แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า พฤติการณ์ที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. ผู้ร้อง และผู้คัดค้านปฏิบัติต่อกันมีลักษณะเป็นการตกลงกันโดยปริยายระหว่างคู่สัญญาสามฝ่ายให้ผู้คัดค้านเข้ามาเป็นคู่สัญญาซื้อขายไอน้ำและไฟฟ้า เป็นการแปลงหนี้ใหม่โดยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้โดยทำเป็นสัญญาระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านโดยชอบตาม ป.พ.พ. มาตรา 350 ที่ผู้คัดค้านอุทธรณ์อ้างว่า น. กระทำในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. มิได้กระทำในฐานะกรรมการบริษัทผู้คัดค้าน เป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจรับฟังพยานหลักฐานของศาล และไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นกรณีใดกรณีหนึ่งที่ให้อุทธรณ์ได้ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 (1) ถึง (5) ผู้คัดค้านอุทธรณ์อ้างว่า ผู้คัดค้านมิได้รับโอนสิทธิเรียกร้องหรือความรับผิดมาจากห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. และหากมีการโอนสิทธิเรียกร้องแต่การโอนมิได้ทำเป็นหนังสือตาม ป.พ.พ. มาตรา 306 วรรคหนึ่ง จึงไม่ผูกพันผู้คัดค้านนั้น ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ผู้คัดค้านมีสิทธิยกขึ้นอุทธรณ์ได้
สัญญาซื้อขายไอน้ำและไฟฟ้า ระหว่างห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. กับผู้ร้อง คู่สัญญาแต่ละฝ่ายต่างมีหนี้ที่จะต้องปฏิบัติต่อกันตามสัญญา ห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. มิได้อยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้ผู้มีสิทธิเรียกร้องให้ผู้ร้องปฏิบัติตามสัญญาได้แต่ฝ่ายเดียว การโอนหนี้ตามสัญญาดังกล่าวย่อมไม่อาจกระทำได้แต่โดยโอนสิทธิเรียกร้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 306 วรรคหนึ่ง หากกระทำได้แต่ด้วยวิธีแปลงหนี้ใหม่ การแปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวลูกหนี้นั้น ป.พ.พ. มาตรา 350 บัญญัติเพียงจะทำเป็นสัญญาระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้คนใหม่ก็ได้ แต่จะทำโดยขืนใจลูกหนี้เดิมหาได้ไม่ ดังนี้ การแปลงหนี้ใหม่โดยเปลี่ยนตัวลูกหนี้จากห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. มาเป็นผู้คัดค้าน แม้มิได้ทำสัญญาเป็นหนังสือระหว่างผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้กับผู้คัดค้านซึ่งเป็นลูกหนี้คนใหม่ แต่ก็มิได้เป็นการทำขึ้นโดยขืนใจห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. ซึ่งเป็นลูกหนี้เดิมแล้ว จึงเป็นการแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้โดยชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว มีผลให้ข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการซึ่งเป็นข้อหนึ่งของสัญญาซื้อขายไอน้ำและไฟฟ้า ย่อมผูกพันผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้รับโอนตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 13 ที่ผู้คัดค้านอุทธรณ์ว่า สัญญาซื้อขายไอน้ำและไฟฟ้าระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านยังไม่เกิด เป็นอุทธรณ์นอกเหนือไปจากที่ผู้คัดค้านยกขึ้นอ้างในคำคัดค้าน ทั้งไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นกรณีใดกรณีหนึ่งที่ให้อุทธรณ์ได้ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 (1) ถึง (5)
อุทธรณ์ของผู้คัดค้านที่ว่า อ. กรรมการผู้ร้องลงลายมือชื่อในสัญญาซื้อขายไอน้ำและไฟฟ้า โดยไม่ประทับตราสำคัญของบริษัทผู้ร้อง จึงไม่มีผลผูกพันคู่สัญญา ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับอำนาจฟ้อง อันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ผู้คัดค้านมีสิทธิยกขึ้นอุทธรณ์ได้ แม้ อ. กรรมการผู้ร้องลงลายมือชื่อในสัญญาซื้อขายไอน้ำและไฟฟ้าโดยมิได้ประทับตราสำคัญของผู้ร้อง เป็นการไม่ถูกต้องตามข้อบังคับของบริษัทผู้ร้องอันได้จดทะเบียนไว้ก็ตาม แต่ ป.พ.พ. มาตรา 1167 บัญญัติให้ความเกี่ยวพันกันในระหว่างกรรมการและบริษัท และบุคคลภายนอกนั้น ให้บังคับตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยตัวแทน กรณีจึงเป็นเรื่อง อ.ในฐานะตัวแทนลงลายมือชื่อในสัญญาดังกล่าวแทนผู้ร้องซึ่งเป็นตัวการโดยปราศจากอำนาจหรือนอกเหนือขอบอำนาจ การที่ผู้ร้องได้ยอมรับและปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าวมาโดยตลอด จึงเป็นข้อแสดงว่าผู้ร้องได้ให้สัตยาบันแก่การนั้นแล้ว สัญญาซื้อขายไอน้ำและไฟฟ้าย่อมมีผลผูกพันผู้ร้องซึ่งเป็นตัวการ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 823 ผู้ร้องจึงมีสิทธิยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการตามข้อสัญญาดังกล่าวได้
อุทธรณ์ของผู้คัดค้านที่ว่า การตั้ง ส. เป็นอนุญาโตตุลาการเพื่อชี้ขาดข้อพิพาทไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 โดยผู้คัดค้านอุทธรณ์ว่า ในวันนัดสืบพยานนัดสุดท้าย เมื่อความปรากฏเหตุที่ผู้คัดค้านแถลงคัดค้าน ส. อนุญาโตตุลาการถึงเหตุอันควรสงสัยถึงความเป็นกลางหรือความเป็นอิสระ คณะอนุญาโตตุลาการจดบันทึกในรายงานการประชุมเป็นภาษาอังกฤษและแทรกข้อความไว้ในรายงานดังกล่าวว่าสอบถามคู่กรณีแล้วไม่คัดค้านถึงความเป็นกลางและความเป็นอิสระของอนุญาโตตุลาการ โดยผู้คัดค้านไม่ได้สังเกตเห็นข้อความดังกล่าว กรณีนับเป็นความบกพร่องของผู้คัดค้านเอง ทั้งไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นกรณีใดกรณีหนึ่งที่ให้อุทธรณ์ได้ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 (1) ถึง (5)
อุทธรณ์ของผู้คัดค้านที่ว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการให้ผู้คัดค้านชำระเงินในส่วนที่เป็นค่าซื้อกิจการของผู้ร้องในราคา 238,303,046 บาท ทั้ง ๆ ที่ตามสัญญาซื้อขายไอน้ำและไฟฟ้า ข้อ 10 ห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. มีสิทธิซื้อกิจการของผู้ร้องได้ในราคา 30,000,000 บาท จึงไม่ตรงตามสัญญานั้น อุทธรณ์ของผู้คัดค้านในข้อนี้ปรากฏว่า คณะอนุญาโตตุลาการกำหนดราคาประเมินกิจการของผู้ร้องตามสัญญาซื้อขายไอน้ำและไฟฟ้า โดยราคาค่าซื้อ/ซื้อกิจการประกอบด้วยองค์ประกอบ 2 ส่วน คือเงินที่ต้องชำระตามข้อ 10 และข้อ 14.3 เมื่อผู้คัดค้านมิได้กล่าวอ้างว่า การกำหนดราคาดังกล่าวของคณะอนุญาโตตุลาการไม่ชอบหรือไม่ถูกต้องตรงไหน อย่างไร จึงเป็นอุทธรณ์ยกข้อเท็จจริงบางส่วนขึ้นกล่าวอ้างว่าการกำหนดค่าซื้อกิจการของคณะอนุญาโตตุลาการเกินขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการ มีผลเท่ากับเป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในการกำหนดค่าสินไหมทดแทนจากการซื้อกิจการตามข้อ 14.3 ไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นกรณีใดกรณีหนึ่งที่ให้อุทธรณ์ได้ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 45 (1) ถึง (5)
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนศาลชั้นต้นให้พิจารณารวมกันโดยเรียกบริษัทสหสินวัฒนา โคเจนเนอเรชั่น จำกัด ผู้คัดค้านในสำนวนแรกซึ่งเป็นผู้ร้องในสำนวนหลังว่า ผู้ร้อง เรียกบริษัท สหสินวัฒนา แป้งแปรรูป จำกัด ผู้ร้องในสำนวนแรกซึ่งเป็นผู้คัดค้านในสำนวนหลังว่า ผู้คัดค้าน
สำนวนแรกผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40
ผู้ร้องยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
สำนวนหลังผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้บังคับผู้คัดค้านปฏิบัติตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการตามคดีหมายเลขดำที่ 119/2551 หมายเลขแดงที่ 67/2553
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลแพ่งพิพากษาให้ยกคำร้องของผู้คัดค้าน และให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ สถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม คดีหมายเลขดำที่ 119/2551 คดีหมายเลขแดงที่ 67/2553 โดยให้ผู้คัดค้านชำระเงินจำนวน 300,302,468.06 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 53,289,241 บาท นับแต่วันที่ผู้คัดค้านได้รับคำชี้ขาด (วันที่ 9 กรกฎาคม 2553) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้อง และชำระค่าฤชาธรรมเนียม ค่าใช้จ่าย ตลอดจนค่าป่วยการในชั้นอนุญาโตตุลาการครึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งหมดคิดเป็นเงิน 334,345 บาท แก่สถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม กับให้ผู้คัดค้านใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้ร้องโดยกำหนดค่าทนายความ 100,000 บาท ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมของผู้คัดค้านให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า อุทธรณ์ของผู้คัดค้านที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับมาในประการแรกที่ว่า สัญญาอนุญาโตตุลาการซึ่งเป็นข้อสัญญาหนึ่งในสัญญาซื้อขายไอน้ำและไฟฟ้าระหว่างผู้ร้องกับห้างหุ้นส่วนจำกัด โรงแป้งสหสินวัฒนา และคำแปลไม่ผูกพันผู้คัดค้าน ศาลฎีกาเห็นว่า ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า พฤติการณ์ที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด โรงแป้งสหสินวัฒนา ผู้ร้อง และผู้คัดค้านปฏิบัติต่อกันมีลักษณะเป็นการตกลงกันโดยปริยายระหว่างคู่สัญญาสามฝ่ายให้ผู้คัดค้านเข้ามาเป็นคู่สัญญาซื้อขายไอน้ำและไฟฟ้าเป็นการแปลงหนี้ใหม่โดยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้โดยทำเป็นสัญญาระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านโดยชอบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 350 ที่ผู้คัดค้านอุทธรณ์อ้างว่า นายนพนันท์กระทำในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัด โรงแป้งสหสินวัฒนา มิได้กระทำในฐานะกรรมการบริษัทผู้คัดค้าน เป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจรับฟังพยานหลักฐานของศาล และไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นกรณีใดกรณีหนึ่งที่ให้อุทธรณ์ได้ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 (1) ถึง (5) ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ที่ผู้คัดค้านอุทธรณ์อ้างว่า ผู้คัดค้านมิได้รับโอนสิทธิเรียกร้องหรือความรับผิดมาจากห้างหุ้นส่วนจำกัด โรงแป้งสหสินวัฒนา และหากมีการโอนสิทธิเรียกร้องแต่การโอนมิได้ทำเป็นหนังสือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 306 วรรคหนึ่ง จึงไม่ผูกพันผู้คัดค้านนั้น ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ผู้คัดค้านมีสิทธิยกขึ้นอุทธรณ์ได้ เห็นว่า สัญญาซื้อขายไอน้ำและไฟฟ้า ระหว่างห้างหุ้นส่วนจำกัด โรงแป้งสหสินวัฒนา กับผู้ร้อง คู่สัญญาแต่ละฝ่ายต่างมีหนี้ที่จะต้องปฏิบัติต่อกันตามสัญญา ห้างหุ้นส่วนจำกัด โรงแป้งสหสินวัฒนา มิได้อยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้ผู้มีสิทธิเรียกร้องให้ผู้ร้องปฏิบัติตามสัญญาได้แต่ฝ่ายเดียว การโอนหนี้ตามสัญญาดังกล่าวย่อมไม่อาจกระทำได้แต่โดยโอนสิทธิเรียกร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 306 วรรคหนึ่ง หากกระทำได้แต่ด้วยวิธีแปลงหนี้ใหม่ดังที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษามาชอบแล้ว อุทธรณ์ของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น ทั้งการแปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวลูกหนี้นั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 350 บัญญัติเพียงจะทำเป็นสัญญาระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้คนใหม่ก็ได้ แต่จะทำโดยขืนใจลูกหนี้เดิมหาได้ไม่ ดังนี้ การแปลงหนี้ใหม่โดยเปลี่ยนตัวลูกหนี้จากห้างหุ้นส่วนจำกัด โรงแป้งสหสินวัฒนา มาเป็นผู้คัดค้านแม้มิได้ทำสัญญาเป็นหนังสือระหว่างผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้กับผู้คัดค้านซึ่งเป็นลูกหนี้คนใหม่ แต่ก็มิได้เป็นการทำขึ้นโดยขืนใจห้างหุ้นส่วนจำกัด โรงแป้งสหสินวัฒนา ซึ่งเป็นลูกหนี้เดิมแล้ว จึงเป็นการแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้โดยชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว มีผลให้ข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการซึ่งเป็นข้อหนึ่งของสัญญาซื้อขายไอน้ำและไฟฟ้า ย่อมผูกพันผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้รับโอนตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 13 ที่ผู้คัดค้านอุทธรณ์ว่า สัญญาซื้อขายไอน้ำและไฟฟ้าระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านยังไม่เกิด เป็นอุทธรณ์นอกเหนือไปจากที่ผู้คัดค้านยกขึ้นอ้างในคำคัดค้าน ทั้งไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นกรณีใดกรณีหนึ่งที่ให้อุทธรณ์ได้ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 (1) ถึง (5) ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย อุทธรณ์ของผู้คัดค้านที่ยกเหตุผลอื่นขึ้นอ้างนอกจากนี้ไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงจึงไม่จำต้องวินิจฉัย อุทธรณ์ของผู้คัดค้านข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
อุทธรณ์ของผู้คัดค้านประการต่อมาที่ว่า นายอานัน กรรมการผู้ร้องลงลายมือชื่อในสัญญาซื้อขายไอน้ำและไฟฟ้าโดยไม่ประทับตราสำคัญของบริษัทผู้ร้อง จึงไม่มีผลผูกพันคู่สัญญา ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับอำนาจฟ้อง อันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ผู้คัดค้านมีสิทธิยกขึ้นอุทธรณ์ได้ เห็นว่า แม้นายอานัน กรรมการผู้ร้องลงลายมือชื่อในสัญญาซื้อขายไอน้ำและไฟฟ้าโดยมิได้ประทับตราสำคัญของผู้ร้อง เป็นการไม่ถูกต้องตามข้อบังคับของบริษัทผู้ร้องอันได้จดทะเบียนไว้ก็ตาม แต่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1167 บัญญัติให้ความเกี่ยวพันกันในระหว่างกรรมการและบริษัท และบุคคลภายนอกนั้น ให้บังคับตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยตัวแทน กรณีจึงเป็นเรื่องนายอานันในฐานะตัวแทนลงลายมือชื่อในสัญญาดังกล่าวแทนผู้ร้องซึ่งเป็นตัวการโดยปราศจากอำนาจหรือนอกเหนือขอบอำนาจ การที่ผู้ร้องได้ยอมรับและปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าวมาโดยตลอด จึงเป็นข้อแสดงว่าผู้ร้องได้ให้สัตยาบันแก่การนั้นแล้ว สัญญาซื้อขายไอน้ำและไฟฟ้าย่อมมีผลผูกพันผู้ร้องซึ่งเป็นตัวการ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 823 ผู้ร้องจึงมีสิทธิยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการตามข้อสัญญาดังกล่าวได้ อุทธรณ์ของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
อุทธรณ์ของผู้คัดค้านประการต่อมาที่ว่า การตั้งนายสุรพล เป็นอนุญาโตตุลาการเพื่อชี้ขาดข้อพิพาทไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 โดยผู้คัดค้านอุทธรณ์ว่า ในวันนัดสืบพยานนัดสุดท้าย เมื่อความปรากฏเหตุที่ผู้คัดค้านแถลงคัดค้านนายสุรพลอนุญาโตตุลาการถึงเหตุอันควรสงสัยถึงความเป็นกลางหรือความเป็นอิสระ คณะอนุญาโตตุลาการจดบันทึกในรายงานการประชุมเป็นภาษาอังกฤษและแทรกข้อความไว้ในรายงานดังกล่าวว่าสอบถามคู่กรณีแล้วไม่คัดค้านถึงความเป็นกลางและความเป็นอิสระของอนุญาโตตุลาการ โดยผู้คัดค้านไม่ได้สังเกตเห็นข้อความดังกล่าว กรณีนับเป็นความบกพร่องของผู้คัดค้านเอง ทั้งไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นกรณีใดกรณีหนึ่งที่ให้อุทธรณ์ได้ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 (1) ถึง (5) ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
อุทธรณ์ของผู้คัดค้านประการสุดท้ายที่ว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการให้ผู้คัดค้านชำระเงินในส่วนที่เป็นค่าซื้อกิจการของผู้ร้องในราคา 238,303,046 บาท ทั้ง ๆ ที่ตามสัญญาซื้อขายไอน้ำและไฟฟ้า ข้อ 10 ห้างหุ้นส่วนจำกัด โรงแป้งสหสินวัฒนา มีสิทธิซื้อกิจการของผู้ร้องได้ในราคา 30,000,000 บาท จึงไม่ตรงตามสัญญานั้น อุทธรณ์ของผู้คัดค้านในข้อนี้ปรากฏว่าคณะอนุญาโตตุลาการกำหนดราคาประเมินกิจการของผู้ร้องตามสัญญาซื้อขายไอน้ำและไฟฟ้า โดยราคาค่าซื้อ/ซื้อกิจการประกอบด้วยองค์ประกอบ 2 ส่วน คือเงินที่ต้องชำระตามข้อ 10 และข้อ 14.3 เมื่อผู้คัดค้านมิได้กล่าวอ้างว่าการกำหนดราคาดังกล่าวของคณะอนุญาโตตุลาการไม่ชอบหรือไม่ถูกต้องตรงไหน อย่างไร จึงเป็นอุทธรณ์ยกข้อเท็จจริงบางส่วนขึ้นกล่าวอ้างว่าการกำหนดค่าซื้อกิจการของคณะอนุญาโตตุลาการเกินขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการ มีผลเท่ากับเป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในการกำหนดค่าสินไหมทดแทนจากการซื้อกิจการตามข้อ 14.3 ไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นกรณีใดกรณีหนึ่งที่ให้อุทธรณ์ได้ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 (1) ถึง (5) ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ที่ศาลชั้นต้นยกคำร้องของผู้คัดค้านในสำนวนแรก และบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการตามคำร้องของผู้ร้องในสำนวนหลังนั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของผู้คัดค้านทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้ผู้คัดค้านใช้ค่าทนายความทั้งสองสำนวน 100,000 บาท แทนผู้ร้อง