คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4804/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมพ.ศ.2524มาตรา54วรรคสอง,56วรรคหนึ่ง,57กำหนดขั้นตอนในกรณีที่ผู้รับโอนไม่ยอมขายนาให้แก่ผู้เช่านาว่าผู้เช่านาต้องร้องขอต่อคชก.ตำบลเพื่อวินิจฉัยก่อนเมื่อคชก.ตำบลวินิจฉัยแล้วคู่กรณีไม่พอใจก็อุทธรณ์ต่อคชก.จังหวัดและเมื่อคชก.จังหวัดวินิจฉัยแล้วยังไม่พอใจจึงมีสิทธิอุทธรณ์ต่อศาลได้เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้เช่ายื่นคำร้องต่อคชก.ตำบลภายในกำหนดแล้วโจทก์ย่อมมีสิทธิได้รับคำวินิจฉัยจากคชก.ตำบลตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมพ.ศ.2524มาตรา13และมาตรา54หากคชก.ตำบลไม่วินิจฉัยในเวลาอันควรก็เป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องไปฟ้องบังคับให้คชก.ตำบลวินิจฉัยเสียก่อนมิใช่มาฟ้องคู่กรณีโจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์ยื่นคำร้องต่อคชก.ตำบลแล้วแต่คชก.ตำบลยังมิได้มีคำวินิจฉัยดังนี้โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เช่าที่ดินเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 1 เพื่อใช้ทำนา ต่อมาจำเลยที่ 1 ขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 เมื่อโจทก์ทราบเรื่องแล้วก็ไปติดต่อขอซื้อที่นาส่วนดังกล่าวคืนจากจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 แต่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ไม่ยอมขายนาคืนให้โจทก์จึงยื่นคำร้องต่อ คชก.ตำบล แต่ปรากฏว่า กำนัน ตำบลหลักชัยไม่ยอมรับวินิจฉัยคำร้องของโจทก์ นอกจากนี้จำเลยที่ 2 นำที่ดินดังกล่าวไปจดทะเบียนจำนองไว้กับจำเลยที่ 3 โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 รู้ดีอยู่ว่าที่ดินแปลงนี้นั้นโจทก์ซึ่งเป็นผู้เช่าทำนามีความประสงค์จะซื้อคืน โจทก์ไม่มีมติของ คชก.ตำบลที่จะอุทธรณ์ไปยัง คชก.จังหวัดได้ อีกทั้งคดีของโจทก์จะขาดอายุความ โจทก์จึงจำเป็นต้องฟ้องคดีนี้ ขอให้ศาลบังคับให้จำเลยที่ 1 และที่ 2จดทะเบียนโอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 13631 เฉพาะส่วนที่จำเลยที่ 1โอนขายให้แก่จำเลยที่ 2 ให้แก่โจทก์ในราคา 100,000 บาท โดยปลอดจากจำนองพร้อมทั้งรับเงินจำนวน 100,000 บาท ไปจากโจทก์ กับให้เพิกถอนนิติกรรมจำนองระหว่างจำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยจำเลยที่ 2ที่ 3 เป็นผู้ชำระค่าธรรมเนียม หากจำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนา
จำเลย ทั้ง สาม ให้การ ต่อสู้ คดี
ศาลชั้นต้นงดชี้สองสถานและงดสืบพยานแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์เช่าที่ดินทางด้านทิศเหนือเนื้อที่ 6 ไร่ 2 งาน ของที่ดินโฉนดเลขที่ 13631เพื่อเลี้ยงกุ้งจากจำเลยที่ 1 ต่อมาตกลงเปลี่ยนเป็นทำนา จำเลยที่ 1 ขายที่ดินที่โจทก์เช่าแก่จำเลยที่ 2 โดยมิได้แจ้งให้โจทก์ทราบก่อนตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524โจทก์จึงติดต่อขอซื้อที่ดินดังกล่าวคืนจากจำเลยที่ 1 และที่ 2จำเลยที่ 2 ไม่ยอมขายคืน โจทก์ทำคำร้องถึงกำนันตำบลหลักชัยในฐานะประธาน คชก.ตำบล ให้ดำเนินการประชุม คชก.ตำบล เพื่อวินิจฉัยข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสอง กำนันตำบลหลักชัยได้รับคำร้องของโจทก์แล้ว แต่เพิกเฉย ต่อมาจำเลยที่ 2 จำนองที่ดินดังกล่าวแก่จำเลยที่ 3 คดีมีปัญหาว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่พระราชบัญญัติ การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 มาตรา54 วรรคสอง บัญญัติว่า “ถ้าผู้รับโอนตามวรรคหนึ่งไม่ยอมขายนาให้แก่ผู้เช่านา ผู้เช่านาอาจร้องขอต่อ คชก.ตำบลเพื่อวินิจฉัยให้ผู้นั้นขายนาได้” และในพระราชบัญญัติเดียวกัน มาตรา 56 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า “ผู้เช่า ผู้เช่าช่วงนาหรือผู้ให้เช่านาที่เป็นคู่กรณีหรือผู้มีส่วนได้เสียในการเช่านาอาจอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคชก.ตำบล ต่อ คชก.จังหวัดได้โดยทำเป็นหนังสือยื่นต่อประธานคชก.ตำบล ภายในกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่ทราบคำวินิจฉัยของคชก.ตำบล แต่ต้องไม่เกินหกสิบวันนับแต่วันที่ คชก.ตำบลได้มีคำวินิจฉัย” มาตรา 57 บัญญัติว่า “คู่กรณีหรือผู้มีส่วนได้เสียในการเช่านาที่ไม่พอใจคำวินิจฉัยของ คชก.จังหวัดมีสิทธิอุทธรณ์ต่อศาลได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำวินิจฉัยของ คชก.จังหวัดแต่จะต้องไม่เกินหกสิบวันนับแต่วันที่ คชก.จังหวัดมีคำวินิจฉัย”ศาลฎีกาเห็นว่าพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมกำหนดขั้นตอนในกรณีที่ผู้รับโอนไม่ยอมขายนาให้แก่ผู้เช่านาว่าผู้เช่านาต้องร้องขอต่อ คชก.ตำบล เพื่อวินิจฉัยก่อน เมื่อคชก.ตำบลวินิจฉัยแล้วคู่กรณีไม่พอใจก็อุทธรณ์ต่อ คชก.จังหวัดและเมื่อ คชก.จังหวัดวินิจฉัยแล้วยังไม่พอใจจึงมีสิทธิอุทธรณ์ต่อศาลได้ เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้เช่าบรรยายฟ้องว่า โจทก์ยื่นคำร้องต่อ คชก.ตำบลแล้ว แต่ คชก.ตำบล ยังมิได้มีคำวินิจฉัยดังนี้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ที่โจทก์ฎีกาว่า นับแต่วันโจทก์ยื่นคำร้องต่อ คชก.ตำบล จนถึงวันฟ้องเป็นเวลา 2 ปีแล้ว คชก.ตำบลไม่ยอมดำเนินการประชุมคำวินิจฉัยคำร้องของโจทก์ โจทก์จึงต้องนำคดีมาฟ้องเพื่อไม่ให้สิทธิของโจทก์หมดไปนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าเมื่อโจทก์ยื่นคำร้องต่อ คชก.ตำบล ภายในกำหนดแล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิได้รับคำวินิจฉัยจาก คชก.ตำบล ตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 มาตรา 13 และมาตรา 54 เมื่อคชก.ตำบลไม่วินิจฉัยในเวลาอันควรก็เป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องไปฟ้องบังคับให้ คชก.ตำบล วินิจฉัยเสียก่อน มิใช่มาฟ้องคู่กรณีเช่นคดีนี้ ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share