แหล่งที่มา : สำนักงาน ส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การที่ผู้เชี่ยวชาญกองพิสูจน์หลักฐานกรมตำรวจได้ตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อของจำเลยและพยานที่ลงชื่อไว้ต่อหน้าศาลและที่ลงชื่อไว้ในด้านหน้าของสัญญาจะซื้อขายเปรียบเทียบกับลายมือชื่อของผู้ที่ลงชื่อไว้ในด้านหลังของสัญญาจะซื้อขายแล้วมีความเห็นว่าลายมือชื่อที่ตรวจทั้งสองแห่งไม่ใช่เป็นลายมือชื่อของบุคคลเดียวกันความเห็นของผู้เชี่ยวชาญดังกล่าวถึงแม้ผู้เชี่ยวชาญจะมิได้มาเบิกความประกอบรายงานการตรวจพิสูจน์ก็เป็นพยานหลักฐานที่รับฟังได้ตามป.วิ.พ.มาตรา130.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2522 โจทก์กับจำเลยได้ตกลงทำสัญญาจะซื้อขายที่ดิน ตาม น.ส. 3 เลขที่ 891/839 ทะเบียนเล่ม 39 หน้า 170 อยู่หมู่ที่ 4 ตำบลเนินพระ อำเภอเมืองระยองจังหวัดระยอง เนื้อที่ 2 ไร่ 96 ตารางวา ของจำเลย ในราคา 9,000 บาทตกลงจะไปจดทะเบียนโอนที่ดินให้โจทก์ในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2522จำเลยได้รับเงินมัดจำไปจากโจทก์จำนวน 7,000 บาท หากจำเลยผิดสัญญายอมให้ฟ้องบังคับตามสัญญาและยินยอมชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน 3,500 บาท ต่อมาวันที่ 25 พฤศจิกายน 2522 โจทก์ได้ชำระราคาส่วนที่เหลืออีก 2,000 บาท ให้จำเลย และตกลงกันใหม่ว่าจำเลยจะไปจดทะเบียนโอนที่ดินให้โจทก์ภายในเดือนมกราคม 2523 หากผิดสัญญาไม่โอนที่ดินให้โจทก์ภายในกำหนด จำเลยยอมใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 40,000 บาท ต่อมาวันที่ 27 พฤศจิกายายน 2522 โจทก์และจำเลยได้ไปยังสำนักงานที่ดินอำเภอเมืองระยองเพื่อยื่นเรื่องราวขอขายที่ดิน ครั้นเมื่อครบกำหนดตามสัญญาจำเลยกลับบิดพลิ้วไม่ยอมจดทะเบียนโอนที่ดินให้โจทก์ ขอให้ศาลบังคับจำเลยไปจดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์ หากจำเลยไม่ยอมโอนก็ให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลย ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน40,000 บาท ด้วย
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้รับเงินส่วนที่เหลือ 2,000 บาทจากโจทก์และไม่เคยตกลงว่าจะใช้ค่าเสียหายจำนวน 40,000 บาทเอกสารการรับเงินตลอดจนข้อความที่ว่าจำเลยยอมชดใช้ค่าเสียหาย40,000 บาท ที่อยู่ด้านหลังสัญญาจะซื้อขายท้ายฟ้องนั้นเป็นเอกสารที่โจทก์กับพวกได้ร่วมกันปลอมขึ้น โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่ไปจดทะเบียนโอนที่ดินจำเลยจึงริบเงินมัดจำและสัญญาเป็นอันเลิกกันขอให้ยกฟ้องโจทก์
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่ชำระราคาที่ดินส่วนที่เหลือให้แก่จำเลย ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทแก่โจทก์ หากจำเลยไม่ยอมโอนให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลยให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นจำนวนเงิน 15,000 บาท
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ทางฝ่ายจำเลยได้ขอให้ศาลส่งลายมือชื่อในช่องผู้จะขาย และลายมือชื่อในช่องพยานที่ลงไว้ในบันทึกการรับเงิน2,000 บาท ซึ่งอยู่ด้านหลังของสัญญาจะซื้อขายเอกสารหมาย จ.1ซึ่งโจทก์อ้างว่าเป็นลายมือชื่อของจำเลยและนายจ้อนนั้นไปให้ผู้เชี่ยวชาญ กองพิสูจน์หลักฐาน กรมตำรวจ เพื่อตรวจพิสูจน์เทียบเคียงกับลายมือชื่อจำเลยและนายจ้อน รอดพ้น ซึ่งลงชื่อไว้ต่อหน้าศาลและเทียบเคียงกับลายมือชื่อจำเลยและนายจ้อนที่ลงไว้ในด้านหน้าของเอกสารหมาย จ.1 ผู้เชี่ยวชาญได้ทำการตรวจพิสูจน์แล้วมีความเห็นว่าลายมือชื่อในช่องผู้จะขายและในช่องพยานซึ่งอยู่ด้านหลังของเอกสารหมาย จ.1 นั้น ไม่ใช่ลายมือชื่อของบุคคลคนเดียวกันกับลายมือชื่อตัวอย่างและลายมือชื่อของจำเลยและนายจ้อนที่ลงไว้ในด้านหน้าของเอกสารหมาย จ.1 ดังปรากฎรายละเอียดตามรายงานการตรวจพิสูจน์ที่ผู้เชี่ยวชาญได้ส่งศาลไว้ ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญดังกล่าวนั้น ถึงแม้ผู้เชี่ยวชาญจะมิได้มาเบิกความประกอบรายงานการตรวจพิสูจน์ ก็เป็นพยานหลักฐานที่รับฟังได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 130 เมื่อผลของการตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อผู้จะขายและพยานในบันทึกการรับเงินด้านหลังเอกสารหมายหมาย จ.1 เป็นเช่นนี้ ที่โจทก์อ้างว่าได้ชำระเงินส่วนที่เหลืออีก 2,000 บาท ให้แก่จำเลยไปแล้วนั้น จึงเชื่อฟังไม่ได้คดีมีเหตุผลน่าเชื่อว่า เมื่อโจทก์และจำเลยไปยื่นเรื่องราวขอโอนที่ดินเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2522 นั้น โจทก์จำเลยได้ตกลงกันว่าจะไปจัดการจดทะเบียนโอนที่ดินและชำระเงินส่วนที่เหลือในวันที่ 28 ธันวาคม 2522 แต่โจทก์ไม่ไปตามนัด โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา ไม่มีสิทธิที่จะนำคดีมาฟ้อง ซึ่งศาลฎีกาไม่จำต้องวินิจฉัยถึงประเด็นข้ออื่นอีกต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนที่พิพาทแก่โจทก์ และให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นฟ้องด้วย ฎีกาจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความรวม 3,000 บาท.