แหล่งที่มา : สำนักงาน ส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ข้อสัญญาว่ากรณีผิดนัดหรือทรัพย์ตามสัญญาสูญหายก็ยังให้สิทธิผู้ขายได้รับค่ารถส่วนที่ยังค้างชำระเต็มราคาแสดงให้เห็นว่ากรณีจะเป็นประการใดก็ตามคู่สัญญามีเจตนาให้ผู้ขายได้รับชำระราคารถยนต์ที่ซื้อขายจนครบถ้วนเท่านั้นหาได้มีข้อตกลงที่พอจะแสดงให้เห็นว่าถ้าผู้ซื้อผิดนัดให้ผู้ขายริบบรรดาเงินที่ผู้ซื้อได้ใช้มาแล้วและผู้ขายเข้าครองรถยนต์เป็นของตนแต่อย่างใดไม่ข้อสัญญาดังนี้จึงเป็นสัญญาซื้อขายโดยมีเงื่อนไขในการโอนกรรมสิทธิ์หาใช่สัญญาเช่าซื้อไม่ ป.พ.พ.มาตรา372วรรคแรกไม่ใช่กฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนคู่สัญญาย่อมตกลงกันเป็นอย่างอื่นได้ โจทก์บอกเลิกสัญญาจำเลยได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาแล้วเป็นผลให้สัญญาสิ้นสุดลงจำเลยจึงไม่ต้องชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ15ต่อปีตามข้อสัญญาแต่จะต้องนำป.พ.พ.มาตรา224มาใช้แทนโดยคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7ครึ่งต่อปีนับแต่วันเลิกสัญญา.
ย่อยาว
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า “…จำเลยที่ 1 ได้ซื้อรถยนต์ยี่ห้อไดฮัตสุหมายเลขเครื่อง 226088 ในราคา 92,670 บาท ชำระเงินในวันทำสัญญา 12,000 บาท ที่เหลือแบ่งชำระเป็นงวดรายเดือนเดือนละ 2,689บาท รวม 30 เดือน โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันในฐานะลูกหนี้ร่วม จำเลยที่ 1 ชำระเงินให้โจทก์เพียง 4 งวด เป็นเงิน 10,756 บาทแล้วรถยนต์คันที่ซื้อขายกันก็ถูกขโมยไปจำเลยที่ 1 ไม่ชำระเงินค่ารถให้โจทก์อีกเลย โจทก์จึงบอกเลิกสัญญา จำเลยทั้งสองได้รับหนังสือดังกล่าวแล้ว…” โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ราคาที่ค้างชำระพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันผิดนัด จำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้คดี จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า “…สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาเช่าซื้อ แต่ขณะทำสัญญาไม่มีลายมือชื่อผู้ขายและพยาน เพิ่งมาลงชื่อกันภายหลัง คงมีลายมือชื่อผู้ซื้อฝ่ายเดียวจึงไม่เป็นสัญญาและไม่ถือว่าได้ทำสัญญาเช่าซื้อเป็นหนังสือ จึงเป็นโมฆะ จำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ…”
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า “…หนังสือสัญญาตามฟ้องเป็นสัญญาซื้อขาย มิใช่เช่าซื้อจำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดชำระราคารถยนต์ที่ยังค้างชำระอยู่พร้อมทั้งดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ตามสัญญาซื้อขายมีเงื่อนไขข้อ 4, 5 พิพากษากลับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันและแทนกันชำระราคารถยนต์ที่ค้างอยู่ 69,914 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละ15 ต่อปี นับแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2521 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความทั้งสองศาลให้ 2,000 บาท…”
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อความในหนังสือสัญญาก็มีใจความเรียงตามลำดับดังนี้ คือข้อ 1. ผู้ซื้อชำระเงินดาวน์ครั้งแรกเป็นเงิน12,000 บาท ข้อ 2. ในกรณีที่ภาษีขาเข้าเปลี่ยนแปลงก่อนส่งมอบ ผลแห่งการเปลี่ยนแปลงตกอยู่แก่ผู้ซื้อ ข้อ 3. กรรมสิทธิ์ในยานยนต์จะตกเป็นของผู้ซื้อต่อเมื่อผู้ซื้อชำระเงินครบถ้วนแล้ว ข้อ 4. แม้มีการโอนสัญญาหรือตัวยานยนต์อันเป็นวัตถุแห่งสัญญาสูญเสีย ผู้ซื้อยังต้องรับผิดตามสัญญานี้ ส่วนผู้ขายโอนสิทธิในสัญญาให้แก่ผู้อื่นผู้รับโอนเข้าสวมสิทธิของผู้ขายตามสัญญานี้ ข้อ 5. ในกรณีที่ผู้ซื้อผิดนัดชำระเงินงวดใดหรือถูกฟ้องคดีล้มละลายหรือต้องถูกพิทักษ์ทรัพย์ก็ดี ผู้ขายมีสิทธิเรียกให้ผู้ซื้อชำระราคาที่ยังค้างอยู่ทั้งหมดได้โดยพลัน และผู้ซื้อยอมเสียดอกเบี้ยให้ผู้ขายในอัตราร้อยละ 15ต่อปี ข้อ 6. ผู้ซื้อจะต้องรักษายานยนต์ให้ปลอดภัยและจะไม่ใช้ยานยนต์ในทางผิดกฎหมายหรือทางที่ไม่สมควร ข้อ 7. ให้ผู้ขายเอาประกันภัยยานยนต์ได้โดยผู้ซื้อเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย ข้อ 8. ผู้ซื้อยอมผูกพันตามสัญญาที่ผู้ขายได้ซื้อยานยนต์ดังกล่าวต่อบริษัทพระนครยนตรการ จำกัด และห้ามผู้ซื้อขายช่วงต่อไป ข้อ 9. ถ้าผู้ซื้อผิดนัดไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขใด ๆ ในสัญญานี้ ผู้ขายอาจเข้าครอบครองยานยนต์ที่ขายได้ ข้อ 10. เมื่อเข้าครอบครองยานยนต์ดังกล่าวแล้ว ผู้ขายนำออกขายได้ ข้อ 11. เมื่อขายได้แล้ว ให้หักค่าใช้จ่ายเหลือเท่าใดให้นำไปชำระราคายานยนต์ที่ยังค้างชำระอยู่ ถ้ามีเหลือจะส่งคืนให้ผู้ซื้อ ถ้าไม่พอผู้ซื้อต้องชดใช้จำนวนที่ขาดอยู่ ข้อ 12. การที่ผู้ขายเข้าครอบครองยานยนต์และนำยานยนต์ออกขายไม่มีผลให้ผู้ซื้อหลุดพ้นหน้าที่ที่ต้องรับผิดจนกว่าจะได้ชำระราคาครบถ้วน
จากข้อความตามหนังสือสัญญาดังกล่าวเห็นได้ว่าเป็นสัญญาซื้อขายรถยนต์โดยผู้ขายยอมให้ผู้ซื้อผ่อนชำระราคามีเงื่อนไขว่าจะโอนกรรมสิทธิ์ให้เมื่อผู้ซื้อผ่อนชำระราคาครบถ้วนแล้วไม่มีข้อความตอนใดแสดงให้เห็นว่าผู้ขายเอาทรัพย์สินออกให้เช่าและให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินนั้นหรือจะให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้เช่าได้ใช้เงินเป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้คราวดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 572 ทั้งในกรณีผิดนัดผิดสัญญาหรือทรัพย์ตามสัญญาสูญหายก็ยังให้สิทธิผู้ขายได้รับชำระค่ารถส่วนที่ยังค้างชำระเต็มราคาค่ารถที่ซื้อขายตามสัญญาข้อ 4, 5, 9, 10, 11และ 12 แสดงให้เห็นว่า กรณีจะเป็นประการใดก็ตาม คู่สัญญามีเจตนาให้ผู้ขายได้รับชำระราคารถยนต์ที่ซื้อขายจนครบถ้วนเท่านั้น หาได้มีข้อตกลงที่พอจะแสดงให้เห็นว่าถ้าผู้ซื้อผิดนัดผิดสัญญา ให้ผู้ขายริบบรรดาเงินที่ผู้ซื้อได้ใช้มาแล้ว และผู้ขายเข้าครองรถยนต์เป็นของตนดังที่บัญญัติไว้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 574 แต่อย่างใดไม่ สัญญาเอกสารหมาย จ.2 และ ล.1 จึงเป็นสัญญาซื้อขายโดยมีเงื่อนไขในการโอนกรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา459 หาใช่สัญญาเช่าซื้อไม่ การที่ผู้ขายกำหนดเงื่อนไขการรักษาการใช้และการเอาประกันภัยรถยนต์ในระหว่างผ่อนใช้ราคาไม่ครบถ้วนตามสัญญาข้อ 6 และ 7 ก็ดีให้ผู้ซื้อต้องมีผู้ค้ำประกันในการปฏิบัติตามสัญญาก็ดี ก็เป็นเพียงการสงวนทรัพย์สินและแสวงหาหลักประกันของผู้ขายเพื่อให้ได้รับชำระราคาครบถ้วนแน่นอนยิ่งขึ้นเท่านั้น หาเป็นเหตุให้กลับกลายเป็นสัญญาเช่าซื้อไปได้ไม่ ฎีกาจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
หนังสือสัญญาซื้อขายมีเงื่อนไขข้อ 4 ระบะว่า “แม้ว่าสัญญาฉบับนี้จะผ่านการโอนการต่ออายุหรือการเปลี่ยนมืออย่างใด ๆ หรือตัวยานยนต์อันเป็นวัตถุแห่งสัญญาต้องประสบความสูญเสียหายหรือย่อยยับประการใด ผู้ซื้อก็หาหลุดพ้นจากหน้าที่รับผิดตามสัญญาฉบับนี้แต่อย่างใดไม่ ฯลฯ” ศาลฎีกาเห็นว่า คำว่ายานยนต์อันเป็นวัตถุแห่งสัญญาต้องประสบความสูญเสียตามสัญญาข้อนี้ มีความหมายรวมตลอดถึงยานยนต์สูญหายไปเพราะเหตุถูกคนร้ายลักไปด้วย ฉะนั้นเมื่อระหว่างที่จำเลยชำระเงินค่าซื้อรถยนต์ตามสัญญายังไม่ครบถ้วน รถยนต์ดังกล่าวได้หายไปหรือเสียหายด้วยประการใด ๆ ก็ตามจำเลยก็ยังคงต้องรับผิดชำระราคารถยนต์ให้แก่โจทก์จนครบถ้วน ข้อสัญญาดังกล่าวเป็นการยกเว้นบทบัญญัติมาตรา 372 วรรคแรก แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งบัญญัติว่า “นอกจากกรณีที่กล่าวไว้ในสองมาตราก่อน ถ้าการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันจะโทษฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดก็ไม่ได้ไซร็ ท่านว่าลูกหนี้หามีสิทธิจะรับชำระหนี้ตอบแทนไม่” บทบัญญัติดังกล่าวนี้มิใช่กฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน คู่สัญญาย่อมตกกันเป็นอย่างอื่นได้ สัญญาข้อ 4จึงไม่ตกเป็นโมฆะ
ข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ได้บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยทั้งสองตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคม 2521 จำเลยทั้งสองได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาดังกล่าวแล้ว จึงเป็นผลให้สัญญาซื้อขายมีเงื่อนไขสิ้นสุดลงคู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 จำเลยที่ 1 ต้องคืนรถยนต์ให้โจทก์ และโจทก์ต้องคืนเงินค่ารถที่ได้รับไว้แล้วพร้อมดอกเบี้ยให้จำเลยที่ 1 แต่ปรากฏว่ารถยนต์อันเป็นวัตถุแห่งสัญญาสูญหายเพราะถูกลักไปยังไม่ได้คืนจำเลยที่ 1 ไม่สามารถส่งรถยนต์คืนให้โจทก์ได้ จำเลยที่ 1 จึงต้องชำระราคารถให้แทน โดยชำระเฉพาะส่วนที่ยังส่งไม่ครบพร้อมด้วยดอกเบี้ย แต่ที่ศาลอุทธรณ์ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตั้งแต่วันผิดนัดจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์นั้นยังไม่ชอบ เพราะหลังจากเลิกสัญญากันแล้ว เงื่อนไขข้อตกลงต่าง ๆในสัญญาย่อมระงับสิ้นไป จะนำมาใช้บังคับแก่กันต่อไปไม่ได้ จำเลยทั้งสองจึงไม่จำต้องชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีตามสัญญาข้อ 5วรรคสอง อีกต่อไป จะต้องนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224มาใช้บังคับแทน โดยคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปีนับแต่วันเลิกสัญญาไปจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จ
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2521 ถึงวันที่ 24 ตุลาคม2521 หลังจากนั้นให้คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปีจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โจทก์ไม่ยื่นคำแก้ฎีกา จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นฎีกาให้นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.