แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ฟ้องหาว่า จำเลยกระทำผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนาในวันที่ 23 กันยายน ตรงกับวันแรม 9 ค่ำเดือน 10 พ.ศ.2491 เวลากลางวัน ครั้นสืบพยานโจทก์ไปได้ 2 ปาก โจทก์ขอแก้วันเกิดเหตุเป็นวันที่ 26 กันยายน 2491 ส่วนวันทางจันทรคติตามเดิม ดังนี้ เมื่อจำเลยไม่หลงข้อต่อสู้ศาลย่อมอนุญาตให้แก้ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๒๓ กันยายน ตรงกับวันแรม ๙ ค่ำเดือน ๑๐ พ.ศ.๒๔๙๑ เวลากลางวันจำเลยทำร้ายร่างกายนายจิ้มสามีโจทก์ถึงแก่ความตายโดยเจตนาฆ่า ขอให้ลงโทษตาม ก.ม.ลักษณะอาญามาตรา ๒๔๙
จำเลยให้การปฏิเสธข้อหา
ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์ ๒ ปาก โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ฟ้องว่า เหตุเกิดวันที่ ๒๓ กันยายนตรงกับวันแรม ๙ ค่ำเดือน ๑๐ นั้น ผิดไป ที่ถูกเป็นวันที่ ๒๖ กันยายนตรงกับวันแรม ๙ ค่ำเดือน ๑๐ พ.ศ.๒๔๙๑ การผิดเพราะความเข้าใจผิดของพยานที่เปรียบเทียบวันที่กับวันขึ้นแรมผิด
จำเลยคัดค้านไม่ให้แก้
ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้แก้ฟ้อง แล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น อนุญาตให้แก้ฟ้อง แล้วให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาต่อไป
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ขอแก้รายละเอียด ซึ่งต้องกล่าวในฟ้องในระหว่างพิจารณาย่อมไม่ถือว่า ทำให้จำเลยเสียเปรียบเว้นแต่จำเลยได้หลงต่อสู้ แต่ปรากฎตามสำนวนว่า จำเลยไม่ได้หลงข้อต่อสู้ ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว
จึงพิพากษายืน