คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6499/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

หนังสือมอบอำนาจระบุว่าจำเลยมอบอำนาจให้ว. ดำเนินคดีนี้แทนและระบุเลขคดีชื่อศาลกับชื่อคู่ความไว้โดยให้มีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาในทางจำหน่ายสิทธิเช่นยอมรับตามที่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งเรียกร้องการถอนฟ้องการประนีประนอมจอมความการสละสิทธิการใช้สิทธิในการอุทธรณ์ฎีกาการขอให้พิจารณาใหม่รวมทั้งมีอำนาจรับเอกสารคืนจากศาลการแต่งตั้งตัวแทนช่วงเพื่อการนี้ด้วยเป็นการที่จำเลยมอบอำนาจให้ว.ดำเนินคดีแทนเฉพาะคดีนี้ถือว่ามอบอำนาจให้กระทำการครั้งเดียวต้องปิดอากรแสตมป์10บาทตามประมวลรัษฎากรมาตรา118และบัญชีอัตราอากรแสตมป์ข้อ7(ก) การที่จำเลยมอบอำนาจให้ว. มีอำนาจดำเนินกระบวนการพิจารณาแทนตามหนังสือมอบอำนาจย่อมหมายถึงให้มีอำนาจในการต่อสู้คดีซึ่งรวมถึงมีอำนาจฟ้องแย้งมาในคำให้การได้ด้วยและผู้รับมอบอำนาจย่อมตั้งทนายความเพื่อดำเนินกระบวนพิจารณาในส่วนนี้ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2521 บริษัทสยาม ยามาฮ่า จำกัด รับโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง ต่อมาวันที่ 1 มกราคม 2536 บริษัทสยามยามาฮ่า จำกัด โอนย้ายโจทก์ไปเป็นพนักงานของจำเลยในตำแหน่งพนักงานส่งของ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2536 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยอ้างว่าโจทก์ทุจริตยักยอกเงินค่าส่งสินค้า ซึ่งไม่เป็นความจริง เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ขอให้เพิกถอนคำสั่งเลิกจ้าง และให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานตามเดิม หากไม่สามารถรับโจทก์กลับเข้าทำงานได้ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 49,110 บาท ค่าเสียหายจำนวน100,000 บาท กับให้จำเลยจ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินสมทบในส่วนของจำเลยเป็นเงิน 52,164.10 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์เป็นพนักงานของจำเลยในตำแหน่งพนักงานส่งของ มีหน้าที่นำสินค้าของจำเลยจัดส่งให้ลูกค้าโดยนำไปส่งยังบริษัทขนส่งและเป็นผู้เบิกเงินจากจำเลยนำไปชำระค่าขนส่งสินค้า โจทก์ได้เรียกร้องเงินจากบริษัทขนส่งโดยขอให้เขียนใบเสร็จรับเงินเกินกว่าราคาค่าขนส่งจริงแล้วนำใบเสร็จรับเงินดังกล่าวมาแสดงเพื่อนำเงินส่วนเกินไปเป็นประโยชน์ส่วนตัว อันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าเสียหาย ขอให้ยกฟ้องโจทก์ กับให้โจทก์ชำระเงินส่วนเกินจากค่าขนส่งที่โจทก์ชำระไปจริง พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่โจทก์เอาไปรวมเป็นเงินจำนวน 675 บาท และให้โจทก์ชำระค่าเสียหายจำนวน 500,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละสิบห้าบาทต่อปีนับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าโจทก์จะชำระเสร็จแก่จำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์มิได้ทุจริต จำเลยไม่เสียหายขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ให้โจทก์ชำระเงินจำนวน2,062 บาท แก่จำเลยพร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี โดยเงินจำนวน 2,000 บาท ให้คิดตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2537อันเป็นวันฟ้องแย้ง ส่วนเงินจำนวน 62 บาท ให้คิดตั้งแต่วันที่23 มิถุนายน 2536 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย
โจทก์ อุทธรณ์ ต่อ ศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาขึ้นมาสู่การวินิจฉัยของศาลฎีกาตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า หนังสือมอบอำนาจตามเอกสารหมาย ล.23 ปิดอากรแสตมป์ครบถ้วนบริบูรณ์หรือไม่และผู้รับมอบอำนาจจำเลยมีอำนาจฟ้องแย้งหรือไม่ พิเคราะห์แล้วตามหนังสือมอบอำนาจฉบับดังกล่าวระบุข้อความว่า จำเลยมอบอำนาจให้นายวุฒิ รายนานนท์ ดำเนินคดีนี้แทนและระบุเลขคดี ชื่อศาลกับชื่อคู่ความไว้ โดยให้มีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลในทางจำหน่ายสิทธิ เช่น ยอมรับตามที่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งเรียกร้อง การถอนฟ้อง การประนีประนอมยอมความ การสละสิทธิในการอุทธรณ์ ฎีกา การขอให้พิจารณาคดีใหม่ มีอำนาจรับเอกสารคืนจากศาล การแต่งตั้งตัวแทนช่วงเพื่อการนี้ด้วย เห็นว่าตามข้อความในหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวเป็นการที่จำเลยมอบอำนาจให้นายวุฒิดำเนินคดีแทนเฉพาะคดีนี้ แม้ว่าจะมีข้อความระบุให้ผู้รับมอบอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลในเรื่องต่าง ๆก็ต้องถือว่ามอบอำนาจให้กระทำการเพียงครั้งเดียว เมื่อจำเลยปิดอากรแสตมป์ 10 บาท ถือว่าบริบูรณ์ตามประมวลรัษฎากร มาตรา118 และบัญชีอัตราอากรแสตมป์ข้อ 7 (ก) แล้ว จึงใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีได้ และการที่จำเลยมอบอำนาจให้นายวุฒิมีอำนาจดำเนินการกระบวนพิจารณาแทนตามหนังสือมอบอำนาจดังกล่าว ย่อมหมายถึงให้มีอำนาจในการต่อสู้คดีซึ่งรวมถึงอำนาจฟ้องแย้งมาในคำให้การได้ด้วยและผู้รับมอบอำนาจย่อมตั้งทนายความเพื่อดำเนินกระบวนพิจารณาดังกล่าวได้ศาลแรงงานกลางสั่งรับฟ้องแย้งของจำเลยชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share