แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 6 ที่ 9 ที่ 11 ที่ 14 และที่ 15 ไม่ได้เข้าร่วมประชุมในการประชุมของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า แต่คดีนี้เป็นคดีที่โจทก์ทั้งสามสำนวนในฐานะผู้ร้องขอต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ไม่เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอของโจทก์ โดยฟ้องต่อศาลตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 65 วรรคสอง แต่เนื่องจากคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคล การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 16 เป็นรายบุคคลก็เป็นการฟ้องในฐานะที่จำเลยที่ 2 เป็นประธานกรรมการในคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า ส่วนจำเลยที่ 3 ถึงที่ 16 ก็เป็นการฟ้องในฐานะที่จำเลยที่ 3 ถึงที่ 16 เป็นกรรมการในคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า อันเป็นช่องทางที่กฎหมายให้สิทธิกระทำได้และโจทก์ก็ฟ้องคดีเพื่อให้คำสั่งของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าถูกเพิกถอนไปโดยคำพิพากษาของศาล ไม่ได้ฟ้องให้จำเลยที่ 3 ถึงที่ 16 ซึ่งเป็นกรรมการในคณะกรรมการเครื่องหมายการค้ารับผิดเป็นส่วนตัวแต่อย่างใด แม้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 6 ที่ 9 ที่ 11 ที่ 14 และที่ 15 จะไม่ได้เข้าร่วมประชุมในการประชุมของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าแต่ก็ต้องถูกผูกพันตามมติของที่ประชุมคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าในครั้งนั้น ย่อมไม่อาจกล่าวอ้างการที่ไม่ได้เข้าร่วมประชุมมาปฏิเสธอำนาจฟ้องของโจทก์ได้ ในส่วนของจำเลยที่ 1 กรมทรัพย์สินทางปัญญา มาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.โอนอำนาจหน้าที่และกิจการบริหารบางส่วนของกรมทะเบียนการค้าฯ พ.ศ.2534 บัญญัติให้โอนบรรดาอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับราชการกรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการปฏิบัติงานตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องหมายการค้าและกฎหมายว่าด้วยสิทธิบัตรไปเป็นของกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ การดำเนินการเกี่ยวกับการจดทะเบียนและการเปลี่ยนแปลงรายการทะเบียนเครื่องหมายการค้าตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 อยู่ในกรอบอำนาจหน้าที่และการควบคุมของกรมทรัพย์สินทางปัญญาจำเลยที่ 1 เพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติดังกล่าวทั้งหมด ดังนั้น การที่โจทก์ฟ้องกรมจำเลยที่ 1 ซึ่งมีอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาเป็นผู้แทนกรมจำเลยที่ 1 และเป็นประธานกรรมการในคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าด้วยตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 95 จึงเท่ากับเป็นการฟ้องอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งเป็นประธานกรรมการในคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ได้เช่นกัน
นอกจากเครื่องหมายการค้าจะทำหน้าที่ระบุตัวสินค้าว่าเป็นสินค้าของผู้ผลิตรายใดและทำหน้าที่แยกแยะความแตกต่างของสินค้าที่ทำให้ประชาชนหรือผู้ใช้สินค้าสามารถเลือกซื้อสินค้าได้ถูกต้องตามที่ต้องการแล้ว เครื่องหมายการค้ายังทำหน้าที่ควบคุมและรับรองคุณภาพของสินค้าในกรณีที่เจ้าของเครื่องหมายการค้าอนุญาตให้บุคคลอื่นใช้เครื่องหมายการค้านั้นด้วย ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้สินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้นไม่เป็นที่เชื่อมั่นของผู้บริโภคในคุณภาพของสินค้า ซึ่งหน้าที่ของเครื่องหมายการค้าในการควบคุมและรับรองคุณภาพของสินค้านี้ปรากฏโดยนัยของมาตรา 68 แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534
การที่โจทก์ระบุในคำฟ้องและในคำขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งสามเครื่องหมายว่า รัฐบาลแห่งสาธารณรัฐเกาหลีได้อนุญาตให้โจทก์แต่เพียงผู้เดียวมีสิทธิใช้เครื่องหมายการค้าทั้งสามเครื่องหมายซึ่งเป็นเครื่องหมายราชการของรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐเกาหลีกับสินค้าโสมเกาหลี โสมแดง และผลิตภัณฑ์โสมแดงย่อมแสดงให้เห็นอยู่ในตัวว่ารัฐบาลแห่งสาธารณรัฐเกาหลีประสงค์จะควบคุมคุณภาพของสินค้าโสมเกาหลี โสมแดง และผลิตภัณฑ์โสมแดงด้วย จึงอนุญาตให้โจทก์ใช้เครื่องหมายราชการทั้งสามเครื่องหมายของรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐเกาหลีกับสินค้าโสมเกาหลี โสมแดง และผลิตภัณฑ์โสมแดงที่โจทก์ผลิตออกจำหน่าย เครื่องหมายราชการทั้งสามเครื่องหมายของรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐเกาหลีจึงมีลักษณะเป็นเครื่องหมายควบคุมและรับรองคุณภาพสินค้าโสมเกาหลี โสมแดง และผลิตภัณฑ์โสมแดงของรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐเกาหลีซึ่งเป็นรัฐต่างประเทศอยู่ด้วย ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า เครื่องหมายการค้าตามทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ ค.75608 เลขที่ ค.116909 และเลขที่ ค.120027 เป็นเครื่องหมายควบคุมและรับรองคุณภาพสินค้าของรัฐต่างประเทศจึงเป็นการวินิจฉัยในประเด็นตามคำฟ้องและคำขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งสามเครื่องหมายดังกล่าวไม่ใช่การวินิจฉัยเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องและคำขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งสามเครื่องหมายอันจะเป็นการไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 142
เครื่องหมายอักษรจีนคำว่า เป็นเครื่องหมายของรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐเกาหลีซึ่งเป็นผู้ใช้กับสินค้าโสมแดงกระป๋อง ถือได้ว่าเครื่องหมายคำว่า เป็นเครื่องหมายราชการของรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐเกาหลี แม้ต่อมารัฐบาลแห่งสาธารณรัฐเกาหลีโดยกระทรวงการคลังได้ก่อตั้งโคเรีย โมโนโปลี คอร์ปอเรชัน เพื่อดำเนินกิจการผลิตและจำหน่ายสินค้าโสมแดงและผลิตภัณฑ์โสมแดงแทน โดยอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าอักษรจีนคำว่า และภายหลังมีการปรับโครงสร้างของโคเรีย โมโนโปลี คอร์ปอเรชัน เป็นโคเรีย โทแบกโก แอนด์ จินเซ็ง คอร์ปอเรชัน และในที่สุดมีการก่อตั้งบริษัทโจทก์ให้ดำเนินกิจการนั้นและโจทก์ได้รับอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าอักษรจีนคำว่า ต่อไป การใช้เครื่องหมายการค้านี้ก็ต้องได้รับอนุญาตจากรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐเกาหลี จึงถือได้ว่าเครื่องหมายการค้าอักษรจีนคำว่า ยังคงเป็นเครื่องหมายราชการของรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐเกาหลีซึ่งเป็นรัฐต่างประเทศอยู่ และนอกจากนี้เครื่องหมายการค้าอักษรจีนคำดังกล่าวยังมีลักษณะเป็นเครื่องหมายควบคุมและรับรองคุณภาพสินค้าโสมเกาหลี โสมแดง และผลิตภัณฑ์โสมแดงของรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐเกาหลีซึ่งเป็นรัฐต่างประเทศด้วย สำหรับเครื่องหมาย และเครื่องหมาย ที่โคเรีย โทแบกโก แอนด์ จินเซ็ง คอร์ปอเรชัน เป็นผู้เริ่มนำมาใช้กับสินค้าโสมแดงและผลิตภัณฑ์โสมแดง ก็เป็นเครื่องหมายที่มีอักษรจีนคำว่า อันเป็นเครื่องหมายราชการและเครื่องหมายควบคุมและรับรองคุณภาพสินค้าของรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐเกาหลีซึ่งเป็นรัฐต่างประเทศประกอบอยู่ด้วย โดยไม่ปรากฏว่าโคเรีย จินเซ็ง เซนเตอร์ ลิมิเต็ด ผู้ขอจดทะเบียนและผู้มีชื่อเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า ตามคำขอเลขที่ 332128 ทะเบียนเลขที่ ค.75608 และบริษัท ท. ผู้ขอจดทะเบียนและผู้มีชื่อเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า และเครื่องหมายการค้า ได้รับอนุญาตจากผู้มีอำนาจหรือมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าทั้งสามเครื่องหมายนี้ให้มาจดทะเบียนในนามตนเองในประเทศไทยได้ เมื่อเครื่องหมายการค้าทั้งสามเครื่องหมายเป็นเครื่องหมายที่มีลักษณะเป็นเครื่องหมายราชการและเครื่องหมายควบคุมและรับรองคุณภาพสินค้าของรัฐต่างประเทศ และเป็นเครื่องหมายที่ประกอบด้วยเครื่องหมายราชการและเครื่องหมายควบคุมและรับรองคุณภาพสินค้าของรัฐต่างประเทศ จึงเป็นเครื่องหมายการค้าที่มีหรือประกอบด้วยลักษณะต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนตามมาตรา 8 (6) แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534
คดีนี้เป็นคดีที่โจทก์อุทธรณ์คำสั่งของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่มีคำสั่งไม่เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าโดยการฟ้องคดีต่อศาลตามมาตรา 65 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 เมื่อศาลเห็นว่ามีเหตุต้องเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าสำหรับเครื่องหมายการค้านั้นตามมาตรา 61 (2) ศาลต้องพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ไม่เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าและพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นไปเสียทีเดียว ซึ่งมีผลให้การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวถูกเพิกถอนไปโดยคำพิพากษาของศาล ไม่ใช่พิพากษาให้คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเป็นผู้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นอีก เรื่องนี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขเสียให้ถูกต้อง ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบมาตรา 26 และ ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสามสำนวนฟ้องขอให้พิพากษาว่าเครื่องหมายการค้าตามทะเบียนเลขที่ ค.75608 (คำขอเลขที่ 332128) เครื่องหมายการค้าตามทะเบียนเลขที่ ค.116909 (คำขอเลขที่ 386559) และเครื่องหมายการค้าตามทะเบียนเลขที่ ค.120027 (คำขอเลขที่ 386560) เป็นเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 เพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 15/2556 ที่ 16/2546 และที่ 17/2546 กับให้คณะกรรมการเครื่องหมายการค้า (จำเลยที่ 2 ถึงที่ 16) มีคำสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามทะเบียนเลขที่ ค.75608 (คำขอเลขที่ 332128) เครื่องหมายการค้าตามทะเบียนเลขที่ ค.116909 (คำขอเลขที่ 386559) และเครื่องหมายการค้าตามทะเบียนเลขที่ ค.120027 (คำขอเลขที่ 386560)
จำเลยทั้งสิบหกทั้งสามสำนวนให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า เครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 332128 ทะเบียนเลขที่ ค.75608 ตามคำขอเลขที่ 386559 ทะเบียนเลขที่ ค.116909 และตามคำขอเลขที่ 386560 ทะเบียนเลขที่ ค.120027 เป็นเครื่องหมายที่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ให้เพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 15/2546 ที่ 16/2546 และที่ 17/2546 และให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 16 เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 332128 ทะเบียนเลขที่ ค.75608 ตามคำขอเลขที่ 386559 ทะเบียนเลขที่ ค.116909 และตามคำขอเลขที่ 386560 ทะเบียนเลขที่ ค.120027 ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสิบหกทั้งสามสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า โคเรีย จินเซ็ง เซ็นเตอร์ ลิมิเต็ด นิติบุคคลซึ่งจดทะเบียนจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของเมืองฮ่องกง (ในขณะนั้น) ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอักษรจีนภายในกรอบคำว่า อ่านว่า “เจี่ย-กัว-จัง” เพื่อใช้สำหรับสินค้าจำพวกที่ 5 รายการสินค้า (1) อาหารสำหรับเด็กทารก (2) อาหารสำหรับผู้ป่วย (3) อาหารเสริมสำหรับใช้ในทางการแพทย์ (4) โสม (5) โสมสกัด (6) โสมผ่านกรรมวิธี (7) เครื่องดื่มสำหรับใช้ทางการแพทย์ (8) ขนมหวานที่มีส่วนผสมของโอสถใช้ในทางการแพทย์ (9) สมุนไพร (10) สมุนไพรสกัด (11) ยาควบคุมน้ำหนัก และ (12) ยาบำรุงกำลัง เป็นคำขอเลขที่ 332128 นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอดังกล่าว เป็นเครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค.75608 บริษัทที.ที.เอ. เพอร์เฟคกรุ๊ป จำกัด ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า และเครื่องหมายการค้า เพื่อใช้สำหรับสินค้าจำพวกที่ 5 รายการสินค้า อาหารสำหรับผู้ป่วย อาหารเสริมสำหรับใช้ในทางการแพทย์และยาบำรุงกำลัง เป็นคำขอเลขที่ 386559 และเลขที่ 386560 ตามลำดับ นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอดังกล่าว เป็นเครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค.116909 และเลขที่ ค.120027 ต่อมาโจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอักษรจีนคำว่า อ่านว่า “เจี่ย-กัว-จัง” หรือ “จึง-กวน-จวง” เพื่อใช้สำหรับสินค้าจำพวกที่ 5 ที่ 29 ที่ 30 ที่ 31 และที่ 32 ตามคำขอเลขที่ 453451 เลขที่ 453452 เลขที่ 453453 เลขที่ 453454 และเลขที่ 453455 และยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เพื่อใช้สำหรับสินค้าจำพวกที่ 5 ที่ 29 ที่ 30 ที่ 31 และที่ 32 ตามคำขอเลขที่ 453461 เลขที่ 453462 เลขที่ 453463 เลขที่ 453464 และเลขที่ 453465 นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิจารณาแล้วมีคำสั่งปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอของโจทก์ทั้งสิบคำขอดังกล่าวโจทก์อุทธรณ์คำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งสิบคำขอต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าโดยอ้างเหตุผลทำนองเดียวกันว่า ผู้ที่ได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไม่ใช่ผู้มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว โจทก์อยู่ในระหว่างดำเนินการร้องขอให้มีการเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าว ขอให้คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ารอการพิจารณาและมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ไว้ก่อนจนกว่าจะมีคำวินิจฉัยหรือคำพิพากษาของศาลเกี่ยวกับการร้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าพิจารณาแล้วเห็นควรวินิจฉัยอุทธรณ์ไปโดยไม่รอตามคำขอของโจทก์ และวินิจฉัยยืนตามคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอของโจทก์ทั้งสิบคำขอ โจทก์ยื่นคำขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าสำหรับเครื่องหมายการค้า ตามคำขอเลขที่ 332128 ทะเบียนเลขที่ ค.75608 เครื่องหมายการค้า ตามคำขอเลขที่ 386559 ทะเบียนเลขที่ ค.116909 เครื่องหมายการค้า ตามคำขอเลขที่ 386560 ทะเบียนเลขที่ ค.120027 คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าพิจารณาคำขอของโจทก์ทั้งสามคำขอโดยแยกพิจารณาแต่ละคำขอเป็น 2 ประเด็น ประเด็นที่ 1 โจทก์มีสิทธิยื่นคำขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งสามคำขอหรือไม่ ในประเด็นที่ 1 นี้ คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีมติวินิจฉัยเช่นเดียวกันทั้งสามคำขอว่า โจทก์เป็นผู้มีส่วนได้เสียตามกฎหมายและมีสิทธิที่จะยื่นคำขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งสามคำขอได้ ตามนัยมาตรา 61 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 และประเด็นที่ 2 เครื่องหมายการค้าของผู้ได้รับการจดทะเบียนในขณะที่จดทะเบียนเป็นเครื่องหมายที่มีลักษณะต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนตามมาตรา 8 (6) หรือไม่ คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าวินิจฉัยปัญหาในประเด็นที่ 2 สำหรับเครื่องหมายการค้า ตามคำขอเลขที่ 332128 ทะเบียนเลขที่ ค.75608 ใจความว่า ที่โจทก์อ้างว่าเครื่องหมายการค้าของผู้ได้รับการจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายราชการของรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐเกาหลีที่ได้อนุญาตให้โจทก์แต่ผู้เดียวมีสิทธิในการใช้และจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้น เมื่อพิจารณาหลักฐานที่โจทก์นำส่ง ได้แก่ สำเนาหนังสือรับรองที่มีข้อความว่าบริษัทโจทก์ (Korea Ginseng Corp.) เป็นบริษัทในเครือของ โคเรีย ที. แอนด์ จินเซ็ง คอร์ป. (Korea T.& Ginseng Corp.) ที่อยู่ในความดูแลของรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งเครื่องหมายการค้าอักษรจีน อ่านว่า เจี่ย กัว จัง รวมจำนวน 3 เครื่องหมาย ใช้กับสินค้าโสมแดงหรือผลิตภัณฑ์โสมแดงเป็นเครื่องหมายที่รัฐบาลแห่งสาธารณรัฐเกาหลีได้เคยใช้มาก่อนตั้งแต่ก่อตั้งรัฐบาลในปี 2491 สำเนาประกาศนียบัตรรางวัลสินค้าชั้นนำของโลกของประเทศสาธารณรัฐเกาหลี สำเนาหนังสือความตกลงระหว่างโคเรีย โทแบกโก แอนด์ จินเซ็ง คอร์ป. (Korea Tobacco & Ginseng Corp.) กับบริษัทโจทก์ (Korea Ginseng Corp.) สำเนาหนังสือคู่มือการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในต่างประเทศ สำเนาหลักฐานการโฆษณาและการจำหน่ายสินค้าในต่างประเทศ เป็นต้น หลักฐานที่โจทก์นำส่งดังกล่าวไม่ใช่หลักฐานที่เป็นเอกสารรับรองจากรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐเกาหลีอันจะแสดงได้ว่า เครื่องหมายการค้าของผู้ได้รับการจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายราชการของรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐเกาหลีตามที่โจทก์กล่าวอ้าง ข้อเท็จจริงจึงรับฟังไม่ได้ว่าเครื่องหมายการค้าของผู้ได้รับการจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายราชการของรัฐต่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศเครื่องหมายการค้าของผู้ได้รับการจดทะเบียนในขณะที่จดทะเบียนจึงไม่ใช่เครื่องหมายที่มีลักษณะต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนตามมาตรา 8 (6) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 และไม่มีสาเหตุที่จะเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของผู้ได้รับการจดทะเบียนตามมาตรา 61 (2) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน ส่วนคำขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 386559 ทะเบียนเลขที่ ค.116909 และตามคำขอเลขที่ 386560 ทะเบียนเลขที่ ค.120027 คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าวินิจฉัยในประเด็นที่ 2 ใจความทำนองเดียวกันว่า ที่โจทก์อ้างว่าเครื่องหมายการค้าของผู้ได้รับการจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายราชการของรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐเกาหลีที่ได้อนุญาตให้โจทก์แต่ผู้เดียวมีสิทธิการใช้และจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้น เมื่อพิจารณาหลักฐานที่โจทก์นำส่ง ได้แก่ สำเนาหนังสือรับรองที่มีข้อความว่า บริษัทโจทก์ (Korea Ginseng Corp.) เป็นบริษัทในเครือของโคเรีย ที. แอนด์ จินเซ็ง คอร์ป. (Korea T. & Ginseng Corp.) ที่อยู่ในความดูแลของรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งเครื่องหมายการค้าอักษรจีน อ่านว่า เจี่ย กัว จัง รวมจำนวน 3 เครื่องหมาย ใช้กับสินค้าโสมแดงหรือผลิตภัณฑ์โสมแดง เป็นเครื่องหมายที่รัฐบาลแห่งสาธารณรัฐเกาหลีได้เคยใช้มาก่อนตั้งแต่ก่อตั้งรัฐบาลในปี 2491 สำเนาประกาศนียบัตรรางวัลสินค้าชั้นนำของโลกของประเทศสาธารณรัฐเกาหลี สำเนาหนังสือความตกลงระหว่างโคเรีย โทแบกโก แอนด์ จินเซ็ง คอร์ป. (Korea Tobacco & Ginseng Corp.) กับ บริษัทโจทก์ (Korea Ginseng Corp.) สำเนาหนังสือคู่มือการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในต่างประเทศ สำเนาหลักฐานการโฆษณาและการจำหน่ายสินค้าในต่างประเทศ เป็นต้น หลักฐานที่โจทก์นำส่งดังกล่าวไม่ใช่หลักฐานที่เป็นเอกสารรับรองจากรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐเกาหลีอันจะแสดงได้ว่าเครื่องหมายการค้าของผู้ได้รับการจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายราชการของรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐเกาหลีตามที่โจทก์กล่าวอ้าง ส่วนผู้ได้รับการจดทะเบียนได้นำส่งหลักฐาน เช่น สำเนาใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับยา ชื่อยา “JUNGKWANJANG RED GINSENG TONIC” ที่ผลิตโดยโคเรีย ที. แอนด์ จินเซ็ง คอร์ป. โคเรีย เรด จินเซ็ง แพลนต์ (Korea T. & Ginseng Corp. Korea Red Ginseng Plant) และสถานที่ทำหรือสั่งยาเข้ามาในราชอาณาจักรคือ บริษัทที.ที.เอ เพอร์เฟคกรุ๊ป จำกัด (ผู้ได้รับการจดทะเบียน) สำเนาหนังสือรับรองการขายโดยเสรีของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาประเทศสาธารณรัฐเกาหลีที่รับรองว่า ชื่อผลิตภัณฑ์ “JUNGKWANJANG RED GINSENG TONIC” และ “JUNGKANJANG ILPUM RED GINSENG TONIC” ที่ผลิตโดยโคเรีย ที. แอนด์ จินเซ็ง คอร์ป. โคเรีย เรด จินเซ็ง แพลนต์ (Korea T. & Ginseng Corp. Korea Red Ginseng Plant) สามารถขายได้โดยเสรี มิต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของพระราชบัญญัติกองสุขาภิบาลอาหารของประเทศสาธารณรัฐเกาหลี เป็นต้น จากหลักฐานดังกล่าวจึงไม่อาจรับฟังได้ว่าเครื่องหมายการค้าของผู้ได้รับการจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายราชการของรัฐต่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ เครื่องหมายการค้าของผู้ได้รับการจดทะเบียนในขณะที่จดทะเบียนจึงไม่ใช่เครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนตามมาตรา 8 (6) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 และไม่มีสาเหตุที่จะเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของผู้ได้รับการจดทะเบียนตามมาตรา 61 (2) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจึงมีมติให้ยกคำขอของโจทก์ทั้งสามคำขอที่ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสิบหกทั้งสามสำนวนในประเด็นแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 6 ที่ 9 ที่ 11 ที่ 14 และที่ 15 หรือไม่ โดยจำเลยทั้งสิบหกทั้งสามสำนวนอุทธรณ์ว่า จำเลยเหล่านั้นไม่ได้มีการกระทำอันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ เพราะไม่ได้เข้าร่วมประชุมในการประชุมของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าครั้งที่ 11/2546 เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้เป็นยุติตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 6 ที่ 9 ที่ 11 ที่ 14 และที่ 15 ไม่ได้เข้าร่วมประชุมในการประชุมของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าครั้งดังกล่าว แต่คดีนี้เป็นคดีที่โจทก์ทั้งสามสำนวนในฐานะผู้ร้องขอต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ไม่เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอของโจทก์ โดยฟ้องต่อศาลตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 65 วรรคสอง แต่เนื่องจากคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคล การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 16 เป็นรายบุคคลก็เป็นการฟ้องในฐานะที่จำเลยที่ 2 เป็นประธานกรรมการในคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า ส่วนจำเลยที่ 3 ถึงที่ 16 ก็เป็นการฟ้องในฐานะที่จำเลยที่ 3 ถึงที่ 16 เป็นกรรมการในคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า อันเป็นช่องทางที่กฎหมายให้สิทธิกระทำได้และโจทก์ก็ฟ้องคดีเพื่อให้คำสั่งของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าถูกเพิกถอนไปโดยคำพิพากษาของศาล ไม่ได้ฟ้องให้จำเลยที่ 3 ถึงที่ 16 ซึ่งเป็นกรรมการในคณะกรรมการเครื่องหมายการค้ารับผิดเป็นส่วนตัวแต่อย่างใด แม้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 6 ที่ 9 ที่ 11 ที่ 14 และที่ 15 จะไม่ได้เข้าร่วมประชุมในการประชุมของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าแต่ก็ต้องถูกผูกพันตามมติของที่ประชุมคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าในครั้งนั้น ย่อมไม่อาจกล่าวอ้างการที่ไม่ได้เข้าร่วมประชุมมาปฏิเสธอำนาจฟ้องของโจทก์ได้ ในส่วนของจำเลยที่ 1 กรมทรัพย์สินทางปัญญา เห็นว่า มาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติโอนอำนาจหน้าที่และกิจการบริหารบางส่วนของกรมทะเบียนการค้า พ.ศ.2534 บัญญัติให้โอนบรรดาอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับราชการกรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการปฏิบัติงานตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องหมายการค้าและกฎหมายว่าด้วยสิทธิบัตรไปเป็นของกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ การดำเนินการเกี่ยวกับการจดทะเบียนและการเปลี่ยนแปลงรายการทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 อยู่ในกรอบอำนาจหน้าที่และการควบคุมของกรมทรัพย์สินทางปัญญา จำเลยที่ 1 เพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติดังกล่าวทั้งหมด ดังนั้น การที่โจทก์ฟ้องกรมจำเลยที่ 1 ซึ่งมีอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาเป็นผู้แทนกรมจำเลยที่ 1 และเป็นประธานกรรมการในคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าด้วย ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 95 จึงเท่ากับเป็นการฟ้องอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งเป็นประธานกรรมการในคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ได้เช่นกัน อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยทั้งสิบหกทั้งสามสำนวนฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสิบหกทั้งสามสำนวนต่อไปว่า ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า เครื่องหมายการค้า ตามคำขอเลขที่ 332128 ทะเบียนเลขที่ ค.75608 เครื่องหมายการค้า ตามคำขอเลขที่ 386559 ทะเบียนเลขที่ ค.116909 และเครื่องหมายการค้า ตามคำขอเลขที่ 386560 ทะเบียนเลขที่ ค.120027 เป็นเครื่องหมายควบคุมและรับรองคุณภาพสินค้าของรัฐต่างประเทศเป็นการวินิจฉัยเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องและคำขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งสามเครื่องหมาย อันเป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบหรือไม่ ในปัญหานี้พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 8 (6) บัญญัติว่า “เครื่องหมายการค้าที่มีหรือประกอบด้วยลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ห้ามมิให้รับจดทะเบียน… (6)… เครื่องหมายราชการและเครื่องหมายควบคุมและรับรองคุณภาพสินค้าของรัฐต่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ…” ปรากฏตามคำขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งสามเครื่องหมายที่โจทก์ยื่นต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าว่า เหตุในการขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งสามเครื่องหมายดังกล่าวโจทก์ระบุว่า เครื่องหมายการค้าทั้งสามเครื่องหมายนั้นเป็นเครื่องหมายราชการของรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐเกาหลีซึ่งได้อนุญาตให้โจทก์แต่เพียงผู้เดียวมีสิทธิในการใช้และจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในหลายประเทศทั่วโลกรวมทั้งในประเทศไทย เครื่องหมายการค้าทั้งสามเครื่องหมายจึงมีลักษณะต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนตามมาตรา 8 (6) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 และตามคำฟ้องคดีนี้โจทก์ก็อ้างเหตุในการขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งสามเครื่องหมายนั้นว่า โจทก์เป็นบริษัทที่อยู่ในความดูแลของรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐเกาหลีมีวัตถุประสงค์ดำเนินการผลิตและจำหน่ายสินค้าโสมเกาหลีภายในประเทศและต่างประเทศโจทก์ได้รับอนุญาตแต่ผู้เดียวจากรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐเกาหลีให้มีสิทธิใช้และจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าซึ่งเป็นเครื่องหมายราชการของรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐเกาหลีเพื่อใช้กับสินค้าโสมแดงและผลิตภัณฑ์โสมแดงในหลายประเทศทั่วโลกรวมทั้งในประเทศไทย เครื่องหมายการค้าทั้งสามเครื่องหมายเป็นเครื่องหมายราชการของรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐเกาหลีอันมีลักษณะต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนตามมาตรา 8 (6) ดังกล่าวเช่นเดียวกันกับที่โจทก์ระบุในคำขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งสามเครื่องหมาย เห็นว่า นอกจากเครื่องหมายการค้าจะทำหน้าที่ระบุตัวสินค้าว่าเป็นสินค้าของผู้ผลิตรายใดและทำหน้าที่แยกแยะความแตกต่างของสินค้าที่ทำให้ประชาชนหรือผู้ใช้สินค้าสามารถเลือกซื้อสินค้าได้ถูกต้องตามที่ต้องการแล้ว เครื่องหมายการค้ายังทำหน้าที่ควบคุมและรับรองคุณภาพของสินค้า ในกรณีที่เจ้าของเครื่องหมายการค้าอนุญาตให้บุคคลอื่นใช้เครื่องหมายการค้านั้นด้วย ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้สินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้นไม่เป็นที่เชื่อมั่นของผู้บริโภคในคุณภาพของสินค้าซึ่งหน้าที่ของเครื่องหมายการค้าในการควบคุมและรับรองคุณภาพของสินค้านี้ปรากฏโดยนัยของมาตรา 68 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ซึ่งบัญญัติว่า
“เจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนแล้วจะทำสัญญาอนุญาตให้บุคคลอื่นใช้เครื่องหมายการค้าของตนสำหรับสินค้าที่ได้จดทะเบียนไว้ทั้งหมดหรือบางอย่างก็ได้
สัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าตามวรรคหนึ่ง ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อนายทะเบียน
การขอจดทะเบียนสัญญาอนุญาตดังกล่าวตามวรรคสอง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง แต่คำขอจดทะเบียนนั้นอย่างน้อยต้องแสดงรายการดังต่อไปนี้
(1) เงื่อนไขหรือข้อกำหนดระหว่างเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นและผู้ขอจดทะเบียนเป็นผู้ได้รับอนุญาต ที่จะทำให้เจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นสามารถควบคุมคุณภาพของสินค้าของผู้ขอจดทะเบียนเป็นผู้ได้รับอนุญาตได้อย่างแท้จริง
(2) สินค้าที่จะได้รับอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้านั้น”
ดังนี้ การที่โจทก์ระบุในคำฟ้องและในคำขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งสามเครื่องหมายว่า รัฐบาลแห่งสาธารณรัฐเกาหลีได้อนุญาตให้โจทก์แต่เพียงผู้เดียวมีสิทธิใช้เครื่องหมายการค้าทั้งสามเครื่องหมายซึ่งเป็นเครื่องหมายราชการของรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐเกาหลีกับสินค้าโสมเกาหลี โสมแดงและผลิตภัณฑ์โสมแดงย่อมแสดงให้เห็นอยู่ในตัวว่ารัฐบาลแห่งสาธารณรัฐเกาหลีประสงค์จะควบคุมคุณภาพของสินค้าโสมเกาหลี โสมแดง และผลิตภัณฑ์โสมแดงด้วย จึงอนุญาตให้โจทก์ใช้เครื่องหมายราชการทั้งสามเครื่องหมายของรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐเกาหลีกับสินค้าโสมเกาหลี โสมแดง และผลิตภัณฑ์โสมแดงที่โจทก์ผลิตออกจำหน่าย เครื่องหมายราชการทั้งสามเครื่องหมายของรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐเกาหลีจึงมีลักษณะเป็นเครื่องหมายควบคุมและรับรองคุณภาพสินค้าโสมเกาหลี โสมแดง และผลิตภัณฑ์โสมแดงของรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐเกาหลีซึ่งเป็นรัฐต่างประเทศอยู่ด้วย ดังนั้น ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า เครื่องหมายการค้าตามทะเบียน เครื่องหมายการค้าเลขที่ ค.75608 เลขที่ ค.116909 และเลขที่ ค.120027 เป็นเครื่องหมายควบคุมและรับรองคุณภาพสินค้าของรัฐต่างประเทศจึงเป็นการวินิจฉัยในประเด็นตามคำฟ้องและคำขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งสามเครื่องหมายไม่ใช่การวินิจฉัยเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องและคำขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งสามเครื่องหมายอันจะเป็นการไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 ตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสิบหกทั้งสามสำนวนแต่อย่างใด อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยทั้งสิบหกทั้งสามสำนวนฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสิบหกทั้งสามสำนวนในประเด็นสุดท้ายว่า พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า เครื่องหมายการค้า ตามคำขอเลขที่ 332128 ทะเบียนเลขที่ ค.75608 เครื่องหมายการค้า ตามคำขอเลขที่ 386559 ทะเบียนเลขที่ ค.116909 และเครื่องหมายการค้า ตามคำขอเลขที่ 386560 ทะเบียนเลขที่ ค.120027 เป็นเครื่องหมายราชการหรือเครื่องหมายควบคุมและรับรองคุณภาพสินค้าของรัฐต่างประเทศอันมีลักษณะต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนตามมาตรา 8 (6) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 หรือไม่ เห็นว่า การจะรับฟังว่าเครื่องหมายใดเป็นเครื่องหมายราชการหรือเครื่องหมายควบคุมและรับรองคุณภาพของสินค้าของรัฐต่างประเทศ ไม่มีบทบัญญัติตามกฎหมายใดกำหนดให้ต้องมีหนังสือรับรองของกระทรวงการต่างประเทศของประเทศนั้นมาแสดงเป็นพยานหลักฐานเท่านั้น จึงจะรับฟังได้ การวินิจฉัยข้อเท็จจริงในปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องที่ศาลต้องพิจารณาว่าพยานหลักฐานต่างๆ ที่นำมาแสดงมีความน่าเชื่อถือและสมเหตุสมผลให้รับฟังได้หรือไม่เป็นสำคัญ ซึ่งเห็นได้ว่าทั้งบันทึกคำให้การของนายจุง พนักงานฝ่ายธุรกิจต่างประเทศของโจทก์พร้อมคำแปลเอกสารกับบันทึกคำให้การของนายซุน ข้าราชการแผนกความร่วมมือระหว่างประเทศ สำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาแห่งสาธารณรัฐเกาหลีพร้อมคำแปลเอกสาร มีโนตารีปับลิกรับรองโดยเฉพาะอย่างยิ่งบันทึกคำให้การของนายซุน ข้าราชการแผนกความร่วมมือระหว่างประเทศ สำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาแห่งสาธารณรัฐเกาหลีซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในการตรวจสอบและรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในประเทศสาธารณรัฐเกาหลี ย่อมมีน้ำหนักให้รับฟังได้ยิ่งกว่าหนังสือรับรองจากกระทรวงการต่างประเทศแห่งสาธารณรัฐเกาหลีซึ่งไม่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงเกี่ยวกับการให้ความคุ้มครองแก่สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาในประเทศสาธารณรัฐเกาหลี บันทึกคำให้การของพยานทั้งสองตามพยานหลักฐานของโจทก์รับฟังได้โดยสรุปว่า รัฐบาลแห่งสาธารณรัฐเกาหลีได้ก่อตั้งแผนกควบคุมดูแลโสมเพื่อผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าโสมแดงและผลิตภัณฑ์โสมแดงมาตั้งแต่ปี 2442 ต่อมาปี 2451 ได้โอนแผนกควบคุมดูแลโสมไปสังกัดสำนักงานจัดเก็บภาษี กระทรวงการคลัง ในปี 2483 แผนกควบคุมดูแลโสมเริ่มนำเครื่องหมายอักษรจีนคำว่า ไปใช้กับสินค้าโสมแดงบรรจุกระป๋อง ปี 2491 แผนกควบคุมดูแลโสมถูกโอนไปยังกรมผูกขาดสินค้า ปี 2494 กรมผูกขาดสินค้าได้รับการยกสถานะเป็นสำนักงานผูกขาดสินค้า ปี 2530 สำนักงานผูกขาดสินค้าถูกแปรรูปเป็นโคเรีย โมโนโปลี คอร์ปอเรชัน (Korea Monopoly Corporation) โดยกระทรวงการคลังแห่งสาธารณรัฐเกาหลีเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด ปี 2532 โคเรีย โมโนโปลี คอร์ปอเรชัน ถูกปรับโครงสร้างเป็นโคเรีย โทแบกโก แอนด์ จินเซ็ง คอร์ปอเรชัน โดยกระทรวงการคลังแห่งสาธารณรัฐเกาหลีเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดเช่นกันและในปี 2542 มีการก่อตั้งบริษัทโจทก์ขึ้นเพื่อรับโอนกิจการโสมและธุรกิจโสมแดงจากโคเรีย โทแบกโก แอนด์ จินเซ็ง คอร์ปอเรชัน และโจทก์ยังมีหนังสือรับรองของสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาแห่งสาธารณรัฐเกาหลีที่ออกโดยอธิบดีหรือผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาแห่งสาธารณรัฐเกาหลีที่รับรองข้อเท็จจริงเช่นเดียวกัน พยานหลักฐานของโจทก์เป็นเอกสารที่น่าเชื่อถือ ซึ่งจำเลยทั้งสิบหกก็ไม่ได้นำสืบหักล้างพยานหลักฐานเหล่านี้ โดยจำเลยที่ 1 ในฐานะหน่วยงานราชการย่อมสามารถติดต่อสอบถามจากสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาแห่งสาธารณรัฐเกาหลีซึ่งเป็นหน่วยงานราชการด้วยกันได้โดยไม่ยาก และจำเลยที่ 1 ก็ทราบดีอยู่แล้วว่าหน่วยงานดังกล่าวเป็นผู้รับผิดชอบเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาในประเทศสาธารณรัฐเกาหลีดังที่ปรากฏในเว็บไซต์ของจำเลยที่ 1 ตามสิ่งที่พิมพ์ออกจากเว็บไซต์ แม้ว่าในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าโจทก์จะมีหน้าที่เสนอพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงตามคำขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้เป็นที่พอใจของคณะกรรมการ แต่เมื่อโจทก์ได้อุทธรณ์คำสั่งของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าโดยฟ้องต่อศาลเป็นคดีนี้กับได้เสนอพยานหลักฐานต่างๆ เหล่านั้นต่อศาล จำเลยทั้งสิบหกก็สามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยสอบถามจากสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาแห่งสาธารณรัฐเกาหลีหรือหน่วยงานราชการอื่นของสาธารณรัฐเกาหลีที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบในเรื่องนี้ เพื่อเป็นพยานหลักฐานในการนำมาหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ แต่จำเลยทั้งสิบหกก็หาได้ดำเนินการเช่นนั้นไม่ พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักและเหตุผลให้รับฟังได้มากกว่าพยานหลักฐานของจำเลยทั้งสิบหก ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามพยานหลักฐานของโจทก์ กล่าวคือ เครื่องหมายอักษรจีนคำว่า เป็นเครื่องหมายของรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐเกาหลีซึ่งเป็นผู้ใช้กับสินค้าโสมแดงกระป๋อง ถือได้ว่าเครื่องหมายอักษรจีนคำว่า เป็นเครื่องหมายราชการของรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐเกาหลี แม้ต่อมารัฐบาลแห่งสาธารณรัฐเกาหลีโดยกระทรวงการคลังได้ก่อตั้งโคเรีย โมโนโปลี คอร์ปอเรชัน เพื่อดำเนินกิจการผลิตและจำหน่ายสินค้าโสมแดงและผลิตภัณฑ์โสมแดงแทน โดยอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าอักษรจีนคำว่า และภายหลังมีการปรับโครงสร้างของโคเรีย โมโนโปลี คอร์ปอเรชัน เป็นโคเรีย โทแบกโก แอนด์ จินเซ็ง คอร์ปอเรชัน และในที่สุดมีการก่อตั้งบริษัทโจทก์ให้ดำเนินการนั้นและโจทก์ได้รับอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าอักษรจีนคำว่า ต่อไป การใช้เครื่องหมายการค้านี้ก็ต้องได้รับอนุญาตจากรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐเกาหลี จึงถือได้ว่าเครื่องหมายการค้าอักษรจีนคำว่า ยังคงเป็นเครื่องหมายราชการของรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐเกาหลีซึ่งเป็นรัฐต่างประเทศอยู่ และนอกจากนี้เครื่องหมายการค้าอักษรจีนคำดังกล่าวยังมีลักษณะเป็นเครื่องหมายควบคุมและรับรองคุณภาพสินค้าโสมเกาหลี โสมแดงและผลิตภัณฑ์โสมแดงของรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐเกาหลีซึ่งเป็นรัฐต่างประเทศด้วยดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น สำหรับเครื่องหมาย และเครื่องหมาย ที่โคเรีย โทแบกโก แอนด์ จินเซ็ง คอร์ปอเรชัน เป็นผู้เริ่มนำมาใช้กับสินค้าโสมแดงและผลิตภัณฑ์โสมแดง ก็เป็นเครื่องหมายที่มีอักษรจีนคำว่า อันเป็นเครื่องหมายราชการและเครื่องหมายควบคุมและรับรองคุณภาพสินค้าของรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐเกาหลีซึ่งเป็นรัฐต่างประเทศประกอบอยู่ด้วย โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าโคเรีย จินเซ็ง เซนเตอร์ ลิมิเต็ด ผู้ขอจดทะเบียนและผู้มีชื่อเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า ตามคำขอเลขที่ 332128 ทะเบียนเลขที่ ค.75608 และบริษัท ที.ที.เอ. เพอร์เฟคกรุ๊ป จำกัด ผู้ขอจดทะเบียนและผู้มีชื่อเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า ตามคำขอเลขที่ 386559 ทะเบียนเลขที่ ค.116909 และเครื่องหมายการค้า ตามคำขอเลขที่ 386560 ทะเบียนเลขที่ ค.120027 ได้รับอนุญาตจากผู้มีอำนาจหรือมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าทั้งสามเครื่องหมายนี้ให้มาจดทะเบียนในนามตนเองในประเทศได้ เมื่อเครื่องหมายการค้าทั้งสามเครื่องหมายเป็นเครื่องหมายที่มีลักษณะเป็นเครื่องหมายราชการและเครื่องหมายควบคุมและรับรองคุณภาพสินค้าของรัฐต่างประเทศ และเป็นเครื่องหมายที่ประกอบด้วยเครื่องหมายราชการและเครื่องหมายควบคุมและรับรองคุณภาพสินค้าของรัฐต่างประเทศ จึงเป็นเครื่องหมายการค้าที่มีหรือประกอบด้วยลักษณะต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนตามมาตรา 8 (6) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งสามเครื่องหมายตามคำฟ้องนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยทั้งสิบหกทั้งสามสำนวนฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
อนึ่ง โดยที่คดีนี้เป็นคดีที่โจทก์อุทธรณ์คำสั่งของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่มีคำสั่งไม่เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าโดยการฟ้องคดีต่อศาลตามมาตรา 65 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 เมื่อศาลเห็นว่ามีเหตุต้องเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าสำหรับเครื่องหมายการค้านั้นตามมาตรา 61 เช่นในคดีนี้แล้ว ศาลต้องพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ไม่เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าและพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นไปเสียทีเดียว ซึ่งมีผลให้การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าถูกเพิกถอนไปโดยคำพิพากษาของศาล ไม่ใช่พิพากษาให้คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเป็นผู้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นอีกดังที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษามา เรื่องนี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขเสียให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบมาตรา 26 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5)
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ตามคำขอเลขที่ 332128 ทะเบียนเลขที่ ค.75608 เครื่องหมายการค้า ตามคำขอเลขที่ 386559 ทะเบียนเลขที่ ค.116909 และเครื่องหมายการค้า ตามคำขอเลขที่ 386560 ทะเบียนเลขที่ ค.120027 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ