แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ฯมาตรา106ทวิฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเกินปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดนั้นได้มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่92(พ.ศ.2538)ออกใช้ภายหลังการกระทำความผิดและเป็นคุณแก่จำเลยซึ่งจะต้องนำมาบังคับใช้ในคดีนี้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา3ประกาศดังกล่าวระบุว่าเมทแอมเฟตามีนที่ห้ามมีเกินกว่า0.500กรัมนั้นจะต้องคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เสียก่อนแต่ไม่ปรากฎว่าเมทแอมเฟตามีนตามฟ้องได้คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์แล้วเกิน0.500กรัมการกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามมาตรา106ไม่เป็นความผิดตามมาตรา106ทวิดังนั้นแม้โจทก์จะอ้างว่าได้อ้างมาตราท้ายฟ้องผิดไปเป็นมาตรา106ก็ตามคดีก็ไม่จำต้องวินิจฉัยว่าจะลงโทษตามมาตรา106ทวิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา192วรรคห้าได้หรือไม่อีก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2537 เวลากลางวันจำเลยมีเมทแอมเฟตามีน อันเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 จำนวน10 เม็ด น้ำหนัก 0.72 กรัม ซึ่งเป็นปริมาณเกินกว่า 0.500 กรัมไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต เหตุเกิดที่ตำบลทะเลชุบศรอำเภอเมืองบพบุรี จังหวัดลพบุรี ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 4, 6, 62, 106
จำเลย ให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา62 วรรคหนึ่ง, 106 วรรคหนึ่ง ลงโทษจำคุก 4 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี
โจทก์ และ จำเลย อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ฎีกาว่า โจทก์บรรยายฟ้องไว้แล้วว่าจำเลยมีวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทคือเมทแอมเฟตามีน 10 เม็ดน้ำหนัก 0.72 กรัม ซึ่งมีปริมาณเกินกว่า 0.500 กรัม ไว้ในครอบครองโดยโจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา 106 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 แต่โจทก์อ้างมาตราท้ายฟ้องผิดไปเป็นมาตรา 106 โจทก์นำสืบข้อเท็จจริงได้สมฟ้อง ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยตามมาตรา 106 ทวิ ซึ่งเป็นฐานความผิดที่ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคห้าจึงขอให้ศาลลงโทษจำเลยตามมาตรา 106 ทวิ ศาลฎีกาเห็นว่าความผิดตามมาตรา 106 ทวิ ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเกินปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดนั้น ได้มีประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 92 (พ.ศ. 2538) ออกใช้ภายหลังการกระทำความผิดและเป็นคุณแก่จำเลย ซึ่งจะต้องนำมาบังคับใช้ในคดีนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ประกาศดังกล่าวระบุว่าเมทแอมเฟตามีนที่ห้ามมีเกินกว่า 0.500 กรัมนั้น จะต้องคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เสียก่อน แต่ไม่ปรากฎว่าเมทแอมเฟตามีนตามฟ้องได้คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์แล้วเกิน 0.500 กรัม การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามมาตรา 106 ไม่เป็นความผิดตามมาตรา 106 ทวิจึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าจะลงโทษตามมาตรา 106 ทวิ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคห้า ได้หรือไม่อีก
พิพากษายืน