คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2690/2529

แหล่งที่มา : สำนักงาน ส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์เพื่อขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้ตามคำพิพากษาถือเป็นการใช้สิทธิทางศาลจะเป็นการกระทำละเมิดต่อเจ้าของทรัพย์ที่ยึดเมื่อเป็นการกระทำโดยไม่สุจริตมีเจตนากลั่นแกล้งให้เจ้าของได้รับความเสียหาย อ. เช่าซื้อรถยนต์พิพาทไปจากโจทก์แล้วผิดสัญญาเช่าซื้อโจทก์จึงฟ้องอ. ให้คืนรถยนต์และใช้ค่าเสียหายปรากฏว่าระหว่างครอบครองและใช้รถยนต์อ. ได้นำรถไปจ้างจำเลยซ่อมแล้วไม่ชำระค่าซ่อมจำเลยจึงยึดหน่วงรถยนต์ดังกล่าวไว้และฟ้องเรียกค่าซ่อมรถและค่าดูแลรักษาจากอ. ศาลชั้นต้นพิพากษาให้อ. ชำระค่าซ่อมรถยนต์และค่าสินค้าแก่จำเลยกับให้ส่งมอบรถยนต์ให้โจทก์พร้อมกับชำระค่าเสียหายเมื่ออ. ไม่ชำระค่าซ่อมรถยนต์ให้จำเลยๆได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดรถยนต์เพื่อขายทอดตลาดเมื่อวันที่8มีนาคม2521ต่อมาวันที่6กรกฎาคม2521โจทก์ได้ร้องขอให้ปล่อยรถยนต์ที่ยึดไว้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ถอนการยึดเมื่อวันที่2พฤษภาคม2522คดีดังกล่าวถึงที่สุดโจทก์ไปขอรับรถยนต์คืนจากจำเลยเมื่อวันที่18ตุลาคม2522แต่จำเลยไม่ยอมคืนให้จนโจทก์ต้องร้องขอต่อศาลชั้นต้นและศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยมอบรถยนต์ให้โจทก์จำเลยจึงคืนรถยนต์ให้โจทก์เมื่อวันที่25ธันวาคม2522พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าจำเลยนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์โดยสุจริตมิได้มีเจตนากลั่นแกล้งให้โจทก์ได้รับความเสียหายจำเลยจึงไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ตั้งแต่นำยึดทรัพย์ในวันที่8มีนาคม2521แต่หลังจากศาลมีคำสั่งให้ถอนการยึดรถยนต์คันพิพาทและโจทก์ขอรับรถยนต์คืนจากจำเลยแล้วการที่จำเลยไม่ยอมคืนให้ถือว่าไม่ใช่เป็นการใช้สิทธิทางศาลต่อไปจำเลยได้ชื่อว่ากระทำละเมิดต่อโจทก์ตั้งแต่วันที่โจทก์ขอรับรถยนต์คืนจากจำเลย.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าบริษัทเอมเพรสแทรเวิล เซอร์วิน จำกัด ได้เช่าซื้อรถยนต์โดยสารปรับอากาศไปจากโจทก์แล้วผิดสัญญา โจทก์ได้ฟ้องบริษัทเอมเพรสแทรเวิลฯ และศาลพิพากษาให้บริษัทดังกล่าวคืนรถยนต์แก่โจทก์แล้ว ในชั้นบังคับคดีจำเลยซึ่งครอบครองรถยนต์คันดังกล่าวอยู่ไม่ยอมคืนให้โจทก์ อ้างว่าบริษัทเอมเพรสแทรเวิลฯ นำไปจ้างจำเลยซ่อมและค้างค่าซ่อม ต่อมาจำเลยนำเจ้าพนักงานศาลไปยึดรถยนต์คันดังกล่าวไว้โดยจำเลยทราบดีว่ารถยนต์เป็นของโจทก์ โจทก์จึงร้องขัดทรัพย์ ศาลชั้นต้นมีพิพากษาให้คืนรถยนต์ให้โจทก์ จำเลยก็ไม่ปฏิบัติ ได้อุทธรณ์ฎีกาตามลำดับ การที่จำเลยยึดรถยนต์ของโจทก์โดยโจทก์มิได้เป็นลูกหนี้ เป็นการจงใจทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายขอให้จำเลยชำระค่าเสียหายให้โจทก์ จำนวน 3,057,500 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า ได้ยึดรถยนต์ตามฟ้องซึ่งจำเลยได้ยึดหน่วงไว้โดยเข้าใจสุจริตว่าเป็นรถยนต์ของ อ. เมื่อโจทก์ร้องขัดทรัพย์จำเลยก็เห็นว่าจำเป็นต้องให้ศาลวินิจฉัยก่อนแต่เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งลงวันที่ 24 ธันวาคม 2522 จำเลยก็ส่งมอบรถยนต์ให้โจทก์ในวันที่ 25 ธันวาคม 2522 ทันที คงอุทธรณ์ฎีกาให้ศาลสูงวินิจฉัยข้อกฎหมายเท่านั้น โจทก์ไม่ได้รับความเสียหาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยมีสิทธิยึดหน่วงรถยนต์ได้ การกระทำของจำเลยไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ พิพากษายกฟ้องโจทก์ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยใช้เงินแก่โจทก์ 2,500 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ในชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้นโจทก์จำเลยแถลงขอให้ถือเอาข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 10665/2520 ระหว่างบริษัทลานนาเครดิตการพาณิชย์ จำกัด โจทก์ บริษัทเอมเพรสแทรเวิล เซอร์วิสจำกัด กับพวก จำเลย และคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 10478/2520 ระหว่างบริษัทสยามกลการ จำกัด โจทก์ บริษัทเอมเพรสแทรเวิล เซอร์วิส จำกัดจำเลย บริษัทลานนาเครดิต จำกัด ผู้ร้องขัดทรัพย์ ของศาลชั้นต้นคงนำสืบกันเฉพาะในประเด็นเรื่องค่าเสียหาย ข้อเท็จจริงได้ความว่าเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2517 บริษัทเอมเพรสแทรเวิล เซอร์วิส จำกัดเช่าซื้อรถยนต์โดยสารหมายเลขทะเบียน ช.ม. 00006 ไปจากโจทก์ในราคา 1,125,000 บาท ต่อมาบริษัทเอมเพรสแทรเวิล เซอร์วิส จำกัดนำรถนั้นไปจ้างให้จำเลยซ่อม จำเลยซ่อมเสร็จแล้วบริษัทเพรสแทรเวิล เซอร์วิส จำกัด ไม่ชำระค่าซ่อม จำเลยคงยึดหน่วงรถยนต์นั้นไว้ที่บริษัทจำเลย ครั้นวันที่ 10 กันยายน 2519 โจทก์ฟ้องขอให้บังคับบริษัทเอมเพรสแทรเวิล เซอร์วิส จำกัด กับพวกคืนรถยนต์ดังกล่าวและใช้ค่าเสียหาย ต่อมาวันที่ 25 พฤษภาคม 2520จำเลยเป็นฟ้องโจทก์บริษัทเอมเพรสแทรเวิล เซอร์วิส จำกัด เรียกค่าซ่อมค่าดูแลรักษารถยนต์ดังกล่าวและค่าสินค้า วันที่ 4 พฤษภาคม2520 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้บริษัทเอมเพรสแทรเวิล เซอร์วิส จำกัดชำระค่าซ่อมรถและค่าสินค้าให้แก่จำเลยเป็นเงิน 362,342 บาท วันที่10 พฤศจิกายน 2520 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้บริษัทเอมเพรสแทรเวิล เซอร์วิส จำกัด ส่งมอบรถยนต์คันดังกล่าวให้แก่โจทก์พร้อมกับชำระค่าเสียหาย วันที่ 8 มีนาคม 2521 จำเลยนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดรถยนต์คันดังกล่าวเพื่อขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้ โดยก่อนยึดจำเลยได้ตรวจสอบทะเบียนทราบว่า โจทก์เป็นเจ้าของรถยนต์คันนี้ ยึดแล้วเจ้าพนักงานบังคับคดีมอบให้นายสุรัตน์ กังวาลกุลกิจ สมุห์บัญชีฝ่ายนิสสันของบริษัทจำเลยรักษารถยนต์ไว้ วันที่ 6 กรกฎาคม 2521 โจทก์ร้องขอให้ปล่อยรถยนต์ที่ยึด วันที่ 2 พฤษภาคม 2522 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ถอนการยึดรถยนต์คันดังกล่าว คดีถึงที่สุด วันที่ 18 ตุลาคม 2522 โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปขอรับรถยนต์จากจำเลย แต่จำเลยไม่คืนให้อ้างว่าใช้สิทธิยึดหน่วงรถยนต์คันนั้นต่อไป วันที่ 7 พฤศจิกายน2522 โจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้สั่งจำเลยคืนรถยนต์ให้โจทก์ ศาลชั้นต้นนัดพร้อม ครั้นวันที่ 24 ธันวาคม 2522 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยส่งมอบรถยนต์พิพาทให้โจทก์ วันที่ 25 ธันวาคม2522 จำเลยได้มอบรถยนต์พิพาทให้โจทก์เรียบร้อยแล้ว แต่จำเลยอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นต่อไป ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกาศาลฎีกาพิพากษายืน ปรากฏตามคำพิพากษาฎีกาที่ 1701/2524 ลงวันที่14 กรกฏาคม 2524 อ่านให้คู่ความฟังเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2524รถยนต์พิพาท โจทก์อาจให้เช่าได้ค่าเช่าวันละ 5,500 บาท โดยโจทก์ต้องเป็นผู้จ่ายค่าน้ำมัน ค่าจ้างคนขับ พนักงานบริการและพนักงานทำความสะอาดเอง การที่โจทก์ไม่ได้ใช้รถยนต์พิพาททำให้ขาดประโยชน์วันละ 2,500 บาท คงมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์และจำเลยว่า จำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่และจำเลยต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เท่าใด
พิจารณาแล้ว ในปัญหาว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์ตั้งแต่วันที่จำเลยนำยึดรถยนต์พิพาทของโจทก์ คือวันที่ 8 มีนาคม 2521 ส่วนจำเลยฎีกาว่าแม้ศาลจะมีคำสั่งให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึด แต่เมื่อจำเลยยังไม่ได้รับชำระค่าซ่อมรถยนต์พิพาท จำเลยยังมีสิทธิยึดหน่วงรถคันพิพาทไว้จนกว่าจะได้รับชำระค่าซ่อมการกระทำของจำเลยไม่เป็นละเมิดเห็นว่า การที่จำเลยนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดรถยนต์โดยสารหมายเลขทะเบียน ช.ม. 00006 พิพาทเพื่อขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้ตามคำพิพากษาเป็นการใช้สิทธิทางศาลจะเป็นการกระทำละเมิดต่อเมื่อกระทำโดยไม่สุจริต มีเจตนากลั่นแกล้งให้โจทก์ได้รับความเสียหายปรากฏว่าจำเลยมีสิทธิยึดหน่วงรถยนต์พิพาท จำเลยนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดรถยนต์คันนั้น ครั้นโจทก์ร้องขัดทรัพย์จำเลยให้การแก้ว่า จำเลยมีสิทธินำยึดรถยนต์พิพาทมาขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้ได้ตามบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิยึดหน่วงทั้งนำสืบถึงความเข้าใจของจำเลยเช่นนั้น พฤติการณ์แสดงว่าจำเลยนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์พิพาทโดยสุจริตมิได้มีเจตนากลั่นแกล้งให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยจึงหาได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ตั้งแต่นำยึดทรัพย์ในวันที่ 8 มีนาคม 2521 ไม่ ส่วนที่จำเลย ฎีกาว่าจำเลยยังมีสิทธิยึดหน่วงรถคันพิพาทไว้หลังจากศาลมีคำสั่งให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดแล้วนั้น ปรากฏว่าศาลฎีกาได้วินิจฉัยในคำพิพากษาฎีกาที่ 1701/2524 คดีระหว่าง บริษัทสยามกลการ จำกัดโจทก์ บริษัทเอมเพรสแทรเวิล เซอร์วิส จำกัด จำเลย และบริษัทลานนา เครดิต จำกัด ผู้ร้องขัดทรัพย์ แล้วว่า เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ถอนการยึดทรัพย์รถยนต์คันพิพาท คดีถึงที่สุดไปแล้วจำเลยต้องปฏิบัติตามคำสั่งอันถึงที่สุดแล้วนั้น โดยต้องคืนรถยนต์พิพาทให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าของไม่มีสิทธิยึดหน่วงรถยนต์คันพิพาทไว้อีกต่อไป ดังนี้ คำพิพากษาอันถึงที่สุดแล้วย่อมผูกพันจำเลยซึ่งเป็นคู่ความ จำเลยจะฎีกาโต้เถียงในคดีนี้ว่าตนยังมีสิทธิยึดหน่วงอีกย่อมฟังไม่ขึ้น ทั้งการที่โจทก์ขอรับรถยนต์พิพาทคืนจากจำเลยเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2522 แต่จำเลยไม่คืนให้ มิใช่เป็นการใช้สิทธิทางศาลอีกต่อไป ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์ตั้งแต่วันที่ 18 ตุลาคม 2522 เป็นต้นไปศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฏีกาโจทก์จำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนปัญหาว่าจำเลยจะต้องใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เท่าใดนั้นโจทก์ฎีกาว่า จำเลยจะต้องใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์คิดตั้งแต่วันที่8 มีนาคม 2521 เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 25 ธันวาคม 2522 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยส่งคืนรถพิพาทให้โจทก์ วันละ 2,500 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,565,000 บาท ข้อนี้ได้วินิจฉัยมาแล้วว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์ ตั้งแต่วันที่ 18 ตุลาคม 2522 ฉะนั้น จะคิดค่าเสียหายตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม 2521 มิได้ ศาลฎีกาเห็นว่าแม้โจทก์เป็นเจ้าของรถยนต์โดยสารพิพาท แต่มิได้เป็นผู้จ้างจำเลยซ่อมโจทก์มิใช่ลูกหนี้ของจำเลย หามีหน้าที่ต้องชำระค่าจ้างไม่การที่โจทก์ไม่ชำระค่าจ้างแก่จำเลย ทำให้จำเลยอ้างเป็นเหตุยึดรถยนต์พิพาทไว้ต่อมาโดยไม่มีสิทธิยึดหน่วงโดยชอบ จึงมิใช่กรณีความเสียหายเกิดขึ้นเพราะความผิดของโจทก์ประกอบด้วย จำเลยยึดรถยนต์พิพาทไว้ตั้งแต่วันที่ 18 ตุลาคม 2522 ถึงวันที่ 24 ธันวาคม2522 รวม 68 วัน ทำให้ โจทก์เสียหายขาดประโยชน์วันละ 2,500 บาทรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 170,000 บาท จำเลยต้องชดใช้แก่โจทก์ ไม่มีเหตุที่จะลดค่าเสียหายลงอีก ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์ไม่ชำระค่าซ่อมรถให้จำเลยถือว่ามีส่วนในการที่ไม่ได้ใช้รถ ทั้งได้คำนึงถึงความร้ายแรงแห่งความเสียหายแล้วกำหนดให้โจทก์ได้รับค่าเสียหายที่ไม่ได้ใช้รถเพียง 1 วัน เป็นเงิน 2,500 บาท ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยใช้เงินแก่โจทก์จำนวน 170,000 บาทนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 1,500 บาทเฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนในทุนทรัพย์เท่าที่โจทก์ชนะคดี”.

Share