คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3361/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีก่อนอันมีผลทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา173(เดิม)แต่เมื่อศาลพิพากษายกฟ้องซึ่งมาตรา174(เดิม)บัญญัติให้ไม่เป็นเหตุทำให้อายุความสะดุดหยุดลงการทีคดีก่อนศาลยกฟ้องโดยไม่ตัดสิทธิโจทก์นำคำฟ้องมายื่นใหม่ก็ต้องอยู่ภายใต้บังคับกฎหมายว่าด้วยอายุความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา148(3)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนอันเกิดจากการละเมิดเป็นเงิน 461,450 บาท และดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันทำละเมิดถึงวันที่โจทก์ฟ้องคดีเดิมเป็นเงิน 15,092 บาทรวมเป็นเงิน 476,542 บาท และดอกเบี้ยอัตราเดียวกันจากต้นเงิน461,450 บาท นับแต่วันที่โจทก์ฟ้องคดีเดิมจนถึงวันชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความเพราะฟ้องเกินกำหนด1 ปี การที่โจทก์ฟ้องคดีก่อนไม่เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงเพราะคดีนั้นศาลวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จึงถือเสมือนหนึ่งว่าโจทก์ไม่เคยฟ้อง อันจะเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงิน 315,450 บาท และดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี คิดตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม 2529 จนถึงวันชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า จำเลยเป็นนิติบุคคล โดยเป็นองค์การของรัฐ มีวัตถุประสงค์ในการขนส่งมวลชนในกรุงเทพมหานคร จำเลยเป็นเจ้าของรถยนต์โดยสารคันหมายเลขทะเบียน 10-9969 กรุงเทพมหานคร หมายเลขข้างรถ 10-54 สาย 98วิ่งระหว่างห้วยขวาง-กล้วยน้ำไท และเป็นนายจ้างของนายคำอ้าย คำชุ่ม เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2529 เวลาประมาณ 18 นาฬิกานางพัชรินทร์ วีระธรรม ได้โดยสารรถยนต์ของจำเลยคันดังกล่าวซึ่งมีนายคำอ้ายเป็นพนักงานขับรถเพื่อจะกลับบ้าน ขณะโดยสารนางพัชรินทร์พลัดตกจากรถศีรษะฟาดพื้นถนน คอหัก กะโหลกศีรษะแตกถึงแก่ความตายโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นบิดามารดาของนางพัชรินทร์ได้มอบอำนาจให้นายบุรี อาธารมาศ ฟ้องนายคำอ้ายและจำเลยให้ชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ทั้งสองฐานกระทำละเมิดต่อศาลแพ่งเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2529 ศาลแพ่งพิพากษาว่าหนังสือมอบอำนาจไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากร นายบุรีจึงไม่มีอำนาจฟ้องพิพากษาให้ยกฟ้อง โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนโดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคำฟ้องมายื่นใหม่ โดยได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้โจทก์ฟังเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2533 โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2534 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในประการแรกว่า ฟ้องโจทก์ทั้งสองขาดอายุความหรือไม่
พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า การที่โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยในคดีก่อนแม้มีผลทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 173(เดิม) ก็ตาม แต่เมื่อศาลพิพากษายกฟ้อง มาตรา 174 (เดิม)บัญญัติให้ไม่เป็นเหตุทำให้อายุความสะดุดหยุดลง แม้คดีก่อนศาลจะยกฟ้องโดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคำฟ้องมายื่นใหม่ก็ตาม ก็ยังต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยอายุความตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148(3) บัญญัติไว้คดีนี้ฟังได้ว่า โจทก์ทั้งสองรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทน เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2529 โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2534 เกินกำหนด 1 ปี ฟ้องโจทก์ทั้งสองจึงขาดอายุความ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 448 วรรคแรก ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”
พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสอง

Share