แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ป.ผู้ทำพินัยกรรมได้เติมวันที่และเดือนในพินัยกรรมที่ส.พิมพ์มาให้ตามความต้องการของป. และลงลายมือชื่อในพินัยกรรมแล้วพยาน3คนได้ลงลายมือชื่อการที่ป. เติมวันที่และเดือนลงในพินัยกรรมมิใช่เป็นการตกเติมแก้ไขเปลี่ยนแปลงพินัยกรรมที่จะต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1656วรรคสองและเป็นการเติมก่อนที่ป. และพยานในพินัยกรรมลงลายมือชื่อพินัยกรรมจึงสมบูรณ์ไม่เป็นโมฆะ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบุตรของนางปราณี ทองคำใส ภริยาเดิมของนายประทีป ทองคำใส แต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสแล้วเลิกร้างกันนายประทีปได้จดทะเบียนสมรสกับจำเลยมีบุตรด้วยกัน 8 คน ก่อนถึงแก่กรรมนายประทีปทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้แก่จำเลยและบุตรทั้ง 8 คน แต่พินัยกรรมเป็นโมฆะเพราะผู้ทำพินัยกรรมไม่ได้ลงลายมือชื่อต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคนพร้อมกัน ผู้พิมพ์และพยานคนหนึ่งเป็นบุคคลคนเดียวกัน ไม่มีการลงลายมือชื่อกำกับในช่องที่กรอกวันที่และเดือน โจทก์เป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้ว และอยู่ในฐานะทายาทโดยธรรมจึงมีสิทธิ 1 ใน 10 ของทรัพย์มรดกมูลค่า 11,000,000 บาท ตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้อง แต่จำเลยไม่ยอมแบ่งปันให้แก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยแบ่งทรัพย์มรดกจำนวน1 ใน 10 ส่วน โดยโอนและส่งมอบให้แก่โจทก์หากไม่สามารถดำเนินการได้ให้ใช้ราคาเป็นเงิน 1,100,000 บาท
จำเลยให้การว่า พินัยกรรมมีผลบังคับตามกฎหมายเพราะผู้ทำพินัยกรรมและพยานรวม 3 คน ได้ลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพร้อมกันการกรอกวันที่และเดือนในช่องว่างมิใช่การแก้ไขตกเติมที่ต้องลงลายมือชื่อกำกับไว้ โจทก์ถูกตัดมิให้รับมรดกจึงหามีสิทธิอย่างใดในทรัพย์มรดก ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่าพินัยกรรมเป็นโมฆะหรือไม่ จำเลยมีนายสมบัติ วอทองและนายสมชาย วจนะวิชากร เบิกความตรงกันว่า ประมาณปลายเดือนสิงหาคม 2526 นายประทีปได้ให้นายสมบัติซึ่งมีอาชีพเป็นทนายความร่างพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้จำเลยและบุตรอีก 8 คน และตัดโจทก์ออกมิให้รับมรดก ทั้งให้จำเลยเป็นผู้จัดการมรดก นายสมบัตได้ร่างและพิมพ์พินัยกรรมให้โดยเว้นช่องวันที่และเดือนไว้ ในวันที่ 1 กันยายน 2526 นายประทีปได้นัดหมายให้นายสมบัติ นายสมชายและนายสถาพร เรืองเสรีไปพร้อมกันที่บ้านของนายประทีป นายประทีปบอกบุคคลดังกล่าวว่าจะทำพินัยกรรม ได้อ่านข้อความให้พยานฟังและลงวันที่และเดือนในช่องที่เว้นไว้ หลังจากนั้นนายประทีปได้ลงลายมือชื่อเป็นผู้ทำพินัยกรรมต่อหน้า นายสมบัติ นายสมชาย และนายสถาพรพยานทั้งสามคนได้ลงลายมือชื่อเป็นผู้ทำพินัยกรรมต่อหน้านายประทีปดังนี้จะเห็นได้ว่าพยานจำเลยดังกล่าวเบิกความมีเหตุมีผลสอดคล้องเชื่อมโยงกัน ทั้งไม่ปรากฏว่ามีสาเหตุโกรธเคืองกับฝ่ายใดมาก่อนฝ่ายโจทก์นำสืบว่านายประทีปทำพินัยกรรมโดยไม่ได้ลงวันที่และเดือนที่ทำพินัยกรรมอ้างว่านายประทีปเคยนำพินัยกรรมไปให้โจทก์ดูนั้นซึ่งขาดเหตุผล เพราะเมื่อนายประทีปได้ตัดโจทก์ออกจากการเป็นทายาทจึงไม่มีเหตุที่จะให้โจทก์ดูพินัยกรรมเพราะจะทำให้โจทก์โกรธเคืองได้ ส่วนที่ว่านายสถาพรเบิกความเป็นพยานโจทก์ว่า ได้ลงลายมือชื่อเป็นพยานในพินัยกรรมที่สำนักงานเทศบาลเมืองอุบลราชธานี โดยตามคำเบิกความไม่ปรากฏแน่ชัดว่านายประทีปได้ลงลายมือชื่อต่อหน้าพยานหรือไม่ ได้ความจากทางนำสืบของจำเลยว่า นายสถาพรเคยเป็นฝ่ายตรงข้ามในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลอาจมีสาเหตุโกรธเคืองกับนายประทีปและจำเลยกับพวกภายหลังจากทำพินัยกรรมแล้วก็ได้ ดังจะเห็นได้จากการที่จำเลยไม่ได้เชิญนายสถาพรไปร่วมงานศพของนายประทีปนายสถาพรจึงอาจเบิกความช่วยเหลือโจทก์ก็ได้พยานจำเลยมีเหตุผลและน้ำหนักน่าเชื่อกว่าพยานโจทก์ข้อเท็จจริงฟังได้ว่านายประทีปได้เติมวันที่และเดือนในพินัยกรรมที่นายสมบัติพิมพ์มาให้ตามความต้องการของนายประทีปแล้วลงลายมือชื่อในพินัยกรรม หลังจากนั้นพยานอีก 3 คน จึงลงลายมือชื่อเช่นนี้ การที่นายประทีปเติมวันที่และเดือนลงในพินัยกรรมดังกล่าวมิใช่เป็นการตกเติม แก้ไขเปลี่ยนแปลงพินัยกรรมตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1656 วรรคสองทั้งเป็นการเติมก่อนที่นายประทีปและพยานในพินัยกรรมลงลายมือชื่อดังนั้นการติดข้อความดังกล่าวจึงไม่ต้องปฏิบัติตามมาตรา 1656 วรรคสอง พินัยกรรมจึงสมบูรณ์ตามกฎหมายที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน