อจัดทำแผนที่ทางหลวงในประเทศไทยเมื่อปี 2529 โจทก์ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดพิมพ์และจำหน่ายแผนที่ทางหลวงในประเทศไทยตามเอกสารหมาย จ.11ต่อมาปี 2530 การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยได้ว่าจ้างจำเลยที่ 3ให้จัดทำแผนที่ประเทศไทยตามเอกสารหมาย จ.16 โจทก์เห็นว่าแผนที่ประเทศไทยตามเอกสารหมาย จ.16 ลอกเลียนดัดแปลงรูปแผนที่ทางหลวงในประเทศไทยตามเอกสารหมาย จ.11 ของโจทก์
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในชั้นฎีกาตามฎีกาของโจทก์มีว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิ์ในแผนที่ทางหลวงในประเทศไทยตามเอกสารหมาย จ.11หรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่าโจทก์ได้ขออนุญาตกรมทางหลวงนำแผนที่ทางหลวงในประเทศไทยมาดัดแปลงปรับปรุงให้ถูกต้องทันสมัยโดยได้รับอนุญาตจากกรมทางหลวงเจ้าของลิขสิทธิ์แล้ว และโจทก์ได้ทำการดัดแปลงโดยความคิดริเริ่มของโจทก์ แผนที่ทางหลวงในประเทศไทยตามเอกสารหมาย จ.11 จึงเป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาตรา 9 ในปัญหาดังกล่าวโจทก์มีนายเสกศักดิ์ วัฒนะสุขชัย กรรมการบริหารของโจทก์เป็นพยานเบิกความว่า กรมทางหลวงเป็นเจ้าของแผนที่ทางหลวงในประเทศไทย โจทก์ได้ขออนุญาตจากกรมทางหลวงในการจัดทำแผนที่ประเทศไทยดังกล่าวโดยนำมาปรับปรุงให้ถูกต้องทันสมัยเพื่อสะดวกในการใช้และหารายได้ให้แก่โจทก์ และกรมทางหลวงได้อนุญาตแล้วปรากฏตามเอกสารหมาย จ.4 ต่อมาโจทก์ได้ว่าจ้างให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดพิมพ์และจำหน่ายแผนที่ทางหลวงในประเทศไทยตามเอกสารหมาย จ.6 ถึง จ.10 ในการว่าจ้างดังกล่าว จำเลยที่ 1ได้ตกลงให้ลิขสิทธิ์แผนที่ทางหลวงในประเทศไทยเป็นของโจทก์ผู้อื่นจะจัดทำซ้ำไม่ได้ ในแผนที่ดังกล่าวระบุที่ตั้งและชื่อของอำเภอ ทางหลวง ภูเขา แม่น้ำ และสิ่งที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิศาสตร์ แต่ที่สำคัญคือเน้นเกี่ยวกับเรื่องทางหลวงโดยระบุหมายเลขทางหลวง ประเภทของทางหลวง สภาพของทางหลวงตลอดจนแผนภูมิระยะทางระหว่างจังหวัดต่อจังหวัดซึ่งแผนภูมิดังกล่าวโจทก์เป็นผู้คำนวณและจัดทำเพื่อแผนที่นี้โดยเฉพาะ นอกจากนี้สัญลักษณ์ต่าง ๆ และมาตราส่วนตลอดจนการให้สีโจทก์เป็นผู้จัดทำเพื่อการพิมพ์ครั้งนี้โดยเฉพาะ ตามแผนที่ทางหลวงในประเทศไทยเอกสารหมาย จ.11 และโจทก์มีนายสุนทร พุดวันเพ็ญ ข้าราชการกรมทางหลวงเป็นพยานเบิกความว่า โจทก์มอบให้พยานศึกษาและรวบรวมในการจัดทำแผนที่ โดยพยานรวบรวมข้อมูลจากแขวงทางหลวงทั่วประเทศเพื่อมาปรับปรุงในการทำแผนที่ อาทิเช่น ตำแหน่งหมายเลขทางหลวงเส้นทางที่เพิ่มเติมขึ้นมาใหม่ และระยะทางในแต่ละอำเภอแต่ละจังหวัดในประเทศไทย หลังจากรวบรวมข้อมูลแล้วพยานได้นำมาจัดเป็นรูปเล่มตามเอกสารหมาย จ.11 สัญลักษณ์อาทิเช่นหมายเลขทางหลวงมาตราส่วน ทิศทาง แม้น้ำที่แสดงอาณาเขตเป็นสัญลักษณ์ของโจทก์สัญลักษณ์ที่แสดงเส้นทางหลวงที่มีวงกลมล้อมรอบเป็นสัญลักษณ์ที่โจทก์ปรับปรุงมาจากแผนที่ของกรมทางหลวง นอกจากนี้โจทก์มีนางนิตยา ช้อนทอง ที่ปรึกษากฎหมายของโจทก์เบิกความว่าแผนที่พิพาทคดีนี้เดิมเป็นกรรมสิทธิ์ของกรมทางหลวง ต่อมาโจทก์ได้รับอนุญาตจากกรมทางหลวงให้จัดทำแผนที่ทางหลวงในประเทศไทยได้ตามเอกสารหมาย จ.4 โจทก์นำแผนที่ของกรมทางหลวงมาทำการแก้ไขปรับปรุงเป็นรูปเล่ม ส่วนจำเลยทั้งสี่มีนายสุชาติ สูงสว่างที่ปรึกษาของจำเลยที่ 1 เป็นพยานเบิกความว่า ในปี 2529เจ้าหน้าที่กรมทางหลวงได้นำแผนที่ของกรมทางหลวงมา 1 ชุดแบ่งเป็น 4 ภาพ ภาพที่ 1 ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.1 ส่วนอีก 2 ภาพปรากฏตามเอกสารหมาย ล.19 และ ล.20 เจ้าหน้าที่กรมทางหลวงปรึกษาจำเลยที่ 1 เพื่อแบ่งแผนที่ออกเป็น 8 ส่วน และเย็บเล่มตรงกลาง ประมาณปลายปี 2529 โจทก์จึงได้ว่าจ้างจำเลยที่ 1เป็นผู้พิมพ์แผนที่ดังกล่าว สัญลักษณ์ในแผนที่ที่จำเลยที่ 1จัดพิมพ์ให้แก่โจทก์นั้นเป็นสัญลักษณ์ซึ่งใช้อยู่ในหนังสือต่าง ๆรูปเข็มทิศและเส้นมาตราส่วนกับตารางแสดงระยะทางระหว่างจังหวัดก็เป็นสัญลักษณ์สากล ซึ่งหน่วยงานอื่นก็นำไปใช้เช่นเดียวกัน เช่นแผนภูมิระยะทางระหว่างจังหวัดถึงจังหวัดในประเทศไทยตามเอกสารหมาย ล.3 ซึ่งเป็นขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยนอกจากนี้จำเลยยังมีนายธารินทร์ อินทรภัยกุล ผู้เขียนแผนที่ประเทศไทยของจำเลยฉบับที่ทำให้แก่การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยตามเอกสารหมาย จ.16 และนายธานินทร์ เลิศนครินทร์ ซึ่งเป็นผู้ออกแบบและทำแผนที่ทางหลวงในประเทศไทยเอกสารหมาย จ.11ให้โจทก์เป็นพยานเบิกความสนับสนุนในทำนองเดียวกันอีกว่าสัญลักษณ์เกี่ยวกับเส้นทาง รูปเข็มทิศ ไม้บรรทัดมาตราส่วนรวมทั้งแผนภูมิระยะทางระหว่างจังหวัดในแผนที่เอกสารหมาย จ.11นั้น เป็นสากลไม่มีสิทธิ์ พิเคราะห์แล้ว พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์พ.ศ. 2521 มาตรา 9 บัญญัติว่า “งานใดมีลักษณะเป็นการนำเอางานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้มาดัดแปลงโดยได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ให้ผู้ที่ได้ดัดแปลงนั้นมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ แต่ทั้งนี้ไม่กระทบกระเทือนต่อสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์ที่มีอยู่ในงานของผู้สร้างสรรค์เดิมที่ถูกดัดแปลง” และมาตรา 4 ให้คำนิยามคำว่า “ดัดแปลง” หมายความว่า ทำซ้ำโดยเปลี่ยนรูปใหม่ ปรับปรุง แก้ไขเพิ่มเติมหรือจำลองงานต้นฉบับในส่วนอันเป็นสาระสำคัญโดยไม่มีลักษณะเป็นการจัดทำงานขึ้นใหม่ทั้งนี้ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน เห็นว่า รูปแผนที่ของกรมทางหลวงตามเอกสารหมาย ล.1 ล.19 และ ล.20 มีลักษณะโดยทั่วไปเหมือนกับรูปแผนที่ทางหลวงในประเทศไทยเอกสารหมาย จ.11 หน้า 8 ถึงหน้า 23ของโจทก์และรูปแผนที่ประเทศไทยเอกสารหมาย จ.16 ของจำเลยโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับหมายเลขทางหลวงและเส้นทางหลวงก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน ตามคำเบิกความของพยานโจทก์ดังกล่าว เป็นการเบิกความลอย ๆ โจทก์ไม่ได้นำสิบโดยชี้หรือแสดงเทียบเคียงให้เห็นว่าโจทก์ได้ดัดแปลงโดยปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมแผนที่ทางหลวงของกรมทางหลวงที่โจทก์ได้รับอนุญาตมาจัดพิมพ์ในสาระสำคัญจากเดิมอะไรบ้าง และอย่างไรบ้าง อันจะสามารถเข้าใจและนำมาวินิจฉัยได้ว่าเป็นการดัดแปลงจนได้ลิขสิทธิ์ ทั้งนายทวีพัฒน์ ตินะมาสเลขาธิการของโจทก์ก็เบิกความว่า แผนที่ทางหลวงเป็นเอกสารราชการของกรมทางหลวง โจทก์ได้ขออนุมัติกรมทางหลวงเพื่อจัดพิมพ์ตามเอกสารหมาย จ.4 โดยโจทก์ได้นำแผนที่ของกรมทางหลวงมาปรับปรุงเพิ่มเติมให้สวยงามเพื่อความเหมาะสมในการใช้ ซึ่งเมื่อปรับปรุงแก้ไขก็ใช้เป็นต้นฉบับในการจัดพิมพ์แผนที่ และในเอกสารหมาย จ.4ที่โจทก์มีไปถึงกรมทางหลวงก็มีข้อความว่า โจทก์ขอให้กรมทางหลวงอนุมัติต้นฉบับแผนที่เพื่อให้โจทก์นำมาจัดพิมพ์เพื่อขายหรือให้เป็นอภินันทนาการแก่สมาชิกและผู้สนใจอันจะเป็นการเผยแพร่และหารายได้เพื่อนำมาใช้ในกิจการของโจทก์ และมีข้อความของอธิบดีกรมทางหลวงว่าอนุมัติแต่ขอเสนอให้แก้ไขต้นฉบับให้ถูกต้องและแก้ไขรายละเอียดต่าง ๆ ให้เหมาะสมกว่าของเดิม ซึ่งตามคำเบิกความของพยานโจทก์และหลักฐานดังกล่าวแสดงว่าการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมนั้นมิได้เป็นการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมอันเป็นสาระสำคัญจากแผนที่เดิมแต่อย่างใด สำหรับสัญลักษณ์ต่าง ๆรวมทั้งรูปแบบเข็มทิศและเส้นมาตราส่วน ตลอดจนแผนภูมิระยะทางระหว่างจังหวัดในแผนที่ทางหลวงในประเทศไทยเอกสารหมาย จ.11ที่โจทก์อ้างว่าโจทก์เป็นผู้คิดค้นสร้างสรรค์ขึ้นนั้นนายเสกศักดิ์ วัฒนสุรชัย นายสุนทร พุดวันเพ็ญ และนายสหัส ทองเย็นพยานโจทก์ก็ตอบคำถามค้านทนายจำเลยว่า สัญลักษณ์ที่ใช้เขียนแผนที่ในเอกสารหมาย จ.11 และ จ.16 เป็นสัญลักษณ์ที่ใช้เขียนแผนที่ทั่ว ๆ ไป เป็นสัญลักษณ์สากล สอดคล้องกับคำเบิกความของพยานจำเลยและเมื่อพิจารณาแผนภูมิระยะทางระหว่างจังหวัดถึงจังหวัดในประเทศไทยของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.11 หน้า 5 แล้วมีลักษณะและข้อความทำนองเดียวกันกับแผนภูมิระยะทางระหว่างจังหวัดถึงจังหวัดในประเทศไทยขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยตามเอกสารหมาย ล.3 ซึ่งมีหมายเหตุว่ากรมทางหลวง 1 ตุลาคม 2526แสดงว่าได้นำแผนภูมิระยะทางดังกล่าวมาจากกรมทางหลวง ทั้งมีลักษณะและข้อความเช่นเดียวกับแผนที่ที่ปรับปรุงและจัดทำโดยกรมแผนที่ทหาร เอกสารหมาย จ.20 และแผนที่เอกสารหมาย ล.10ที่บริษัทน้ำมันคาลเท็กซ์ (ไทย) จำกัด ร่วมกับราชยานยนต์สมาคมแห่งประเทศไทยจัดทำขึ้น ส่วนสัญลักษณ์ในแผนที่ทางหลวงในประเทศไทยของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.11 หน้า 7โดยทั่วไปก็มีลักษณะเช่นเดียวกับสัญลักษณ์ในแผนที่อื่น ๆ เช่นแผนที่ทางหลวงในประเทศไทยจัดพิมพ์โดยสโมสรกรมทางหลวงกรมทางหลวงเอกสารหมาย ล.11 แผนที่ทางหลวงของกรมทางหลวงเอกสารหมาย ล.19 และ ล.20 แผนที่ของกรมแผนที่ทหารเอกสารหมาย จ.20ที่โจทก์นำสืบโดยนายสุนทร พุดวันเพ็ญ เบิกความว่าสัญลักษณ์ที่แสดงเส้นทางหลวงที่มีวงกลมล้อมรอบเป็นสัญลักษณ์ที่โจทก์ปรับปรุงมาจากกรมทางหลวง โจทก์ก็มิได้นำสืบชี้ให้เห็นและเข้าใจว่าปรับปรุงอย่างไร ทั้งแสดงว่าโจทก์มิได้คิดค้นสร้างสรรค์ขึ้นเอง สำหรับเส้นมาตราส่วนและรูปเข็มทิศก็มีลักษณะทั่วไปเหมือนแผนที่โดยทั่วไปอื่น ๆ โดยเฉพาะมีลักษณะทำนองเดียวกันกับแผนที่ทางหลวงในประเทศไทยที่จัดพิมพ์โดยสโมสรกรมทางหลวงกรมทางหลวง เอกสารหมาย ล.11 ดังนั้นจึงฟังได้ว่าสัญลักษณ์ต่าง ๆดังกล่าวรวมทั้งแผนภูมิระยะทางและรูปเข็มทิศกับเส้นมาตราส่วนที่โจทก์อ้างว่ามีลิขสิทธิ์นั้น เป็นสัญลักษณ์สากลและใช้กันทั่วไปในแผนที่ต่าง ๆ ซึ่งบุคคลทั่วไปก็ย่อมมีสิทธิใช้ได้งานที่โจทก์ทำเป็นการปรับปรุงเล็กน้อยโดยลอกเลียนมาจากของเดิมที่มีอยู่แล้วและใช้กันทั่วไป โจทก์ไม่ใช่ผู้คิดค้นหรือสร้างสรรค์ขึ้นโดยความคิดริเริ่มของโจทก์เอง จึงไม่มีลิขสิทธิ์ในสัญลักษณ์แผนภูมิระยะทางรูปเข็มทิศและมาตราส่วนในแผนที่ทางหลวงในประเทศไทยเอกสารหมาย จ.11 พยานโจทก์คงได้ความแต่เพียงว่าโจทก์ได้นำแผนที่ของกรมทางหลวงมาแบ่งส่วนใหม่ รวมเป็นรูปเล่มและให้สีเท่านั้นดังนั้น ข้อเท็จจริงจึงยังไม่พอฟังว่า โจทก์ได้ปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมแผนที่ทางหลวงของกรมทางหลวงในสาระสำคัญถึงขนาดสร้างสรรค์ขึ้นใหม่อันจะพอถือได้ว่าเป็นการดัดแปลง โจทก์จึงไม่ได้ลิขสิทธิ์ในรูปแผนที่ทางหลวงในประเทศไทยตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์พ.ศ. 2521 มาตรา 9 เมื่อโจทก์มิได้มีลิขสิทธิ์ในรูปแผนที่ทางหลวงในประเทศไทยตามเอกสารหมาย จ.11 และสัญลักษณ์ต่าง ๆดังวินิจฉัยข้างต้น โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องว่าจำเลยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ที่ศาลล่างทั้งสองยกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน

Share