แหล่งที่มา : สำนักงาน ส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ป.อ.มาตรา336ทวิเป็นบทบัญญัติให้ระวางโทษหนักขึ้นมิใช่การเพิ่มโทษศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตามมาตรา335(1)(3)(8)ประกอบด้วยมาตรา336ทวิจำคุก5ปีเป็นการระวางโทษหนักขึ้นกึ่งหนึ่งตามมาตรา336ทวิแล้วยังเพิ่มโทษตามมาตรา336ทวิอีกกึ่งหนึ่งเป็นจำคุก7ปี6เดือนจึงเป็นการเพิ่มโทษโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์ จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า “…จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335(1)(3)(8) 336 ทวิ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2525 มาตรา 11 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 3 จำคุก 5 ปีเพิ่มโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336 ทวิ อีกกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยมีกำหนด 3 ปี 9 เดือนของกลางริบ…”
จำเลยอุทธรณ์ว่าศาลชั้นต้นเพิ่มโทษโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า “…ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336 ทวิบัญญัติให้ระวางโทษให้หนักขึ้น มิใช่การเพิ่มโทษ เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(1)(5)(8)336 ทวิ ลงโทษจำคุกจำเลย 5 ปี จึงเป็นการวางโทษจำคุกหนักกว่าที่กฎหมายบัญญัติไว้ในมาตรา 335(1)(3)(8) กึ่งหนึ่งตามมาตรา 336 ทวิแล้ว ดังนั้นการที่ศาลชั้นต้นเพิ่มโทษตามมาตรา 336 ทวิอีก จึงเป็นการไม่ชอบ พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำคุกจำเลย 5 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี 6 เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น…”
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า …ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336 ทวินั้นเป็นบทบัญญัติให้ระวางโทษหนักขึ้น มิใช่การเพิ่มโทษ คดีนี้จำเลยกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 สองอนุมาตราขึ้นไปซึ่งมีอัตราโทษจำคุกระหว่าง 1-7 ปี เมื่อศาลชั้นต้นลงโทษตามมาตราดังกล่าวประกอบด้วย มาตรา 336 ทวิ จำคุก 5 ปี จึงเป็นการระวางโทษจำคุกระหว่าง 1 ปี 6 เดือน ถึง 10 ปี 6 เดือน ซึ่งหนักกว่ากึ่งหนึ่งของอัตราโทษดังกล่าว ตามมาตรา 336 ทวิแล้ว และเมื่อพิเคราะห์ถึงอัตราโทษตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดกล่าวคือ ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุก 5 ปี และเพิ่มโทษตามมาตรา 336 ทวิ อีกกึ่งหนึ่ง จึงเป็นโทษจำคุก 7 ปี 6 เดือน เมื่อเป็นเช่นนี้จึงไม่ใช่การใช้ถ้อยคำผิดพลาดไปดังที่โจทก์ฎีกา แต่แสดงให้เห็นว่าศาลชั้นต้นเพิ่มโทษโดยไม่ชอบ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น…”
พิพากษายืน.