แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
คำว่า”โดยเจตนาจะฉ้อค่าภาษีของรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”เป็นองค์ประกอบความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ.2469มาตรา27ซึ่งบทบัญญัติมาตรา16แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร(ฉบับที่9)พ.ศ.2482หาได้ลบล้างองค์ประกอบความผิดดังกล่าวให้สิ้นไปไม่เพราะเพียงแต่มิให้คำนึงถึงเจตนาแห่งการกระทำส่วนความมุ่งหมายแห่งการกระทำหรือความประสงค์ต่อผลที่จะฉ้อค่าภาษียังคงเป็นองค์ประกอบความผิดตามมาตรา27อยู่ซึ่งเป็นเจตนาต่างหากจากเจตนากระทำการเมื่อจำเลยไม่มีเจตนาที่จะฉ้อค่าภาษีของรัฐบาลจำเลยจึงไม่มีความผิด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันยื่นใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ด่านศุลกากรท่าเรือกรุงเทพเป็นความเท็จว่าจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันนำเครื่องบันทึกข้อมูลรุ่น 94205-051 จำนวน 100 หน่วย รวม 4 หีบห่อราคาของ 806,930 บาท อากรขาเข้า 161,831 บาท ซึ่งเป็นของที่มีถิ่นกำเนิดและผลิตในต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักรไทยความจริงแล้วนอกจากเครื่องบันทึกข้อมูลดังกล่าว จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันลักลอบนำเครื่องบันทึกข้อมูลและอุปกรณ์ชนิดต่าง ๆเข้ามาด้วย คือ ดิสก์ ไดร์ฟ รุ่น 94205-051 จำนวน 20 หน่วยรุ่น 94155-96 จำนวน 24 หน่วย รุ่น 94166-182 จำนวน 3 หน่วยรุ่น 94186-383 เอช จำนวน 2 หน่วย รุ่น 94196-766 จำนวน 1 หน่วยอะแด๊ปเตอร์ คาร์ด (ส่วนประกอบเครื่องบันทึกข้อมูลอะแด๊ปเตอร์)จำนวน 8 ชุด ดิสก์ เมเนเจอร์ ไดอะนอสติคส์ วิท คาร์ด จำนวน 7 ชุดโอซี่ อะแด๊ปเตอร์ คิท รุ่นดับเบิ้ลยูแอลเอ (ส่วนประกอบเครื่องบันทึกข้อมูลโฮซี่ อะแด๊ปเตอร์ คิท) จำนวน 1 ชุด และพีซี คาร์ด รุ่นดับเบิ้ลยู ดี 1007 เอ ดับเบิ้ลยูเอแอล (ส่วนประกอบเครื่องบันทึกข้อมูล พีซี คาร์ด) จำนวน 20 ชุด รวม 9 รายการรวมราคาสินค้า 765,425.17 บาท ซึ่งเป็นของที่มีถิ่นกำเนิดและผลิตในต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักรไทย โดยหลีกเลี่ยงการเสียค่าภาษีศุลกากรและโดยเจตนาจะฉ้อค่าภาษี ของดังกล่าวจะต้องเสียค่าภาษีอากรขาเข้าเป็นเงิน 161,645 บาท รวมราคาของทั้งหมดที่จำเลยทั้งสองนำเข้ามาแล้วเป็นเงิน 1,572,355.17 บาท ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27, 99พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 มาตรา 16พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2490 มาตรา 3พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2497 มาตรา 4ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำผิด พ.ศ. 2489 มาตรา 4, 5, 6, 7, 8, 9ให้จ่ายรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับตามกฎหมาย
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ และต่อสู้อีกว่าจำเลยที่ 1ได้วางหลักทรัพย์ค้ำประกันความเสียหายให้แก่กรมศุลกากรครบถ้วนแล้วจำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิด
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 และ 99 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทหนักตามมาตรา 27 ปรับจำเลยทั้งสองรวมกันเป็นเงิน 3,708,280.68 บาท หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และ 30เฉพาะจำเลยที่ 2 ถ้าต้องถูกกักขังแทนค่าปรับให้กักขังไม่เกิน 1 ปีจ่ายรางวัลให้เจ้าพนักงานผู้จับตามกฎหมาย
จำเลย ทั้ง สอง อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
จำเลย ทั้ง สอง ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามที่คู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทได้นำสินค้าบันทึกข้อมูลและอุปกรณ์ซึ่งผลิตจากต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักรโดยยื่นใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้ากับบัญชีราคาสินค้าตามเอกสารหมาย จ.2และ จ.4 ต่อกรมศุลกากร เพื่อชำระอากรขาเข้าและขอให้ตรวจปล่อยสินค้าพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสินค้าดังกล่าวแล้วปรากฏว่าสินค้าซึ่งนำเข้ามามีจำนวนเกินกว่าที่สำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าจำนวน 9 รายการ คิดเป็นเงิน765,425.17 บาท ซึ่งต้องเสียภาษีอากรขาเข้าเป็นเงิน 161,645 บาทจึงยึดสินค้าทำบันทึกการตรวจพบความผิด ประเมินราคาสินค้าและประเมินภาษีอากรเฉพาะสินค้าที่เกินไว้ ซึ่งจำเลยทั้งสองยอมรับว่าสินค้าที่นำเข้ามีเกินจากที่สำแดงไว้ในใบขนสินค้าและแบบแสดงรายการการค้าตามจำนวนที่ตรวจพบจริง แต่อ้างว่าจำเลยทั้งสองไม่ทราบ เนื่องจากสินค้าที่เกินมาเป็นรายการสินค้าที่จำเลยทั้งสองสั่งให้ผู้ขายส่งมาภายหลัง แต่ผู้ขายกลับส่งรวมมาในเที่ยวเรือเดียวกับสินค้าตามใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าเอกสารหมาย จ.2 จำเลยทั้งสองมาทราบว่ามีการส่งรวมกันมาเมื่อมีการตรวจสินค้าดังกล่าวแล้ว คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการแรกว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองจะเป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้องนั้น จำเลยทั้งสองต้องมีเจตนาจะฉ้อค่าภาษีของรัฐบาลหรือไม่ คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27, 99พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 มาตรา 16โดยกล่าวอ้างการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นใจความสำคัญว่าจำเลยทั้งสองนำสิ่งของเข้ามาในราชอาณาจักรโดยจำเลยทั้งสองมีเจตนาหลีกเลี่ยงการเสียค่าภาษีศุลกากร ทั้งนี้โดยจำเลยทั้งสองมีเจตนาจะฉ้อค่าภาษี ศาลอุทธรณ์เห็นว่าข้อต่อสู้ของจำเลยทั้งสองที่ว่าจำเลยทั้งสองไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีอากรนั้นฟังไม่ขึ้นเพราะตามพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 มาตรา 16บัญญัติว่า “การกระทำที่บัญญัติไว้ในมาตรา 27 และมาตรา 99แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2469 นั้น ให้ถือว่าเป็นความผิดโดยมิพักต้องคำนึงว่าผู้กระทำมีเจตนา หรือกระทำโดยประมาทเลินเล่อหรือหาไม่” จึงพิพากษาลงโทษจำเลย เห็นว่าพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2469 มาตรา 27 เฉพาะที่เกี่ยวกับกรณีนี้มีบทบัญญัติว่า “ผู้ใดนำหรือพาของที่ยังมิได้เสียค่าภาษีฯลฯ หรือเกี่ยวข้องด้วยประการใด ๆ ในการหลีกเลี่ยง หรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีศุลกากร ฯลฯ โดยเจตนาจะฉ้อค่าภาษีของรัฐบาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่จะต้องเสียสำหรับของนั้น ๆ ฯลฯสำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ ให้ปรับ หรือจำคุก ซึ่งคำว่า “โดยเจตนาจะฉ้อค่าภาษีของรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” นั้นยังคงถือว่าเป็นองค์ประกอบความผิดเช่นกรณีนี้อยู่ บทบัญญัติของมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 นั้นหาได้ลบล้างองค์ประกอบความผิดที่ว่าจะต้องกระทำ “โดยเจตนาจะฉ้อค่าภาษี” นั้น ให้สิ้นไปไม่ เพราะมาตรา 16 นั้น หมายถึงแต่เพียงมิให้คำนึงถึงเจตนาแห่งการกระทำเช่นนั้น ส่วนความมุ่งหมายแห่งการกระทำหรือความประสงค์ต่อผลนั้น ยังคงต้องเป็นองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 27 นั้นอยู่ ถ้าว่า “โดยเจตนาจะฉ้อค่าภาษี”ตามความหมายของกฎหมายในขณะนั้นย่อมหมายถึงความมุ่งหมายแห่งการกระทำหรือความประสงค์ต่อผลต่างหากจากเจตนากระทำการ คดีนี้จำเลยทั้งสองจะมีความผิดก็ต่อเมื่อข้อเท็จจริงที่รับฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองมีเจตนาจะฉ้อค่าภาษีของรัฐบาล ซึ่งศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงไว้ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปเสียเลยโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ปรากฏข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของโจทก์และจำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองนำสินค้าประเภทอุปกรณ์คอมพิวเตอร์เข้ามาในราชอาณาจักรโดยยื่นใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าต่อกรมศุลกากรพร้อมบัญชีราคาสินค้าเอกสารเกี่ยวกับการประกันภัยใบตราส่ง เอกสารใบสุทธิการชำระเงินแบบ ล.ป.21 ตามเอกสารหมาย จ.2 และ จ.4 และชำระค่าภาษีอากรแล้วตามใบเสร็จรับเงินอากรขาเข้า เอกสารหมาย จ.3 พนักงานศุลกากรตรวจสอบแล้วพอใจบัญชีราคาสินค้า ต่อมาได้มีการเปิดสินค้าออกตรวจสอบปรากฏว่ามีสินค้าเกินจากจำนวนที่จำเลยทั้งสองสำแดงไว้พนักงานศุลกากรได้ประเมินภาษีอากรเพิ่มพร้อมกับให้จำเลยทั้งสองชำระค่าปรับ จำเลยทั้งสองตกลงยินยอมตามที่กรมศุลกากรประเมินเพิ่มและได้จัดทำใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าเพิ่มเติมและกรมศุลกากรได้ตรวจปล่อยสินค้าให้จำเลยทั้งสองรับไป เอกสารต่าง ๆที่จำเลยทั้งสองแนบแสดงไปพร้อมกับใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าในครั้งแรกนั้น เป็นเอกสารที่ทางผู้ขายในต่างประเทศออกให้กับจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองจึงสำแดงในใบขนสินค้าและแบบแสดงรายการการค้าตามหลักฐานที่ทางผู้ขายส่งมาให้กับจำเลยทั้งสอง นอกจากนี้เมื่อเปิดหีบห่อออกตรวจก็พบเห็นได้โดยชัดเจนว่ามีจำนวนสินค้าเกินจากที่จำเลยทั้งสองสำแดงโดยจำเลยทั้งสองมิได้ปกปิดซุกซ่อนสินค้าแต่อย่างใด และเมื่อกรมศุลกากรประเมินค่าภาษีอากรเพิ่มสำหรับสินค้าที่เพิ่มขึ้นพร้อมกับเบี้ยปรับอีก 2 เท่า จำเลยทั้งสองก็ยินยอมปฏิบัติตามคำสั่งของกรมศุลกากร แสดงถึงความสุจริตใจของจำเลยทั้งสองไม่มีเจตนาจะหลีกเลี่ยงหรือฉ้อโกงไม่เสียภาษี เมื่อจำเลยทั้งสองไม่มีเจตนาที่จะฉ้อค่าภาษีของรัฐบาล จำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยก ฟ้องโจทก์