คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7287/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่1มิได้ให้การว่าได้ชำระหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีจำนวน524,396.24บาทแก่โจทก์ส่วนจำเลยที่2ขาดนัดยื่นคำให้การดังนั้นจำเลยที่2ย่อมไม่มีสิทธิฎีกาว่าได้ชำระหนี้แก่โจทก์แล้วฎีกาของจำเลยทั้งสองดังกล่าวเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย โจทก์และจำเลยที่1ตกลงทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีมีกำหนด12เดือนโดยมีข้อตกลงว่าเมื่อถึงกำหนดเวลาตามสัญญาหากไม่มีการต่ออายุการเบิกเงินเกินบัญชีเป็นหลักฐานให้ถือว่าได้มีการตกลงกันให้มีการเบิกเงินเกินบัญชีตามสัญญาต่อไปอีกคราวละ6เดือนดังนั้นเมื่ออายุสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีครบกำหนด12เดือนแล้วโดยโจทก์และจำเลยที่1มิได้ตกลงต่ออายุสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีอีกก็ตามทั้งไม่ปรากฎว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งบอกเลิกสัญญาแก่อีกฝ่ายหนึ่งจึงถือได้ว่าสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีดังกล่าวมีการต่ออายุสัญญาไปอีก6เดือนตามที่ได้ตกลงกันไว้โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นระหว่างระยะเวลา6เดือนต่อมา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้จำนวน 3,370,662.60 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงิน 1,290,063.75 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13.5ต่อปี ของต้นเงิน 1,706,759.20 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระ ขอให้ยึดทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 2 ออกขายทอดตลาดเอาเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ก็ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดเอาเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 มิได้เป็นหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีชีทตามฟ้อง จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์แต่อย่างใด จำเลยที่ 1 ได้เดินบัญชีกระแสรายวันในลักษณะการกู้เบิกเงินเกินบัญชีภายในวงเงินที่ตกลงกับโจทก์และชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ตลอดมาเมื่อสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีครบกำหนดแล้ว โจทก์ยังคงคิดดอกเบี้ยทบต้นจากจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2532จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2532 อีกจึงไม่ถูกต้องดังนั้นยอดหนี้เบิกเกินบัญชีที่ปรากฎในฟ้องเป็นต้นเงินจำนวน 524,396.25บาท จึงไม่ใช่ยอดหนี้ที่แท้จริง นอกจากนี้ โจทก์ยังได้นำเอายอดหนี้ดังกล่าวมาคิดคำนวณดอกเบี้ยชนิดไม่ทบต้นอีกนับแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2532 จนถึงวันฟ้อง และการคำนวณคิดดอกเบี้ยของโจทก์ในระหว่างสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีโจทก์คิดเกินกว่าอัตราที่ระบุในสัญญา และคิดดอกเบี้ยไม่ถูกต้อง จำเลยที่ 1ไม่เคยผิดสัญญากู้ยืมเงินกับโจทก์ การบอกเลิกสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีและสัญญากู้ยืมเงินจึงไม่ถูกต้อง โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะนำคดีมาฟ้องจำเลยที่ 1 ได้ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีท จำนวน 754,011 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ15 ต่อปี นับแต่วันที่ 14 กรกฎาคม 2531 จนกว่าจะชำระเสร็จให้ร่วมกันชำระหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีจำนวน 524,396.25บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 31พฤษภาคม 2532 จนกว่าจะชำระเสร็จ และให้ร่วมกันชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงิน จำนวน 1,713,479.84 บาท พร้อมดอกเบี้ยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปีในต้นเงิน 1,706,759.20 บาทนับแต่วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2532 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองคือที่ดินตามโฉนดเลขที่ 72157ตำบลสามเสนใน (สามเสนในฝั่งเหนือ) อำเภอพญาไท (บางซื่อ)กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 2 ออกขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกเสีย
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประเด็นที่จำเลยทั้งสองฎีกาข้อแรกมีว่าจำเลยทั้งสองชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทจำนวน 754,011บาท และชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจำนวน 524,396.24บาท แก่โจทก์แล้วหรือไม่พิเคราะห์แล้ว จำเลยที่ 1 มิได้ให้การว่าได้ชำระหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี จำนวน 524,369.24บาท แก่โจทก์ ส่วนจำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การดังนั้นจำเลยที่ 2 ย่อมไม่มีสิทธิฎีกาว่าได้ชำระหนี้ทั้งจำนวนนั้นแก่โจทก์แล้วฎีกาของจำเลยทั้งสองดังกล่าวเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ประเด็นวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อสุดท้ายมีว่าโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีได้เพียงใด ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์2531 จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ สำนักเพชรบุรี บัญชีกระแสรายวันเลขที่ 10899 ในวงเงิน 1,000,000บาท มีกำหนด 12 เดือน ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ทบต้นตามประเพณีของธนาคาร และยินยอมให้โจทก์ปรับปรุงอัตราดอกเบี้ยได้ตามวิธีการของธนาคารพาณิชย์ แต่ต้องไม่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยที่กฎหมายกำหนดไว้ทั้งตกลงว่า เมื่อถึงกำหนดเวลาตามสัญญา หากไม่มีการต่ออายุการเบิกเงินเกินบัญชีเป็นหลักฐานให้ถือว่าได้มีการตกลงกันให้มีการเบิกเงินเกินบัญชีตามสัญญาต่อไปอีกคราวละ 6 เดือนตลอดไปปรากฎตามเอกสารหมาย จ.16 ต่อมาวันที่ 25 สิงหาคม 2531 จำเลยที่ 1 ได้ทำบันทึกข้อตกลงแก้ไขสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีครั้งที่ 1 ขอลดวงเงินเบิกเงินเกินบัญชีลงเหลือจำนวน 500,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี และครบกำหนดชำระเงินเกินบัญชีทั้งหมดในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2532 ส่วนเงื่อนไขอื่น ๆ ให้มีผลบังคับกันต่อไปตามเดิมปรากฎตามเอกสารหมาย จ.17 แสดงว่าเมื่อครบกำหนดอายุสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีในวันที่ 1 กุมภาพันธ์2532 แล้ว หากคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยังมิได้บอกเลิกสัญญาต่อกันทั้งมิได้มีการต่ออายุการเบิกเงินเกินบัญชีเป็นหลักฐานเป็นหนังสือกำหนดเวลากันใหม่ ให้ถือว่าโจทก์และจำเลยที่ 1ตกลงให้มีการเบิกเงินเกินบัญชีต่อไปอีกคราวละ 6 เดือน ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี ข้อ 4 (เอกสารหมาย จ.16) ดังนั้นเมื่ออายุสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีครั้งนี้ครบกำหนดในวันที่ 1กุมภาพันธ์ 2532 แล้ว แม้โจทก์และจำเลยที่ 1 มิได้ตกลงต่ออายุสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกันอีกก็ตามแต่ก็ไม่ปรากฎว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งบอกเลิกสัญญาแก่อีกฝ่ายหนึ่ง จึงถือได้ว่าสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีดังกล่าวมีการต่ออายุสัญญาไปอีก 6 เดือนตามที่ได้ตกลงกันไว้ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 1 สิงหาคม 2532โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นจากจำเลยที่ 1 ระหว่างวันที่1 กุมภาพันธ์ 2532 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2532 ได้ เมื่อรวมกับต้นเงินเดิมเป็นเงิน 524,396.25 บาท จึงถูกต้องแล้ว
พิพากษายืน

Share