แหล่งที่มา : สำนักงาน ส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
คดีฟ้องหย่าโจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยด่าหมิ่นประมาทโจทก์และบุพการีของโจทก์อย่างร้ายแรงว่า”อีดอกทองมึงก็ดอกทองเหมือนแม่”ถือว่าได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับแล้ว ทรัพย์ที่ได้รับยกให้ระหว่างเป็นสามีภริยาก่อนป.พ.พ.ที่ได้ตรวจชำระใหม่พ.ศ.2519ใช้บังคับต้องเป็นไปตามป.พ.พ.บรรพ5เดิมเมื่อหนังสือยกให้มิได้แสดงไว้ว่าให้เป็นสินส่วนตัวแก่ผู้รับยกให้ย่อมตกเป็นสินสมรสตามมาตรา1464,1466บรรพ5เดิม ซึ่งสามีภริยามีสิทธิได้รับส่วนแบ่งคนละกึ่งหนึ่งโดยถือเป็นเจ้าของรวมสามีจึงมีสิทธิอายัดบ้านและที่ดินซึ่งเป็นสินสมรสเพื่อมิให้ภริยาจำหน่ายจ่ายโอนแก่ผู้ใดได้ตามป.พ.พ.มาตรา1359และภริยาไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่สามีออกจากบ้านและที่ดินดังกล่าวได้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากับจำเลยและขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนหนังสืออายัดที่จำเลยมีถึงกรมที่ดิน ไม่ให้โจทก์ขายที่ดินและบ้านของโจทก์ ให้จำเลยแบ่งเงินค่าขายบ้านที่ดินและบ้านสินสมรสให้โจทก์ ทั้งให้ขับไล่จำเลยกับบริวารออกจากบ้านของโจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ประสงค์จะแยกกับจำเลยไปสมรสกับชายอื่นจึงแต่งเรื่องราวอันเป็นเท็จมาฟ้อง ที่จำเลยอายัดที่ดินไว้ ก็เพราะเกรงว่าโจทก์จะยักย้ายทรัพย์สมบัติ บ้านพิพาทเป็นของจำเลย โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากัน ให้เพิกถอนการอายัดที่ของโจทก์ที่จำเลยอายัดต่อกรมที่ดินเสียให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากบ้านตามฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยแบ่งเงินค่าขายที่ดินและบ้านอันเป็นสินสมรสให้โจทก์ ให้ยกคำขอเพิกถอนการอายัดที่ดิน และขับไล่จำเลยออกจากบ้านเลขที่ 141/9 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติในเบื้องต้นว่าโจทก์จำเลยจดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2516 ในขณะที่โจทก์เป็นนักเรียนในวิทยาลัยพาณิชยการธนบุรี และจำเลยอ่านหนังสือไม่ออกเซ็นได้แต่ชื่อ ต่อมาได้ไปอยู่กินด้วยกันที่บ้านเลขที่ 37/24ซอยเรวดี 19 ตำบลตลาดขวัญ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี ซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 76875 ตำบลตลาดขวัญ (บางแพรก) อำเภอเมืองนนทบุรี (ตลาดขวัญ) จังหวัดนนทบุรี โจทก์ทำงานเป็นครูสอนอยู่ที่วิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต แล้วไปสอนที่โรงเรียนดุสิตพาณิชยการ ลาออกเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2523 ต่อมาโจทก์จำเลยแยกกันอยู่ โจทก์ได้รับที่ดินโฉนดเลขที่ 5178 ตำบลบางซ่อน อำเภอดุสิต (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร จากนางกุหลาบ ไวทยานุวัตติ ผู้เป็นย่ามาเมื่อวันที่ 13มีนาคม 2518 ต่อมามีบ้านเลขที่ 141/9 หมู่ที่ 18 ปลูกอยู่ในที่ดินแปลงนี้ ที่ดินทั้งสองแปลงนี้มีชื่อโจทก์ซึ่งใช้ชื่อเดิมว่านางสาวพิมพร ไวทยานุวัติ เป็นเจ้าของ ปรากฏตามโฉนดที่ดินเลขที่ 76875ว่าโจทก์ขายที่ดินแปลงนี้ให้จำเลย จำเลยนำไปจำนองกับธนาคารอาคารสงเคราะห์ และจำเลยขายที่ดินแปลงนี้ไปแล้ว ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่5178 ได้จดทะเบียนแบ่งแยกเป็นโฉนดใหม่เลขที่ 83409 ตำบลบางซ่อนอำเภอดุสิต (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร ส่วนโฉนดเดิมยกให้เป็นทางสาธารณประโยชน์ ที่ดินโฉนดใหม่จำเลยไปขออายัดอ้างว่าเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์จำเลย ไม่ประสงค์ให้โจทก์ขายที่ดินแปลงนี้ แต่ต่อมาระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์ยกที่ดินแปลงนี้ให้แก่นายสุรศักดิ์ ไวทยานุวัตติ แล้วนายสุรศักดิ์ ไวทยานุวัตติ ขายให้แก่ผู้อื่นไปแล้ว แต่จำเลยกับบริวารยังคงอยู่ในบ้านเลขที่ 141/9 อยู่ตามเดิม
ที่จำเลยฎีกาว่าฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมนั้น เห็นว่าโจทก์ได้บรรยายฟ้อง กล่าวอ้างว่า จำเลยด่าหมิ่นประมาทโจทก์และบุพการีของโจทก์อย่างร้ายแรงว่า “อีดอกทอง มึงก็ดอกทองเหมือนแม่” เช่นนี้เห็นว่าฟ้องของโจทก์ได้แสดงโดยแจ้งชัด ซึ่งสภาพแห่งข้อหา และคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น ต้องตามลักษณะการฟ้องความแพ่งตามมาตรา 172 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งแล้ว และตามคำให้การต่อสู้คดีของจำเลย แสดงให้เห็นว่าจำเลยเข้าใจฟ้องของโจทก์ได้เป็นอย่างดี ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าฟ้องของโจทก์ไม่เคลือบคลุมนั้นชอบแล้ว
ส่วนที่จำเลยฎีกา จำเลยมีสิทธิอายัดบ้านและที่ดินที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ และโจทก์มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยให้ออกจากบ้านและที่ดินที่จำเลยขออายัดได้หรือไม่นั้น เกี่ยวกับประเด็นข้อนี้มีปัญหาควรวินิจฉัยเสียก่อนว่าบ้านเลขที่ 141/9 หมู่ที่ 18 แขวงลาดยาว เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร พร้อมทั้งที่ดินโฉนดเลขที่ 83409 เป็นสินสมรสหรือสินส่วนตัวของโจทก์ ข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์จำเลยจดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2516 และเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2518นางกุหลาบ ไวทยานุวัตติ ผู้เป็นย่าของโจทก์ได้ยกที่ดินแปลงนี้ให้แก่โจทก์โดยเสน่หา ต่อมาที่ดินโฉนดเลขที่ 5178 ได้จดทะเบียนแบ่งแยกเป็นโฉนดใหม่เลขที่ 83409 ส่วนโฉนดเดิมยกให้เป็นทางสาธารณประโยชน์ดังนั้นที่ดินโฉนดที่ได้รับจากการยกให้ของนางกุหลาบดังกล่าวจึงเป็นทรัพย์สินที่โจทก์ได้มาระหว่างเป็นสามีภริยาจำเลยโดยการยกให้โดยเสน่หา แต่ตามหนังสือยกให้มิได้แสดงไว้ว่าให้เป็นสินส่วนตัวของโจทก์ เห็นว่าการยกให้ที่ดินรายนี้กระทำเมื่อวันที่ 13 มีนาคม2518 ก่อนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519ใช้บังคับ กรณีจึงต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5เดิม มาตรา 1464 บัญญัติว่า “สินส่วนตัว ได้แก่ ฯลฯ (3) ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างเป็นสามีภริยาโดยทางพินัยกรรมหรือยกให้โดยเสน่หา เมื่อพินัยกรรมหรือหนังสือยกให้นั้นได้แสดงไว้ให้เป็นสินส่วนตัว” เมื่อหนังสือยกให้ที่ดินรายนี้มิได้แสดงไว้ว่าให้เป็นสินส่วนตัวแก่โจทก์ จึงต้องตกเป็นสินสมรสตามมาตรา 1466 บรรพ5 เดิม สำหรับบ้านเลขที่ 141/9 ซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินแปลงนี้ก็เชื่อได้ว่า ขณะที่นางกุหลาบ ไวทยานุวัตติ ย่าของโจทก์ยกที่ดินแปลงนี้ให้แก่โจทก์นั้นมีบ้านเลขที่ 141/9 ปลูกอยู่ในที่ดินแปลงนี้แล้วบ้านเลขที่ 141/9 หมู่ที่ 18 แขวงลาดยาว เขตบางเขน กรุงเทพมหานครพร้อมทั้งที่ดินโฉนดเลขที่ 83409 เป็นสินสมรส ฉะนั้นจำเลยย่อมมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งจากทรัพย์สินรายนี้กึ่งหนึ่ง ถือได้ว่าจำเลยเป็นเจ้าของรวมกับโจทก์ในทรัพย์สินรายนี้คนละส่วนเท่ากัน ดังนั้นจำเลยจึงมีสิทธิอายัดบ้านและที่ดินรายนี้เพื่อมิให้โจทก์จำหน่ายจ่ายโอนแก่ผู้ใดได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1359และโจทก์ย่อมไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยออกจากบ้านและที่ดินดังกล่าวได้ เพราะจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมด้วย ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีสิทธิในที่ดินและบ้านดังกล่าวให้ยกคำขอเพิกถอนการอายัดที่ดิน และคำขอให้ขับไล่จำเลยออกจากบ้านเลขที่ 141/9หมู่ที่ 18 แขวงลาดยาว เขตบางเขน กรุงเทพมหานครนั้น ศาลฎีการเห็นพ้องด้วยในผล
พิพากษายืน.