แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตั้งแต่วันที่23มีนาคม2532ถึงวันที่6ตุลาคม2532โจทก์ไม่ใช่ผู้เช่าแผงค้าตลาดมีนบุรีของสำนักงานตลาดกรุงเทพมหานครแต่โจทก์ยังคงวางสินค้าที่แผงค้าตลาดมีนบุรีที่เคยเช่าและแผงค้าอื่นที่ไม่เคยเช่ารวมทั้งทางเดินในตลาดมีนบุรีด้วยจึงทำให้จำเลยที่1เข้าใจว่าเมื่อการเช่าสิ้นสุดลงแล้วแต่โจทก์ยังวางสินค้าอยู่และจำเลยที่2แจ้งให้โจทก์ขนย้ายทรัพย์สินออกไปแล้วแต่โจทก์ไม่ยอมโจทก์จึงเป็นผู้บุกรุกและได้มอบอำนาจให้จำเลยที่3ไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนข้อความที่จำเลยที่3ไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนตรงกับสภาพที่จำเลยที่2ไปพบเห็นมาจึงเป็นเรื่องที่จำเลยที่3แจ้งข้อความตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏส่วนการกระทำของโจทก์จะเป็นความผิดต่อกฎหมายตามที่จำเลยที่3แจ้งหรือไม่ไม่สำคัญเพราะการแจ้งข้อความย่อมหลายถึงแจ้งข้อเท็จจริงไม่เกี่ยวกับข้อกฎหมายหลังจากจำเลยที่3ได้แจ้งต่อพนักงานสอบสวนแล้วพนักงานสอบสวนได้ดำเนินคดีแก่โจทก์แม้ต่อมาพนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องโจทก์ก็ยังถือไม่ได้ว่าข้อความที่จำเลยที่3แจ้งนั้นเป็นความเท็จเมื่อข้อความที่จำเลยที3ผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่1แจ้งนั้นเป็นความจริงจำเลยที่1ที่3จึงไม่มีความผิดฐานแจ้งความเท็จ โจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับจำเลยที่2ว่าจำเลยที่2อ้างว่าเป็นผู้พบการกระทำความผิดของโจทก์ในข้อหาบุกรุกและได้ยื่นเรื่องราวต่อจำเลยที่1ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับการกระทำของจำเลยที่2จึงมิใช่ให้ลงโทษจำเลยที่2ฐานเป็นตัวการแต่เป็นเพียงผู้สนับสนุนเมื่อจำเลยที่1และที่3ไม่มีความผิดฐานแจ้งความเท็จจำเลยที่2ก็ไม่มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนในความผิดฐานแจ้งความเท็จด้วย จำเลยทั้งสามเป็นพนักงานของสำนักงานตลาดกรุงเทพมหานครซึ่งตามระเบียบกรุงเทพมหานครว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของสำนักงานตราดกรุงเทพมหานครพ.ศ.2527ข้อ4และข้อ6กำหนดให้ได้รับเงินเดือนจากงบประมาณรายจ่ายของการพาณิชย์ของกรุงเทพมหานครตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเรื่องวิธีการงบประมาณพ.ศ.2529จำเลยทั้งสามจึงไม่ได้รับเงินเดือนจากงบประมาณหมวดเงินเดือนของกรุงเทพมหานครถือไม่ได้ว่ามีฐานะเป็นข้าราชการกรุงเทพมหานครดังนั้นจำเลยทั้งสามจึงไม่เป็นอยู่ในบังคับแห่งประมวลกฎหมายอาญาภาค2ว่าด้วยความผิดลักษณะ2ความผิดเกี่ยวกับการปกครองหมวด2ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ การที่ศาลจะมีอำนาจลงโทษจำเลยในฐานความผิดหรือบทมาตราที่ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา192วรรคห้าได้นั้นจะต้องเป็นกรณีที่ข้อเท็จจริงตามฟ้องนั้นโจทก์สืบสมฟังได้ว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามที่กล่าวในฟ้องจริงเพียงแต่โจทก์อ้างฐานความผิดหรือบทมาตราผิดไปเท่านั้นทั้งจะต้องมิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์อ้างตัวบทกฎหมายผิดเป็นคนละฉบับไปด้วยเมื่อในคดีนี้ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่1ที่2และที่3ได้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา157ตามที่โจทก์ฟ้องจึงไม่อาจลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐพ.ศ.2502มาตรา11ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157, 172, 174 วรรคสอง 310, 86, 83
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูลเฉพาะข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 172, 174, 83 เฉพาะจำเลยที่ 1ถึงที่ 3 ให้ประทับฟ้อง ข้อหาอื่นให้ยกฟ้อง จำเลยที่ 4 ให้ยกฟ้อง
จำเลย ที่ 1 ถึง ที่ 3 ให้การ ปฎิเสธ
ศาลชั้นต้น พิพากษายก ฟ้อง
โจทก์ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 172, 174 ต้องเป็นการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาแก่พนักงานอัยการ ผู้ว่าคดี พนักงานสอบสวน ฯลฯ แต่ตามคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายฟ้องเกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ว่า โดยมีจำเลยที่ 2 อ้างว่าเป็นผู้พบการกระทำความผิดของโจทก์ในข้อหาบุกรุก และได้ยื่นเรื่องราวต่อจำเลยที่ 1 ดังนั้น ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับการกระทำของจำเลยที่ 2 จึงไม่ใช่ให้ลงโทษฐานเป็นตัวการแต่เป็นเพียงผู้สนับสนุน โดยโจทก์ได้อ้างประมวลกฎหมายอาญามาตรา 86 มาท้ายฟ้อง จึงเห็นสมควรวินิจฉัยถึงการกระทำความผิดฐานแจ้งความเท็จของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ก่อน ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติตามที่โจทก์และจำเลยที่ 1 และที่ 3 นำสืบรับกันว่าเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2532 เวลา 12 นาฬิกา จำเลยที่ 3 ซึ่งได้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 1 ให้ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลมีนบุรี ได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่โจทก์ผู้บุกรุกแผงค้าตลาดมีนบุรี กรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2532 เวลาประมาณ 9 นาฬิกา เป็นต้นไปจนถึงวันร้องทุกข์ โดยนำเครื่องเรือน ตู้ โต๊ะ เตียง ไปตั้งวางบริเวณแผงค้าตลาดมีนบุรี ต่อมาจำเลยที่ 2 ได้แจ้งให้โจทก์นำสิ่งของออกไป แต่โจทก์ไม่เชื่อฟังยังคงดื้อดึงรบกวนสิทธิของผู้อื่นตลอดมาจนถึงปัจจุบันนี้ ตามเอกสารหมาย จ.19 และ ล.4 มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่า ข้อความดังกล่าวเป็นความเท็จหรือไม่ เห็นว่า เดิมโจทก์ยื่นคำร้องลงวันที่ 8 มกราคม2530 ขอเช่าแผงค้าตลาดมีนบุรี จำนวน 10 แผง ต่อผู้อำนวยการสำนักงานตลาด กรุงเทพมหานคร ผู้อำนวยการสำนักงานตลาดได้มีหนังสือลงวันที่ 15 มกราคม 2530 อนุญาตให้โจทก์เช่าแผงค้าตลาดมีนบุรีจำนวน 10 แผง เสียค่าบริการรักษาความสะอาดเดือนละ 300 บาทตั้งแต่เดือนมกราคม 2530 เป็นต้นไป ตามเอกสารหมาย จ.1 วันที่27 มีนาคม 2530 ผู้อำนวยการสำนักงานตลาดได้ยกเลิกการใช้แผงค้าตลาดมีนบุรีและให้โจทก์ขนย้ายทรัพย์สินออกไปตามเอกสารหมาย ล.11วันที่ 18 มกราคม 2533 โจทก์ได้มีหนังสือถึงผู้อำนวยการสำนักงานตลาดว่า โจทก์ได้ขนย้ายสิ่งของต่าง ๆ ออกจากแผงค้าตลาดมีนบุรีหมดเรียบร้อยแล้ว หากโจทก์ต้องการใช้แผงค้าตลาดมีนบุรีอีก ก็จะได้ไปยื่นคำร้องขอเช่าแผงค้าเพื่อจะได้เริ่มคิดค่าเช่าใหม่ต่อไปตามเอกสารหมาย ล.13 (ล.17 และ ล.37) ดังนั้น การเช่าแผงค้าตลาดมีนบุรีดังกล่าวของโจทก์จึงสิ้นสุดลงแล้วตั้งแต่วันที่ 18มกราคม 2532 ต่อมาเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2532 โจทก์มีหนังสือถึงจำเลยที่ 1 ขอเช่าแผงค้าตลาดมีนบุรีใหม่ตามเอกสารหมาย ล.14(ล.18) วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2532 จำเลยที่ 1 ได้มีหนังสือถึงโจทก์อนุญาตให้โจทก์เช่าแผงค้าตลาดมีนบุรีอีกครั้งหนึ่งตามเอกสารหมาย ล.15 (ล.20) วันที่ 23 มีนาคม 2532 จำเลยที่ 1ได้มีหนังสือบอกเลิกการเช่าแผงค้าตลาดมีนบุรีไปยังโจทก์ตามเอกสารหมาย ล.1 (ล.21) ดังนั้นการเช่าแผงค้าตลาดมีนบุรีครั้งที่สองของโจทก์จึงสิ้นสุดลง ต่อมาในวันที่ 21 เมษายน 2532 โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอความเป็นธรรมไปยังผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครตามเอกสารหมาย ล.16 (ล.22) ต่อมาโจทก์ได้ส่งเงินค่าเช่าแผงค้าประจำเดือนมีนาคม-เมษายน 2532 จำนวน 600 บาท ไปให้จำเลยที่ 1แต่จำเลยที่ 1 ไม่ยอมรับตามเอกสารหมาย จ.7 วันที่ 20 พฤศจิกายน2532 โจทก์ได้นำเงินจำนวน 4,419 บาท ไปวาง ณ สำนักงานบังคับคดีและวางทรัพย์ประจำศาลมีนบุรีตามเอกสารหมาย จ.18 หลังจากนั้นไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้อนุญาตให้โจทก์เช่าแผงค้าตลาดมีนบุรีอีกเลย จนกระทั่งวันที่ 1 ตุลาคม 2532 จำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยที่ 3 ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนตามเอกสารหมายจ.24 วันที่ 6 ตุลาคม 2532 จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 1 ได้ไปแจ้งความร้องทุกข์และให้การต่อพนักงานสอบสวนตามเอกสารหมาย จ.19 ล.4 และ จ.20 ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2532 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2532 โจทก์ไม่ใช่ผู้เช่าแผงค้าตลาดมีนบุรีของสำนักงานตลาด กรุงเทพมหานคร แต่โจทก์ยังคงวางสินค้าที่แผงค้าตลาดมีนบุรีที่เคยเช่า และแผงค้าอื่นที่ไม่เคยเช่า รวมทั้งทางเดินในตลาดมีนบุรีด้วย จึงทำให้จำเลยที่ 1 เข้าใจว่าเมื่อการเช่าสิ้นสุดลงแล้ว แต่โจทก์ยังวางสินค้าอยู่ และจำเลยที่ 2 แจ้งให้โจทก์ขนย้ายทรัพย์สินออกไปแต่โจทก์ไม่ยอม โจทก์จึงเป็นผู้บุกรุกและได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 3ไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนข้อความที่จำเลยที่ 3 ไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนนั้น ตรงกับสภาพที่จำเลยที่ 2ไปพบเห็นมา จึงเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 3 แจ้งข้อความเท็จจริงที่ปรากฏ ส่วนการกระทำของโจทก์จะเป็นความผิดต่อกฎหมายตามที่จำเลยที่ 3 แจ้งหรือไม่ ไม่สำคัญ เพราะการแจ้งข้อความย่อมหมายถึงแจ้งข้อเท็จจริงไม่เกี่ยวกับข้อกฎหมาย หลังจากจำเลยที่ 3ได้แจ้งต่อพนักงานสอบสวนแล้วพนักงานสอบสวนได้ดำเนินคดีแก่โจทก์แม้ต่อมาพนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องโจทก์ก็ยังถือไม่ได้ว่าข้อความที่จำเลยที่ 3 แจ้งนั้นเป็นความเท็จ เมื่อฟังว่าข้อความที่จำเลยที 3 ผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 1 แจ้งนั้นเป็นความจริงจำเลยที่ 1 ที่ 3 จึงไม่มีความผิดฐานแจ้งความเท็จ จำเลยที่ 2ก็ไม่มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนในความผิดฐานแจ้งความเท็จ
โจทก์ฎีกาเป็นข้อที่สองว่า จำเลยทั้งสามเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 หรือไม่เห็นว่าตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานครพ.ศ. 2528 มาตรา 91 ได้บัญญัติให้บุคคลผู้มีตำแหน่งต่าง ๆ และข้าราชการกรุงเทพมหานครเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาปัญหาว่า จำเลยทั้งสามเป็นข้าราชการกรุงเทพมหานครหรือไม่นั้นตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528มาตรา 4 ได้บัญญัติคำจำกัดความของคำว่า “ข้าราชการกรุงเทพมหานคร”หมายความว่า บุคคลซึ่งได้รับการบรรจุและแต่งตั้งให้รับราชการโดยได้รับเงินเดือนจากเงินงบประมาณหมวดเงินเดือนของกรุงเทพมหานครและกรุงเทพมหานครนำมาจัดเป็นเงินเดือนของข้าราชการกรุงเทพมหานครจำเลยทั้งสามเป็นพนักงานของสำนักงานตลาด กรุงเทพมหานคร ซึ่งตามระเบียบกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของสำนักงานตลาดกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2527 ข้อ 4 และข้อ 6 เอกสารหมาย ล.31 กำหนดให้ได้รับเงินเดือนจากงบประมาณรายจ่ายของการพาณิชย์ของกรุงเทพมหานคร ตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องวิธีการงบประมาณพ.ศ. 2529 เอกสารหมาย ล.34 จำเลยทั้งสามจึงไม่ได้รับเงินเดือนจากงบประมาณหมวดเงินเดือนของกรุงเทพมหานคร ถือไม่ได้ว่ามีฐานะเป็นข้าราชการกรุงเทพมหานคร ดังนั้นจำเลยทั้งสามจึงไม่เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงไม่อยู่ในบังคับแห่งประมวลกฎหมายอาญา ภาค 2 ว่าด้วยความผิดลักษณะ 2 ความผิดเกี่ยวกับการปกครอง หมวด 2 ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ
โจทก์ฎีกาเป็นข้อสุดท้ายว่า จำเลยทั้งสามปฏิบัติหน้าที่ในสำนักงานตลาด กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ จำเลยทั้งสามปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ย่อมมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502มาตรา 11 ด้วย หากโจทก์อ้างฐานความผิดหรือทบมาตราผิด ขอให้ศาลฎีกาลงโทษจำเลยทั้งสามตามฐานความผิดที่ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 ด้วยนั้น เห็นว่าการที่ศาลที่จะมีอำนาจลงโทษจำเลยในฐานความผิดหรือบทมาตราที่ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคห้าได้นั้น จะต้องเป็นกรณีที่ข้อเท็จจริงตามฟ้องนั้นโจทก์สืบสมฟังได้ว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามที่กล่าวในฟ้องจริง เพียงแต่โจทก์อ้างฐานความผิดหรือบทมาตราผิดไปเท่านั้น ทั้งจะต้องมิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์อ้างตัวบทกฎหมายผิดเป็นคนละฉบับไปด้วย เมื่อในคดีนี้ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3ได้กระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง จึงไม่อาจนำบทกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับได้
พิพากษายืน