คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18297-18298/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กระบวนการใช้สิทธิขอให้เพิกถอนอนุสิทธิบัตรเป็นกระบวนการทางเลือก หากบุคคลผู้มีส่วนได้เสียเลือกที่จะใช้สิทธิยื่นขอให้มีการตรวจสอบความสมบูรณ์ของอนุสิทธิบัตรตามมาตรา 65 ฉ แล้ว ย่อมต้องผูกพันในกระบวนการที่ตนเลือกใช้สิทธิและไม่มีสิทธิที่จะนำคดีมาฟ้องศาลจนกว่ากระบวนการดังกล่าวจะสิ้นสุดและนำคดีขึ้นสู่ศาลตามมาตรา 72 และ 74 และไม่อาจนำเรื่องเดียวกันมาฟ้องขอให้เพิกถอนอนุสิทธิบัตรดังกล่าวได้อีก เพราะหากนำคดีเรื่องเดียวกันมาฟ้องร้องได้อีกก็จะมีผลเท่ากับเป็นการอนุญาตให้มีการพิสูจน์สิทธิในเรื่องเดียวกันซ้ำซ้อน
โจทก์ที่ 1 ยื่นคำขอให้ตรวจสอบการประดิษฐ์ของจำเลยที่ 2 ส่วนจำเลยที่ 2 ก็ยื่นคำขอให้ตรวจสอบการประดิษฐ์โจทก์ที่ 1 แสดงว่าการประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรของโจทก์ที่ 1 และจำเลยที่ 2 อาจเป็นการประดิษฐ์ที่มีข้อถือสิทธิและรูปลักษณะของสิ่งประดิษฐ์ที่เหมือนกันหรือคล้ายกันที่อาจทำให้แต่ละฝ่ายเสื่อมเสียสิทธิในการแสวงหาประโยชน์อันเนื่องมาจากอีกบุคคลหนึ่งเป็นผู้ทรงสิทธิบัตรโดยตรง ดังนี้ ย่อมถือได้ว่าเป็นกรณีที่โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นบุคคลผู้มีส่วนได้เสียร้องขอให้ตรวจสอบการประดิษฐ์ที่มีลักษณะตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 65 ทวิ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 65 ฉ โจทก์ที่ 1 จึงไม่อาจนำคดีมาฟ้องขอให้เพิกถอนอนุสิทธิบัตรของจำเลยที่ 2 ได้ โจทก์ที่ 1 ต้องรอให้กระบวนการตรวจสอบพิสูจน์การประดิษฐ์ที่ได้รับอนุสิทธิบัตรว่ามีลักษณะตามที่กำหนดไว้ตามมาตรา 65 ทวิ หรือไม่ ตามที่โจทก์ที่ 1 ใช้สิทธิเลือกให้เสร็จสิ้นก่อน แล้วจึงจะนำคดีฟ้องต่อศาลเพื่อขอให้พิจารณาคำวินิจฉัยหรือคำสั่งของคณะกรรมการสิทธิบัตรตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในมาตรา 72 และ 74 เมื่อปรากฏว่าในขณะยื่นฟ้องยังอยู่ในระหว่างการตรวจสอบของจำเลยที่ 1 เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 แจ้งผลการตรวจสอบของอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาให้โจทก์ที่ 1 ทราบ และโจทก์ที่ 1 มิได้อุทธรณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยของอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาต่อคณะกรรมการสิทธิบัตร คำวินิจฉัยของอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาจึงเป็นที่สุดตามมาตรา 72 วรรคหนึ่ง ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ที่ 1 ที่จะนำคดีมาฟ้องขอให้เพิกถอนอนุสิทธิบัตรของจำเลยที่ 2 ได้อีก โจทก์ที่ 1 จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
โจทก์ที่ 2 บรรยายฟ้องโดยไม่ปรากฏรายละเอียดพอที่จะแสดงให้เห็นว่าการประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรของจำเลยที่ 2 ทำให้โจทก์ที่ 2 ต้องเสื่อมเสียสิทธิในการแสวงหาประโยชน์จากการประดิษฐ์ที่โจทก์ที่ 2 มีอยู่โดยตรง และเป็นการโต้แย้งสิทธิในการใช้ประโยชน์จากการประดิษฐ์ที่โจทก์ที่ 2 อ้างในคำฟ้อง หากจะฟังว่าคำฟ้องของโจทก์ที่ 2 เป็นการฟ้องขอให้เพิกถอนอนุสิทธิบัตรก็ย่อมไม่เพียงพอที่จะถือได้ว่าโจทก์ที่ 2 เป็นบุคคลผู้มีส่วนได้เสียที่จะมีอำนาจร้องขอให้เพิกถอนอนุสิทธิบัตรของจำเลยที่ 2 แม้โจทก์ที่ 2 จะอ้างความไม่สมบูรณ์ของอนุสิทธิบัตรของจำเลยที่ 2 เนื่องจากขาดความใหม่ตามมาตรา 65 ทวิ และกล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 2 ร้องทุกข์กล่าวหาว่าโจทก์ที่ 2 ละเมิดอนุสิทธิบัตรของจำเลยที่ 2 ทำให้ทรัพย์สินของโจทก์ที่ 2 ถูกยึดและขัดขวางการจำหน่าย ผลิตซึ่งเครื่องเติมน้ำมันเชื้อเพลิงที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องเติมน้ำมันเชื้อเพลิงของจำเลยที่ 2 มาด้วยก็ตาม หากเป็นจริงก็เป็นเพียงทำให้โจทก์ที่ 2 อยู่ในฐานะบุคคลใด ๆ ที่จะกล่าวอ้างความไม่สมบูรณ์ขึ้นอ้างในกรณีที่จะถูกบังคับใช้สิทธิจากผู้ทรงสิทธิในอนุสิทธิบัตรดังกล่าวเท่านั้น ไม่ถึงขนาดที่จะทำให้มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนอนุสิทธิบัตรได้ คำฟ้องของโจทก์ที่ 2 ไม่ใช่คำฟ้องของบุคคลผู้มีส่วนได้เสียที่ได้ใช้สิทธิยื่นฟ้องขอให้เพิกถอนอนุสิทธิบัตรของจำเลยที่ 2 ตามมาตรา 65 นว วรรคสอง แต่เป็นการที่โจทก์ที่ 2 ฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาเป็นสำคัญ โดยอ้างเหตุการจดทะเบียนและออกอนุสิทธิบัตรให้แก่จำเลยที่ 2 โดยไม่ชอบ เมื่อปรากฏว่าโจทก์ที่ 2 ไม่ได้เป็นผู้ยื่นคำขอให้มีการตรวจสอบการประดิษฐ์ที่ได้รับอนุสิทธิบัตรตามมาตรา 65 ฉ คำวินิจฉัยดังกล่าวย่อมไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ที่ 2 โจทก์ที่ 2 ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องเช่นกัน

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกโจทก์ในสำนวนแรกว่า โจทก์ที่ 1 โจทก์ในสำนวนหลังว่า โจทก์ที่ 2 จำเลยที่ 1 ในสำนวนหลังว่า จำเลยที่ 2
สำนวนแรกโจทก์ที่ 1 ฟ้องขอให้เพิกถอนอนุสิทธิบัตรเลขที่ 1930 ทั้งหมดหรือบางส่วนและให้จำเลยที่ 1 เพิกถอนอนุสิทธิบัตรเลขที่ 1930 ทันทีเมื่อคดีถึงที่สุด หากไม่ดำเนินการให้ถือคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง
สำนวนหลังโจทก์ที่ 2 ฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาที่ 35/2522 และพิพากษาว่าจำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิตามกฎหมายในอนุสิทธิบัตรเลขที่ 1930
จำเลยทั้งสองทั้งสองสำนวนให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ว่า โจทก์ที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้มีส่วนได้เสียที่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนอนุสิทธิบัตรเลขที่ 1930 ของจำเลยที่ 2 หรือไม่ ที่โจทก์ที่ 1 อุทธรณ์ว่า แม้โจทก์ที่ 1 จะไม่ได้ยื่นอุทธรณ์คำวินิจฉัยของอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาที่ 35/2552 แต่การที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนและออกอนุสิทธิบัตรให้จำเลยที่ 2 โดยยังไม่มีการตรวจสอบความใหม่ของสิ่งประดิษฐ์ก่อนตามเงื่อนไขของกฎหมายสากล ย่อมเป็นการไม่ชอบ นอกจากนั้น พระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 65 นว ให้สิทธิแก่บุคคลใดก็ได้ที่เห็นว่าอนุสิทธิบัตรนั้นไม่สมบูรณ์ สามารถฟ้องต่อศาลขอให้เพิกถอนอนุสิทธิบัตรนั้นก็ได้ โจทก์ที่ 1 จึงมีอำนาจฟ้องและที่โจทก์ที่ 2 อุทธรณ์ว่า คำวินิจฉัยของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางที่ว่า โจทก์ที่ 2 มิใช่ผู้ยื่นคำขอให้ตรวจสอบ จึงไม่ถือว่าคำวินิจฉัยของอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาโต้แย้งสิทธิของโจทก์ที่ 2 นั้น ไม่ถูกต้องเพราะโจทก์ที่ 2 บรรยายฟ้องว่า อนุสิทธิบัตรเลขที่ 1930 ของจำเลยที่ 2 มิได้เป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ ตามมาตรา 65 ทวิ ซึ่งความไม่สมบูรณ์ดังกล่าวบุคคลใดจะกล่าวอ้างขึ้น หรือผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการจะฟ้องขอให้เพิกถอนอนุสิทธิบัตรนั้นก็ได้ การที่โจทก์ที่ 2 ฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของกรมทรัพย์สินทางปัญญาและขอให้พิพากษาว่าจำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิตามกฎหมาย จึงเป็นการฟ้องที่มุ่งให้เพิกถอนอนุสิทธิบัตรเป็นสำคัญ หาใช่เป็นปัญหาตามมาตรา 65 ฉ มาตรา 72 และมาตรา 74 ไม่ โจทก์ที่ 2 จึงมีอำนาจฟ้องตามมาตรา 65 นว นั้น เห็นว่า การขอรับอนุสิทธิบัตรสำหรับการประดิษฐ์ตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 ได้กำหนดเงื่อนไขในวิธีการได้มาและการสิ้นสุดด้วยการปฏิเสธคำขอหรือการให้เพิกถอนซึ่งอนุสิทธิบัตรสำหรับการประดิษฐ์ไว้ในหมวด 3 ทวิ ซึ่งมีเงื่อนไขในกระบวนการพิจารณาคำขอรับอนุสิทธิบัตรแยกต่างหากจากการขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ผลิตภัณฑ์ กรรมวิธีการประดิษฐ์และสิทธิในการใช้กรรมวิธีตามสิทธิบัตรการประดิษฐ์ซึ่งบัญญัติไว้ในหมวด 2 โดยมีข้อกำหนดในกระบวนการพิจารณาและการตรวจสอบคำขอรับอนุสิทธิบัตรโดยฝ่ายพนักงานเจ้าหน้าที่น้อยกว่ากระบวนการพิจารณาคำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์และให้ความคุ้มครองในสิทธิตามอนุสิทธิบัตรซึ่งมีระยะเวลาที่สั้นกว่าการให้ความคุ้มครองสิทธิบัตรการประดิษฐ์ด้วยการให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบความใหม่ของการประดิษฐ์ที่สามารถใช้ประยุกต์ได้ในทางอุตสาหกรรมตามมาตรา 65 ทวิ แล้วเสนอให้อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญารับจดทะเบียนและออกอนุสิทธิบัตรให้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 65 เบญจ โดยไม่ต้องตรวจสอบข้อคัดค้านในคำขอเสียก่อนดังเช่นคำขอรับสิทธิบัตรตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 31 และให้ความคุ้มครองสิทธิตามอนุสิทธิบัตรเพียง 6 ปี นับแต่วันขอรับตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 65 สัตต ทั้งนี้เพื่อเป็นการจูงใจให้มีการค้นคว้าสิ่งประดิษฐ์ในเครื่องใช้ไม้สอยใหม่ ๆ (Utility Model) ที่สามารถประยุกต์ใช้ได้ในทางอุตสาหกรรมออกเปิดเผยสู่สังคมอันจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนทั่วไป แต่กฎหมายก็ได้สร้างกลไกกำหนดวิธีการตรวจสอบอนุสิทธิบัตรที่ได้รับการจดทะเบียนไว้ภายหลัง โดยในช่วงระยะเวลาภายในหนึ่งปีนับแต่วันประกาศโฆษณาการจดทะเบียนและการออกอนุสิทธิบัตร ให้บุคคลผู้มีส่วนได้เสียซึ่งเสื่อมเสียสิทธิในการแสวงหาประโยชน์ในสิ่งประดิษฐ์อันเนื่องมาจากที่มีบุคคลอื่นเป็นผู้ทรงอนุสิทธิบัตรนั้นโดยตรง อาจร้องขอให้มีการตรวจสอบว่าการประดิษฐ์ที่ได้รับอนุสิทธิบัตรมีลักษณะตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 65 ทวิ หรือไม่ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 65 ฉ อันเป็นการสร้างสมดุลในกระบวนการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการได้รับอนุสิทธิบัตรวิธีทางหนึ่งโดยกระบวนการภาครัฐ ซึ่งจะมีกลไกการตรวจสอบความใหม่ของการประดิษฐ์ที่ได้รับอนุสิทธิบัตร การอุทธรณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยของอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาและของคณะกรรมการสิทธิบัตรและการนำคดีขึ้นสู่ศาลเพื่อให้มีคำสั่งหรือคำวินิจฉัยเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวไว้อย่างชัดแจ้ง ตามที่บัญญัติไว้ตามมาตรา 72 และมาตรา 74 หรืออีกวิธีทางหนึ่งได้กำหนดให้บุคคลผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการสามารถฟ้องต่อศาลเพื่อขอให้เพิกถอนอนุสิทธิบัตรได้ หากอนุสิทธิบัตรนั้นไม่สมบูรณ์เพราะขาดความใหม่ตามมาตรา 65 ทวิ รวมถึงคำขอรับอนุสิทธิบัตรที่ไม่เป็นไปตามมาตรา 65 ทศ ประกอบมาตรา 9 มาตรา 10 มาตรา 11 หรือมาตรา 14 ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 65 นว ซึ่งกระบวนการใช้สิทธิขอให้เพิกถอนอนุสิทธิบัตรทั้งสองวิธีดังกล่าวเป็นกระบวนการทางเลือก หากบุคคลผู้มีส่วนได้เสียเลือกที่จะใช้สิทธิยื่นขอให้มีการตรวจสอบความสมบูรณ์ของอนุสิทธิบัตรตามมาตรา 65 ฉ แล้ว ย่อมต้องผูกพันในกระบวนการที่ตนเลือกใช้สิทธิและไม่มีสิทธิที่จะนำคดีมาฟ้องศาลจนกว่ากระบวนการดังกล่าวจะสิ้นสุดและนำคดีขึ้นสู่ศาลตามมาตรา 72 และมาตรา 74 และไม่อาจนำเรื่องเดียวกันมาฟ้องขอให้เพิกถอนอนุสิทธิบัตรดังกล่าวได้อีก เพราะหากนำคดีเรื่องเดียวกันมาฟ้องร้องได้อีกก็จะมีผลเท่ากับเป็นการอนุญาตให้มีการพิสูจน์สิทธิในเรื่องเดียวกันซ้ำซ้อน คดีนี้ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันรับฟังว่า จำเลยที่ 2 ได้ยื่นคำขอรับอนุสิทธิบัตรเลขที่ 0503000579 ชื่อแสดงการประดิษฐ์ เครื่องเติมน้ำมันเชื้อเพลิง โดยพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ได้ตรวจสอบแล้วเห็นว่าเป็นคำขอที่ถูกต้องตามมาตรา 65 ทศ ประกอบมาตรา 9 มาตรา 10 มาตรา 11 มาตรา 14 มาตรา 15 มาตรา 16 และมาตรา 17 มาตรา 77 เบญจ และมาตรา 77 ฉ แห่งพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 จำเลยที่ 1 จึงรับจดทะเบียนและออกอนุสิทธิบัตรเลขที่ 1930 ให้แก่จำเลยที่ 2 อันเป็นการจดทะเบียนและออกอนุสิทธิบัตรให้ตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดชอบด้วยกฎหมายและโจทก์ที่ 1 ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรเลขที่ 0603000750 ชื่อแสดงการประดิษฐ์ ตู้จำหน่ายของเหลวแบบหยอดเหรียญ โดยพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ตรวจสอบแล้วเห็นว่า เป็นคำขอที่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนตามกฎหมายเช่นเดียวกันกับคำขอของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 จึงรับจดทะเบียนและออกอนุสิทธิบัตรเลขที่ 2925 ให้แก่โจทก์ที่ 1 แต่โจทก์ที่ 1 ได้ยื่นขอให้ตรวจสอบการประดิษฐ์ของจำเลยที่ 2 ส่วนจำเลยที่ 2 ก็ยื่นคำขอให้ตรวจสอบการประดิษฐ์โจทก์ที่ 1 เช่นเดียวกัน แสดงว่าการประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรของโจทก์ที่ 1 และจำเลยที่ 2 อาจเป็นการประดิษฐ์ที่มีข้อถือสิทธิและรูปลักษณะของสิ่งประดิษฐ์ที่เหมือนกันหรือคล้ายกันที่อาจทำให้แต่ละฝ่ายเสื่อมเสียสิทธิในการแสวงหาประโยชน์อันเนื่องมาจากอีกบุคคลหนึ่งเป็นผู้ทรงสิทธิบัตรโดยตรง ดังนี้ ย่อมถือได้ว่าเป็นกรณีที่โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นบุคคลผู้มีส่วนได้เสียได้ร้องขอให้ตรวจสอบการประดิษฐ์ที่มีลักษณะตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 65 ทวิ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 65 ฉ โจทก์ที่ 1 จึงไม่อาจนำคดีมาฟ้องขอให้เพิกถอนอนุสิทธิบัตรของจำเลยที่ 2 ได้ โดยโจทก์ที่ 1 ต้องรอให้กระบวนการตรวจสอบพิสูจน์การประดิษฐ์ที่ได้รับอนุสิทธิบัตรว่ามีลักษณะตามที่กำหนดไว้ตามมาตรา 65 ทวิ หรือไม่ ตามที่โจทก์ที่ 1 ใช้สิทธิเลือกให้เสร็จสิ้นก่อนแล้วจึงจะนำคดีฟ้องต่อศาลเพื่อขอให้พิจารณาคำวินิจฉัยหรือคำสั่งของคณะกรรมการสิทธิบัตรตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในมาตรา 72 และมาตรา 74 เมื่อปรากฏว่าในขณะยื่นฟ้องวันที่ 6 กรกฎาคม 2550 ยังอยู่ในระหว่างการตรวจสอบของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 โดยพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ได้มีหนังสือแจ้งผลการตรวจสอบของอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาให้โจทก์ที่ 1 ทราบเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2552 และโจทก์ที่ 1 มิได้อุทธรณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยของอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาต่อคณะกรรมการสิทธิบัตร อันเป็นขั้นตอนลำดับถัดไป คำวินิจฉัยของอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาจึงเป็นที่สุดตามมาตรา 72 วรรคหนึ่ง กรณีจึงไม่ก่อให้เกิดสิทธิใด ๆ แก่โจทก์ที่ 1 ที่จะนำคดีมาฟ้องขอให้เพิกถอนอนุสิทธิบัตรเลขที่ 1930ของจำเลยที่ 2 ได้อีก โจทก์ที่ 1 จึงไม่มีอำนาจฟ้อง สำหรับอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 2 นั้น โจทก์ที่ 2 บรรยายฟ้องว่า เมื่อประมาณปี 2547 นายณัฐวัฒน์ ประกอบธุรกิจผลิตเครื่องจำหน่ายน้ำมันอัตโนมัติ โดยได้ต้นแบบแนวคิดมาจากประเทศสหรัฐอเมริกาและภาคพื้นเอเชีย ต่อมาในปี 2550 จึงก่อตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัดโจทก์ที่ 2 เพื่อผลิตจำหน่ายหรือมีไว้ซึ่งสินค้าที่มีรูปลักษณะเหมือนหรือคล้ายกันกับสินค้าของจำเลยที่ 2 เท่านั้น โดยไม่ปรากฏรายละเอียดอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับสิทธิในการประดิษฐ์ของโจทก์ที่ 2 ในฐานะเป็นผู้ทรงสิทธิ หรือการอ้างอิงถึงชื่อแสดงสิ่งประดิษฐ์ประเภทใด หรือการมีข้อถือสิทธิหรือองค์ประกอบหรือรูปแบบลักษณะของการประดิษฐ์เช่นไร พอที่จะแสดงให้เห็นว่าการประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรของจำเลยที่ 2 ทำให้โจทก์ที่ 2 ต้องเสื่อมเสียสิทธิในการแสวงหาประโยชน์จากการประดิษฐ์ที่โจทก์ที่ 2 มีอยู่เนื่องจากการที่มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ทรงอนุสิทธิบัตรนั้นโดยตรง และเป็นการโต้แย้งสิทธิในการใช้ประโยชน์จากการประดิษฐ์ที่โจทก์ที่ 2 อ้างในคำฟ้องทั้งทางนำสืบของโจทก์ที่ 2 ในส่วนนี้ก็ได้ความเพียงเท่าที่โจทก์ที่ 2 ได้บรรยายฟ้องไว้นั้นในกรณีเช่นนี้ หากจะฟังว่าคำฟ้องของโจทก์ที่ 2 เป็นการฟ้องขอให้เพิกถอนอนุสิทธิบัตรตามที่โจทก์ที่ 2 อ้างในอุทธรณ์ ก็ย่อมไม่เพียงพอที่จะถือได้ว่าโจทก์ที่ 2 เป็นบุคคลผู้มีส่วนได้เสียที่จะมีอำนาจร้องขอให้เพิกถอนอนุสิทธิบัตรเลขที่ 1930 ของจำเลยที่ 2 ดังที่บัญญัติไว้ตามมาตรา 65 นว แม้โจทก์ที่ 2 จะอ้างความไม่สมบูรณ์ของอนุสิทธิบัตรเลขที่ 1930 เนื่องจากขาดความใหม่ตามมาตรา 65 ทวิ และกล่าวอ้างว่า จำเลยที่ 2 ร้องทุกข์กล่าวหาว่าโจทก์ที่ 2 ละเมิดอนุสิทธิบัตรของจำเลยที่ 2 ทำให้ทรัพย์สินของโจทก์ที่ 2 ถูกยึดและขัดขวางการจำหน่ายผลิตซึ่งเครื่องเติมน้ำมันเชื้อเพลิงที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องเติมน้ำมันเชื้อเพลิงของจำเลยที่ 2 มาด้วยก็ตาม หากเป็นจริงก็เป็นเพียงทำให้โจทก์ที่ 2 อยู่ในฐานะบุคคลใด ๆ ที่จะกล่าวอ้างความไม่สมบูรณ์ขึ้นอ้างในกรณีที่จะถูกบังคับใช้สิทธิจากผู้ทรงสิทธิในอนุสิทธิบัตรดังกล่าวเท่านั้น ไม่ถึงขนาดที่จะทำให้มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนอนุสิทธิบัตรได้ เมื่อพิจารณาคำฟ้องประกอบคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ที่ 2 แล้ว เห็นได้ว่า คำฟ้องของโจทก์ที่ 2 ไม่ใช่คำฟ้องของบุคคลผู้มีส่วนได้เสียที่ได้ใช้สิทธิยื่นฟ้องขอให้เพิกถอนอนุสิทธิบัตรเลขที่ 1930 ของจำเลยที่ 2 ตาม มาตรา 65 นว วรรคสอง แต่เป็นการที่โจทก์ที่ 2 ฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาเป็นสำคัญ โดยอ้างเหตุแห่งการกระทำของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ที่ดำเนินการจดทะเบียนและออกอนุสิทธิบัตรให้แก่จำเลยที่ 2 โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งที่การประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรเลขที่ 1930 ของจำเลยที่ 2 ไม่มีความใหม่เนื่องจากเป็นงานที่ปรากฏอยู่แล้ว เมื่อปรากฏว่าโจทก์ที่ 2 ไม่ได้เป็นผู้ยื่นคำขอให้มีการตรวจสอบการประดิษฐ์ที่ได้รับอนุสิทธิบัตรตามมาตรา 65 ฉ คำวินิจฉัยดังกล่าวย่อมไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ที่ 2 โจทก์ที่ 2 ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นคดีนี้ได้เช่นกัน ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ที่ 1 และที่ 2 มานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share