คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4355/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งจำเลยตกลงจะผ่อนชำระหนี้เป็นรายเดือนทุกวันที่15ของเดือนช่วง3เดือนแรกคือเดือนธันวาคม2536เดือนมกราคมและกุมภาพันธ์2537เดือนละ10,000บาทตั้งแต่เดือนมีนาคม2537เป็นต้นไปเดือนละ15,000บาทจนกว่าจะครบจำเลยชำระหนี้เดือนแรกในวันที่15ธันวาคม2536ในเดือนต่อไปจำเลยชำระในวันที่20มกราคม2537เป็นเงิน5,000บาทและในวันที่24มกราคม2537อีก5,000บาทเป็นการไม่ชำระหนี้ภายในกำหนดถือว่าจำเลยเป็นผู้ผิดนัดโจทก์จึงมีสิทธิบังคับคดีได้ทันทีในยอดเงินที่จำเลยค้างชำระพร้อมดอกเบี้ย แม้ที่ดินที่ถูกยึดจะมีชื่อธ. เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์แต่ในรายงานการยึดทรัพย์อ้างว่าเป็นสินสมรสในชั้นนี้จึงไม่แน่นอนว่าจำเลยจะไม่มีส่วนร่วมอยู่ด้วยและถ้าเป็นของธ.จริงก็เป็นเรื่องของธ.ผู้ได้รับความเสียหายที่จะดำเนินการตามสิทธิของตนที่มีอยู่มิใช่เรื่องของจำเลยที่จะมาร้องขอให้เพิกถอนการยึดทรัพย์ ที่จำเลยยื่นคำร้องว่าระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาว่าจำเลยผ่อนชำระหนี้ให้โจทก์ครบถ้วนแล้วโจทก์มีหน้าที่ต้องถอนการยึดทรัพย์นั้นปัญหานี้เพิ่งเกิดขึ้นภายหลังจำเลยยื่นฎีกาทั้งเป็นเรื่องเกี่ยวด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลชั้นต้นที่จะทำคำวินิจฉัยชี้ขาดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา302วรรคแรกจำเลยจะยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาโดยตรงมิได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้จำเลยชำระเงินจำนวน 300,000 บาทแก่โจทก์ โดยผ่อนชำระเป็นรายเดือนทุกวันที่ 15 ของเดือนเดือนธันวาคม 2536 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2537 เดือนละ 10,000 บาทตั้งแต่เดือนมีนาคม 2537 เป็นต้นไปเดือนละ 15,000 บาทจนครบถ้วน หากผิดนัดงวดหนึ่งงวดใดให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมดยอมให้โจทก์บังคับคดีได้ทันทีในยอดเงินที่ค้างชำระพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อปี ต่อมาวันที่ 18 มกราคม 2537โจทก์ขอหมายบังคับคดีและนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 74909 แขวงบางเชือกหนังเขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานครพร้อมสิ่งปลูกสร้าง
จำเลยยื่นคำร้องว่า จำเลยชำระหนี้ให้แก่โจทก์ครบทุกงวดตามคำพิพากษา ที่โจทก์ขอหมายบังคับคดีและนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์ดังกล่าว จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายอีกทั้งที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่โจทก์นำยึดก็มิใช่ของจำเลยขอให้เพิกถอนการยึดทรัพย์
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า จำเลยผิดนัดชำระเงินงวดวันที่15 มกราคม 2537 โจทก์จึงบังคับคดีแก่จำเลยได้ตามคำพิพากษาทรัพย์สินที่ยึดไว้เป็นสินสมรสของจำเลยกับนายธเนศ เวชสกัยจึงไม่มีเหตุจะเพิกถอนการยึด ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า จำเลยผิดสัญญาประนีประนอมยอมความและข้ออ้างของจำเลยไม่มีเหตุตามกฎหมายที่จะเพิกถอนการยึดทรัพย์ให้ยกคำร้อง
จำเลย อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
จำเลย ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คำพิพากษาที่พิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความระบุว่าจำเลยจะผ่อนชำระหนี้เป็นรายเดือนทุกวันที่ 15 ของเดือน ช่วง 3 เดือนแรก คือเดือนธันวาคม2536 เดือนมกราคมและเดือนกุมภาพันธ์ 2537 เดือนละ 10,000 บาทปรากฏตามเอกสารแนบท้ายคำร้องของจำเลยว่า จำเลยได้ชำระเดือนแรกวันที่ 15 ธันวาคม 2536 เป็นเงิน 10,000 บาทถูกต้องตามคำพิพากษา ในเดือนต่อไปต้องชำระในวันที่15 มกราคม 2537 จำนวน 10,000 บาท ในเดือนนี้จำเลยมิได้ชำระในวันที่ 15 มกราคม 2537 แต่จำเลยชำระในวันที่20 มกราคม 2537 เป็นเงิน 5,000 บาท และวันที่ 24 มกราคม 2537เป็นเงินอีก 5,000 บาท รวมเป็นเงิน 10,000 บาท และเดือนต่อไปวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2537 จำเลยชำระให้โจทก์ครบถ้วนตามคำพิพากษา เห็นได้ว่าคำพิพากษาได้กำหนดวันและจำนวนหนี้ที่ต้องชำระไว้แน่นอน เมื่อจำเลยไม่ชำระภายในกำหนดถือว่าจำเลยเป็นผู้ผิดนัด ไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามคำพิพากษาโจทก์มีอำนาจที่จะบังคับคดีได้ทันทีในยอดเงินที่จำเลยค้างชำระพร้อมด้วยดอกเบี้ย แม้ว่าหลังจากผิดนัดจำเลยได้ชำระหนี้ให้โจทก์และงวดต่อไปก็ชำระหนี้ให้โจทก์ตรงตามคำพิพากษาก็ไม่ทำให้จำเลยพ้นจากการเป็นผู้ผิดนัด โจทก์มีสิทธิที่จะบังคับคดียึดทรัพย์ขายทอดตลาดได้ ส่วนทรัพย์ที่ยึดแม้จะมีชื่อนายธเนศ เวชสกัย เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ แต่ในรายงานการยึดอ้างว่าเป็นสินสมรสในชั้นนี้จึงไม่แน่นอนว่าจำเลยจะไม่มีส่วนอยู่ด้วยและถ้าเป็นของนายธเนศจริงก็เป็นเรื่องของนายธเนศผู้ได้รับความเสียหาย ที่จะดำเนินการตามสิทธิของตนที่มีอยู่มิใช่เป็นเรื่องของจำเลยจะมาร้องขอให้เพิกถอนการยึด
ที่จำเลยอ้างในฎีกาว่า ขณะที่ยื่นฎีกาวันที่ 4 พฤษภาคม 2538จำเลยได้ผ่อนชำระให้โจทก์รวม 17 งวด เป็นเงิน 240,000 บาทคงเหลือ 60,000 บาท และในวันที่ 2 ตุลาคม 2538 จำเลยยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาว่าได้ชำระหนี้ให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว โจทก์จึงมีหน้าที่ถอนการยึดทรัพย์นั้น เห็นว่าปัญหานี้เพิ่งเกิดขึ้นภายหลังจำเลยยื่นฎีกาทั้งเป็นเรื่องเกี่ยวด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลชั้นต้นที่จะทำคำวินิจฉัยชี้ขาดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 302 วรรคแรกจำเลยจะยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาโดยตรงมิได้ จำเลยชอบที่จะยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้น จึงให้ยกคำร้อง
พิพากษายืน

Share