แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์และจำเลยที่3ทำสัญญาประนีประนอมยอมความว่าโจทก์ยอมถอนอายัดที่ดินพร้อมบ้านตามฟ้องพร้อมทั้งมีหนังสือถึงกรมที่ดินแจ้งการถอนอายัดจนจำเลยที่3สามารถทำนิติกรรมในบ้านและที่ดินได้จำเลยที่3จะต้องนำเงินมาชำระแก่โจทก์จำนวน800,000บาทภายใน1เดือนนับแต่โจทก์มีหนังสือถึงกรมที่ดินแจ้งการถอนอายัดจำเลยที่3ผิดนัดโจทก์บังคับคดีได้ทันทีในยอดเงิน800,000บาทโดยยอมให้ยึดที่ดินพร้อมบ้านตามฟ้องออกขายทอดตลาดดังนี้การที่โจทก์และจำเลยที่3ทำสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวมิได้ทำให้จำเลยที่2เสียหายและมิใช่เป็นการฉ้อฉลจำเลยที่2เพราะจำเลยที่2ให้การว่าขายที่ดินพร้อมบ้านตามฟ้องแก่จำเลยที่3โดยสุจริตทั้งคำพิพากษาตามยอมของศาลชั้นต้นก็ไม่ผูกพันจำเลยที่2จำเลยที่2จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์ขอให้เพิกถอนคำพิพากษาตามยอมของศาลชั้นต้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นภรรยาจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1ออกเช็ค 9 ฉบับ ชำระหนี้เงินยืมแก่โจทก์ หลังจากเช็คถึงกำหนดชำระ6 ฉบับ จำเลยที่ 1 จดทะเบียนหย่ากับจำเลยที่ 2 โดยยกสินสมรสอันมีที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดแก่จำเลยที่ 2 เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คทั้ง 9 ฉบับ โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 498,721 บาทพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ คดีถึงที่สุด เมื่อโจทก์จะบังคับคดีปรากฎว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมบ้านตามฟ้องแก่จำเลยที่ 3 โดยจำเลยทั้งสามรู้อยู่ว่าเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบขอให้ศาลสั่งเพิกถอนการฉ้อฉลระหว่างจำเลยทั้งสาม
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า หนี้ที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ไม่ใช่หนี้ร่วม โจทก์ไม่มีสิทธิยึดสินสมรส จำเลยที่ 2 ขายที่ดินพร้อมบ้านตามฟ้องแก่จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้คนหนึ่งของจำเลยที่ 1 โดยสุจริต ไม่ได้ฉ้อฉลโจทก์ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นหนี้จำเลยที่ 3ประมาณ 600,000 บาท และเป็นหนี้จำนองธนาคารอีกประมาณ700,000 บาท จำเลยที่ 2 จึงเสนอขายที่ดินพร้อมบ้านตามฟ้องแก่จำเลยที่ 3 เพื่อนำเงินไปชำระหนี้ จำเลยที่ 3 รับซื้อไว้โดยสุจริตขอให้ยกฟ้อง
คดีอยู่ในระหว่างสืบพยานจำเลยที่ 3 โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 อ้างว่าโจทก์กับจำเลยที่ 3 ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันแล้ว ไม่ติดใจดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2ต่อไปศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ถอนฟ้องและพิพากษาตามยอม
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ถอนฟ้องไม่ชอบเพราะยังมิได้ฟังจำเลยที่ 2 ก่อน ส่วนสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 เป็นการฉ้อฉลจำเลยที่ 2 ขอให้เพิกถอนคำสั่งและคำพิพากษาตามยอมของศาลชั้นต้น
ศาลอุทธรณ์ยกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ที่ขอให้เพิกถอนคำพิพากษาตามยอมของศาลชั้นต้นและพิพากษาคำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาแล้วมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่าจำเลยที่ 2 มีสิทธิอุทธรณ์ขอให้เพิกถอนคำพิพากษาตามยอมของศาลชั้นต้นหรือไม่โจทก์และจำเลยที่ 3 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความมีใจความสำคัญว่า โจทก์ยอมถอนอายัดที่ดินพร้อมบ้านตามฟ้องพร้อมทั้งมีหนังสือถึงกรมที่ดินแจ้งการถอนอายัดจนจำเลยที่ 3 สามารถทำนิติกรรมในบ้านและที่ดินได้ จำเลยที่ 3 จะต้องนำเงินมาชำระแก่โจทก์จำนวน800,000 บาท ภายใน 1 เดือน นับแต่โจทก์มีหนังสือถึงกรมที่ดินแจ้งการถอนอายัด จำเลยที่ 3 ผิดนัดโจทก์บังคับคดีได้ทันทีในยอดเงิน800,000 บาท โดยยอมให้ยึดที่ดินพร้อมบ้านตามฟ้องออกขายทอดตลาดศาลฎีกาเห็นว่า การที่โจทก์และจำเลยที่ 3 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวมิได้ทำให้จำเลยที่ 2 เสียหายแต่อย่างใด และมิใช่เป็นการฉ้อฉลจำเลยที่ 2 เพราะจำเลยที่ 2 ให้การว่าขายที่ดินพร้อมบ้านตามฟ้องแก่จำเลยที่ 3 โดยสุจริต ทั้งคำพิพากษาตามยอมของศาลชั้นต้นก็ไม่ผูกพันจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์ขอให้เพิกถอนคำพิพากษาตามยอมของศาลชั้นต้น ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันฉ้อฉลโจทก์ ไม่ได้ซื้อขายที่ดินพร้อมบ้านตามฟ้องกันจริง ๆ ที่ดินพร้อมบ้านตามฟ้องยังเป็นของจำเลยที่ 2การที่จำเลยที่ 3 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ทำให้จำเลยที่ 2เสียหายนั้น เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 จะต้องไปว่ากล่าวแก่จำเลยที่ 3เป็นอีกคดีหนึ่งต่างหาก
พิพากษายืน