คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 954/2529

แหล่งที่มา : สำนักงาน ส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เงินประกันที่จำเลยหักจากค่าจ้างของโจทก์ไว้เพื่อเป็นการประกันความเสียหายโดยกำหนดไว้ในระเบียบของจำเลยว่าจะคืนให้เมื่อออกจากงานเว้นแต่ถูกออกเพราะกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงนั้นหากโจทก์ถูกออกจากงานเพราะขาดงานไปเพียง1วันแม้ก่อนนี้จะเคยขาดงานมาแล้ว2วันจนถูกจำเลยตัดเงินเดือนและตักเตือนเป็นหนังสือมาแล้วก็ตามกรณีก็ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ถูกออกจากงานเพราะกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงจำเลยต้องคืนเงินประกันให้โจทก์.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ ระหว่างทำงานจำเลยได้หักค่าจ้างโจทก์ไว้เป็นประกันการทำงานเดือนละ 50 บาท รวมเป็นเงิน 2,000 บาท ตกลงว่าจะจ่ายคืนให้เมื่อออกจากงาน จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิดแต่ไม่ยอมคืนเงินประกันให้ ขอให้ศาลบังคับให้จำเลยคืนเงินดังกล่าวให้โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินประกันคืนเพราะถูกเลิกจ้างเนื่องจากขาดงานโดยไม่มีเหตุสมควรไปเมื่อวันที่ 28 กันยายน2528 และโจทก์เคยถูกลงโทษเช่นกรณีนี้ โดยจำเลยได้ตักเตือนเป็นหนังสือมาแล้วหลายครั้ง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยคืนเงินประกันให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ เพราะถือว่าการกระทำของโจทก์มิใช่กรณีที่ร้ายแรง
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามระเบียบขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพว่าด้วยเงินประกันและผู้ค้ำประกันของพนักงาน พ.ศ. 2523 ได้กำหนดกรณีที่จะคืนเงินประกันหรือริบเงินประกันไว้ในข้อ 8 ว่าพนักงานที่ออกจากตำแหน่งในองค์การ (หมายถึงจำเลย) ด้วยเหตุใด ๆ โดยมิได้กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงหรือมิได้ก่อให้เกิดความเสียหาย หรือมิได้มีหนี้สินจะต้องชดใช้แก่องค์การจะได้รับเงินประกันคืน เว้นแต่พนักงานที่ถูกไล่ออกหรือให้ออกเพราะกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ให้ริบเงินประกันทั้งหมดซึ่งได้ระบุกรณีที่ถือว่าเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงไว้ 9 กรณี การที่โจทก์ถูกเลิกจ้างครั้งนี้ เพราะได้กระทำผิดฝ่าฝืนข้อบังคับของจำเลยโดยขาดงานละทิ้งหน้าที่ไป 1 วันเป็นการซ้ำกับหนังสือตักเตือนของจำเลยตามที่กำหนดไว้ในข้อ 47(3) ของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานเท่านั้น หาได้ถูกเลิกจ้างเพราะเหตุกระทำผิดฝ่าฝืนข้อบังคับของจำเลยในกรณีที่ร้ายแรงไม่ เมื่อเหตุที่โจทก์ถูกเลิกจ้างไม่เข้าลักษณะการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งที่ถือว่าเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงดังที่ระบุไว้ในข้อ 8 ของระเบียบดังกล่าวแล้วจำเลยก็ย่อมไม่มีสิทธิที่จะริบเงินประกัน ต้องคืนให้แก่โจทก์ ที่จำเลยอ้างว่าเป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379นั้น เห็นว่าเงินประกันนี้จะเป็นเบี้ยปรับหรือไม่ก็ตามกรณีคดีนี้โจทก์ไม่ได้กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงอย่างใดอย่างหนึ่งดังที่ระบุไว้ในข้อ 8 ของระเบียบดังกล่าวแล้ว จึงไม่มีกรณีที่จะต้องริบเงินประกันตามระเบียบของจำเลย
พิพากษายืน.

Share