แหล่งที่มา :
ย่อสั้น
เงินประเภทใดจะเป็นค่าจ้างหรือไม่ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 ผู้ใดจะวางระเบียบหรือตกลงให้ผิดไปเป็นอย่างอื่นไม่ได้ เมื่อตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างปรากฏว่าจำเลยผู้เป็นนายจ้างตกลงจ่ายค่าครองชีพให้แก่ลูกจ้างมีกำหนดจ่ายเป็นรายเดือนทุกเดือนตลอดมาทำนองเดียวกับเงินเดือน ไม่ปรากฏชัดว่าจำเลยจ่ายค่าครองชีพเกี่ยวข้องกับภาวะค่าครองชีพโดยเฉพาะหรือจ่ายเพื่อช่วยเหลืออื่นใด ค่าครองชีพดังกล่าวจึงเป็นค่าจ้างตามมาตรา 5 ซึ่งต้องนำไปคำนวณจ่ายค่าล่วงเวลา แม้จะมีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างไม่ให้นำค่าครองชีพไปรวมคำนวณจ่ายค่าล่วงเวลาก็เป็นข้อตกลงที่ขัดต่อมาตรา 61 ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่กำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าล่วงเวลาโดยคำนวณจากค่าจ้าง ข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่มีผลใช้บังคับ
ย่อยาว
คดีทั้งสิบแปดสำนวนนี้ศาลแรงงานภาค 1 สั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันโดยให้เรียกโจทก์เรียงตามลำดับสำนวนว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 18
โจทก์ทั้งสิบแปดฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าล่วงเวลาเป็นจำนวนตามคำขอท้ายคำฟ้องของโจทก์แต่ละคน
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานภาค 1 พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าล่วงเวลาย้อนหลังเป็นเวลา 2 ปี พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในเงินทุกจำนวนนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสิบแปดรายละเอียดตามคำพิพากษาศาลแรงงานภาค 1
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในสำนวนได้ความว่า ระหว่างพิจารณาคู่ความตกลงสละประเด็นตามคำฟ้องและคำให้การทุกข้อ ยกเว้นประเด็นที่ว่าค่าครองชีพที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์ทั้งสิบแปดเป็นค่าจ้างที่ต้องนำมารวมเป็นฐานในการคำนวณค่าล่วงเวลาให้แก่โจทก์ทั้งสิบแปดหรือไม่ จากนั้นคู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงและศาลแรงงานภาค 1 มีคำสั่งงดสืบพยาน ข้อเท็จจริงตามที่คู่ความแถลงรับจึงฟังเป็นยุติว่า จำเลยกับสหภาพแรงงานอดิตยา เบอร์ล่า เคมีคัลล์ ซัฟไฟท์ส ดิวิชั่น จัดทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างไว้ ค่าครองชีพที่จำเลยจ่ายให้แก่พนักงานทั้งหมดรวมโจทก์ทั้งสิบแปดมีจำนวนการจ่ายที่แน่นอนและเป็นประจำทุกเดือน หากนำค่าครองชีพมาเป็นฐานในการคำนวณค่าล่วงเวลาย้อนหลังไปสองปี โจทก์ทั้งสิบแปดมีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาในส่วนที่ขาดตามตารางคำนวณค่าล่วงเวลา แล้ววินิจฉัยว่า ค่าครองชีพที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์ทั้งสิบแปดมีจำนวนที่แน่นอนและจ่ายเป็นประจำทุกเดือน ประกอบกับมิได้ยกเว้นการจ่ายค่าครองชีพให้แก่พนักงานที่หยุดหรือลา ย่อมบ่งชี้ว่าแม้ในวันหยุดวันลาโจทก์ทั้งสิบแปดก็ยังมีสิทธิได้รับค่าครองชีพ อันมีลักษณะเป็นการจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานเช่นเดียวกับค่าจ้าง ค่าครองชีพดังกล่าวจึงเป็นค่าจ้างที่จำเลยต้องนำมารวมเป็นฐานในการคำนวณค่าล่วงเวลาให้แก่โจทก์ทั้งสิบแปดด้วย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยเพียงว่า ค่าครองชีพเป็นค่าจ้างที่จำเลยจะต้องนำมารวมคำนวณเพื่อจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่โจทก์ทั้งสิบแปดหรือไม่ เห็นว่า เงินประเภทใดจะเป็นค่าจ้างหรือไม่นั้น ต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 5 ผู้ใดจะวางระเบียบหรือตกลงให้ผิดไปเป็นอย่างอื่นไม่ได้ เมื่อตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างปรากฏว่าจำเลยผู้เป็นนายจ้างตกลงจ่ายค่าครองชีพให้แก่ลูกจ้างมีกำหนดจ่ายเป็นรายเดือนทุกเดือนตลอดมา ทำนองเดียวกับเงินเดือนตั้งแต่จำเลยได้มีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกับสภาพแรงงานไทย ซัลไพท์ แอนด์ เคมีคัล แต่ตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตั้งแต่ปี 2540 ถึงปี 2555 ไม่ปรากฏชัดว่าเหตุที่จำเลยจ่ายค่าครองชีพให้แก่ลูกจ้างเกี่ยวข้องกับภาวะค่าครองชีพโดยเฉพาะหรือเป็นเงินที่จ่ายเพื่อช่วยเหลืออื่นใดมีเพียงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างในปี 2540 เท่านั้นที่กำหนดให้นำค่าครองชีพมารวมกับค่าจ้าง ค่าครองชีพดังกล่าวจึงเป็นเงินที่จำเลยผู้เป็นนายจ้างจ่ายแก่โจทก์ทั้งสิบแปดผู้เป็นลูกจ้างโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันทำงานตามสัญญาจ้างแรงงาน ถือเป็นค่าจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 และแม้ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2555 จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2558 จะมีข้อตกลงไม่ให้นำค่าครองชีพไปรวมคำนวณจ่ายค่าล่วงเวลา ก็เป็นข้อตกลงที่ขัดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 61 ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่กำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าล่วงเวลาโดยคำนวณจากค่าจ้างซึ่งหมายถึงเงินที่เป็นค่าจ้างทั้งหมด ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างในส่วนดังกล่าวจึงไม่มีผลใช้บังคับ จำเลยจึงต้องนำค่าครองชีพไปรวมคำนวณจ่ายค่าล่วงเวลาแก่โจทก์ทั้งสิบแปด ที่ศาลแรงงานภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน