คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6996-6997/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คำฟ้องของโจทก์มีคำขอ 2 ข้อคือ ขอให้ศาลพิพากษาให้โจทก์จดทะเบียนรับจำเลยที่ 2 เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ และให้โจทก์มีอำนาจปกครอง อุปการะเลี้ยงดูจำเลยที่ 2 การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 2 ร่วมกันฟ้องแย้งขอให้โจทก์จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูจำเลยที่ 2 จึงเป็นข้อโต้แย้งเกี่ยวเนื่องจากคำขอของโจทก์นั่นเอง สมควรที่จะได้วินิจฉัยให้เสร็จไปในคราวเดียวกัน ไม่ต้องรอให้คดีที่โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์จนคำพิพากษาถึงที่สุดเสียชั้นหนึ่งก่อนแล้วจึงจะมาฟ้องขอเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูอีกในภายหลัง ถือได้ว่าฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสาม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจของบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ในตำแหน่งกัปตัน ปัจจุบันมีรายได้ประมาณเดือนละ 120,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจของบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ในตำแหน่งพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินและมีรายได้ปัจจุบันเดือนละประมาณ 70,000 บาท โจทก์กับจำเลยที่ 1 ชอบพอกันอยู่หลายปี แล้วได้จัดพิธีมงคลสมรสขึ้นเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2543 จากนั้นโจทก์กับจำเลยที่ 1 อยู่กินฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรสกันที่บ้านเลขที่ 59/234 อันเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ที่ปลูกสร้างสำหรับใช้เป็นเรือนหอและให้มารดากับน้องของโจทก์พักอาศัยแยกห้องเป็นส่วนสัดให้ในบ้านดังกล่าวด้วย หลังจากอยู่กินฉันสามีภริยากันได้ประมาณ 7 เดือน จำเลยที่ 1 กล่าวหาว่าโจทก์เป็นคนเจ้าชู้ซึ่งไม่เป็นความจริง แล้วจำเลยที่ 1 ย้ายไปพักอาศัยอยู่กับมารดาของจำเลยที่ 1 ที่บ้านเลขที่ 64/406 โจทก์พยายามอธิบายเรื่อยมาว่าโจทก์มิได้มีพฤติกรรมเจ้าชู้จนจำเลยที่ 1 เข้าใจจึงกลับมาอยู่กับโจทก์อีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน 2544 ต่อมาประมาณเดือนมีนาคม 2545 โจทก์ทราบว่าจำเลยที่ 1 ตั้งครรภ์จึงพาจำเลยที่ 1 ไปฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลกับฝากจำเลยที่ 1 ให้ทำงานอยู่ที่ฝ่ายโภชนาการของบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อมิให้จำเลยที่ 1 ต้องทำงานหนักและมีรายได้ต่อเนื่อง ประมาณเดือนมิถุนายน 2545 โจทก์กับจำเลยที่ 1 มีเรื่องบาดหมางไม่เข้าใจกันด้วยเรื่องที่จำเลยที่ 1 ประพฤติตัวไม่เหมาะสมต่อมารดาของโจทก์กับเรื่องที่จำเลยที่ 1 ระแวงว่าโจทก์ไปคบหญิงอื่นแล้วจำเลยที่ 1 ออกจากบ้านไปพักอาศัยอยู่กับมารดาจำเลยที่ 1 อีกครั้ง จนกระทั่งวันที่ 7 พฤศจิกายน 2545 จำเลยที่ 1 ได้คลอดจำเลยที่ 2 ที่โรงพยาบาล โจทก์ก็อยู่ที่โรงพยาบาลเพื่อให้กำลังใจด้วย ในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2545 โจทก์ไปแจ้งการเกิดของจำเลยที่ 2 ณ สำนักงานทะเบียนท้องถิ่นเขตหลักสี่ เมื่อจำเลยที่ 1 คลอดจำเลยที่ 2 แล้ว โจทก์ไปเยี่ยมจำเลยทั้งสองที่บ้านมารดาของจำเลยที่ 1 แต่ไม่ได้รับการต้อนรับ โจทก์พยายามไปเยี่ยมจำเลยทั้งสองเรื่อยมาและชวนจำเลยที่ 1 ให้กลับบ้านแต่จำเลยที่ 1 กลับแจ้งโจทก์ให้สร้างบ้านใหม่เพื่ออยู่กินลำพังสามคนโดยไม่ให้มารดาของโจทก์อยู่ด้วย โจทก์จึงไม่สามารถกระทำตามข้อเสนอของจำเลยที่ 1 ได้ ต่อจากนั้นประมาณปลายเดือนพฤษภาคม 2546 เป็นต้นมาจำเลยที่ 1 ก็ห้ามโจทก์มิให้พบจำเลยที่ 2 อีก วันที่ 14 กรกฎาคม 2546 โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอจดทะเบียนจำเลยที่ 2 เป็นบุตรต่อนายทะเบียนเขตหลักสี่และดำเนินการให้นายทะเบียนแจ้งการขอจดทะเบียนขอรับจำเลยที่ 2 เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวถึงจำเลยทั้งสองทั้งที่อยู่ตามทะเบียนบ้านและที่อยู่จริงของจำเลยทั้งสองแล้ว จำเลยทั้งสองไม่คัดค้านหรือไม่ให้ความยินยอมภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2546 อันเป็นวันที่การแจ้งของนายทะเบียนไปถึงจำเลยทั้งสอง โจทก์จึงไม่สามารถจดทะเบียนจำเลยที่ 2 เป็นบุตรได้ ประกอบกับจำเลยที่ 2 มีอายุเพียง 1 ปีเศษ ซึ่งยังไม่สามารถให้ความยินยอมเองต่อนายทะเบียนได้ โจทก์จึงต้องนำคดีมาฟ้อง ขอให้พิพากษาให้โจทก์จดทะเบียนจำเลยที่ 2 เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายได้ และให้โจทก์มีอำนาจปกครอง อุปการะเลี้ยงดูจำเลยที่ 2
จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่มีเจตนาจะรับผิดชอบผูกพันกับจำเลยที่ 2 ฉันบิดากับบุตรโดยแท้จริง เนื่องจากโจทก์ไม่เคยทำหน้าที่ผู้เป็นบิดาต่อจำเลยที่ 2 เช่นวิญญูชนพึงปฏิบัติทั้งที่มีโอกาสทำได้ โจทก์ฟ้องคดีนี้เพียงเพื่อจะให้บุคคลทั่วไปในสังคมตลอดจนผู้บังคับบัญชาและเพื่อนร่วมงานเห็นว่าโจทก์เป็นคนดีที่มีความรับผิดชอบอันจะก่อให้เกิดโอกาสเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานของโจทก์เอง เนื่องจากการเลื่อนตำแหน่งจากนักบินขึ้นเป็นกัปตันนั้น ผู้เป็นนักบินจะต้องไม่เสื่อมเสียในเรื่องความรับผิดชอบ หากโจทก์มีเจตนาบริสุทธิ์ก็น่าจะจดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 1 หรือจดทะเบียนจำเลยที่ 2 เป็นบุตรตามที่จำเลยที่ 1 ขอไปเสียนานแล้ว โจทก์ใช้สิทธิฟ้องคดีนี้โดยไม่สุจริต โจทก์ไม่สมควรใช้อำนาจปกครองจำเลยที่ 2 เนื่องจากโจทก์ขาดความรักและรับผิดชอบต่อจำเลยที่ 2 โดยทอดทิ้งจำเลยที่ 2 ตั้งแต่แรกเกิด โจทก์มิได้มีรายได้เดือนละ 120,000 บาท แน่นอน รายได้ของโจทก์ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับค่าปฏิบัติงานบนเครื่องบินว่ามากหรือน้อย โจทก์มีภาระหนี้สินจำนวนมาก มารดาของโจทก์ก็ป่วยจนไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ และพี่น้องของโจทก์ต่างก็มีครอบครัวต้องรับผิดชอบ ส่วนจำเลยที่ 1 และครอบครัวของจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายเลี้ยงดูจำเลยที่ 2 ตั้งแต่แรก จำเลยที่ 1 มีรายได้เดือนละ 70,000 บาท ถึง 100,000 บาท บุคคลในครอบครัวของจำเลยที่ 1 ล้วนมีฐานะมั่นคง อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีอันเหมาะสมแก่การเลี้ยงดูจำเลยที่ 2 ดังนั้น จำเลยที่ 1 ย่อมสามารถเลี้ยงดูให้ความรักและความอบอุ่นแก่จำเลยที่ 2 ได้ดียิ่งกว่าโจทก์มาก ขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 1 เท่านั้นเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองจำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 2 อยู่ในการดูแลของจำเลยที่ 1 พลอากาศโทคณิน คะบุศย์ กับนางมาลินี คะบุศย์ ได้จดทะเบียนรับจำเลยที่ 2 เป็นบุตรบุญธรรมโดยถูกต้องตามกฎหมายแล้วเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2547 อำนาจปกครองจำเลยที่ 2 จึงตกอยู่กับผู้รับบุตรบุญธรรมทั้งสอง โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องร้องเรียกอำนาจปกครองจำเลยที่ 2 อีกต่อไป ขอให้ยกฟ้อง หากศาลพิพากษาให้โจทก์จดทะเบียนจำเลยที่ 2 เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายอันจะเป็นเหตุให้โจทก์มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมจำเลยที่ 2 ขอฟ้องแย้งให้บังคับโจทก์จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูจำเลยที่ 2 เดือนละ 50,000 บาท นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาจนกว่าจำเลยที่ 2 จะบรรลุนิติภาวะและจบการศึกษาจนสามารถเลี้ยงดูตนเองได้ และกำหนดให้โจทก์จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูจำเลยที่ 2 เพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 10 ของจำนวนเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูที่ต้องชำระทุกปีด้วย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองเป็นฟ้องแย้งที่มีเงื่อนไข จึงไม่รับฟ้องแย้ง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฟ้องแย้ง
ระหว่างพิจารณาจำเลยที่ 1 แถลงขอรับข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นบิดาของจำเลยที่ 2 ที่แท้จริง ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งงดการชี้สองสถานและงดการสืบพยานโจทก์จำเลยทั้งสอง โดยเห็นว่าสามารถวินิจฉัยชี้ขาดคดีได้โดยไม่ต้องสืบพยาน
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 เป็นบุตรของโจทก์ ให้โจทก์จดทะเบียนจำเลยที่ 2 เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่งดชี้สองสถานและงดการสืบพยานกับอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งไม่รับฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสอง ให้ศาลชั้นต้นรับฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองไว้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป ยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่งดการชี้สองสถานและงดการสืบพยานกับยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อจากการรับฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองต่อไปแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า ฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสาม หรือไม่ ได้ความว่า ตามคำฟ้องของโจทก์มีคำขอท้ายฟ้อง 2 ประการ คือ ขอให้ศาลพิพากษาให้โจทก์จดทะเบียนรับเด็กหญิงญานิศา ตัณฑประศาสน์ หรือณิณญา คะบุศย์ จำเลยที่ 2 เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ และขอให้ศาลพิพากษาให้โจทก์มีอำนาจปกครอง อุปการะเลี้ยงดูจำเลยที่ 2 ดังนี้ การที่จำเลยทั้งสองฟ้องแย้งขอให้โจทก์จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูจำเลยที่ 2 จึงเป็นข้อโต้แย้งเกี่ยวเนื่องจากคำขอท้ายฟ้องของโจทก์นั่นเอง สมควรที่จะได้วินิจฉัยให้เสร็จไปในคราวเดียวกันไม่เยิ่นเย้อที่จะต้องรอให้คดีที่โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าจำเลยที่ 2 เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์จนคำพิพากษาถึงที่สุดเสียชั้นหนึ่งก่อนแล้วจึงจะมาฟ้องขอเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูอีกในภายหลัง กรณีถือได้ว่าฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสาม ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวมีคำพิพากษาให้ศาลชั้นต้นรับฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองไว้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share