คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5177/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่1ขับรถยนต์ของจำเลยที่2นายจ้างไปในทางการที่จ้างชนท้ายรถยนต์ของโจทก์ซึ่งร. ภรรยาโจทก์เป็นผู้ขับได้รับความเสียหายต่อมาจำเลยที่1ทำบันทึกตกลงชดใช้ค่าเสียหายกับร. มีข้อความว่าจำเลยที่1ยอมชดใช้ค่าเสียหายที่รถยนต์โจทก์เสียหายแก่ร. จำนวน30,990บาทร. ตกลงตามข้อเสนอของจำเลยที่1และมีข้อความต่อไปว่าการตกลงครั้งนี้จะยังไม่ผูกพันจำเลยที่1เท่านั้นจำเลยที่2จะคงผูกพันอยู่จนกว่าร. จะได้รับเงินจำนวนดังกล่าวครบถ้วนเรียบร้อยแล้วร. จึงจะไม่ติดใจเรียกร้องใดๆกับจำเลยที่1หรือจำเลยที่2อีกแม้จำเลยที่2มิได้ร่วมลงลายมือในบันทึกก็ตามแต่ข้อความตอนท้ายของบันทึกดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงเจตนาของฝ่ายโจทก์ว่าหากจำเลยที่1ยังไม่ชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ครบถ้วนโจทก์ก็ยังมิได้สละสิทธิที่จะเรียกร้องค่าเสียหายในมูลละเมิดจากจำเลยที่2เมื่อจำเลยที่1ผิดนัดไม่ชำระค่าเสียหายให้โจทก์ตามที่ได้ตกลงไว้หนี้ในมูลละเมิดจึงยังไม่ระงับโจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยที่1ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ได้และมีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยที่2ชดใช้ค่าเสียหายในมูลละเมิดได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นางเรณู มณีวัตร ได้ขับรถยนต์ของโจทก์ไปจอดไว้ที่ริมซอย ต่อมาพบว่ารถยนต์ของโจทก์ถูกรถยนต์ของจำเลยที่ 2ซึ่งขับโดยจำเลยที่ 1 ขณะทำงานให้จำเลยที่ 2 เพื่อนำรถยนต์คันดังกล่าวไปซ่อมให้จำเลยที่ 2 ชนท้ายอย่างแรง ทำให้รถยนต์ของโจทก์เคลื่อนไปชนเสาไฟฟ้าข้างถนนได้รับความเสียหายขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวน 63,530 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า ภรรยาโจทก์ตกลงรับชดใช้ค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 เท่านั้น หนี้มูลละเมิดจึงระงับไป ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 รับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน 42,530 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จโดยให้จำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดด้วยไม่เกิน 30,990 บาท
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์ของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้างและจำเลยที่ 1 กระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ชนท้ายรถยนต์ของโจทก์ซึ่งนางเรณู มณีวัตร ภรรยาโจทก์เป็นผู้ขับได้รับความเสียหาย ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ทำบันทึกข้อตกลงชดใช้ค่าเสียหายกับนางเรณูตามเอกสารหมาย จ.4 มีใจความสำคัญว่า จำเลยที่ 1ยอมชดใช้ค่าเสียหายที่รถยนต์โจทก์เสียหายแก่นางเรณูจำนวน30,990 บาท นางเรณูตกลงตามข้อเสนอของจำเลยที่ 1 และมีข้อความต่อไปว่าการตกลงครั้งนี้จะยังไม่ผูกพันจำเลยที่ 1 เท่านั้นจำเลยที่ 2 จะคงผูกพันอยู่จนกว่านางเรณูจะได้รับเงินจำนวนดังกล่าวครบถ้วนเรียบร้อยแล้ว นางเรณูจึงจะไม่ติดใจเรียกร้องใด ๆกับจำเลยที่ 1 หรือจำเลยที่ 2 อีก เห็นว่า แม้จำเลยที่ 2มิได้ร่วมลงลายมือในเอกสารหมาย จ.4 ก็ตาม แต่ข้อความตอนท้ายของบันทึกดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงเจตนาของโจทก์ว่า หากจำเลยที่ 1ยังไม่ชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ครบถ้วน โจทก์ก็ยังมิได้สละสิทธิที่จะเรียกร้องค่าเสียหายในมูลละเมิดจากจำเลยที่ 2 เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเสียหายให้โจทก์ตามที่ได้ตกลงไว้ในเอกสารหมาย จ.4 หนี้ในมูลละเมิดจึงยังไม่ระงับโจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ได้และมีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายในมูลละเมิดได้
พิพากษายืน

Share