คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5916-5917/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่ผู้ร้องสอดโต้แย้งโจทก์เกี่ยวกับสัญญายุติข้อพิพาทและสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นกรณีมีปัญหาตีความข้อความในสัญญา และตามอุทธรณ์ของผู้ร้องสอดก็ไม่ปรากฏว่ามีความจำเป็นที่ผู้ร้องสอดต้องนำสืบพยานหลักฐานในข้อเท็จจริงใด เมื่อข้อความในสัญญายุติข้อพิพาทและสัญญาประนีประนอมยอมความชัดเจนเพียงพอที่จะวินิจฉัยตีความข้อสัญญาได้ ย่อมไม่จำเป็นต้องสืบพยานหลักฐานอีกต่อไป ส่วนในปัญหาว่าเครื่องหมายบริการคำว่า “METALEX” ของโจทก์กับเครื่องหมายบริการคำว่า “METALTECH” ของผู้ร้องสอดคล้ายกันจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของบริการหรือไม่ ตามรูปคดีและลักษณะของเครื่องหมายบริการดังกล่าวก็สามารถวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับความคล้ายกันหรือไม่ได้แล้วโดยไม่จำเป็นต้องสืบพยานหลักฐานอีกต่อไปเช่นกัน ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางย่อมมีอำนาจสั่งงดสืบพยานได้โดยชอบตามพ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 86 วรรคสอง และ 104 วรรคหนึ่ง
ข้อความในสัญญายุติข้อพิพาท ข้อ 2 (b) ไม่มีข้อความเกี่ยวกับการจดทะเบียนเครื่องหมายบริการ และในส่วนข้อความเกี่ยวกับการใช้คำว่า “METALTECH” ของผู้ร้องสอดที่ตกลงกันเปลี่ยนไปใช้ชื่ออื่นที่คล้ายกับคำว่า “METALEX” น้อยลง ล้วนเป็นข้อตกลงในเรื่องการกระทำหรืองดเว้นกระทำการซึ่งแตกต่างจากการแสดงเจตนาสละประเด็นข้อพิพาท จึงไม่อาจแปลข้อความสัญญายุติข้อพิพาทถึงขนาดว่าโจทก์และผู้ร้องสอดตกลงสละประเด็นเกี่ยวกับข้อพิพาทในการจดทะเบียนเครื่องหมายบริการในชั้นพิจารณาของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า
เครื่องหมายบริการ ของโจทก์และเครื่องหมายบริการ “METALTECH” ของผู้ร้องสอดมีการใช้คำในส่วนภาคสำคัญคล้ายกัน ประกอบกับโจทก์ยังเป็นผู้มีสิทธิห้ามผู้ร้องสอดใช้เครื่องหมายบริการตามสัญญายุติข้อพิพาทและสัญญาประนีประนอมยอมความ และการที่ผู้ร้องสอดได้จดทะเบียนเครื่องหมายบริการที่ใช้คำว่า METALTECH ก็เพื่อให้เป็นผู้มีสิทธิแต่ผู้เดียวในอันที่จะใช้เครื่องหมายบริการนี้สำหรับบริการประเภทเดียวกับโจทก์ตามที่ผู้ร้องสอดได้จดทะเบียนไว้ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 80 ประกอบมาตรา 44 ซึ่งการใช้เครื่องหมายบริการคำว่า METALTECH เช่นนี้ย่อมเป็นการปฏิบัติผิดสัญญายุติข้อพิพาทและสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวต่อโจทก์ โจทก์ย่อมเป็นผู้มีส่วนได้เสียและมีสิทธิในเครื่องหมายบริการดีกว่าผู้ร้องสอด จึงมีสิทธิร้องขอต่อศาลให้สั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายบริการของผู้ร้องสอดได้ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 80 ประกอบมาตรา 67 และแม้โจทก์จะไม่ได้ฟ้องผู้ร้องสอดเป็นจำเลยในคดีนี้โดยตรง แต่ตามคำฟ้องของโจทก์ก็บรรยายถึงข้อเท็จจริงที่ผู้ร้องสอดได้ทำสัญญายุติข้อพิพาทและสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่มีผลให้โจทก์เป็นผู้มีสิทธิดีกว่าและมีสิทธิห้ามผู้ร้องสอด ทั้งมีคำขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายบริการของผู้ร้องสอดด้วย และเมื่อผู้ร้องสอดยื่นคำร้องสอดขอเข้าเป็นคู่ความโดยอ้างว่าผู้ร้องสอดเป็นเจ้าของเครื่องหมายบริการคำว่า METALTECH ที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้รับจดทะเบียนให้แล้ว การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ก็เพื่อให้มีการเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายบริการของผู้ร้องสอดอันเป็นการโต้แย้งสิทธิในเครื่องหมายบริการของผู้ร้องสอด จึงร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความเพื่อให้ได้รับความรับรองและคุ้มครองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) อันเป็นกรณีที่ผู้ร้องสอดขอเข้าเป็นคู่ความด้วยการร้องสอดโดยสมัครใจเองเพื่อยังให้ผู้ร้องสอดได้รับความรับรองและคุ้มครองอันมีผลให้ผู้ร้องสอดมีสิทธิเสมือนหนึ่งว่าได้ฟ้องหรือถูกฟ้องเป็นคดีเรื่องใหม่ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) และมาตรา 58 วรรคหนึ่ง ถือเสมือนหนึ่งว่าคดีในส่วนระหว่างโจทก์กับผู้ร้องสอดนี้เป็นคดีที่โจทก์ฟ้องเพื่อร้องขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายบริการของผู้ร้องสอดตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 80 ประกอบมาตรา 67 ซึ่งเมื่อปรากฏว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิในเครื่องหมายบริการดีกว่าผู้ร้องสอด ก็ชอบที่ศาลจะพิพากษาเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายบริการคำว่า “METALTECH” ของผู้ร้องสอดได้
ในชั้นพิจารณาคำคัดค้านของโจทก์โดยนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและการพิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์โดยคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าย่อมเป็นผู้ทำหน้าที่พิจารณาและวินิจฉัยปัญหาข้อโต้แย้งระหว่างโจทก์กับผู้ร้องสอดว่าใครเป็นผู้มีสิทธิดีกว่า ซึ่งย่อมต้องนำข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานในการที่โจทก์กับผู้ร้องสอดทำสัญญายุติข้อพิพาทและสัญญาประนีประนอมยอมความกันนั้นมาใช้ประกอบการพิจารณาวินิจฉัยถึงสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาดังกล่าวที่มีผลผูกพันคู่สัญญาและแสดงให้เห็นได้ว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิดีกว่า มิใช่จะถือเพียงว่าสัญญาดังกล่าวรวมทั้งคำพิพากษาตามยอมนั้นไม่มีผลผูกพันนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า
ส่วนที่โจทก์ขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าเนื่องจากนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าวินิจฉัยคำคัดค้านการขอจดทะเบียนของผู้ร้องสอดไม่ถูกต้อง การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำขอจดทะเบียนจึงเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ไม่ต้องด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 อันเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขเสียให้ถูกต้อง ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 45 ประกอบมาตรา 26 และ ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิจารณาและพิพากษารวมกัน
โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองสำนวนเป็นใจความขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 36/2548 กับบังคับให้คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายบริการทะเบียนเลขที่ บ15270 (คำขอเลขที่ 422927) ให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ 228/2547 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 1712/2548 กับให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายบริการคำขอเลขที่ 422928
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การในทำนองเดียวกันขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา บริษัทซีเอ็มพี มีเดีย (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเดิมใช้ชื่อว่า บริษัทมิลเลอร์ ฟรีแมน (ประเทศไทย) จำกัด ยื่นคำร้องสอดขอเข้าเป็นคู่ความทั้งสองสำนวนโดยขอให้ยกฟ้อง
โจทก์ยื่นคำคัดค้านคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความของผู้ร้องสอดดังกล่าว
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งอนุญาตให้บริษัทซีเอ็มพี มีเดีย (ประเทศไทย) จำกัด เข้าเป็นจำเลยร่วม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (2) (ที่ถูก อนุญาตให้เข้าเป็นคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (1)) ทั้งสองสำนวน
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งงดสืบพยานหลักฐานคู่ความทุกฝ่าย และพิพากษาเพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเลขที่ 36/2548 และเลขที่ 1712/2548 กับให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายบริการเลขที่ บ15270 (คำขอเลขที่ 422927) และคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายบริการเลขที่ 422928 ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความให้เป็นพับ
จำเลยและผู้ร้องสอดอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์ จำเลย และผู้ร้องสอดไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายบริการคำว่า “THAI METALEX” ประกอบกับรูปประดิษฐ์คือเครื่องหมาย ซึ่งได้รับการจดทะเบียนไว้สำหรับใช้กับบริการจำพวกที่ 35 รายการบริการ การจัดนิทรรศการทางการค้าและโฆษณา ตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคม 2540 เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2543 โจทก์และบริษัทรี้ด เทรดเด็กซ์ จำกัด ร่วมกันยื่นฟ้องผู้ร้องสอดเป็นจำเลยในข้อหาละเมิดสิทธิในเครื่องหมายบริการดังกล่าวของโจทก์ ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต และเรียกค่าเสียหายเป็นคดีหมายเลขดำที่ ทป.43/2543 ของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง และปรากฏว่าเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2543 ผู้ร้องสอดได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายบริการที่ใช้อักษรโรมันคำว่า “METALTECH” ซึ่งมีลักษณะเป็นอักษรประดิษฐ์ 2 เครื่องหมาย เพื่อใช้กับบริการจำพวกที่ 35 รายการบริการ การจัดนิทรรศการทางการค้าและการโฆษณา แยกเป็น 2 คำขอ โดยเครื่องหมาย ขอจดทะเบียนตามคำขอเลขที่ 422927 และเครื่องหมาย ขอจดทะเบียนตามคำขอเลขที่ 422928 ซึ่งในที่สุดนายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนเครื่องหมายบริการตามคำขอเลขที่ 422927 แล้วเป็นทะเบียนเลขที่ บ15270 ครั้นวันที่ 1 สิงหาคม 2543 โจทก์และบริษัทรี้ด เทรดเด็กซ์ จำกัด กับผู้ร้องสอดซึ่งเป็นจำเลยในคดีหมายเลขดำที่ ทป.43/2543 ดังกล่าวได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับสัญญายุติข้อพิพาท (SETTLEMENT AGREEMENT) โดยถือเอาข้อตกลงในสัญญายุติข้อพิพาทซึ่งแนบท้ายสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นสาระสำคัญของสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างกัน และศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำพิพากษาให้คดีเสร็จเด็ดขาดไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น เป็นคดีหมายเลขแดงที่ ทป.37/2543 ส่วนตามที่ผู้ร้องสอดยื่นคำขอจดทะเบียนตามคำขอเลขที่ 422928 นั้น เมื่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าประกาศโฆษณาคำขอจดทะเบียนแล้ว ต่อมาวันที่ 23 กรกฎาคม 2546 โจทก์ได้ยื่นคำคัดค้านการขอจดทะเบียนเครื่องหมายบริการของผู้ร้องสอด และผู้ร้องสอดยื่นคำโต้แย้งคำคัดค้านของโจทก์ ต่อมานายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำวินิจฉัยยกคำคัดค้านของโจทก์และให้ดำเนินการเกี่ยวกับการจดทะเบียนเครื่องหมายบริการตามคำขอเลขที่ 422928 ของผู้ร้องสอดต่อไป ตามคำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ 228/2547 โจทก์อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำวินิจฉัยยืนตามคำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า ให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าดำเนินการเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายบริการดังกล่าวตามขั้นตอนต่อไป ตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 1712/2548 นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2546 โจทก์ยื่นคำขอให้คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายบริการที่ผู้ร้องสอดขอจดทะเบียนตามคำขอเลขที่ 422927 และได้รับการจดทะเบียนเป็นทะเบียนเลขที่ บ15270 ด้วย โดยอ้างว่าเครื่องหมายบริการของผู้ร้องสอดดังกล่าวเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายบริการที่โจทก์ได้จดทะเบียนไว้ก่อนแล้ว และการที่ผู้ร้องสอดดำเนินการขอจดทะเบียนเครื่องหมายบริการดังกล่าวเป็นการจงใจปฏิบัติผิดสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับลงวันที่ 1 สิงหาคม 2543 ระหว่างโจทก์กับพวกและผู้ร้องสอด ซึ่งศาลมีคำพิพากษาตามยอมดังกล่าวแล้วอันเป็นการแสดงถึงความไม่สุจริตอย่างยิ่ง ผู้ร้องสอดยื่นคำชี้แจงต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งไม่เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายบริการทะเบียนเลขที่ บ15270 (คำขอเลขที่ 422927) โดยให้ยกคำร้องของโจทก์ที่ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนตามคำสั่งของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 36/2548
ศาลฎีกาแผนกทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาประการแรกว่า ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้ และมีคำสั่งงดสืบพยานโจทก์ จำเลย และผู้ร้องสอดชอบหรือไม่ เห็นว่า ตามคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความของผู้ร้องสอดนั้น ผู้ร้องสอดรับว่า ผู้ร้องสอดได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายบริการตามคำขอเลขที่ 422927 และ 422928 ซึ่งนายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนเครื่องหมายบริการตามคำขอเลขที่ 422927 ให้แล้ว และรับว่าโจทก์กับผู้ร้องสอดเป็นคู่ความในคดีหมายเลขแดงที่ ทป.37/2543 ของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ซึ่งคดีดังกล่าว โจทก์และผู้ร้องสอดทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันโดยมีสัญญายุติข้อพิพาท (SETTLEMENT AGREEMENT) จริง ซึ่งก็ปรากฏตามสำเนาสัญญาประนีประนอมยอมความและสัญญายุติข้อพิพาทดังกล่าวที่ทำเป็นภาษาอังกฤษโดยถือเป็นสาระสำคัญของสัญญาประนีประนอมยอมความท้ายคำฟ้องของโจทก์ และในสำนวนคดีหมายเลขแดงที่ ทป.37/2543 ดังกล่าวซึ่งขณะนั้นอยู่ระหว่างการพิจารณาปัญหาในการบังคับคดีของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง และจำเลยในคดีดังกล่าวซึ่งเป็นผู้ร้องสอดในคดีนี้ก็อุทธรณ์จนคดีมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศด้วยกันกับคดีสองสำนวนนี้ โดยข้ออ้างของโจทก์ในคดีทั้งสองสำนวนนี้มาจากการดำเนินคดีหมายเลขแดงที่ ทป.37/2543 ดังกล่าวจนมีการทำสัญญายุติข้อพิพาทและสัญญาประนีประนอมยอมความกัน ซึ่งเมื่อสำนวนคดีหมายเลขแดงที่ ทป.37/2543 อยู่ในการพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศพร้อมกับคดีสองสำนวนนี้แล้ว จึงให้นำมาใช้ประกอบการพิจารณาคดีสองสำนวนนี้ด้วย และเห็นว่าตามที่ผู้ร้องสอดโต้แย้งโจทก์เกี่ยวกับสัญญายุติข้อพิพาทและสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวนั้นเป็นกรณีมีปัญหาตีความข้อความในสัญญา และตามอุทธรณ์ของผู้ร้องสอดก็ไม่ปรากฏว่ามีความจำเป็นที่ผู้ร้องสอดต้องนำสืบพยานหลักฐานในข้อเท็จจริงใด ดังนั้น เมื่อข้อความในสัญญายุติข้อพิพาทและสัญญาประนีประนอมยอมความชัดเจนเพียงพอที่จะวินิจฉัยตีความข้อสัญญาได้ ก็ย่อมไม่จำเป็นต้องสืบพยานหลักฐานอีกต่อไป ส่วนในปัญหาว่าเครื่องหมายบริการคำว่า “METALEX” ของโจทก์กับเครื่องหมายบริการคำว่า “METALTECH” ของผู้ร้องสอดคล้ายกันจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของบริการหรือไม่นั้น ตามรูปคดีและลักษณะของเครื่องหมายบริการดังกล่าวก็สามารถวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับความคล้ายกันหรือไม่ได้แล้วโดยไม่จำเป็นต้องสืบพยานหลักฐานอีกต่อไปเช่นกัน ทั้งนี้โดยศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางย่อมมีอำนาจสั่งงดสืบพยานได้โดยชอบตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 86 วรรคสอง และ 104 วรรคหนึ่ง อุทธรณ์ของผู้ร้องสอดข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการต่อไปว่า ตามสัญญายุติข้อพิพาท (SETTLEMENT AGREEMENT) ข้อ 2 (b) ถือได้ว่าเป็นกรณีที่โจทก์และผู้ร้องสอดสละประเด็นข้อพิพาททั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายโดยไม่ติดใจให้คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าวินิจฉัยในประเด็นว่า เครื่องหมายบริการของโจทก์และของผู้ร้องสอดเหมือนหรือคล้ายกันหรือไม่อีกต่อไป ซึ่งมีผลให้คำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าไม่ชอบดังที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยมาหรือไม่ เห็นว่า ตามข้อตกลงในสัญญายุติข้อพิพาท (SETTLEMENT AGREEMENT) แนบท้ายสัญญาประนีประนอมยอมความลงวันที่ 1 สิงหาคม 2543 อันเป็นส่วนที่เป็นสาระสำคัญของสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีหมายเลขแดงที่ ทป.37/2543 ของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ข้อ 2 ระบุว่า “Notwithstanding the final wording to be drafted and agreed,
a) both parties agree today that (Metaltech or its new name) shall not be held less than 55 days prior to or 45 days after Metalex by Reed Tradex.
b) both parties agree today that Metaltech will be changed to something less similar and which will not cause confusion to Metalex from the year 2001 onwards.
และตามที่เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือลงวันที่ 13 ตุลาคม 2549 ถึงศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางในสำนวนคดีหมายเลขแดงที่ ทป.37/2543 ดังกล่าว เพื่อรายงานข้อเท็จจริงในการบังคับคดีที่มีข้อโต้แย้งระหว่างโจทก์และจำเลยในคดีดังกล่าวซึ่งเป็นผู้ร้องสอดในคดีนี้เกี่ยวกับการตีความสัญญาโดยทั้งสองฝ่ายต่างเสนอคำแปลสัญญาเป็นภาษาไทย ตามที่แนบมาท้ายหนังสือของเจ้าพนักงานบังคับคดีฉบับดังกล่าวซึ่งปรากฏว่า โจทก์แปลข้อความในสัญญาข้อ 2 (b) ว่า “คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายตกลงกันในวันนี้ว่า เมททอลเทคจะเปลี่ยนเป็นชื่ออื่นให้มีความคล้ายกับเมททอลเลคน้อยที่สุด และชื่อที่ตั้งใหม่จะต้องไม่เป็นสาเหตุให้เกิดความสับสนกับงานเมททอลเลคนับตั้งแต่ปี (พ.ศ.) 2544 เป็นต้นไป” ส่วนจำเลยในคดีดังกล่าวหรือผู้ร้องสอดคดีนี้แปลข้อความว่า “คู่สัญญาทั้งสองฝ่าย ชื่องาน “METALTECH” จะถูกเปลี่ยนไปเป็นชื่ออื่น ๆ ซึ่งเหมือนคล้ายกับเครื่องหมายบริการ “MATALEX” น้อยลง และชื่อที่ตั้งขึ้นใหม่จะไม่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดแก่งาน METALEX นับตั้งแต่ปี (ค.ศ.) 2001 เป็นต้นไป” เห็นได้ว่า ข้อความในสัญญาข้อ 2 (b) ดังกล่าว ไม่ว่าตามฉบับภาษาอังกฤษหรือคำแปลของทั้งสองฝ่ายก็ไม่มีข้อความเกี่ยวกับการจดทะเบียนเครื่องหมายบริการแต่อย่างใด และในส่วนข้อความเกี่ยวกับการใช้คำว่า “METALTECH” ของผู้ร้องสอดที่ตกลงกันเปลี่ยนไปใช้ชื่ออื่นที่คล้ายกับคำว่า “METALEX” น้อยลงนั้น เห็นได้ว่าตามข้อสัญญานี้ไม่ว่าจะเป็นการกระทำในการเปลี่ยนการใช้ชื่อหรือการกระทำการโดยงดเว้นไม่ใช้ชื่อ MATALTECH ก็ตาม ก็ล้วนเป็นข้อตกลงในเรื่องการกระทำหรืองดเว้นกระทำการซึ่งแตกต่างจากการแสดงเจตนาสละประเด็นข้อพิพาทที่พิพาทกันในชั้นพิจารณาของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า ดังนี้ย่อมไม่อาจแปลข้อความสัญญายุติข้อพิพาทดังกล่าวถึงขนาดว่า โจทก์และผู้ร้องสอดตกลงสละประเด็นเกี่ยวกับข้อพิพาทในการจดทะเบียนเครื่องหมายบริการในชั้นพิจารณาของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าดังที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยมาดังกล่าวได้ อุทธรณ์ของจำเลยและผู้ร้องสอดข้อนี้ฟังขึ้น และไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาปลีกย่อยตามอุทธรณ์ของจำเลยและผู้ร้องสอดเกี่ยวกับปัญหาข้อนี้อีกต่อไปเพราะไม่มีเหตุที่จะทำให้ผลคำวินิจฉัยปัญหานี้เปลี่ยนแปลงไป
อย่างไรก็ตามเมื่อได้วินิจฉัยว่า โจทก์และผู้ร้องสอดไม่ได้ตกลงสละประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับการจดทะเบียนเครื่องหมายบริการดังกล่าวแล้ว คดีจึงยังเหลือประเด็นอันเนื่องมาจากข้ออ้างตามคำฟ้องของโจทก์ที่อ้างเหตุว่าเครื่องหมายบริการคำว่า “METALTECH” ที่ผู้ร้องสอดขอจดทะเบียน 2 คำขอ ไม่ควรได้รับการจดทะเบียน เนื่องจากเครื่องหมายบริการคำว่า “METALTECH” ของผู้ร้องสอดเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายบริการคำว่า “THAI METALEX” ของโจทก์ที่ได้รับการจดทะเบียนไว้ก่อนสำหรับใช้กับบริการจำพวกที่ 35 เช่นเดียวกัน และสัญญายุติข้อพิพาทกับสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับผู้ร้องสอดมีผลต่อการจดทะเบียนเครื่องหมายบริการของผู้ร้องสอดอย่างไรหรือไม่ เห็นว่า เครื่องหมายบริการของโจทก์ประกอบด้วยรูปนอตกับคำเป็นอักษรโรมัน 2 คำ คือ THAI ซึ่งมีขนาดเล็กและ METALEX ซึ่งมีขนาดใหญ่ ส่วนเครื่องหมายบริการของผู้ร้องสอดตามทะเบียนเลขที่ บ15270 (คำขอเลขที่ 422927) และคำขอเลขที่ 422928 เป็นเครื่องหมายที่ใช้คำเป็นอักษรโรมันว่า “METALTECH” เพียงคำเดียวซึ่งมีลักษณะเป็นอักษรประดิษฐ์และไม่มีรูปประกอบ ดังนั้น เครื่องหมายบริการของแต่ละฝ่ายดังกล่าวมีส่วนที่เหมือนกันคือส่วนที่เป็นอักษรโรมันว่า “METAL” และมีส่วนอักษรต่อท้าย โดยเครื่องหมายบริการของโจทก์ต่อท้ายด้วยอักษรโรมัน EX ส่วนเครื่องหมายบริการของผู้ร้องสอดต่อท้ายด้วยอักษรโรมัน TECH ทำให้เครื่องหมายบริการของโจทก์อ่านหรือเรียกขานได้ว่า ไทย เมททัลเลกซ์ หรือ เมททัล เลกซ์ ส่วนเครื่องหมายบริการของผู้ร้องสอดอ่านหรือเรียกขานได้ว่า เมททัลเทค ดังนี้ในเบื้องต้นย่อมเห็นได้ว่าเครื่องหมายบริการของทั้งสองฝ่ายนั้นในภาคส่วนสำคัญมีคำที่คล้ายกันอยู่ นอกจากนี้ ในส่วนสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างผู้ร้องสอดกับโจทก์ซึ่งมีสัญญายุติข้อพิพาท (SETTLEMENT AGREEMENT) เป็นส่วนหนึ่งอันเป็นสาระสำคัญของสัญญาประนีประนอมยอมความลงวันที่ 1 สิงหาคม 2543 ในคดีหมายเลขแดงที่ ทป.37/2543 ของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ที่ศาลดังกล่าวมีคำพิพากษาตามยอมแล้ว โดยตามสัญญายุติข้อพิพาทดังกล่าว ผู้ร้องสอดตกลงว่าจะไม่ใช้คำว่า METALTECH แล้ว แต่ผู้ร้องสอดโต้แย้งว่า สัญญาตามที่โจทก์กล่าวอ้างนี้เป็นเพียงสัญญาตกลงระงับข้อพิพาทเกี่ยวกับชื่องานแสดงสินค้าเท่านั้น ผู้ร้องสอดไม่ได้ตกลงว่าจะไม่ใช้คำว่า METALTECH เป็นเครื่องหมายบริการแต่อย่างใด ซึ่งในข้อนี้เห็นว่า ตามสำนวนคดีหมายเลขแดงที่ ทป.37/2543 ดังกล่าว ซึ่งอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศพร้อมกับคดีนี้ปรากฏว่า ในคดีดังกล่าวโจทก์ในคดีนี้เป็นโจทก์ที่ 1 ร่วมกับบริษัทรี้ด เทรดเด็กซ์ จำกัด โจทก์ที่ 2 ฟ้องผู้ร้องสอดในคดีนี้เป็นจำเลย โดยกล่าวอ้างว่าโจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของเครื่องหมายบริการเป็นรูปกับคำว่า THAI METALEX ที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วสำหรับใช้กับบริการจำพวกที่ 35 รายการบริการการจัดนิทรรศการทางการค้าและการโฆษณา และโจทก์ที่ 1 อนุญาตให้โจทก์ที่ 2 ใช้เครื่องหมายบริการดังกล่าวตั้งแต่ปี 2533 โจทก์ที่ 2 โฆษณาการจัดงานแสดงสินค้าโดยใช้ชื่อว่า “METALEX 2000” ตั้งแต่วันที่ 4 พฤศจิกายน 2542 ซึ่งกำหนดจัดงานวันที่ 16 ถึง 19 พฤศจิกายน 2543 ที่ศูนย์แสดงสินค้าไบเทค ถนนบางนา – ตราด แต่ระหว่างนั้นจำเลยก็โฆษณาการจัดงานแสดงสินค้าเครื่องจักรกลและเทคโนโลยีสำหรับแปรรูปโลหะต่าง ๆ โดยใช้ชื่องานว่า “METALTECH” ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 16 ถึง 19 พฤศจิกายน 2543 ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยเจตนาให้สาธารณชนสับสนหลงผิดโดยไม่สุจริตและละเมิดสิทธิในเครื่องหมายบริการของโจทก์ที่ 1 ทำให้โจทก์ทั้งสองเสียหาย ขอให้บังคับห้ามจำเลยใช้ชื่อเครื่องหมายบริการ “METALTECH” อีกต่อไป ให้จำเลยกำหนดการจัดงานไม่ให้ตรงกับงานแสดงสินค้าของโจทก์ที่ 2 กับชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสอง อันเป็นคำฟ้องที่กล่าวหาว่าจำเลยละเมิดสิทธิในเครื่องหมายบริการจดทะเบียนของโจทก์ที่ 1 และแม้จำเลยจะให้การปฏิเสธความรับผิดตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสองในคดีดังกล่าว แต่ต่อมาในที่สุดจำเลยก็ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ทั้งสองในคดีดังกล่าว โดยตามสัญญาประนีประนอมยอมความลงวันที่ 1 สิงหาคม 2543 มีข้อความสรุปได้ว่า โจทก์ทั้งสองกับจำเลยต่างยอมรับว่า โจทก์ทั้งสองจะจัดนิทรรศการแสดงสินค้านานาชาติชื่อว่า “THAI METALEX 2000” ที่ศูนย์แสดงสินค้าไบเทค ถนนบางนา – ตราด เป็นงานแสดงเทคโนโลยีเครื่องจักรกลและโลหะ ส่วนจำเลยจะจัดงานแสดงเทคโนโลยีเครื่องจักรกลและโลหะเช่นเดียวกันใช้ชื่อว่า METALTECH ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และตกลงทำสัญญายุติข้อพิพาท (SETTLEMENT AGREEMENT) กันโดยนำมาแนบท้ายสัญญาประนีประนอมยอมความและให้ถือเป็นสาระสำคัญของสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว ซึ่งในสัญญายุติข้อพิพาทในสำนวนคดีหมายเลขแดงที่ ทป.37/2543 ดังกล่าวที่ทำเป็นภาษาอังกฤษและปรากฏคำแปลเป็นภาษาไทยของฝ่ายโจทก์ที่ 1 ในคดีดังกล่าวซึ่งเป็นโจทก์ในคดีนี้และคำแปลของจำเลยในคดีดังกล่าวซึ่งเป็นผู้ร้องสอดในคดีนี้ เนื่องจากทั้งสองฝ่ายมีข้อโต้แย้งกันในชั้นการดำเนินการของเจ้าพนักงานบังคับคดีและคำแปลของทั้งสองฝ่ายนี้เจ้าพนักงานบังคับคดีได้แนบมาท้ายหนังสือของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ส่งไปยังศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางดังกล่าวมาข้างต้นแล้ว ปรากฏว่าสัญญายุติข้อพิพาทนั้นแบ่งหัวข้อเป็น 2 หัวข้อ ได้แก่ หัวข้อสำหรับปี ค.ศ. 2001 หรือ พ.ศ. 2544 และปีต่อ ๆ ไป ซึ่งมีข้อสัญญาในส่วนนี้เป็นข้อ 1 ถึงข้อ 3 และหัวข้อสำหรับปี ค.ศ. 2000 หรือ พ.ศ. 2543 เป็นข้อ 4 ถึงข้อ 10 โดยข้อ 4 ถึงข้อ 10 ดังกล่าวมีสาระสำคัญตามคำแปลของทั้งสองฝ่ายคล้ายกันโดยสรุปได้ว่า ทั้งสองฝ่ายจะจัดงานแสดงสินค้ากันต่อไป แต่จะโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้ลูกค้าของทั้งสองฝ่ายทราบ จะระงับการโฆษณาต่าง ๆ ที่อาจก่อให้เกิดความสับสน ส่วนข้อความในข้อ 1 ถึงข้อ 3 ภายใต้หัวข้อสำหรับปี ค.ศ. 2001 หรือ พ.ศ. 2544 และปีต่อ ๆ ไป ในข้อที่คู่ความไม่โต้แย้งกันและคำแปลของแต่ละฝ่ายคล้ายกันได้ความว่า ในข้อ 1 คู่สัญญาตกลงจะจัดทำแนวปฏิบัติที่ดีด้วยความสุจริต เพื่อใช้แก้ปัญหาความสับสนหลงผิดของลูกค้า ข้อ 2 (a) มีเนื้อหาว่าคู่สัญญาจะกำหนดจัดงานให้มีระยะเวลาห่างกัน เห็นได้ว่า ตามข้อสัญญาต่าง ๆ ตามที่กล่าวมาข้างต้นนี้ล้วนแสดงให้เห็นเจตนาของคู่สัญญาคือโจทก์และผู้ร้องสอดว่า ต่างมีเจตนาที่จะดำเนินการในลักษณะที่จะป้องกันหรือหลีกเลี่ยงการก่อให้เกิดความสับสนของลูกค้าจากการใช้คำว่า METALTECH ของผู้ร้องสอดกับคำว่า METALEX ของโจทก์ซึ่งเป็นเครื่องหมายบริการที่ได้รับการจดทะเบียนไว้ก่อนแล้ว ส่วนสัญญายุติข้อพิพาท ข้อ 2 (b) ที่โจทก์กับผู้ร้องสอดยังมีความเห็นในการตีความต่างกันนั้น ปรากฏว่าข้อสัญญาข้อ 2 (b) มีข้อความเป็นภาษาอังกฤษว่า “both parties agree today that Metaltech will be changed to something less similar and which will not cause confusion to Metalex from the year 2001 onwards” ซึ่งโจทก์มีคำแปลไว้ว่า “คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายตกลงกันในวันนี้ว่า เมททอลเทคจะเปลี่ยนเป็นชื่ออื่นให้มีความคล้ายกับเมททอลเลคน้อยที่สุด และชื่อที่ตั้งใหม่จะต้องไม่เป็นสาเหตุให้เกิดความสับสนกับงานเมททอลเลคนับแต่ปี (พ.ศ.) 2544 เป็นต้นไป” ส่วนผู้ร้องสอดมีคำแปลว่า “คู่สัญญาทั้งสองฝ่าย ชื่องาน “METALTECH” จะถูกเปลี่ยนไปเป็นชื่ออื่น ๆ ซึ่งเหมือนคล้ายกับเครื่องหมายบริการ “METALEX” น้อยลง และชื่อที่ตั้งขึ้นใหม่จะไม่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดแก่งาน METALEX นับแต่ปี (ค.ศ.) 2001 เป็นต้นไป เห็นได้ว่า นอกจากตามคำฟ้องของโจทก์ในคดีที่มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความและสัญญายุติข้อพิพาทดังกล่าว ที่โจทก์จะกล่าวอ้างถึงความเป็นเจ้าของเครื่องหมายบริการคำว่า METALEX ของโจทก์และการที่จำเลยในคดีดังกล่าวใช้ชื่อ METALTECH เป็นการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายบริการของโจทก์แล้ว ตามคำแปลข้อสัญญายุติข้อพิพาท ข้อ 2 (b) ของผู้ร้องสอดก็ยังยอมรับถึงสภาพที่คำว่า METALEX ที่โจทก์นำมาใช้นั้นเป็นเครื่องหมายบริการของโจทก์ และก่อนที่จะมีการตกลงทำสัญญายุติข้อพิพาทนี้ผู้ร้องสอดก็ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายบริการโดยใช้คำว่า METALTECH ไว้ 2 คำขอ ดังกล่าวแล้ว อันแสดงว่าก่อนทำสัญญากันนั้นต่างฝ่ายต่างประสงค์จะใช้ชื่องานตามคำที่เป็นเครื่องหมายบริการของตนซึ่งก็ย่อมมีผลให้ลูกค้าของแต่ละฝ่ายคิดถึงการใช้เครื่องหมายบริการของแต่ละฝ่ายไปด้วยในตัว แสดงให้เห็นได้ชัดเจนว่าโจทก์และผู้ร้องสอดมิได้ทำสัญญายุติข้อพิพาทนี้เพื่อยุติปัญหาเฉพาะชื่องานแสดงสินค้าเท่านั้น แต่ได้คำนึงถึงปัญหาในเรื่องเครื่องหมายบริการด้วย โดยในความคิดเห็นของฝ่ายโจทก์และผู้ร้องสอดในขณะทำสัญญายุติข้อพิพาทดังกล่าวยังเห็นว่าควรที่จะมีการใช้คำให้มีความคล้ายกันน้อยลงอีก ทั้งการที่จำเลยตกลงจะเปลี่ยนคำว่า METALTECH ให้คล้ายกับเครื่องหมายบริการคำว่า METALEX ของโจทก์น้อยลง โดยชื่อใหม่จะไม่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2001 หรือ พ.ศ. 2544 เป็นต้นไปนี้ หากคำนึงถึงความประสงค์ในทางสุจริตของคู่สัญญาเพื่อการตีความสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 368 แล้ว ก็เห็นได้ว่าเมื่อทั้งโจทก์และผู้ร้องสอดต่างฝ่ายต่างพยายามหลีกเลี่ยงปัญหาความเข้าใจผิดของลูกค้าจากการใช้คำว่า MATALTECH ของผู้ร้องสอด ถึงขนาดที่ผู้ร้องสอดยอมจะเปลี่ยนคำว่า METALTECH ให้คล้ายกับคำว่า METALEX น้อยลงไป โดยที่ทั้งโจทก์และผู้ร้องสอดต่างก็ต้องการใช้ชื่องานตามคำที่เป็นเครื่องหมายบริการของตนด้วย โดยขณะทำสัญญายุติข้อพิพาทในวันที่ 1 สิงหาคม 2543 นั้น ผู้ร้องสอดยังไม่ได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายบริการ จึงน่าจะปรับปรุงเครื่องหมายบริการของตนเป็นคำอื่นที่คล้ายกับคำว่า METALEX น้อยลงได้ อันจะทำให้ผู้ร้องสอดสามารถใช้เครื่องหมายบริการคำที่ปรับปรุงแล้วเป็นชื่องานแสดงสินค้าของตนได้ดังเช่นที่เคยกระทำมาแต่ต้น ทั้งยังจะทำให้ผู้ร้องสอดไม่ต้องกังวลว่าการใช้เครื่องหมายบริการคำว่า METALTECH ของผู้ร้องสอดกับการใช้ชื่องานหรือใช้เครื่องหมายบริการคำว่า METALEX ของโจทก์จะทำให้ลูกค้าบางรายเข้าใจผิดดังที่ทั้งผู้ร้องสอดและโจทก์ต่างคิดเห็นกันเองว่ามีข้อน่ากังวลเช่นนี้มาก่อน ที่จะทำสัญญายุติข้อพิพาทจนมีการทำสัญญายุติข้อพิพาทกันเพื่อแก้ปัญหาข้อกังวลดังกล่าวดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น ทั้งนี้โดยการใช้เครื่องหมายบริการเป็นการแสดงถึงความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของบริการด้วยก็ควรเป็นเรื่องที่อยู่ในความกังวลของทั้งสองฝ่ายเช่นเดียวกับการใช้ชื่องานเช่นกัน และย่อมเป็นเหตุผลที่แสดงว่าทั้งสองฝ่ายทำสัญญายุติข้อพิพาทเช่นว่านี้โดยเจตนาให้มีผลถึงการเปลี่ยนแปลงคำที่เป็นเครื่องหมายบริการด้วย มิใช่ต้องการเพียงเปลี่ยนแปลงเฉพาะคำที่เป็นชื่องานแสดงสินค้าอย่างเดียวเท่านั้นแต่อย่างใด ดังนี้โดยผลของสัญญายุติข้อพิพาทอันเป็นสาระสำคัญของสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวมาแล้วนี้ ผู้ร้องสอดย่อมต้องตกอยู่ภายใต้ความผูกพันต่อโจทก์ในอันที่จะงดเว้นไม่ใช้คำว่า METALTECH เป็นเครื่องหมายบริการ หากผู้ร้องสอดใช้คำดังกล่าวเป็นเครื่องหมายบริการย่อมเป็นการปฏิบัติผิดสัญญา ซึ่งโจทก์ย่อมมีสิทธิเหนือผู้ร้องสอดที่จะห้ามผู้ร้องสอดใช้เครื่องหมายบริการคำว่า METALTECH ตามข้อสัญญาดังกล่าว ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายบริการของผู้ร้องสอดทะเบียนเลขที่ บ15270 (คำขอเลขที่ 422927) และเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายบริการของผู้ร้องสอดคำขอเลขที่ 422928 นั้น จากการที่ได้วินิจฉัยปัญหาตามข้อกล่าวอ้างของโจทก์ดังกล่าวข้างต้นมาตามลำดับแล้วนั้น เห็นได้ว่า เครื่องหมายบริการคำว่า METALTECH กับเครื่องหมายบริการรูปประกอบกับคำว่า THAI METALEX ของโจทก์ที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วมีการใช้คำในส่วนภาคสำคัญคล้ายกัน ประกอบกับโจทก์ยังเป็นผู้มีสิทธิห้ามผู้ร้องสอดใช้เครื่องหมายบริการตามสัญญายุติข้อพิพาทและสัญญาประนีประนอมยอมความดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้ว และการที่ผู้ร้องสอดได้จดทะเบียนเครื่องหมายบริการที่ใช้คำว่า METALTECH ก็เพื่อให้เป็นผู้มีสิทธิแต่ผู้เดียวในอันที่จะใช้เครื่องหมายบริการนี้สำหรับบริการประเภทเดียวกับโจทก์ตามที่ผู้ร้องสอดได้จดทะเบียนไว้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 80 ประกอบมาตรา 44 ซึ่งการใช้เครื่องหมายบริการคำว่า METALTECH เช่นนี้ย่อมเป็นการปฏิบัติผิดสัญญายุติข้อพิพาทและสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวต่อโจทก์ ดังนั้นโจทก์ย่อมเป็นผู้มีส่วนได้เสียและมีสิทธิในเครื่องหมายบริการนี้ดีกว่าผู้ร้องสอดจึงมีสิทธิร้องขอต่อศาลให้สั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายบริการของผู้ร้องสอดดังกล่าวได้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 80 ประกอบมาตรา 67 และแม้โจทก์จะไม่ได้ฟ้องผู้ร้องสอดเป็นจำเลยในคดีนี้โดยตรงก็ตาม แต่ตามคำฟ้องของโจทก์ก็บรรยายถึงข้อเท็จจริงที่ผู้ร้องสอดได้ทำสัญญายุติข้อพิพาทและสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ดังกล่าวมาข้างต้น ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่มีผลให้โจทก์เป็นผู้มีสิทธิดีกว่าและมีสิทธิห้ามผู้ร้องสอด ทั้งมีคำขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายบริการของผู้ร้องสอดทะเบียนเลขที่ บ15270 (คำขอเลขที่ 422927) ด้วย และเมื่อผู้ร้องสอดยื่นคำร้องสอดขอเข้าเป็นคู่ความในคดีนี้ โดยอ้างว่าผู้ร้องสอดเป็นเจ้าของเครื่องหมายบริการคำว่า METALTECH ที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้รับจดทะเบียนให้แล้ว การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ก็เพื่อให้มีการเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายบริการของผู้ร้องสอดดังกล่าวอันเป็นการโต้แย้งสิทธิในเครื่องหมายบริการของผู้ร้องสอด จึงร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความเพื่อให้ได้รับความรับรองและคุ้มครองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (1) อันเป็นกรณีที่ผู้ร้องสอดขอเข้าเป็นคู่ความด้วยการร้องสอดโดยสมัครใจเองเพื่อยังให้ผู้ร้องสอดได้รับความรับรองและคุ้มครองอันมีผลให้ผู้ร้องสอดมีสิทธิเสมือนหนึ่งว่าได้ฟ้องหรือถูกฟ้องเป็นคดีเรื่องใหม่ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (1) และมาตรา 58 วรรคหนึ่ง จึงถือได้เสมือนหนึ่งว่าคดีในส่วนระหว่างโจทก์กับผู้ร้องสอดนี้เป็นคดีที่โจทก์ฟ้องเพื่อร้องขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายบริการของผู้ร้องสอดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 80 ประกอบมาตรา 67 ดังกล่าวแล้ว ซึ่งเมื่อปรากฏว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิในเครื่องหมายบริการนี้ดีกว่าผู้ร้องสอด ก็ชอบที่ศาลจะพิพากษาเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายบริการคำว่า “METALTECH” ของผู้ร้องสอดตามทะเบียนเลขที่ บ15270 ได้ตามบทกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายบริการทะเบียนเลขที่ บ15270 นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยในผล ส่วนกรณีตามที่ผู้ร้องสอดยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายบริการคำว่า METALTECH อีกคำขอหนึ่งคือเลขที่ 422928 ซึ่งนายทะเบียนเครื่องหมายการค้ายังไม่ได้รับจดทะเบียนให้โดยในชั้นที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าประกาศโฆษณาคำขอจดทะเบียนนั้น โจทก์ยื่นคำคัดค้านการขอจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 80 ประกอบมาตรา 35 โดยอ้างถึงเหตุผลกรณีที่โจทก์กับผู้ร้องสอดทำสัญญายุติข้อพิพาทและสัญญาประนีประนอมยอมความกันอันเป็นข้อเท็จจริงเพื่อแสดงว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิดีกว่าและมีสิทธิห้ามผู้ร้องสอดใช้เครื่องหมายบริการคำว่า METALTECH ดังกล่าวแล้ว และเมื่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำวินิจฉัยยกคำคัดค้านของโจทก์แล้ว ต่อมาโจทก์อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า ซึ่งคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าก็วินิจฉัยยืนตามคำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า โจทก์จึงอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าโดยฟ้องเป็นคดีนี้ และคดีได้ความดังวินิจฉัยมาแล้วว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิดีกว่าผู้ร้องสอดทั้งมีสิทธิห้ามผู้ร้องสอดใช้เครื่องหมายบริการตามสัญญายุติข้อพิพาทและสัญญาประนีประนอมยอมความ ดังนั้น ผู้ร้องสอดจึงเป็นผู้ไม่มีสิทธิจดทะเบียนเครื่องหมายบริการคำว่า “METALTECH” ตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 422928 ส่วนที่จำเลยและผู้ร้องสอดอุทธรณ์ด้วยว่าสัญญายุติข้อพิพาทและสัญญาประนีประนอมยอมความกับคำพิพากษาตามยอมของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางดังกล่าวไม่มีผลผูกพันนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้านั้น เห็นว่า ในชั้นพิจารณาคำคัดค้านของโจทก์โดยนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและการพิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์โดยคณะกรรมการเครื่องหมายการค้านั้น นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าย่อมเป็นผู้ทำหน้าที่พิจารณาและวินิจฉัยปัญหาข้อโต้แย้งระหว่างโจทก์กับผู้ร้องสอดว่าใครเป็นผู้มีสิทธิดีกว่า ซึ่งย่อมต้องนำข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานในการที่โจทก์กับผู้ร้องสอดทำสัญญายุติข้อพิพาทและสัญญาประนีประนอมยอมความกันนั้นมาใช้ประกอบการพิจารณาวินิจฉัยถึงสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาดังกล่าวที่มีผลผูกพันคู่สัญญาและแสดงให้เห็นได้ว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิดีกว่า มิใช่จะถือเพียงว่าสัญญาดังกล่าวรวมทั้งคำพิพากษาตามยอมนั้นไม่มีผลผูกพันนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเท่านั้นดังที่จำเลยและผู้ร้องสอดอุทธรณ์แต่อย่างใด คำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าในกรณีที่โจทก์คัดค้านการขอจดทะเบียนเครื่องหมายบริการคำขอเลขที่ 422928 ที่ให้ยกคำคัดค้านของโจทก์นั้นไม่ต้องด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายดังที่ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยมาดังกล่าวข้างต้น ดังนั้น ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนของผู้ร้องสอดเลขที่ 422928 เป็นคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 1712/2548 นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยในผล แต่ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาเพิกถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายบริการของผู้ร้องสอดเลขที่ 422928 แทนที่จะเพิกถอนคำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ 288/2547 ตามที่โจทก์มีคำขอบังคับซึ่งเป็นคำขอบังคับอันเนื่องมาจากโจทก์เห็นว่านายทะเบียนเครื่องหมายการค้าวินิจฉัยคำคัดค้านการขอจดทะเบียนของผู้ร้องสอดไม่ถูกต้อง และคดีนี้โจทก์ไม่ได้ขอให้เพิกถอนคำขอจดทะเบียนของผู้ร้องสอดดังกล่าวแต่อย่างใด คำพิพากษาในส่วนนี้จึงเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ไม่ต้องด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 อันเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขเสียให้ถูกต้อง ตามพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว มาตรา 45 ประกอบมาตรา 26 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5)
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องเฉพาะในส่วนที่มีคำขอบังคับให้เพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเลขที่ 36/2548 แต่โจทก์เป็นผู้มีสิทธิในเครื่องหมายบริการที่ผู้ร้องสอดได้รับการจดทะเบียนและที่ผู้ร้องสอดขอจดทะเบียนดีกว่าผู้ร้องสอด จึงให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายบริการทะเบียนเลขที่ บ15270 และเพิกถอนคำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ 228/2547 กับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 1712/2548 ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ

Share