คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 112/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่1ทำหนังสืออุทิศถนนให้เป็นทางสาธารณประโยชน์ทั้งหมดถนนดังกล่าวตลอดสายจึงตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินโดยสมบูรณ์ตามกฎหมายทันทีที่จำเลยที่1ได้แสดงเจตนาอุทิศให้เป็นทางสาธารณประโยชน์ด้วยไม่ต้องจดทะเบียนโอนสิทธิการให้ทางโฉนดต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา525แม้ข้อความในตอนท้ายของหนังสืออุทิศระบุว่าจำเลยที่1จะไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวณสำนักงานที่ดินให้ต่อไปก็หามีผลทำให้กรรมสิทธิ์ในที่ดินที่อุทิศยังไม่โอนไปไม่ การออกโฉนดที่ดินถนนที่อุทิศซึ่งเป็นที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่1เป็นการออกภายหลังจากที่ดินพิพาทได้ตกเป็นทางสาธารณประโยชน์แล้วการออกโฉนดที่ดินพิพาทจึงเป็นการออกโดยมิชอบและศาลย่อมมีอำนาจเพิกถอนได้ตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา61วรรคท้าย จำเลยที่2ซื้อที่ดินพิพาทตามโฉนดที่ดินที่ออกโดยมิชอบเพราะออกโฉนดภายหลังจากที่ดินพิพาทได้ตกเป็นทางสาธารณประโยชน์แม้จะได้ซื้อจากการขายทอดตลาดของศาลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา330ก็ตามจำเลยที่2ก็ไม่ได้รับความคุ้มครองตามบทบัญญัติดังกล่าว จำเลยที่2ไม่ได้กรรมสิทธิ์และไม่มีอำนาจโอนที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่3จำเลยที่3ไม่ได้กรรมสิทธิ์ด้วยจำเลยที่3ไม่มีสิทธิเข้าไปครอบครองที่ดินพิพาท

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม2524 จำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสืออุทิศที่ดินของจำเลยบางส่วนในที่ดินโฉนดเลขที่ 13721 ตำบลหนองแขม อำเภอหนองแขม(ภาษีเจริญ) กรุงเทพมหานคร ให้เป็นทางสาธารณประโยชน์มีสภาพเป็นถนนดินลูกรังรวม 6 สาย เป็นถนนหลัก ถนนซอยแยก ให้ประชาชนทั่วไปใช้ประโยชน์ร่วมกันภายในบริเวณที่ดินจัดสรรของจำเลยที่ 1ทางสาธารณประโยชน์ดังกล่าวจึงตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกันโจทก์มีอำนาจหน้าที่ตรวจตราดูแลรักษาและได้บูรณะซ่อมแซมทางสาธารณประโยชน์ดังกล่าวโดยได้ทำการปรับปรุงสภาพถนนด้วยการลาดยางและขุดวางท่อระบายน้ำให้ถนนมีสภาพดีขึ้นตั้งแต่ปี 2526ตลอดมา ปรากฏว่าเมื่อปี 2525 จำเลยที่ 1 นำที่ดินซึ่งเป็นทางสาธารณประโยชน์บางส่วนทางด้านทิศใต้ปลายสุดของถนนหลักไปขอแบ่งแยกออกเป็นโฉนดที่ดินใหม่ซึ่งเจ้าพนักงานที่ดินได้ออกโฉนดที่ดินให้ใหม่อันเป็นการออกโฉนดที่ดินโดยคลาดเคลื่อนไม่ชอบด้วยกฎหมายต่อมาจำเลยที่ 2 ซื้อที่ดินโฉนดดังกล่าวจากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่7903/2523 ของศาลชั้นต้น กับมีการออกใบแทนโฉนดที่ดินและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ตามลำดับ ครั้นเดือนกุมภาพันธ์ 2532 จำเลยที่ 3 ได้ปิดกั้นที่ดินไม่ให้ประชาชนใช้สัญจรไปมา กับนำที่ดินมาถมสูงขึ้นจากเดิมจนเต็มพื้นที่ ขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินและใบแทนโฉนดที่ดินพิพาทให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2และจำเลยที่ 3 และให้เจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนที่ดินพิพาทเป็นทางสาธารณประโยชน์ กับให้จำเลยที่ 3 รื้อถอนรั้วและขนย้ายดินออกจากที่ดินพิพาทดังกล่าว
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสืออุทิศที่ดินให้แก่โจทก์จริง แต่ไม่ได้รวมถึงที่ดินพิพาท และไม่ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์จึงไม่สมบูรณ์ตามกฎหมายที่ดินพิพาทจึงไม่ใช่สาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า หากจำเลยที่ 1 ทำหนังสืออุทิศที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์จริง แต่ไม่ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์นิติกรรมดังกล่าวจึงไม่มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยยกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์เพื่อเป็นทางสาธารณประโยชน์ หากจำเลยที่ 1 ทำหนังสืออุทิศที่ดินให้แก่โจทก์ ก็เป็นการแสดงเจตนายกให้หลังจากแบ่งแยกที่ดินพิพาทแล้ว และเมื่อไม่ได้จดทะเบียน จึงไม่มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย จำเลยที่ 3 ปิดกั้นและถมดินในที่ดินพิพาทตามสิทธิของจำเลยที่ 3 โจทก์ไม่มีสิทธิขอห้ามและไม่มีสิทธิบังคับให้จำเลยที่ 3 รื้อถอน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น พิพากษายก ฟ้อง
โจทก์ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้เพิกถอนโฉนดที่ดินและใบแทนโฉนดที่ดินที่พิพาทและเพิกถอนนิติกรรมการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 กับเพิกถอนนิติกรรมการยกให้ระหว่างจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้จำเลยที่ 3 รื้อถอนเสาไม้รื้อลวดหนามและขนดินออกไปจากที่ดินตามฟ้องห้ามจำเลยที่ 3 และบริวารเข้าเกี่ยวข้องในที่ดินแปลงดังกล่าวอีกต่อไป
จำเลย ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1ได้อุทิศถนนเมนต์ให้เป็นทางสาธารณประโยชน์ทั้งหมด ถนนเมนต์ตลอดทั้งสายจึงตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินโดยสมบูรณ์ตามกฎหมายทันทีที่จำเลยที่ 1 ได้แสดงเจตนาอุทิศให้เป็นทางสาธารณะ โดยไม่จำต้องจดทะเบียนโอนสิทธิการให้ทางโฉนดต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 525 ดังนั้น แม้ข้อความในตอนท้ายหนังสืออุทิศที่ดินได้ระบุว่า จำเลยที่ 1 จะไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าว ณ สำนักงานที่ดินให้ต่อไป ก็หามีผลทำให้กรรมสิทธิ์ในที่ดินที่อุทิศยังไม่โอนไปไม่ ที่จำเลยทั้งสามนำสืบต่อสู้ว่า เฉพาะที่ดินพิพาทเนื้อที่ 37 ตารางวาซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินถนนเมนต์ดังกล่าวอยู่ปลายทางไม่รวมอยู่ในที่ดินที่จำเลยที่ 1 แสดงเจตนาอุทิศให้ตามเพราะจำเลยที่ 1 ได้จัดสรรที่ดินดังกล่าวออกเป็นแปลงย่อยตั้งแต่ปี2514 แต่ได้มอบอำนาจให้นายสมชาย พันธ์แก้ว ตามหนังสือมอบอำนาจฉบับลงวันที่ 10 ตุลาคม 2523 ยื่นคำขอแบ่งแยกที่ดินออกจากกัน4 แปลง โดยแบ่งแยกในนามเดิม ล.1/5 และนายสมชายได้ยื่นหนังสือคำขอแบ่งแยกนั้นต่อเจ้าพนักงานที่ดิน เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2524อันเป็นเวลาก่อนที่จำเลยที่ 1 ทำหนังสืออุทิศที่ดินให้เป็นทางสาธารณประโยชน์นั้น ข้อความในเอกสารหมาย ล.1/5 ซึ่งระบุว่า”ข้าพเจ้าจะนำชี้เขตเองในวันรังวัดต่อไป เพื่อให้เจ้าหน้าที่ปักหลักเขตให้เป็นที่แน่นอนต่อไป” แสดงว่า ตามคำขอดังกล่าวยังไม่มีระบุเขตที่ดินที่ประสงค์จะแบ่งแยก นอกจากนี้ต่อมายังปรากฏอีกว่า แม้จำเลยที่ 1 โดยนายสมชายซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจดังกล่าวจะได้ยื่นคำขอแบ่งแยก นายสมชายก็ได้รับรองว่าการรังวัดแบ่งแยกตามแผนที่ที่ปรากฏ ซึ่งมีที่ดินพิพาทรวมอยู่ด้วยถูกต้องตามความประสงค์แล้ว แต่ก็เห็นเป็นการรับรองเมื่อวันที่21 มิถุนายน 2525 ภายหลังจากการทำหนังสืออุทิศที่ดินให้เป็นทางสาธารณประโยชน์แล้วการออกโฉนดที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2525 จึงเป็นการออกโฉนดภายหลังจากที่ดินพิพาทได้ตกเป็นทางสาธารณประโยชน์แล้ว การออกโฉนดที่ดินพิพาทจึงเป็นการออกโดยมิชอบ และศาลย่อมมีอำนาจเพิกถอนได้ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 61 วรรคท้าย
ปัญหาว่า การที่จำเลยที่ 2 ซื้อที่ดินพิพาทจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลจะถือว่า จำเลยที่ 2 ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยชอบหรือไม่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1307 ได้บัญญัติว่า “ท่านห้ามมิให้ยึดทรัพย์สินของแผ่นดิน ไม่ว่าทรัพย์สินนั้นจะเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่” และมาตรา 1305 บัญญัติว่า “ทรัพย์สินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินจะโอนแก่กันมิได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจแห่งกฎหมายเฉพาะหรือพระราชกฤษฎีกา” เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน การออกโฉนดสำหรับที่ดินพิพาทภายหลังจากที่ดินพิพาทได้ตกเป็นทางสาธารณประโยชน์เป็นการมิชอบ ดังนั้นจำเลยที่ 2 ซึ่งซื้อที่ดินพิพาทมาตามโฉนดที่ออกโดยมิชอบดังกล่าวแม้จะได้ซื้อขายจากการขายทอดตลาดของศาลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1330 ก็ตาม จำเลยที่ 2ก็ไม่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 1330 จำเลยที่ 2 จึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท และไม่มีอำนาจโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 ผู้รับโอนไว้ย่อมไม่ได้กรรมสิทธิ์เช่นเดียวกัน จำเลยที่ 3 จึงไม่สิทธิเข้าไปครอบครองทำรั้วปิดกั้นและถมดินในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน
พิพากษายืน

Share