คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 512/2529

แหล่งที่มา : สำนักงาน ส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่1เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่2ตามพ.ร.บ.โรงเรียนราษฎร์แล้วจำเลยที่1ได้มีความเห็นว่าโรงเรียนโจทก์ที่1ได้รับอนุญาตให้เปิดทำการสอนในปี2524ได้เฉพาะชั้นปีที่1นักเรียนที่จบชั้นม.ศ.5ไม่มีสิทธิโอนผลการเรียนตามหลักสูตรอื่นๆโดยโจทก์ไม่ได้กล่าวว่าเป็นความเห็นที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือระเบียบข้อบังคับประการใดทั้งไม่ปรากฏในคำฟ้องว่าจำเลยที่1จงใจหรือประมาทเลินเล่อทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมายให้โจทก์เสียหายแต่อย่างใดเมื่อการกระทำของจำเลยที่1ตามที่กล่าวในฟ้องไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์จึงไม่มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยที่1ตามที่โจทก์ทั้งสองนำสืบเป็นการละเมิดต่อโจทก์หรือไม่.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของผู้จัดตั้งโรงเรียนราษฎร์อาชีวศึกษาชื่อโรงเรียนโปลิเทคนิค ปราจีนบุรี นักเรียนที่สมัครเข้าเรียนเป็นนักเรียนที่จบชั้น ม.3 หรือเทียบเท่า และที่จบชั้น ม.ศ. 5 ปะปนกัน จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายอำเภอเมืองปราจีนบุรีในฐานะพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ พ.ศ 2497และในฐานะตัวแทนลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกระทรวงในรัฐบาลได้แจ้งต่อโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นผู้จัดการโรงเรียนโจทก์ที่ 1 ว่าโรงเรียนโจทก์ที่ 1 ไม่มีสิทธิรับนักเรียนที่จบชั้น ม.ศ. 5 เข้าเรียนให้จบหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพได้ก่อน 3 ปี ที่โรงเรียนโจทก์ที่ 1 รับนักเรียนที่จบชั้น ม.ศ. 5 เข้าเรียนและให้สิทธิเรียนจบหลักสูตรได้ก่อน 3 ปี เป็นการฝ่ายฝืนต่อกฎหมายและระเบียบของทางราชการ ให้จำเลยที่ 2 (น่าจะเป็นโจทก์ที่ 2) เรียกประชุมชี้แจงให้นักเรียนที่จบชั้น ม.ศ. 5 ทราบ และสอบถามความสมัครใจของนักเรียนที่จะเรียนตามหลักสูตรทุก ๆ วิชา เช่นเดียวกับนักเรียนที่จบชั้น ม.3 และสอบถามนักเรียนที่ไม่สมัครจะเรียนทำเป็นหลักฐานส่งให้จำเลยที่ 1 เพื่อที่จำเลยที่ 1 จะได้ดำเนินการช่วยเหลือหาสถานศึกษาแห่งใหม่ และจำเลยที่ 1 ยังได้เผยแพร่ให้ปรากฎแก่นักเรียน ผู้ปกครองนักเรียนและประชาชนทั่วไปว่าโรงเรียนโจทก์ที่ 1 รับนักเรียนเข้าเรียนฝ่าฝืนต่อกฎหมายและระเบียบของทางราชการถ้านักเรียนขืนเรียนต่อไปจะไม่มีทางจบหลักสูตร ซึ่งโจทก์ที่ 2ได้พยายามชี้แจงคัดค้านทั้งด้วยวาจาและหนังสือ แต่จำเลยที่ 1ก็คงยืนยันตามความเห็นของตน แล้วได้ออกคำสั่งให้โจทก์ที่ 2ระงับการสอนนักเรียนที่จบชั้น ม.ศ. 5 โดยด่วนที่สุด การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองเสียหาย ทำให้ประชาชนไม่เชื่อถือโรงเรียนโจทก์ที่ 1 และตัวโจทก์ที่ 2 เป็นการทำลายความเจริญรุ่งเรืองของโรงเรียนโจทก์ที่ 1 นักเรียนและผู้ปกครองนักเรียนเข้าใจว่า โรงเรียนโจทก์ที่ 1 ฝ่าฝืนกฎหมายและระเบียบของทางราชการเกิดการระส่ำระสาย ที่สุดนักเรียนได้ลาออกไป 33 คน ทำให้โจทก์ที่ 1 ขายรายได้จากค่าเรียนที่พึงได้ ขอให้พิพากษาว่าคำสั่งของจำเลยที่ 1 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 1และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ที่ 1
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ พ.ศ. 2497 โรงเรียนของโจทก์จะต้องใช้เวลาเรียน 3 ปี ทั้งผู้ที่จบ ม.3 หรือ ม.ศ. 4 หรือม.ศ. 5 จะโอนผลการเรียนมาจากวิชาที่เรียนในชั้น ม.ศ. 4 ม.ศ. 5ไม่ได้ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ไม่ได้เสียหาย
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ ไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 ตามที่โจทก์บรรยายมาในฟ้องนั้นเป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่ โดยที่จำเลยที่ 1 เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ตามพระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์พ.ศ.2497 และการกระทำของจำเลยที่ 1 นั้นโจทก์ทั้งสองกล่าวมาในฟ้องว่า จำเลยที่ 1 กระทำไปโดยจำเลยที่ 1 มีความเห็นว่า โรงเรียนโจทก์ที่ 1 ได้รับอนุญาตให้เปิดทำการสอนในปี พ.ศ. 2524 ได้เฉพาะชั้นปีที่ 1 สำหรับในชั้นปีที่ 2 ปีที่ 3 จะเปิดทำการสอนได้ในปี พ.ศ. 2525 และปี พ.ศ. 2526 ตามลำดับ ซึ่งหมายถึงว่า นักเรียนที่จบชั้น ม.ศ. 5 ไม่มีสิทธิโอนผลการเรียนตามหลักสูตรอื่นไม่มีสิทธิสอบเทียบประสบการณ์หรือสอบเทียบความรู้เพื่อให้ได้หน่วยกิตสะสม และจำเลยที่ 1 ยังให้โจทก์ที่ 2 สอบถามความสมัครใจของนักเรียนที่จะเรียนตามหลักสูตรทุก ๆ วิชาเช่นเดียวกับนักเรียนที่จบชั้น ม.3 และสอบถามนักเรียนที่ไม่สมัครจะเรียนทำเป็นหลักฐานส่งให้จำเลยที่ 1 เพื่อที่จำเลยที่ 1 จะได้ดำเนินการช่วยเหลือหาสถานศึกษาแห่งใหม่ เมื่อฟ้องของโจทก์แสดงว่า โจทก์ทั้งสองเห็นว่าจำเลยที่ 1 กระทำการตามหน้าที่และตามความเห็นของจำเลยที่ 1ดังกล่าวแล้ว โจทก์ทั้งสองก็ไม่ได้กล่าวว่าเป็นความเห็นที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือระเบียบข้อบังคับแต่อย่างใด ทั้งการกระทำของจำเลยที่ 1 ตามที่โจทก์ฟ้องนั้นก็ไม่ปรากฎว่าจำเลยที่ 1 จงใจหรือประมาทเลินเล่อทำต่อโจทก์ทั้งสองโดยผิดกฎหมายให้โจทก์ทั้งสองเสียหายแต่อย่างใด ดังนั้น ถ้าโจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายตามที่กล่าวมาในฟ้อง ความเสียหายนั้นก็เกิดขึ้นจากการกระทำของโจทก์ทั้งสองเอง ไม่ได้เกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 1 เมื่อการกระทำของจำเลยที่ 1 ตามที่โจทก์กล่าวมาในฟ้องไม่เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองแล้ว จึงไม่มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยที่ 1ตามที่โจทก์ทั้งสองนำสืบนั้นเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ได้ทำละเมิดต่อโจทก์จึงไม่ต้องวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 หรือไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นด้วยในผล
พิพากษายืน.

Share