คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6857/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การที่จะทราบว่าโจทก์ฟ้องในฐานะใดจะต้องพิจารณาฟ้องรวมกันทั้งฉบับมิใช่เฉพาะในแบบพิมพ์คำฟ้องในช่องโจทก์เท่านั้น คดีก่อนส. ฟ้องเรียกที่ดินพิพาททั้งหมดจากจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของบ.ซึ่งเป็นการฟ้องแทนทายาทคนอื่นรวมทั้งโจทก์และทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมคดีถึงที่สุดไปแล้วการที่โจทก์ฟ้องจำเลยคดีนี้อีกในประเด็นเดิมที่ว่าจำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์หรือไม่จึงเป็นฟ้องซ้ำแม้ในคดีก่อนส. จะไม่ได้ระบุในช่องโจทก์ว่าส.ในฐานะผู้จัดการมรดกก็ตาม

ย่อยาว

คดีทั้งสามสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกันโดยเรียกโจทก์ทั้งสามสำนวนเป็นโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ตามลำดับ
โจทก์ทั้งสามฟ้องทำนองเดียวกันว่า โจทก์ทั้งสามนายสังวาลย์ ภาชีฉาย และจำเลยเป็นบุตรของนายวงษ์และนางปุ่น ภาชีฉาย นายวงษ์ตายไปแล้ว ต่อมาวันที่ 27 มกราคม 2511นางปุ่นตาย นายสังวาลย์ได้ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกนางปุ่น ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งให้นายสังวาลย์เป็นผู้จัดการมรดกเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2522 แต่นายสังวาลย์ไม่ได้นำทรัพย์มรดกคือที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 5047 ซึ่งนางปุ่นเจ้ามรดกถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับผู้อื่นมาแบ่งปันให้แก่ทายาท ต่อมาโจทก์ทั้งสามทราบว่าจำเลยได้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้มีคำสั่งแสดงว่าที่ดินพิพาทส่วนซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของนางปุ่นตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยด้วยการครอบครองปรปักษ์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม2524 ให้ที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยตามคดีหมายเลขแดงที่ 564/2524 ซึ่งความจริงแล้วที่ดินส่วนนี้จำเลยอาศัยทำกินอยู่บนที่ดินโดยการครอบครองแทนทายาททุกคน กับได้ชำระค่าเช่าให้แก่เจ้ามรดกกับนายสังวาลย์ตลอดมาจนถึงปี 2524 ที่ดินพิพาทส่วนของนางปุ่นมีเนื้อที่ 17 ไร่ 2 งาน 65 ตารางวา โจทก์ทั้งสามมีกรรมสิทธิ์รวมคนละ 3 ไร่ 2 งาน 13 ตารางวา โจทก์ทั้งสามแจ้งให้จำเลยไปทำการจดทะเบียนลงชื่อโจทก์ทั้งสามเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาท แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยไปจดทะเบียนลงชื่อโจทก์ทั้งสามเป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาทหากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยทั้งสามสำนวนให้การในทำนองเดียวกันว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความมรดกเพราะนางปุ่นเจ้ามรดกตายตั้งแต่วันที่27 มกราคม 2511 จำเลยเพียงผู้เดียวที่ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดก ได้เสียภาษีบำรุงท้องที่ตลอดมาจนถึงปี 2524 จึงได้ยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท ศาลมีคำสั่งให้ที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยแล้วตั้งแต่ปี 2524นายสังวาลย์ผู้จัดการมรดกเคยคัดค้านจำเลยเกี่ยวกับที่ดินพิพาทแต่ก็แพ้คดีไป คดีถึงที่สุดแล้ว ที่ดินพิพาทจึงเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยไปจดทะเบียนลงชื่อโจทก์ทั้งสามเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับจำเลยเฉพาะส่วนของจำเลยในที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 5047 ตำบลไทรน้อย อำเภอไทรน้อย (บางบัวทอง) จังหวัดนนทบุรีโดยให้โจทก์ทั้งสามถือกรรมสิทธิ์คนละ 1 ส่วน จากจำนวน 5 ส่วนคำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสามสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่านายสังวาลย์โจทก์ทั้งสาม และจำเลยเป็นบุตรของนายวงษ์และนางปุ่นที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 5047 ตำบลไทรน้อย อำเภอไทรน้อย (บางบัวทอง)จังหวัดนนทบุรี ตามโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.2 นางปุ่นถือกรรมสิทธิ์จำนวน 1 ใน 3 ส่วน เป็นเนื้อที่ 17 ไร่ 2 งาน 65 ตารางวาต่อมาวันที่ 27 มกราคม 2511 นางปุ่นตาย นายสังวาลย์บุตรคนโตยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนางปุ่น ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งนายสังวาลย์เป็นผู้จัดการมรดกของนางปุ่นเมื่อวันที่27 มกราคม 2522 หลังจากนั้นนายสังวาลย์ไปจดทะเบียนโอนที่ดินส่วนของนางปุ่นมาเป็นชื่อของนายสังวาลย์ในฐานะผู้จัดการมรดกเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2523 ต่อมาวันที่ 14 กันยายน 2524 จำเลยได้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้น ขอให้มีคำสั่งว่าที่ดินพิพาทส่วนของนางปุ่นตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าที่ดินพิพาทส่วนของนางปุ่นตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย ตามคดีหมายเลขแดงที่ 564/2524 จำเลยนำคำสั่งไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2527 ต่อมานายสังวาลย์ได้ยื่นฟ้องให้จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์กลับคืนมาเป็นทรัพย์มรดกของนางปุ่นตามเดิม แต่ขณะคดีอยู่ระหว่างการพิจารณา นายสังวาลย์กับจำเลยได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันว่า จำเลยยอมชำระเงินให้แก่นางสังวาลย์เป็นเงิน 100,000 บาท นางสังวาลย์ไม่ติดใจว่ากล่าวเอาความเกี่ยวกับที่ดินพิพาทอีก ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ฉบับลงวันที่ 29 กันยายน 2531 ในคดีหมายเลขแดงที่ 564/2524 ของศาลชั้นต้น นายสังวาลย์ได้รับเงินและต่อมาตายไปแล้ว ต่อมาโจทก์ทั้งสามฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า ในคดีนี้โจทก์ทั้งสามฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 564/2524 และฟ้องโจทก์ทั้งสามขาดอายุความหรือไม่โดยโจทก์ทั้งสามฎีกาว่า โจทก์ทั้งสามไม่ได้ฟ้องซ้ำ เพราะตามคดีหมายเลขแดงที่ 564/2524 นายสังวาลย์ซึ่งเป็นพี่ของโจทก์ทั้งสามฟ้องจำเลยเรียกที่ดินพิพาทตามโฉนดเลขที่ 5047 ตำบลไทรน้อยอำเภอไทรน้อย (บางบัวทอง) จังหวัดนนทบุรี อันเป็นมรดกของนางปุ่นมารดาโจทก์และจำเลยทุกคนเป็นส่วนตัว แม้นายสังวาลย์จะเป็นผู้จัดการมรดกนางปุ่นมารดาตามคำสั่งศาลคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 506/2522 ของศาลชั้นต้นก็ตาม จะเห็นได้จากนายสังวาลย์ไม่ได้แจ้งให้โจทก์ทั้งสามทราบ และนายสังวาลย์ก็ทำสัญญายอมความกับจำเลยในมูลค่าของเงินเท่ากับส่วนของนายสังวาลย์ที่พึงได้รับจากที่ดินพิพาทดังกล่าวโดยโจทก์ทุกคนไม่ได้เกี่ยวข้อง นอกจากนั้นจำเลยมิได้ครอบครองที่ดินพิพาทเพื่อตน แต่หากครอบครองแทนทายาทคนอื่น ๆ และครอบครองยังไม่ถึง 10 ปี จึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทด้วยการครอบครองปรปักษ์ ในข้อนี้ในเบื้องแรกจำเป็นต้องพิเคราะห์ว่า นายสังวาลย์ฟ้องจำเลยและต่อมายอมความกับจำเลยในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 564/2524 ในฐานะผู้จัดการมรดกนางปุ่นมารดาหรือในฐานะส่วนตัวหรือทั้งสองฐานะ จึงจะพิเคราะห์ในคดีนี้ตามฎีกาโจทก์ต่อไปว่า โจทก์ทั้งสามฟ้องซ้ำกับคดีดังกล่าวดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยหรือไม่ เห็นว่า การที่จะทราบว่าโจทก์ฟ้องในฐานะใดจะต้องพิจารณาฟ้องรวมกันทั้งฉบับ แม้ในช่องแบบพิมพ์คำฟ้องในช่องโจทก์นั้น จะปรากฏชื่อนายสังวาลย์โจทก์โดยไม่ได้ระบุว่านายสังวาลย์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางปุ่นมารดาหรือในฐานะส่วนตัวฟ้องจำเลยก็ตาม แต่ใจความในคำฟ้องบรรยายอ้างว่าเมื่อนางปุ่นมารดาตาย โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกไม่มีพินัยกรรมของนางปุ่นตามคำสั่งศาลชั้นต้นในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 506/2522ต่อมาจำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งแสดงว่าจำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตามโฉนดเลขที่ 5047 ตำบลไทรน้อย อำเภอไทรน้อย(บางบัวทอง) จังหวัดนนทบุรี เนื้อที่ 17 ไร่เศษ อันเป็นกองมรดกโดยการครอบครองปรปักษ์และศาลชั้นต้นมีคำสั่งดังกล่าวเมื่อวันที่27 ตุลาคม 2524 ทั้งที่ความจริงจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทแทนนายสังวาลย์กับทายาทอื่นเท่านั้นอันเป็นการโต้แย้งสิทธิทำให้โจทก์และทายาทอื่นได้รับความเสียหาย ทั้งจำเลยยังไม่ชำระค่าเช่าที่ดินพิพาทตามที่เคยชำระให้ปีละ 4,600 บาทอีกด้วยจึงฟ้องขอให้ศาลบังคับให้จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทกลับคืนมาเป็นมรดกของนางปุ่นตามเดิม มิฉะนั้นขอให้ชำระค่าที่ดินพิพาททั้งหมด 437,500 บาท กับค่าเสียหาย 4,600 บาทจึงเห็นความมุ่งหมายของนายสังวาลย์ตามถ้อยคำบรรยายฟ้องว่านายสังวาลย์ฟ้องเรียกที่ดินพิพาททั้งหมดจากจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดก หาใช่ฟ้องเรียกที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนอันเป็นสิทธิส่วนตัวโจทก์เท่านั้น ไม่ ซึ่งเป็นไปตามสิทธิและหน้าที่ของผู้จัดการมรดกประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1719 เพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกทั้งเมื่อฟ้องยังบรรยายต่อไปว่านายสังวาลย์มีกรรมสิทธิ์ร่วมกับทายาทอื่น ๆ ในที่ดินพิพาท การฟ้องของนายสังวาลย์เท่ากับการใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อต่อสู้บุคคลภายนอก ย่อมมีอำนาจกระทำได้โดยลำพัง เมื่อปรากฏว่าในระหว่างพิจารณาคดี นายสังวาลย์กับจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันและศาลชั้นต้นได้พิพากษาตามยอมในทางวิธีสบัญญัติย่อมมีผลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 138 และเมื่อนายสังวาลย์โจทก์ในคดีดังกล่าวกับจำเลยต่างไม่อุทธรณ์ตามมาตรา 138 วรรคสอง ซึ่งกฎหมายให้อำนาจไว้คำพิพากษาในคดีดังกล่าวย่อมถึงที่สุด ห้ามมิให้คู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีก ในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ในคดีนี้เมื่อฟังได้ว่านายสังวาลย์ฟ้องจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดก ซึ่งเป็นการฟ้องแทนทายาทคนอื่นรวมทั้งโจทก์ทั้งสามและคดีเสร็จเด็ดขาดไปแล้วด้วยการทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมคดีถึงที่สุดไปแล้ว การที่โจทก์ทั้งสามฟ้องจำเลยคดีนี้อีกในประเด็นเดิมที่ว่า จำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์หรือไม่ และไม่มีกรณีเข้าข้อยกเว้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148ฟ้องของโจทก์จึงเป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 564/2524แม้ในคดีดังกล่าวนายสังวาลย์จะไม่ได้บรรยายฟ้องว่าฟ้องแทนโจทก์ด้วย และปัญหาว่าโจทก์ฟ้องซ้ำหรือไม่ เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) แม้จำเลยจะไม่ได้ให้การต่อสู้ในข้อนี้”
พิพากษายืน

Share