แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่1นำรถยนต์ไปประกันภัยค้ำจุนไว้แก่จำเลยที่2โดยมีข้อตกลงว่าผู้รับประกันไม่ต้องรับผิดต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอกถ้าผู้ขับขี่รถยนต์มีใบอนุญาตขับขี่รถยนต์แต่ขาดต่ออายุเกินกว่า180วันดังนี้เมื่อปรากฎว่าในขณะเกิดเหตุและในขณะทำสัญญาประกันภัยใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ของจำเลยที่1ขาดต่ออายุเกินกว่า180วันและหลังจากทำสัญญาประกันภัยแล้วจำเลยที่1ยังใช้ใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ที่ขาดต่ออายุดังกล่าวเรื่อยมาจนกระทั่งจำเลยที่1ขับรถยนต์คันเกิดเหตุโดยประมาททำให้รถยนต์โจทก์เสียหายกรณีจึงเข้าเงื่อนไขข้อยกเว้นความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยซึ่งจำเลยที่2ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ปฏิเสธความรับผิดได้ การประกันกันค้ำจุนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา887เป็นการประกันความเสียหายอันเกิดจากรถยนต์ที่เอาประกันภัยที่ไปก่อความเสียหายให้แก่บุคคลอื่นในเมื่อผู้เอาประกันภัยขับขี่หรือยินยอมให้ผู้อื่นขับขี่การประกันภัยค้ำจุนจึงมุ่งที่ตัวบุคคลผู้ขับขี่รถยนต์ที่เอาประกันภัยในขณะเกิดเหตุเป็นสาระสำคัญยิ่งกว่าตัวบุคคลผู้เอาประกันภัยในขณะทำสัญญาประกันภัยดังนั้นแม้ขณะทำสัญญาใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ของจำเลยที่1ผู้เอาประกันภัยขาดต่ออายุเกินกว่า180วันก็ไม่อาจถือว่าคู่สัญญามิได้เจตนาถือเงื่อนไขยกเว้นความรับผิดตามกรมธรรม์ข้อนี้เป็นสาระสำคัญเพราะมิฉะนั้นแล้วหากทำสัญญาประกันภัยกำหนดเงื่อนไขไม่ให้ผู้รับประกันภัยต้องรับผิดอย่างกรณีนี้นิติบุคคลซึ่งเป็นเจ้าของหรือมีส่วนได้เสียในรถยนต์ที่เอาประกันภัยย่อมไม่มีทางจะทำสัญญาประกันได้เลยเพราะนิติบุคคลโดยสภาพย่อมไม่มีทางขอให้ใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ขับรถประมาทชนรถยนต์ของโจทก์เสียหาย รวมค่าเสียหายทั้งสิ้น 30,150 บาท จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์และจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดมีวัตถุประสงค์ในการรับประกันวินาศภัย รับประกันภัยค้ำจุนโดยได้รับประกันภัยรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน 9บ – 0027กรุงเทพมหานคร จากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วยขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้เงินแก่โจทก์ 30,150 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันทำละเมิดจนกว่าจะชำระแก่โจทก์เสร็จ
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ครอบครองควบคุมรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน 9บ – 0027 กรุงเทพมหานคร คันเกิดเหตุโดยทำละเมิดต่อโจทก์จริง แต่ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันดังกล่าว จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดในความเสียหายต่อโจทก์แทนจำเลยที่ 1 ค่าเสียหายของโจทก์ทั้งสิ้นไม่เกิน 22,550บาท ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 รับประกันภัยรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน 9ป – 0027 กรุงเทพมหานคร แต่ในขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ขับรถยนต์คันดังกล่าวไม่มีใบอนุญาตขับรถยนต์หรือเคยได้รับใบอนุญาตแต่ใบอนุญาตขาดต่ออายุเกิดกว่า 180 วัน เป็นการไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย จำเลยที่ 2จึงไม่ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ทั้งรถยนต์ของโจทก์ได้รับความเสียหายทั้งสิ้นไม่เกิน 7,500 บาท และโจทก์ไม่เคยติดต่อทวงถามจำเลยที่ 2 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 21,250 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2536 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ฎีกาได้แต่เฉพาะในปัญหาข้อกฎหมาย และการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายเช่นว่านี้ ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 นำรถยนต์คัดเกิดเหตุของจำเลยที่ 1 ไปประกันภัยค้ำจุนไว้แก่จำเลยที่ 2ตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย ล.4 โดยมีข้อความเกี่ยวกับกรณีนี้ว่า ผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิดต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอกถ้าผู้ขับขี่รถยนต์มีใบอนุญาตขับขี่รถยนต์แต่ขาดต่ออายุเกินกว่า 180 วัน ในขณะเกิดอุบัติเหตุและในขณะทำสัญญาประกันภัยปรากฎว่าใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ของจำเลยที่ 1 ขาดต่ออายุเกินกว่า180 วัน หลังจากทำสัญญาประกันภัยแล้วจำเลยที่ 1 ยังใช้ใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ที่ขาดต่ออายุดังกล่าวเรื่อยมาจนกระทั่งจำเลยที่ 1ขับรถยนต์คันเกิดเหตุโดยประมาททำให้รถยนต์โจทก์เสียหาย โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่าขณะที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาประกันภัยรถยนต์คันเกิดเหตุของจำเลยที่ 1 ไว้แก่จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 มีใบอนุญาตขับขี่รถยนต์แต่ขาดต่ออายุเกินกว่า 180 วัน ถือได้ว่าคู่สัญญามิได้มีเจตนาถือเงื่อนไขใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ที่ขาดต่ออายุเป็นสาระสำคัญดังนั้น แม้จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์คันเกิดเหตุโดยมีใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ที่ขาดต่ออายุไปทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 ก็จะต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ดังนี้ เห็นว่า หากคู่สัญญามิได้มีเจตนายึดถือเงื่อนไขการมีใบอนุญาตของผู้ขับรถยนต์คันที่เอาประกันภัยเป็นสาระสำคัญแล้ว ตามกรมธรรม์ประกันภัยคงจะไม่มีข้อความกำหนดเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ แต่ตามกรมธรรม์ของจำเลยที่ 2 เอกสารหมาย ล.4ข้อ 2.13.6 ได้ระบุข้อความยกเว้นความรับผิดของผู้รับประกันภัยไว้ชัดแจ้งว่าในกรณีผู้ขับขี่รถยนต์ไม่เคยได้รับใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ใด ๆ หรือเคยได้รับแต่ขาดต่ออายุเกินกว่า 180 วัน เมื่อเกิดอุบัติเหตุผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิดต่อหลักทรัพย์ของบุคคลภายนอก นอกจากนี้การประกันภัยค้ำจุนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 887 ยังเป็นการประกันความเสียหายอันเกิดจากรถยนต์ที่เอาประกันภัยที่ไปก่อความเสียหายให้แก่บุคคลอื่นในเมื่อผู้เอาประกันภัยขับขี่หรือยินยอมให้ผู้อื่นขับขี่ดังนั้นการประกันภัยค้ำจุนจึงมุ่งที่ตัวบุคคลผู้ขับขี่รถยนต์ที่เอาประกันภัยในขณะเกิดเหตุเป็นสาระสำคัญยิ่งกว่าตัวบุคคลผู้เอาประกันภัยในขณะทำสัญญาประกันภัย เพราะมิฉะนั้นแล้วหากทำสัญญาประกันภัยกำหนดเงื่อนไขไม่ให้ผู้รับประกันภัยต้องรับผิดอย่างกรณีนี้นิติบุคคลซึ่งเป็นเจ้าของหรือมีส่วนได้เสียในรถยนต์ที่เอาประกันภัยย่อมไม่มีทางจะทำสัญญาประกันได้เลย เพราะนิติบุคคลโดยสภาพย่อมไม่มีทางขอมีใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ได้ ฉะนั้นจะถือว่าคู่สัญญามิได้มีเจตนายึดถือเงื่อนไขการมีใบอนุญาตขับขี่รถยนต์เป็นสาระสำคัญมิได้เมื่อกรมธรรม์ของจำเลยที่ 2 มีข้อความยกเว้นความรับผิดของจำเลยที่ 2ไว้ว่าผู้รับประกันจะไม่รับผิดต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอกอันเกิดจากการขับขี่โดยบุคคลที่มีใบอนุญาตขับขี่รถยนต์แต่ขาดต่ออายุเกินกว่า180 วัน และจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ที่เอาประกันภัยในขณะเกิดเหตุโดยใบอนุญาตขับขี่ขาดต่ออายุเกินกว่า 180 วัน ไปก่อความเสียหายแก่รถยนต์ของโจทก์จึงเข้าเงื่อนไขข้อยกเว้นความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย จำเลยที่ 2 จึงยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้เพื่อปฏิเสธความรับผิดต่อโจทก์
พิพากษายืน