คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 626-627/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่โจทก์ที่ 3 พนักงานของบริษัทจำเลยทำนิติกรรมจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทกับโจทก์ที่ 1 และที่ 2 เป็นผลโดยตรงจากการกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลย แม้การจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทจะเป็นการนอกเหนือความประสงค์ของจำเลย จำเลยไม่อาจยกความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของตนเองขึ้นต่อสู้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่กระทำการโดยสุจริต จำเลยจึงต้องผูกพันและรับผิดตามสัญญาจำนองที่โจทก์ที่ 3 ทำกับโจทก์ที่ 1 และที่ 2 และไม่อาจขอให้เพิกถอนนิติกรรมจำนองที่ดินพิพาทได้

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โอนสำนวนมาพิจารณาพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ในสำนวนแรกและจำเลยที่ 2 ที่ 3 ในสำนวนหลังว่า โจทก์ที่ 1 และที่ 2 เรียกจำเลยที่ 1 ในสำนวนหลังว่า โจทก์ที่ 3 เรียกจำเลยในสำนวนแรกและโจทก์ในสำนวนหลังว่า จำเลย
โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ในสำนวนแรกฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 3,313,333.33 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 2,800,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 หากไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วนให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 17798 พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยซึ่งเป็นโจทก์ในสำนวนหลังฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 17798 ให้โจทก์ทั้งสามดำเนินการจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดิน หากโจทก์ทั้งสามไม่ดำเนินการ ขอให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ให้โจทก์ทั้งสามส่งมอบโฉนดเลขที่ 17798 ให้แก่จำเลย
โจทก์ที่ 3 ซึ่งเป็นจำเลยที่ 1 ในสำนวนหลังให้การขอให้ยกฟ้อง
โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในสำนวนหลังให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 2,800,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2552 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 20 กรกฎาคม 2553) ต้องไม่เกิน 513,333.33 บาท หากจำเลยไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วนให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 17798 พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ยกฟ้องของจำเลย กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองสำนวนแทนโจทก์ที่ 1 และที่ 2 โดยกำหนด ค่าทนายความสำนวนละ 20,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ที่ 3 กับจำเลยให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ให้จำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ที่ 1 และที่ 2 โดยกำหนดค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์ 10,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ระหว่างโจทก์ที่ 3 กับจำเลยให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 โดยโจทก์ทั้งสามและจำเลยมิได้ฎีกาโต้แย้งคัดค้านรับฟังได้เบื้องต้นว่า ขณะเกิดเหตุพิพาท จำเลยมีนายยาซูมิเป็นหนึ่งในกรรมการผู้มีอำนาจ โจทก์ที่ 3 เป็นพนักงานของจำเลยในตำแหน่งผู้จัดการทั่วไป มีหน้าที่เกี่ยวกับงานธุรการ งานบุคลากร งานขึ้นทะเบียนขออนุญาต และดำเนินการต่าง ๆ ของจำเลยในประเทศไทย เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2552 โจทก์ที่ 3 นำที่ดินพิพาทของจำเลยโฉนดเลขที่ 17798 พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยไปจดทะเบียนจำนองไว้แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 จำนวน 2,800,000 บาท กำหนดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตกลงชำระดอกเบี้ยเดือนละครั้ง โดยในการจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาท โจทก์ที่ 3 ปลอมรายงานการประชุมของจำเลย และนำไปให้นายยาซูมิลงลายมือชื่อ มีข้อความอนุมัติให้โจทก์ที่ 3 นำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนอง และนำหนังสือมอบอำนาจที่ยังไม่ได้กรอกข้อความไปให้นายยาซูมิลงลายมือชื่อ ไปใช้เป็นหลักฐานในการจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาท หลังจากจดทะเบียนจำนอง โจทก์ที่ 3 ชำระดอกเบี้ยเพียงครั้งเดียว โจทก์ที่ 1 และที่ 2 มีหนังสือทวงถามและบอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลย ต่อมาโจทก์ที่ 3 ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก 1 ปี ในความผิดฐานปลอมเอกสาร
ประเด็นต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมจำนองที่ดินพิพาทตามคำฟ้องของจำเลยหรือไม่ ประเด็นนี้แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังเป็นยุติตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์ที่ 3 เป็นผู้ปลอมหนังสือมอบอำนาจและรายงานการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น และนำเอกสารทั้งสองฉบับให้นายยาซูมิ กรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยลงลายมือชื่อ จากนั้นโจทก์ที่ 3 นำไปใช้เป็นหลักฐานในการจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 แต่ตามคำเบิกความของนายยาซูมิปรากฏข้อเท็จจริงว่า โจทก์ที่ 3 นำหนังสือมอบอำนาจ และรายงานการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นมาให้นายยาซูมิลงลายมือชื่อ โดยโจทก์ที่ 3 อ้างว่าเป็นเอกสารที่ต้องใช้ในการแบ่งแยกที่ดินเนื่องจากจำเลยมีความจำเป็นต้องขายที่ดินคืนแก่นิคมอุตสาหกรรม 304 แต่ขณะที่นายยาซูมิลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจยังไม่มีข้อความ และนายยาซูมิลงลายมือชื่อในรายงานการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นโดยไม่เข้าใจเนื่องจากข้อความในเอกสารเป็นภาษาไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายยาซูมิยังเบิกความตอบคำถามค้านของทนายโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ว่า เอกสารของจำเลยเกี่ยวกับการเงินและที่ดินถือเป็นเอกสารสำคัญที่นายยาซูมิจะต้องให้โจทก์ที่ 3 แปลข้อความเป็นภาษาญี่ปุ่นให้ทราบก่อน แต่นายยาซูมิกลับมิได้ให้โจทก์ที่ 3 แปลข้อความในรายงานการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ซึ่งเป็นเอกสารเกี่ยวกับเรื่องที่ดินให้ทราบก่อนที่จะลงลายมือชื่อ และยินยอมลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจ ทั้งที่ยังไม่มีข้อความ จนเป็นเหตุให้โจทก์ที่ 3 สามารถนำหนังสือมอบอำนาจที่มีการกรอกข้อความเพิ่มเติมในภายหลังและรายงานการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นไปใช้แสดงเป็นหลักฐานประกอบการจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาท ถือได้ว่าการที่โจทก์ที่ 3 ไปทำนิติกรรมจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทกับโจทก์ที่ 1 และที่ 2 เป็นผลโดยตรงจากการกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของนายยาซูมิกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลย และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 6 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลทุกคนกระทำการโดยสุจริต การที่จำเลยฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมจำนองที่ดินพิพาทโดยกล่าวอ้างในฎีกาว่าโจทก์ที่ 1 และที่ 2 มิได้กระทำการโดยสุจริต เนื่องจากหนังสือมอบอำนาจไม่ปรากฏว่าจำเลยได้มอบให้โจทก์ที่ 3 ทำนิติกรรม และโจทก์ที่ 1 และที่ 2 มิได้ตรวจสอบถึงอำนาจของโจทก์ที่ 3 ในการกระทำการแทนจำเลย แต่หนังสือมอบอำนาจและรายงานการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นปรากฏข้อเท็จจริงอย่างชัดเจนว่า จำเลยมีการประชุมและมอบอำนาจให้โจทก์ที่ 3 ไปทำนิติกรรมจดทะเบียนที่ดินพิพาทกับโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ส่วนที่จำเลยกล่าวอ้างในฎีกาว่า โจทก์ที่ 1 และที่ 2 มิได้มีการทำสัญญากู้ยืมเงินเป็นลายลักษณ์อักษรกับจำเลย และโจทก์ที่ 1 และที่ 2 นำเงินสดจำนวน 2,800,000 บาท มอบให้โจทก์ที่ 3 แทนที่จะทำเป็นแคชเชียร์เช็คสั่งจ่ายเข้าบัญชีของจำเลยโดยตรง ซึ่งจะปลอดภัยและเป็นหลักฐานยืนยันกันได้แน่นอนว่ามีการทำนิติกรรมกับจำเลย ก็มีลักษณะเป็นเพียงความเห็น ไม่อาจรับฟังให้เป็นยุติได้แน่นอนเพื่อเป็นข้อบ่งชี้ให้เห็นถึงความไม่สุจริตของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ว่าเป็นผู้ร่วมกับโจทก์ที่ 3 กระทำการโดยทุจริตในการจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาท ด้วยเหตุนี้เอง แม้การจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทจะเป็นการนอกเหนือความประสงค์ของจำเลยก็ตาม จำเลยย่อมไม่อาจยกความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของตนเองขึ้นต่อสู้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่กระทำการโดยสุจริตหาได้ไม่ จำเลยจึงต้องผูกพันและรับผิดตามสัญญาจำนองที่โจทก์ที่ 3 ทำกับโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และไม่อาจขอให้เพิกถอนนิติกรรมจำนองที่ดินพิพาทตามคำฟ้องของจำเลย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องของจำเลยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาทั้งสองสำนวนให้เป็นพับ

Share