แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
แม้ตามสัญญาเช่าซื้อจะระบุว่า ถ้าผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้องวดหนึ่งงวดใดถือว่าสัญญาเลิกกันทันทีโดยไม่ต้องบอกกล่าวก่อน ผู้เช่าซื้อยอมให้เจ้าของริบบรรดาเงินค่าเช่าซื้อที่ได้ชำระทั้งหมดเป็นของเจ้าของ และยอมส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าซื้อคืนแก่เจ้าของโดยพลัน แต่เมื่อโจทก์ที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อไม่ตรงตามกำหนดเวลาที่ระบุในสัญญา จำเลยยอมรับค่าเช่าซื้อไว้ไม่ทักท้วง แสดงว่าคู่สัญญาไม่ถือเอากำหนดเวลาชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาเป็นสาระสำคัญ ต่อมาโจทก์ที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 35 เป็นเวลา 9 งวด จำเลยมีหนังสือขอให้ชำระหนี้บอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ทั้งสองแจ้งให้มาติดต่อชำระหนี้ภายใน 15 วัน หากพ้นกำหนดขอถือเอาหนังสือดังกล่าวเป็นการแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญา การที่โจทก์ที่ 1 ได้ติดต่อกับจำเลยภายในกำหนดระยะเวลาตามหนังสือดังกล่าว และชำระหนี้ให้แก่จำเลยเป็นเช็ค 5 ฉบับ แล้วจำเลยยอมรับเช็คดังกล่าวไว้นำไปเรียกเก็บเงินได้ 3 ฉบับ แสดงว่าจำเลยยอมรับชำระหนี้จากโจทก์ที่ 1 ตามเงื่อนไขในหนังสือขอให้ชำระหนี้บอกเลิกสัญญาและยินยอมให้โจทก์ที่ 1 ครอบครองใช้รถยนต์ได้ ถือว่าจำเลยประสงค์จะให้สัญญาเช่าซื้อมีผลบังคับกันต่อไป ครั้นเมื่อเช็คฉบับที่สี่และที่ห้าเรียกเก็บเงินไม่ได้ โจทก์ที่ 1 จึงผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อในงวดดังกล่าวอีก หากจำเลยประสงค์จะบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ที่ 1 จะต้องบอกกล่าวให้โจทก์ที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระภายในเวลาอันสมควรเสียก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 387 เมื่อจำเลยยังไม่บอกเลิกสัญญา สัญญาเช่าซื้อจึงยังไม่เลิกกัน โจทก์ที่ 1 จึงยังไม่เป็นฝ่ายผิดสัญญา
หลังจากโจทก์ที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตามเช็คฉบับที่สี่และที่ห้าแล้วจำเลยได้ยึดรถยนต์คันที่เช่าซื้อจากโจทก์ที่ 1 โจทก์ทั้งสองทราบว่า จำเลยมายึดรถยนต์คืน โจทก์ทั้งสองก็ไม่เคยโต้แย้งคัดค้านการยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อจากจำเลยอย่างใด โจทก์ที่ 1 เพิ่งจะมอบให้ทนายความมีหนังสือขอให้จำเลยส่งมอบรถยนต์คืนหลังเวลาล่วงเลยมาถึง 5 เดือน ตามพฤติการณ์ฟังได้ว่าโจทก์ที่ 1 ยินยอมให้จำเลยยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโดยไม่คัดค้าน ถือว่าโจทก์ที่ 1 กับจำเลยสมัครใจเลิกสัญญากันโดยปริยาย คู่สัญญาต้องกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง เมื่อสัญญาเลิกกันด้วยเหตุอื่นมิใช่การเลิกสัญญาที่มีผลมาจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดสัญญาตามสัญญาเช่าซื้อ คู่สัญญาจึงไม่มีสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาอีกต่อไป การที่จำเลยยึดรถยนต์คืนจึงไม่ทำให้โจทก์ที่ 1 ได้รับความเสียหายขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อ โจทก์ที่ 1 ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกรถยนต์คืนหรือให้ใช้ราคาแทนและเรียกค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์จากจำเลยได้ ส่วนจำเลยก็ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าติดตามรถ ค่าขาดราคาจากค่าเช่าซื้อที่ต้องชำระโดยอาศัยข้อสัญญาตามสัญญาเช่าซื้อที่ระงับไปแล้วได้ แต่สัญญาเช่าซื้อเลิกกันนับแต่วันที่จำเลยได้รับรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนจากโจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 1 จะต้องใช้เงินเป็นค่าเสียหายแก่จำเลยในการใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อในระหว่างที่ยังไม่ได้ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนตามค่าแห่งการนั้น ๆ ด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคสาม โจทก์ที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดร่วมกับโจทก์ที่ 1 ต้องรับผิดค่าเสียหายดังกล่าวร่วมกับโจทก์ที่ 1 ด้วย
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิจารณาพิพากษารวมกันโดยให้เรียกโจทก์สำนวนแรกและจำเลยที่ 1 สำนวนที่สองว่า โจทก์ที่ 1 เรียกจำเลยที่ 2 สำนวนที่สองว่า โจทก์ที่ 2 เรียกจำเลยสำนวนแรกและโจทก์สำนวนที่สองว่า จำเลย
โจทก์สำนวนแรกฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ และให้โจทก์ชำระค่างวดเช่าซื้อตามปกติต่อไปจนกว่าจะครบ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ค่าเสียหายเดือนละ 50,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าระยะเวลาค่างวดเช่าซื้อสิ้นสุดลง กับให้จำเลยใช้ค่าขาดประโยชน์จำนวน 250,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยสำนวนแรกให้การ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยในฐานะโจทก์สำนวนที่สองฟ้องขอให้บังคับโจทก์ทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 911,033.90 บาท พร้อมดอกเบี้ย
โจทก์ทั้งสองในฐานะจำเลยในสำนวนที่สองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 442,800 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย และยกฟ้องโจทก์ที่ 1 ในสำนวนแรก คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อในสภาพเรียบร้อยใช้การได้คืนโจทก์ที่ 1 หากส่งคืนไม่ได้ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเดือนละ 20,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 24 สิงหาคม 2541) จนกว่าจะครบกำหนดระยะเวลาชำระค่าเช่าซื้อ และให้โจทก์ทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 197,200.09 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์ที่ 1 ได้เช่าซื้อรถยนต์ยี่ห้อเบนซ์ อี 220 จากจำเลยในราคา 2,781,309 บาท ตกลงผ่อนชำระรวมค่าภาษีมูลค่าเพิ่มงวดละ 49,600 บาท เริ่มชำระวันที่ 27 มกราคม 2537 และงวดต่อไปทุกวันที่ 27 ของเดือนถัดไปจนกว่าจะครบโดยมีโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของโจทก์ที่ 1 เป็นผู้ค้ำประกันและยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม โจทก์ที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อแก่จำเลยรวม 34 งวด แล้วผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 35 จำเลยมีหนังสือขอให้ชำระหนี้บอกเลิกสัญญา แจ้งให้โจทก์ทั้งสองมาติดต่อชำระหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อภายใน 15 วัน นับถัดจากวันที่ลงในหนังสือ หากพ้นกำหนดให้ถือเอาหนังสือดังกล่าวเป็นการแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ โจทก์ที่ 1 ได้ติดต่อกับจำเลยภายในระยะเวลาที่จำเลยกำหนดแล้วสั่งจ่ายเช็คชำระเงินให้แก่จำเลยรวม 5 ฉบับ ต่อมาเช็คฉบับที่สี่และที่ห้าเรียกเก็บเงินไม่ได้ จำเลยจึงยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนจากโจทก์ที่ 1 คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า สัญญาเช่าซื้อเลิกกันหรือไม่ เห็นว่า แม้ตามสัญญาเช่าซื้อจะระบุว่า ถ้าผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้องวดหนึ่งงวดใดถือว่าสัญญาเลิกกันทันทีโดยไม่ต้องบอกกล่าวก่อน และผู้เช่าซื้อยอมให้เจ้าของริบบรรดาเงินค่าเช่าซื้อที่ได้ชำระทั้งหมดเป็นของเจ้าของ และผู้เช่าซื้อยอมส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าซื้อคืนแก่เจ้าของโดยพลัน แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่าในการชำระค่าเช่าซื้อโจทก์ที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อไม่ตรงตามกำหนดเวลาที่ระบุในสัญญา จำเลยยอมรับค่าเช่าซื้อไว้ไม่ทักท้วง ตามใบเสร็จรับเงิน แสดงว่าคู่สัญญาไม่ถือเอากำหนดเวลาชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาเป็นสาระสำคัญ ต่อมาเมื่อโจทก์ที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 35 เป็นเวลา 9 งวด จำเลยมีหนังสือขอให้ชำระหนี้บอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ทั้งสองแจ้งให้มาติดต่อชำระหนี้ภายใน 15 วัน นับถัดจากวันที่ลงในหนังสือ หากพ้นกำหนดขอถือเอาหนังสือดังกล่าวเป็นการแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญา การที่โจทก์ที่ 1 ได้ติดต่อกับจำเลยภายในกำหนดระยะเวลาตามหนังสือดังกล่าว และชำระหนี้ให้แก่จำเลยเป็นเช็ค 5 ฉบับ โดยกำหนดเวลาชำระตั้งแต่เดือนกันยายน 2540 ถึงเดือนพฤศจิกายน 2540 แล้วจำเลยยอมรับเช็คดังกล่าวไว้นำไปเรียกเก็บเงินได้ 3 ฉบับ แสดงว่าจำเลยยอมรับชำระหนี้จากโจทก์ที่ 1 ตามเงื่อนไขในหนังสือขอให้ชำระหนี้บอกเลิกสัญญาและยินยอมให้โจทก์ที่ 1 ครอบครองใช้รถยนต์ได้ ถือว่าจำเลยประสงค์จะให้สัญญาเช่าซื้อมีผลบังคับกันต่อไป ครั้งเมื่อเช็คฉบับที่สี่และห้าเรียกเก็บเงินไม่ได้ โจทก์ที่ 1 จึงผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อในงวดดังกล่าวอีก หากจำเลยประสงค์จะบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ที่ 1 จะต้องบอกกล่าวให้โจทก์ที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระภายในเวลาอันควรเสียก่อน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 เมื่อจำเลยยังไม่บอกเลิกสัญญา สัญญาเช่าซื้อจึงยังไม่เลิกกัน และเนื่องจากกำหนดระยะเวลาการชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาไม่เป็นสาระสำคัญ โจทก์ที่ 1 จึงยังไม่เป็นฝ่ายผิดสัญญา แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่า หลังจากโจทก์ที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตามเช็คในงวดเดือนตุลาคม 2540 และเดือนพฤศจิกายน 2540 แล้ว จำเลยได้มายึดรถยนต์คันที่เช่าซื้อคืนจากโจทก์ที่ 1 ซึ่งแม้โจทก์ที่ 2 จะไม่อยู่ที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดโจทก์ที่ 1 แต่นายกนก ปานวงศ์ พยานจำเลยก็เบิกความว่าขณะขอยึดรถยนต์คืนเลขานุการของโจทก์ที่ 2 แจ้งว่าต้องรอติดต่อโจทก์ที่ 2 ก่อนหลังจากนั้นประมาณ 30 นาที ก็นำกุญแจรถยนต์มาส่งมอบให้และขอนำทรัพย์สินของโจทก์ที่ 2 ออกจากรถยนต์ พยานได้ทำหลักฐานใบรับมอบรถและแจ้งสภาพรถให้ไว้ ซึ่งโจทก์ที่ 2 ก็เบิกความยอมรับว่า วันยึดรถยนต์พนักงานของจำเลยได้ออกใบรับมอบรถให้โจทก์ที่ 1 ด้วย และพนักงานของจำเลยได้มอบหลักฐานใบรับมอบรถและแจ้งสภาพรถให้แก่โจทก์ที่ 2 แล้ว เจือสมข้อนำสืบของจำเลย ทั้งข้อเท็จจริงยังได้ความว่า หลังจากโจทก์ทั้งสองทราบว่า จำเลยมายึดรถยนต์คืน โจทก์ทั้งสองก็ไม่เคยโต้แย้งคัดค้านการยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนจากจำเลยอย่างใด โจทก์ที่ 1 เพิ่งจะมอบให้ทนายความมีหนังสือขอให้จำเลยส่งมอบรถยนต์คืนเมื่อเวลาล่วงเลยมาถึง 5 เดือน เช่นนี้ตามพฤติการณ์ฟังได้ว่าโจทก์ที่ 1 ยินยอมให้จำเลยยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโดยไม่คัดค้าน ถือว่าโจทก์ที่ 1 กับจำเลยสมัครใจเลิกสัญญากันโดยปริยาย คู่สัญญาต้องกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคหนึ่ง เมื่อสัญญาเลิกกันด้วยเหตุอื่นมิใช่เป็นการเลิกสัญญาที่มีผลมาจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดสัญญาตามสัญญาเช่าซื้อ คู่สัญญาจึงไม่มีสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาอีกต่อไป การที่จำเลยยึดรถยนต์คืนจึงไม่ทำให้โจทก์ที่ 1 ได้รับความเสียหายขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อ โจทก์ที่ 1 ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกรถยนต์คืนหรือให้ใช้ราคาแทนและเรียกค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์จากจำเลยได้ ส่วนจำเลยก็ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าติดตามรถ ค่าขาดราคารถจากค่าเช่าซื้อที่ต้องชำระโดยอาศัยข้อสัญญาตามสัญญาเช่าซื้อซึ่งระงับไปแล้วได้ แต่สัญญาเช่าซื้อเลิกกันนับแต่วันที่จำเลยได้รับรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนจากโจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 1 จะต้องใช้เงินเป็นค่าเสียหายแก่จำเลยในการใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อในระหว่างที่ยังไม่ได้ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนตามค่าแห่งการนั้น ๆ ด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคสาม ซึ่งปรากฏตามใบเสร็จรับเงินว่า โจทก์ที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วนถึงงวดที่ 34 ประจำวันที่ 27 มกราคม 2540 แล้วผิดนัดตั้งแต่งวดที่ 35 และต่อมาจำเลยได้รับชำระค่าเช่าซื้อตามเช็คอีก 3 ฉบับ รวม 3 งวด จำเลยย่อมได้รับความเสียหายขาดประโยชน์ในระหว่างที่โจทก์ที่ 1 ไม่ชำระค่าเช่าซื้อจนถึงวันยึดรถยนต์คืนเป็นเวลา 7 เดือน เมื่อคำนึงถึงราคารถยนต์เช่าซื้อประกอบค่าเช่าซื้อที่โจทก์ที่ 1 ได้ชำระไปแล้ว และทางได้เสียของจำเลยทั้งหมดแล้ว เห็นควรกำหนดค่าขาดประโยชน์ให้เดือนละ 20,000 บาท รวมเป็นค่าขาดประโยชน์ 140,000 บาท โจทก์ที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดร่วมกับโจทก์ที่ 1 ต้องรับผิดค่าเสียหายดังกล่าวร่วมกับโจทก์ที่ 1 ด้วย ฎีกาจำเลยฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 1 ในสำนวนแรก ส่วนสำนวนที่สองให้โจทก์ทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 140,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 24 สิงหาคม 2541) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย