แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
บริษัทใช้ชื่อจำเลยเป็นชื่อบริษัทตามหนังสือรับรองของนายทะเบียนระบุว่าบริษัทมีกรรมการ4คนจำเลยลงลายมือชื่อและประทับตราของบริษัทมีอำนาจกระทำการผูกพันบริษัทได้จึงฟังได้ว่าจำเลยเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทและเป็นหัวหน้าสำนักงานกฎหมาย สัญญารับมอบงานเป็นสัญญาจ้างว่าความซึ่งเป็นสัญญาจ้างทำของมีข้อความว่าโจทก์ได้มอบให้จำเลยและทนายความในสำนักงานฟ้องคดีจำเลยรับจะดำเนินคดีจนกว่าคดีจะถึงที่สุดโดยโจทก์ตกลงจ่ายค่าตอบแทนให้คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ว. ผู้มีอำนาจกระทำแทนโจทก์ลงชื่อประทับตราโจทก์ในช่องผู้มอบงานส่วนจำเลยลงชื่อในช่องผู้รับมอบงานแต่ผู้เดียวไม่ได้ประทับตราของบริษัทจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยได้กระทำในฐานะเป็นผู้แทนบริษัทซึ่งเป็นนิติบุคคลทั้งข้อความในสัญญาแสดงชัดอยู่ว่าโจทก์เป็นผู้ว่าจ้างจำเลยและหรือทนายความในสำนักงานของจำเลยให้ฟ้องคดีโดยจำเลยตกลงเป็นผู้รับจ้างจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้กระทำในฐานะเป็นผู้แทนของบริษัทแม้สัญญารับมอบงานได้กระทำที่บริษัทแต่ตามพฤติการณ์แสดงว่าจำเลยซึ่งเป็นหัวหน้าสำนักงานได้ทำสัญญารับจ้างว่าความกับโจทก์โดยใช้กระดาษบันทึกข้อความซึ่งมีชื่อบริษัทที่หัวกระดาษทำสัญญากับโจทก์เท่านั้นโจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง สัญญาจ้างว่าความได้เลิกกันด้วยการตกลงยินยอมทั้งสองฝ่ายคู่สัญญาจึงมีสิทธิที่จะได้คืนสู่ฐานะที่เป็นอยู่เดิมโดยวิธีการที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติมาตรา391วรรคสองวรรคสามและวรรคสี่โดยเฉพาะในวรรคสามโจทก์ผู้ว่าจ้างต้องใช้ค่าแห่งการงานที่จำเลยทำให้โจทก์ด้วยการใช้เงินตามควรค่าแห่งการนั้นโดยคิดค่าจ้างตามรูปคดีหาใช่จำเลยต้องคนค่าจ้างทั้งหมดโดยคิดเป็นค่าเสียหายของโจทก์ตามที่โจทก์เรียกร้องไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จ้างจำเลยเป็นทนายความฟ้องกรมสรรพากรต่อศาลภาษีอากรกลาง ขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีการค้าของเจ้าพนักงานประเมินจนกว่าคดีจะถึงที่สุด ตกลงค่าจ้างว่าความเป็นเงิน3,686.24 บาท จำเลยรับเงินค่าจ้างว่าความจากโจทก์ครบถ้วนแล้วโจทก์โดยจำเลยได้ฟ้องกรมสรรพากรต่อศาลภาษีอากรกลางและดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานให้โจทก์ได้เพียง 2 ปาก แล้วไม่ไปศาลในวันนัดสืบพยานของโจทก์ในวันที่ 27 มีนาคม 2533 ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งว่าโจทก์ไม่มีพยานมาสืบและไม่่ติดใจสืบพยานโจทก์ต่อไป กับนัดสืบพยานของกรมสรรพากร จำเลยยื่นคำร้องต่อศาลภาษีอากรกลางว่าไม่มีเจตนาไม่ไปศาล ศาลภาษีอากรกลางไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้อง หลังจากนั้นจำเลยดำเนินคดีด้วยการขอเลื่อนคดี อ้างว่าจะประนีประนอมยอมความกับกรมสรรพากร และยื่นคำร้องขอถอนตัวจากการเป็นทนายความของโจทก์การที่จำเลยละทิ้งคดีและขอถอนตัวจากการเป็นทนายความของโจทก์ถือว่าเป็นการผิดสัญญาจ้างว่าความ โจทก์ต้องจ้างบุคคลอื่นเป็นทนายความของโจทก์และโจทก์ต้องหมดสิทธินำพยานปากสำคัญเข้าสืบจึงเป็นเหตุให้โจทก์แพ้คดีกรมสรรพากร ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน3,631,686 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์มิได้จ้างจำเลยว่าความตามฟ้อง หากแต่จ้างบริษัทสำนักงานกฎหมาย ดร.มานะและเพื่อน จำกัด โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย ค่าเสียหายตามฟ้องเกินกว่าเหตุ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 1,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 800,000 บาทแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ และ จำเลย ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยฎีกาว่า โจทก์ได้ว่าจ้างบริษัทสำนักงานกฎหมาย ดร.มานะและเพื่อน จำกัด ให้ฟ้องคดีภาษีอากรตามเอกสารหมาย จ.2 ไม่ได้ว่าจ้างจำเลย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง เห็นว่าบริษัทใช้ชื่อจำเลยเป็นชื่อบริษัท จำเลยเบิกความว่า บริษัทสำนักงานกฎหมาย ดร.มานะและเพื่อน จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งตามหนังสือรับรองของนายทะเบียนเอกสารหมาย ล.3 ซึ่งมีรายละเอียดระบุว่าบริษัทดังกล่าวมีกรรมการ 4 คน จำเลยลงลายมือและประทับตราของบริษัทมีอำนาจกระทำการผูกพันบริษัทได้ จึงฟังได้ว่าจำเลยเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทและเป็นหัวหน้าสำนักงานกฎหมายดังกล่าว สัญญามอบหมายงานตามเอกสารหมาย จ.2 เป็นสัญญาจ้างว่าความซึ่งเป็นสัญญาจ้างทำของมีข้อความว่า โจทก์ได้มอบให้จำเลยและทนายความในสำนักงานฟ้องคดีกรมสรรพากร จำเลยรับจะดำเนินคดีจนกว่าคดีจะถึงที่สุด โดยโจทก์ตกลงจ่ายค่าตอบแทนให้คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของทุนทรัพย์มีกำหนดจ่ายเป็น2 ระยะ นายวิฑูรย์ ภัทรเลาหะ ผู้มีอำนาจกระทำแทนโจทก์ลงชื่อและประทับตราโจทก์ในช่องผู้มอบงานส่วนจำเลยลงชื่อในช่องผู้รับมอบงานแต่ผู้เดียวไม่ได้ประทับตราของบริษัท จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยได้กระทำในฐานะเป็นผู้แทนบริษัทซึ่งเป็นนิติบุคคล ข้อความในสัญญาแสดงชัดอยู่ว่าโจทก์เป็นผู้ว่าจ้างจำเลยและหรือทนายความในสำนักงานของจำเลยให้ฟ้องคดี โดยจำเลยตกลงเป็นผู้รับจ้าง จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้กระทำในฐานะเป็นผู้แทนของบริษัท แม้เอกสารหมาย ล.2 ได้กระทำที่บริษัท แต่พฤติการณ์แสดงว่าจำเลยซึ่งเป็นหัวหน้าสำนักงานได้ทำสัญญารับจ้างว่าความกับโจทก์โดยใช้กระดาษบันทึกข้อความซึ่งมีชื่อบริษัทที่หัวกระดาษทำสัญญากับโจทก์เท่านั้น ข้อเท็จจริงต้องฟังว่าโจทก์ได้ว่าจ้างจำเลยมิใช่ว่าจ้างบริษัท โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์จำเลยต่อไปว่าโจทก์มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายเท่ากับค่าจ้างทั้งหมดที่ได้จ่ายแก่จำเลยไปแล้วคืนหรือไม่และจำเลยจะต้องคืนค่าจ้างแก่โจทก์หรือไม่ เพียงใดซึ่งจะได้วินิจฉัยรวมกันไปเห็นว่า หนังสือมอบงานตามเอกสารหมาย จ.2เป็นสัญญาจ้างว่าความซึ่งเป็นสัญญาจ้างทำของอย่างหนึ่ง ที่คู่สัญญาได้ตกลงทำขึ้นเป็นหนังสือ มีข้อความระบุว่าโจทก์ตกลงจ้างจำเลยมิใช่ว่าจ้างบริษัท โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์จำเลยต่อไปว่าโจทก์มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายเท่ากับค่าจ้างทั้งหมดที่ได้จ่ายแก่จำเลยไปแล้วคืนหรือไม่และจำเลยจะต้องคืนค่าจ้างแก่โจทก์หรือไม่ เพียงใดซึ่งจะได้วินิจฉัยรวมกันไปเห็นว่า หนังสือมอบงานตามเอกสารหมาย จ.2เป็นสัญญาจ้างว่าความซึ่งเป็นสัญญาจ้างทำของอย่างหนึ่ง ที่คู่สัญญาได้ตกลงทำขึ้นเป็นหนังสือ มีข้อความระบุว่าโจทก์ตกลงจ้างจำเลยให้ฟ้องกรมสรรพากรเป็นคดีภาษีอากรต่อศาล และจำเลยตกลงรับจะดำเนินคดีจนกว่าคดีจะถึงที่สุด แต่ปรากฎในสำนวนคดีภาษีอากรที่โจทก์ฟ้องกรมสรรพากรโดยจำเลยเป็นทนายโจทก์ว่า จำเลยไม่ไปศาลในวันนัดสืบพยานโจทก์ปากที่ 3 ศาลภาษีอากรกลางจึงสั่งว่า โจทก์ไม่มีพยานมาสืบและไม่ติดใจสืบพยานโจทก์ต่อไป จำเลยได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งโดยอ้างเหตุขัดข้องเพราะป่วยอยู่ต่างจังหวัด ศาลภาษีอากรกลางไต่สวนแล้ว สั่งยกคำร้องของจำเลย และดำเนินการสืบพยานกรมสรรพากรต่อไป ต่อมาจำเลยยื่นคำร้องขอถอนตัวจากการเป็นทนายโจทก์ก่อนศาลภาษีอากรกลางพิพากษาโดยผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ลงชื่อไม่ขัดข้องในคำร้อง ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งอนุญาตตามเอกสารหมาย จ.6 ในสำนวนคดีภาษีอากร เป็นผลให้จำเลยต้องหยุดดำเนินคดีให้โจทก์ จำเลยจึงยังดำเนินคดีให้โจทก์ไม่ถึงทีสุดตามสัญญาแม้จะฟังว่าพฤติการณ์ดังกล่าวจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาแต่ตามฟ้องโจทก์ก็ไม่ได้ความชัดว่า โจทก์ได้แสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยแล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 386 นอกจากนี้ในลักษณะจ้างทำของ การบอกเลิกสัญญายังมีบัญญัติไว้ในมาตรา 605 ว่า ถ้าการที่จ้างยังทำไม่แล้วเสร็จอยู่ตราบใดผู้ว่าจ้างอาจบอกเลิกสัญญาได้ เมื่อเสียค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับจ้างเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่การเลิกสัญญานั้นแม้จำเลยไม่ได้ผิดสัญญา โจทก์ผู้ว่าจ้างก็ยังอาจแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาได้ตามบทมาตราดังกล่าว แต่โจทก์ไม่ได้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาตามมาตรานี้ ดังนั้น สัญญาจ้างว่าความระหว่างโจทก์จำเลยจึงไม่เลิกกันไปเอง ข้อเท็จจริงได้ความต่อไปว่า ก่อนศาลภาษีอากรกลางพิพากษาจำเลยได้ยื่นคำร้องขอถอนตัวจากการเป็นทนายโจทก์ต่อศาลภาษีอากรกลางโดยอ้างว่าไม่มีเวลาที่จะดำเนินคดีให้โจทก์โดยโจทก์ไม่ขัดข้อง ศาลภาษีอากรกลางสั่งอนุญาต สัญญาจ้างว่าความจึงเลิกกันโดยความตกลงยินยอมของทั้งสองฝ่ายโจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยโดยอ้างว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาอีก ดังนั้นหลังจากจำเลยได้ถอนตัวจากการเป็นทนายโจทก์แล้ว โจทก์จะดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปอย่างใด ศาลภาษีอากรกลางจะพิพากษาคดีอย่างใดซึ่งโจทก์ฎีกาอ้างว่าเป็นความเสียหายของโจทก์ จึงไม่จำต้องวินิจฉัยศาลฎีกาเห็นว่าเมื่อสัญญาจ้างว่าความได้เลิกกันแล้วด้วยการตกลงยินยอมของทั้งสองฝ่าย คู่สัญญาจึงมีสิทธิทีจะได้คืนสู่ฐานะที่เป็นอยู่เดิม โดยวิธีการที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 391 วรรค 2 วรรค 3 และวรรค 4 โดยเฉพาะในวรรค 3 คือโจทก์ผู้ว่าจ้างต้องใช้ค่าแห่งการงานที่จำเลยทำให้โจทก์ด้วยการใช้เงินตามควรค่าแห่งการนั้น โดยคิดค่าจ้างตามรูปคดี หาใช่จำเลยต้องคืนค่าจ้างทั้งหมดโดยคิดเป็นค่าเสียหายของโจทก์ตามที่โจทก์เรียกร้องไม่ทางพิจารณาได้ความว่า จำเลยได้รับค่าจ้างไปจากโจทก์ตามสัญญาว่าจ้างเป็นเงิน 3,631,686.24 บาท ไปก่อนแล้ว ปัญหาจึงมีว่าค่าแห่งการงานที่จำเลยทำให้โจทก์ควรเป็นเท่าใด ปรากฎในสำนวนคดีภาษีอากรว่า จำเลยในฐานะทนายโจทก์ได้ดำเนินกระบวนพิจารณายื่นฟ้องกรมสรรพากรต่อศาลภาษีอากร ขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีของเจ้าพนักงานประเมินเป็นเงิน 121 ล้านบาทเศษ และได้นำพยานโจทก์เข้าสืบ 2 ปาก ในประเด็นค่าการผลิตสินค้าของโจทก์ มีวัตถุดิบของเสียเหลือจากการผลิตเป็นจำนวนมาก และขอให้ศาลภาษีอากรกลางไปเดินเผชิญสืบสถานที่ตั้งโรงงานของโจทก์ เพื่อตรวจดูวัตถุดิบของเสียที่เหลือจากการผลิตสินค้าในโรงงาน กับยื่นคำแถลงคัดค้านคำร้องขอระบุพยานเพิ่มเติมของจำเลยในคดีดังกล่าว แล้วจำเลยก็ไม่ได้ดำเนินกระบวนพิจารณาให้เป็นประโยชน์แก่คดีของโจทก์ต่อไป เห็นว่า จำเลยได้ดำเนินกระบวนพิจารณาในชั้นเริ่มต้นคดี ผลงานของจำเลยย่อมทำให้โจทก์สามารถดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปได้จนศาลมีคำพิพากษา จึงเป็นประโยชน์แก่โจทก์อยู่บ้าง จึงควรคิดค่าแห่งการงานที่จำเลยทำให้โจทก์ในส่วนนี้เป็นเงิน 1,500,000 บาท จำเลยจึงต้องคืนเงินค่าจ้างว่าความส่วนที่เหลือแก่โจทก์เป็นเงิน 2,131,686.24 บาท พร้อมดอกเบี้ย
พิพากษาแก้ให้จำเลยใช้เงินแก่โจทก์ 2,131,686.24 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์