แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่1ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่2กระทำละเมิดเป็นเหตุให้บุตรโจทก์ถึงแก่ความตายจำเลยที่2มีหน้าที่ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ค่าปลงศพให้โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา443วรรคหนึ่งดังนั้นแม้ว.จะเป็นผู้จ่ายแทนโจทก์โดยว.ไม่ได้เรียกร้องเงินนี้และโจทก์ไม่ได้ชำระเงินจำนวนนี้แก่ว.ก็ตามโจทก์ก็มีสิทธิเรียกค่าปลงศพจากจำเลยที่2ได้ จำเลยที่2เป็นนายจ้างของจำเลยที่1มีหน้าที่ต้องควบคุมดูแลจำเลยที่1ไม่ให้กระทำการใดๆอันจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นเมื่อจำเลยที่2ปล่อยปละละเลยให้จำเลยที่1กระทำละเมิดต่อโจทก์จำเลยที่2ก็ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่1ในผลแห่งละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา425แต่จำเลยที่2มีสิทธิที่จะได้รับชดใช้จากจำเลยที่1ได้ตามมาตรา426 หนี้ละเมิดจำเลยที่2ซึ่งเป็นลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดมาแต่เวลาที่ทำละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา206จำต้องเสียดอกเบี้ยให้โจทก์ในอัตราร้อยละ7ครึ่งต่อปีตามมาตรา224วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นมารดาของนายปริญญา ทรงกิตติภักดีจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างและคนขับรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 2จำเลยที่ 3 เชิด จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นตัวแทนหรือรู้แล้วยอมให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 เชิดตัวเองออกแสดงเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 4 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวจากจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2533 เวลาประมาณ 22 นาฬิกา จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 2ติดป้ายชื่อจำเลยที่ 3 ไปตามถนนเสนานิคม 1 ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 จากสี่แยกวังหินมุ่งหน้าไปทางถนนพหลโยธินด้วยความประมาทโดยขับเร็วเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด เมื่อถึงที่เกิดเหตุรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวได้พุ่งเข้าชนท้ายรถจักรยานยนต์ที่จอดรถรอเลี้ยวขวาอยู่ตรงเส้นแบ่งกลางถนนเป็นเหตุให้นายปริญญาผู้ตายซึ่งนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์คันดังกล่าวได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตในเวลาต่อมารวมค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 2,284,319 บาท ซึ่งจำเลยทั้งสี่จะต้องร่วมกันรับผิดชำระให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน 2533 ถึงวันฟ้องโจทก์ขอคิดเพียง 11 เดือน เป็นเงินดอกเบี้ย 157,047 บาทรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 2,441,366 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์เป็นเงิน 2,441,366 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 2,284,319บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้แก่โจทก์เสร็จสิ้น
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 มิได้เป็นลูกจ้างกระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 แต่เป็นเพียงผู้เช่ารถยนต์บรรทุกจากจำเลยที่ 2 ค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์เรียกร้องสูงเกินความเป็นจริง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 ให้การว่า จำเลยที่ 4 จะรับผิดต่อเมื่อจำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิด เมื่อจำเลยที่ 2 มิได้เป็นนายจ้างหรือตัวการของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 4 จึงไม่ต้องรับผิดขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์เป็นเงิน 1,321,319 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน 2533 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 1ที่ 2 และที่ 3 จะชำระหนี้เสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 4ร่วมรับผิดในหนี้ดังกล่าวไม่เกิน 55,937.50 บาท
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันรับผิดใช้ดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน 2533เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสามจะชำระหนี้เสร็จแก่โจทก์ ดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน 2533 ถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 157,047บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 ฎีกาข้อแรกว่า ค่าปลงศพจำนวน 31,371 บาท ตามเอกสารหมาย จ.16 นางวินิดา จันทร์แสงเพ็ชร์เป็นผู้จ่าย ไม่ปรากฏว่านางวินิดาได้เรียกร้องเงินในคดีนี้และโจทก์ก็ไม่ได้ชำระเงินจำนวนดังกล่าวให้นางวินิดา โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกจากจำเลยที่ 2 เห็นว่าในกรณีทำให้เขาถึงตายนั้นจำเลยที่ 2 มีหน้าที่ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ค่าปลงศพตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 443 วรรคหนึ่ง ฉะนั้นแม้นางวินิดาจะเป็นผู้จ่ายแทนโจทก์ โจทก์ก็มีสิทธิเรียกจากจำเลยที่ 2 ได้ ฎีกาจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น จำเลยที่ 2ฎีกาต่อไปว่า ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูเดือนละ10,000 บาท และกำหนดให้จำเลยที่ 2 ชำระครั้งเดียว 1,200,000 บาทสูงเกินไป และให้รับผิดชำระดอกเบี้ยจากต้นเงินจำนวน 1,200,000 บาทนับแต่วันละเมิด เป็นคำวินิจฉัยที่ขัดแย้งกับสภาพความเป็นจริงเพราะจำเลยที่ 2 จะต้องเสียดอกเบี้ยถึงเดือนละ 7,500 บาทเป็นการกำหนดเกินกว่าค่าเสียหายที่กำหนดให้เดือนละ 10,000 บาทการกำหนดให้จ่ายครั้งเดียวเป็นการคำนวณจำนวนเงินที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เพราะเป็นการซ้ำเติมจำเลยที่ 2 ที่ไม่ใช่ผู้กระทำผิดเพียงแต่มีหน้าที่ตามกฎหมายให้ต้องร่วมรับผิดในผลของการละเมิดที่บุคคลอื่นได้กระทำ เห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยโดยจำเลยที่ 2 มิได้ฏีกาโต้แย้งว่าขณะถึงแก่กรรมผู้ตายมีอายุ 28 ปีเศษ เป็นผู้ช่วยผู้จัดการบริษัทโซนี่ แมกเนติค โปรดักส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับเงินเดือน เดือนละ 24,000 บาท ส่วนโจทก์มีอายุ 51 ปี ผู้ตายและโจทก์ไม่มีโรคประจำตัวร้ายแรง ฉะนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าขาดไร้อุปการะเลี้ยงดูให้โจทก์เดือนละ 10,000 บาทเป็นเวลา 10 ปี เป็นเงิน 1,200,000 บาท จึงเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว จำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องควบคุมดูแลจำเลยที่ 1 ไม่ให้กระทำการใด ๆ อันจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น เมื่อจำเลยที่ 2 ปล่อยปละละเลยให้จำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 ก็ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในผลแห่งละเมิด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 425 ทั้งจำเลยที่ 2 มีสิทธิที่จะได้รับชดใช้จากจำเลยที่ 1ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 426 ฉะนั้น การที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ จึงชอบด้วยเหตุผลและไม่เป็นการซ้ำเติมจำเลยที่ 2 ดังที่จำเลยที่ 2 ฎีกาและเมื่อหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ละเมิด จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดมาแต่เวลาที่ทำละเมิด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 206 จำต้องเสียดอกเบี้ยให้โจทก์ในอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 224 วรรคหนึ่ง
พิพากษายืน