แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์คดีนี้ต้องบังคับตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 37 ที่บัญญัติให้ศาลมีอำนาจพิจารณาให้ย่นหรือขยายระยะเวลาได้ตามความจำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม แม้โจทก์จะขอให้ขยายระยะเวลาภายหลังวันครบกำหนดยื่นอุทธรณ์ ก็หาจำต้องเป็นกรณีมีเหตุสุดวิสัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 แต่อย่างใดไม่ ปรากฏว่า วันที่ 26 เมษายน 2555 ทนายจำเลยทั้งห้ายื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์อ้างเหตุว่ายังไม่ได้รับสำเนาคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง จึงยังทำอุทธรณ์ไม่ได้ ศาลดังกล่าวก็มีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ให้จำเลยทั้งห้าถึงวันที่ 29 มิถุนายน 2555 และในวันที่ 30 เมษายน 2555 อันเป็นวันครบกำหนดยื่นอุทธรณ์ ก็ปรากฏจากรายงานเจ้าหน้าที่ว่าได้ทำสำเนาคำพิพากษาโดยมีการรับรองสำเนาให้แก่โจทก์ตามคำแถลงขอสำเนาคำพิพากษาของโจทก์ลงวันที่ 30 มีนาคม 2555 ดังนี้ ย่อมแสดงว่าในวันที่ 2 พฤษภาคม 2555 ที่โจทก์ยื่นคำร้องขออนุญาตขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์นั้น ทนายโจทก์เพิ่งมีโอกาสได้รับสำเนาคำพิพากษาในวันครบกำหนดยื่นอุทธรณ์และก่อนวันที่โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์เพียง 2 วัน ซึ่งนับว่าเป็นระยะเวลาที่สั้นมากสำหรับการที่โจทก์จะทำอุทธรณ์ในคดีนี้ กรณีจึงมีเหตุจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมสมควรขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ให้แก่โจทก์
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกบริษัทแพนรับเบอร์อินดัสตรีส์ จำกัด ซึ่งเป็นโจทก์ในสำนวนแรกและเป็นจำเลยในสำนวนหลังว่าโจทก์ และให้เรียกบริษัทฉลองอุตสาหกรรมน้ำยางข้น จำกัด ซึ่งเป็นจำเลยที่ 1 ในสำนวนแรกและเป็นโจทก์ในสำนวนหลังว่าจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 ถึงจำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นจำเลยในสำนวนแรกให้คงเรียกตามเดิม
คดีสืบเนื่องมาจากศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ในสำนวนแรก และพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นโจทก์ในสำนวนหลัง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองสำนวนให้เป็นพับ โดยอ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2555
โจทก์ยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2555 ขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งว่า กรณีตามคำร้องไม่มีเหตุสุดวิสัย จึงต้องยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาก่อนสิ้นกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ ให้ยกคำร้อง
โจทก์อุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า มีเหตุที่จะขยายกำหนดระยะเวลายื่นอุทธรณ์แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า การขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์คดีนี้ต้องบังคับตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 37 ที่บัญญัติให้ศาลมีอำนาจพิจารณาให้ย่นหรือขยายระยะเวลาได้ตามความจำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม แม้โจทก์จะขอให้ขยายระยะเวลาภายหลังวันครบกำหนดยื่นอุทธรณ์ ก็หาจำต้องเป็นกรณีมีเหตุสุดวิสัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 แต่อย่างใดไม่ และข้อเท็จจริงปรากฏตามสำนวนว่า วันที่ 26 เมษายน 2555 ทนายจำเลยทั้งห้ายื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์อ้างเหตุว่ายังไม่ได้รับสำเนาคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง จึงยังทำอุทธรณ์ไม่ได้ ศาลดังกล่าวก็มีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ให้จำเลยทั้งห้าถึงวันที่ 29 มิถุนายน 2555 และในวันที่ 30 เมษายน 2555 อันเป็นวันครบกำหนดยื่นอุทธรณ์ ก็ปรากฏจากรายงานเจ้าหน้าที่ว่าได้ทำสำเนาคำพิพากษาโดยมีการรับรองสำเนาให้แก่โจทก์ตามคำแถลงขอสำเนาคำพิพากษาของโจทก์ลงวันที่ 30 มีนาคม 2555 ดังนี้ ย่อมแสดงว่าในวันที่ 2 พฤษภาคม 2555 ที่โจทก์ยื่นคำร้องขออนุญาตขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์นั้น ทนายโจทก์เพิ่งมีโอกาสได้รับสำเนาคำพิพากษาได้ในวันครบกำหนดยื่นอุทธรณ์และก่อนวันที่โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์เพียง 2 วัน ซึ่งนับว่าเป็นระยะเวลาที่สั้นมากสำหรับการที่โจทก์จะทำอุทธรณ์ในคดีนี้ กรณีจึงมีเหตุจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมสมควรขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ให้แก่โจทก์ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอขยายระยะเวลาของโจทก์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ อนุญาตขยายระยะเวลาให้โจทก์ยื่นอุทธรณ์ได้ภายใน 1 เดือน นับแต่วันทราบหรือถือว่าทราบคำสั่งนี้ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ