คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1093/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์และจำเลยตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายที่พิพาทตามเอกสารหมายจ.4แต่ตามเอกสารหมายจ.7มีข้อความว่าจำเลยขอรังวัดที่ดินพิพาทในส่วนที่ถูกเขตชลประทานแสดงว่าที่พิพาทที่จำเลยจะขายให้โจทก์จะต้องถูกทางราชการเวนคืนบางส่วนโจทก์จำเลยจึงตกลงทำสัญญาเพิ่มเติมสัญญาจะซื้อขายว่าคู่สัญญาขอเลื่อนการโอนกรรมสิทธิ์ไปเพื่อขยายเวลาไปเจรจาเปลี่ยนราคาลดลงจากที่ตกลงไว้ให้เหลือเป็นราคาที่พิพาทที่เหลือไว้จะโอนกรรมสิทธิ์ได้จริงโดยไม่ถูกเวนคืนแสดงว่าโจทก์ทราบแล้วว่าที่พิพาทที่จะซื้อขายต้องถูกเวนคืนให้กรมชลประทานแต่โจทก์ไม่ได้ถือเป็นข้อสาระสำคัญที่จะอ้างว่าจำเลยผิดสัญญาจึงได้ทำบันทึกข้อตกลงกันใหม่โดยไม่ถือเอาจำนวนเนื้อที่พิพาทและราคาตามเอกสารหมายจ.4แต่จะต้องเจรจาเปลี่ยนราคาลดลงจากที่ตกลงไว้และเลื่อนกำหนดเวลาการโอนไปถือได้ว่าโจทก์จำเลยตกลงเลิกสัญญาจะซื้อจะขายตามเอกสารหมายจ.4โดยปริยายและมุ่งประสงค์ที่จะซื้อขายที่พิพาทกันต่อไปตามจำนวนเนื้อที่ที่เหลือจากการถูกเวนคืนโดยให้เลื่อนการโอนไปเพื่อเจรจาเปลี่ยนราคาลดลงจากที่ตกลงกันไว้อันเป็นสาระสำคัญของสัญญาจะซื้อจะขายฉบับใหม่เมื่อโจทก์จำเลยยังไม่ตกลงกันได้หมดทุกข้ออยู่ตราบใดตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา366วรรคหนึ่งสัญญาจะซื้อจะขายที่พิพาทฉบับใหม่ยังไม่เกิดขึ้นเมื่อครบกำหนดการโอนแล้วปรากฏว่าทั้งสองฝ่ายได้ไปที่สำนักงานที่ดินแต่ก็ตกลงเรื่องราคากันไม่ได้จึงไม่มีการโอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาทกันประกอบกับสัญญาจะซื้อจะขายตามเอกสารหมายจ.4ยกเลิกโดยปริยายและสัญญาจะซื้อจะขายฉบับใหม่ยังไม่เกิดขึ้นโจทก์จำเลยจึงไม่มีฝ่ายใดผิดสัญญาและต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมโดยอนุโลมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา391จำเลยต้องคืนเงินมัดจำแก่โจทก์และโจทก์จะกลับมาอ้างว่าจำเลยผิดสัญญาเพื่อเรียกร้องให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอีกไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญาจะซื้อขายที่ดิน น.ส.3 ก.เลขที่ 3866 ให้แก่โจทก์ในราคาไร่ละ 70,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 3,619,000 บาท และตกลงจะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในวันที่ 9 เมษายน 2532 โจทก์วางเงินมัดจำให้แก่จำเลยไว้เป็นเงิน 1,085,700 บาท ต่อมาโจทก์จำเลยตกลงเปลี่ยนแปลงกำหนดวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ออกไปเป็นวันที่ 25 เมษายน 2532หลังจากทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินที่จะซื้อขายมีเนื้อที่เพียง12 ไร่ เนื่องจากถูกทางราชการเวนคืนโดยจำเลยทราบดีอยู่ก่อนแล้วการกระทำของจำเลยเป็นการผิดสัญญาจะซื้อจะขาย โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายแก่จำเลย ขอให้บังคับจำเลยใช้เงินมัดจำจำนวน 1,085,700 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับจากวันที่ 9 มกราคม 2532 จนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 9,047 บาทและให้จำเลยใช้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 2,100,000 บาท
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้ตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายที่พิพาทกับโจทก์ และไม่เคยรับเงินมัดจำจากโจทก์ ลายมือชื่อผู้จะขายในสัญญาจะซื้อจะขายเป็นลายมือชื่อปลอม ที่พิพาทสามารถเข้าออกสู่ทางสาธารณประโยชน์ได้โดยทำทางผ่านที่ดินข้างเคียงซึ่งเจ้าของที่ดินข้างเคียงอนุญาตแล้ว โจทก์สามารถตรวจสอบการเวนคืนที่ดินของทางราชการได้โดยง่าย จึงเป็นความประมาทเลินเล่อของโจทก์เอง โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษา ให้จำเลยคืนเงินมัดจำจำนวน 1,085,700 บาทแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันที่ 9มกราคม 2532 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้องมิให้เกิน 9,047 บาท และให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 1,500,000 บาท แก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาว่า ไม่ต้องรับผิดตามสัญญาเพราะไม่ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายกับโจทก์นั้น เห็นว่าเมื่อฟังว่าสัญญาจะซื้อจะขายตามเอกสารหมาย จ.4 ดังกล่าวมีผลผูกพันโจทก์จำเลยแล้ว แต่ตามเอกสารหมาย จง7 ซึ่งเป็นเอกสารของทางราชการลงวันที่ 17 พฤษภาคม 2531 มีข้อความว่าจำเลยขอรังวัดที่พิพาทในส่วนที่ถูกเขตชลประทาน แสดงว่าที่พิพาทที่จำเลยจะขายให้โจทก์จะต้องถูกทางราชการเวนคืนบางส่วน แต่โจทก์ก็นำสืบไม่ได้ว่าที่พิพาทของจำเลยถูกเวนคืนเป็นเนื้อที่เท่าใด คงฟังได้แต่เพียงว่าเนื้อที่พิพาทต้องขาดจำนวนไป โจทก์จำเลยจึงตกลงทำสัญญาเพิ่มเติมสัญญาจะซื้อจะขายลงวันที่31 มีนาคม 2532 ว่าคู่สัญญาขอเลื่อนการโอนกรรมสิทธิ์ไปเป็นวันที่ 25 เมษายน 2532 เพื่อขยายเวลาไปเจรจาเปลี่ยนราคาลดลงจากที่ตกลงไว้ให้เหลือเป็นราคาที่พิพาทที่เหลือไว้จะโอนกรรมสิทธิ์ได้จริงโดยไม่ถูกเวนคืน แสดงว่าโจทก์ทราบแล้วว่าที่พิพาทที่จะซื้อขายต้องถูกเวนคืนให้กรมชลประทาน แต่โจทก์ไม่ได้ถือเป็นข้อสาระสำคัญที่จะอ้างว่าจำเลยผิดสัญญา จึงได้ทำบันทึกตกลงกันใหม่โดยไม่ถือเอาจำนวนเนื้อที่พิพาทและราคาตามเอกสารหมาย จ.4 แต่จะต้องเจรจาเปลี่ยนราคาลดลงจากที่ตกลงไว้ และเลื่อนกำหนดเวลาการโอนไปเป็นวันที่ 25 เมษายน 2532ตามเอกสารหมาย จ.8 พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่า โจทก์จำเลยตกลงเลิกสัญญาจะซื้อจะขายตามเอกสารหมาย จ.4 โดยปริยาย และมุ่งประสงค์ที่จะซื้อจะขายที่พิพาทกันต่อไปตามจำนวนเนื้อที่ที่เหลือจากการถูกเวนคืน โดยให้เลื่อนการโอนออกไป เพื่อเจรจาเปลี่ยนราคาลดลงจากที่ตกลงกันไว้ อันเป็นสาระสำคัญของสัญญาจะซื้อจะขายฉบับใหม่ เมื่อโจทก์จำเลยยังไม่ตกลงกันได้หมดทุกข้ออยู่ตราบใด ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 366 วรรคแรก สัญญาจะซื้อจะขายที่พิพาทฉบับใหม่จึงยังไม่เกิดขึ้น เมื่อครบกำหนดการโอนวันที่ 25 เมษายน 2533 แล้วตามทางนำสืบของโจทก์จำเลยข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ทั้งสองฝ่ายได้ไปที่สำนักงานที่ดินอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี แต่ก็ตกลงในเรื่องราคากันไม่ได้จึงไม่ได้มีการโอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาทกันประกอบกับสัญญาจะซื้อจะขายตามเอกสารหมาย จ.4 ยกเลิกโดยปริยายและสัญญาจะซื้อจะขายฉบับใหม่ยังไม่เกิดขึ้นดังวินิจฉัยมาแล้วโจทก์จำเลยจึงไม่มีฝ่ายใดผิดสัญญาและต้องกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่แต่เดิมโดยอนุโลม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 391 จำเลยต้องคืนเงินมัดจำแก่โจทก์ และโจทก์จะกลับมาอ้างว่าจำเลยผิดสัญญาเพื่อเรียกร้องให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอีกไม่ได้ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 1,500,000 บาท ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องชำระค่าเสียหาย1,500,000 บาท แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share