คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 235/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์จะเป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายซึ่งจำเลยขับรถโดยสารเฉี่ยวชนเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายได้ก็ต่อเมื่อโจทก์ได้จดทะเบียนสมรสกับจ. มารดาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1457ดังนั้นปัญหาว่ามีการจดทะเบียนสมรสระหว่างโจทก์กับจ. หรือไม่จึงเป็นประเด็นสำคัญแห่งคดีและหากจะให้ความยุติธรรมดำเนินไปด้วยดีแล้วก็จำเป็นจะต้องสืบพยานเอกสารซึ่งเป็นใบสำคัญการสมรสการที่ศาลรับฟังพยานเอกสารดังกล่าวจึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา87(2)แล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายสาโรจน์ คำพันธ์ ผู้ตาย จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์โดยสารประจำทางสายสุพรรณบุรี – สระบุรี หมายเลขทะเบียน10-0404 อ่างทอง โดยว่าจ้างจำเลยที่ 2 เป็นผู้ขับรถยนต์โดยสารคันดังกล่าว เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2530 เวลา 15.45 นาฬิกานายสาโรจน์ขับรถจักรยานยนต์ด้วยความเร็วประมาณไม่เกิน30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มาถึงถนนสุขาภิบาลทางเข้าตลาดศาลเจ้าโรงทอง จำเลยที่ 2 ขับรถยนต์โดยสารเบียดรถจักรยานยนต์ของนายสาโรจน์ในระยะกระชั้นชิด ทำให้รถจักรยานยนต์ของนายสาโรจน์ล้มลง ล้อหลังของรถยนต์โดยสารทับศีรษะของสาโรจน์ถึงแก่ความตายทันที และรถจักรยานยนต์ได้รับความเสียหายทั้งคัน ความเสียหายทั้งหมดเกิดจากจำเลยที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่ตามทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายและค่าสินไหมทดแทนรวมเป็นเงิน 292,700 บาทให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี นับแต่วันที่18 สิงหาคม 2530 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์ไม่ได้เป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายสาโรจน์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่ในประเด็นที่ยังมิได้วินิจฉัย จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าจำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ขับรถยนต์โดยสารหมายเลขทะเบียน 10-0404 อ่างทอง ของจำเลยที่ 1 ซึ่งวิ่งรับผู้โดยสารระหว่างจังหวัดสุพรรณบุรี – จังหวัดสระบุรี เมื่อวันที่18 สิงหาคม 2530 เวลาประมาณ 15 นาฬิกา ปรากฏว่าจำเลยที่ 2ได้ขับรถยนต์โดยสารของจำเลยที่ 1 คันดังกล่าวเฉี่ยวชนกับรถจักรยานยนต์ยี่ห้อคาวาซากิที่นายสาโรจน์ คำพันธ์ เป็นผู้ขับเป็นเหตุให้นายสาโรจน์ถึงแก่ความตาย เหตุเกิดบนถนนทางเข้าตลาดอำเภอวิเศษไชยชาญ จังหวัดอ่างทอง คงมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ และใบสำคัญการสมรสเลขทะเบียน 161/2161 ลงวันที่ 4 พฤษภาคม 2516 ท้ายคำร้องฉบับลงวันที่ 10 พฤษภาคม 2533 ของโจทก์ที่ยื่นผิดระเบียบนั้นศาลอุทธรณ์ชอบที่จะรับฟังได้หรือไม่ เห็นว่าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87 บัญญัติว่า”ห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานใดเว้นแต่ (1) พยานหลักฐานนั้นเกี่ยวถึงข้อเท็จจริงที่คู่ความฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดในคดีจะต้องนำสืบและ (2)คู่ความฝ่ายที่อ้างพยานหลักฐานได้แสดงความจำนงที่จะอ้างอิงพยานหลักฐานนั้น ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 88 และ 90 แต่ถ้าศาลเห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม จำเป็นจะต้องสืบพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดีโดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของอนุมาตรานี้ ให้ศาลมีอำนาจรับฟังพยานหลักฐานเช่นว่านั้นได้ เห็นว่า การที่โจทก์จะเป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายได้ก็ต่อเมื่อโจทก์ได้จดทะเบียนสมรสกับนางจรีรัตน์ คำพันธ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1457 เท่านั้น ดังนั้นปัญหาว่ามีการจดทะเบียนสมรสระหว่างโจทก์กับนางจรีรัตน์หรือไม่จึงเป็นประเด็นสำคัญแห่งคดี และหากจะให้ความยุติธรรมดำเนินไปด้วยดีแล้วก็จำเป็นจะต้องสืบพยานเอกสารดังกล่าว ฉะนั้นการที่ศาลอุทธรณ์รับฟังพยานเอกสารดังกล่าวจึงนับว่าชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87(2) แล้ว ประการสำคัญใบสำคัญการสมรสเลขทะเบียน 161/2161 ดังกล่าว เป็นต้นฉบับเอกสารซึ่งให้ยอมรับฟังตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93โดยเฉพาะอย่างยิ่งเอกสารดังกล่าวยังเป็นเอกสารมหาชนอีกด้วยเพราะเป็นเอกสารที่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายได้ทำขึ้นเพื่อประโยชน์แก่ประชาชนจะได้ใช้อ้างอิง จึงให้สันนิษฐานว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 127เช่นนี้ จึงฟังได้ว่าโจทก์ได้จดทะเบียนสมรสกับนางจุรีรัตน์มารดาของผู้ตายโดยชอบแล้ว โจทก์จึงเป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายและมีอำนาจฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share