แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ตัวแทนเชิกที่เกิดขึ้นโดยผลของกฎหมายไม่จำเป็นต้องมีหลักฐานการตั้งตัวแทนไว้ชัดแจ้งเหมือนกรณีสัญญาตั้งตัวแทนตามปกติธรรมดาทั่วไป
จำเลยที่ 1 รู้และยินยอมให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 นำที่ดินจัดสรรออกขายแก่บุคคลภายนอกซึ่งรวมทั้งที่ดินพิพาทด้วย ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เชิดจำเลยที่ 2 และที่ 3 ออกแสดงเป็นตัวแทนของตนหรือรู้อยู่แล้วยอมให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 เชิดตัวเองออกเป็นตัวแทนของตน จำเลยที่ 1 จึงต้องผูกพันต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกในกิจการที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้กระทำไปเสมือนว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้กระทำไปเสมือนว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นตัวแทนของตน
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกันโดยให้เรียกโจทก์ในสำนวนแรกว่าโจทก์ที่ 1 เรียกโจทก์ในสำนวนหลังว่าโจทก์ที่ 2 ส่วนจำเลยทั้งห้าให้คงเดิม
โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยทั้งสองสำนวน ขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทกลับมาเป็นกรรมสิทธิ์ของจำลยที่ 1 และให้จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งสอง โดยปลอดจากภาระจำนองหรือภาระผูกพันใดๆ ให้จำเลยทั้งห้าเป็นผู้เสียค่าธรรมเนียมและค่าภาษีการโอน กับให้จำเลยที่ 1 รับเงินค่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่คงเหลือจากโจทก์ทั้งสองหากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทน หากจำเลยทั้งห้าไม่สามารถปฏิบัติตามก็ขอให้ร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ทั้งสองคนละ 559,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยแต่งตั้งให้จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนในการจัดสรรทาวน์เฮ้าส์และอาคารพาณิชย์ขายให้แก่ประชาชนตามฟ้อง การที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทไปยังจำเลยที่ 4 นั้น เป็นการโอนโดยสุจริตมีค่าตอบแทน ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 146785 และ 146786 ตำบลประเวศ อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร ระหว่างจำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 กลับมาเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 และให้จำเลยที่ 1 โอนขายที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 โดยปลอดจากภาระผูกพันใดๆ โดยค่าใช้จ่ายของจำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 กับให้จำเลยที่ 1 รับเงินจากโจทก์ที่ 1 จำนวน 509,000 บาท รับเงินจากโจทก์ที่ 2 จำนวน 549,000 บาท หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา หากไม่สามารถปฏิบัติตามได้ให้ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 คนละ 300,000 บาท และให้คืนเงินมัดจำแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 อีกคนละ 50,000 บาท และ 10,000 บาท ตามลำดับ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นปีทั้งสองจำนวนนับถัดจากวันที่ 10 ตุลาคม 2538 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง ยกฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า หากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา หากไม่สามารถปฏิบัติตามได้ให้ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 คนละ 100,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดสืบพยานจำเลยที่ 1
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ที่ดินพิพาททั้งสองสำนวนเดิมมีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ โจทก์ทั้งสองทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 เชิดให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นตัวแทนทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างกับโจทก์ทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า จากคำเบิกความโจทก์ทั้งสอง โดยฝ่ายจำเลยมิได้นำสืบหักล้าง จำเลยที่ 1 รู้และยินยอมให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 นำที่ดินจัดสรรออกขายแก่บุคคลภายนอกซึ่งรวมทั้งที่ดินพิพาทด้วย ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เชิดจำเลยที่ 2 และที่ 3 ออกแสดงเป็นตัวแทนของตนหรือรู้แล้วยอมให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 เชิดตัวเองออกแสดงเป็นตัวแทนของตน จำเลยที่ 1 จึงต้องผูกพันต่อโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นบุคคลภายนอกในกิจการที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้กระทำเสมือนว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นตัวแทนของตนโดยจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดโอนที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์ทั้งสองตามสัญญาในฐานะตัวการ ซึ่งโจทก์ทั้งสองนำพยานบุคคลและพยานเอกสารเข้าสืบแสดงถึงพฤติการณ์แวดล้อมต่างๆ เป็นที่น่าเชื่อถือเต็มตามที่ตนมีภาระการพิสูจน์จนข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่อ้างมาในคำฟ้องแล้ว มิใช่โจทก์ทั้งสองไม่สามารถนำพยานหลักฐานมาสืบตามภาระของตน ทั้งพยานโจทก์ทั้งสองมิได้ขัดแย้งกันดังที่จำเลยที่ 1 ฎีกา เนื่องจากในกรณีตัวแทนเชิดเกิดขึ้นโดยผลของกฎหมายไม่จำเป็นต้องมีหลักฐานการตั้งตัวแทนไว้ชัดแจ้งเหมือนกรณีสัญญาตั้งตัวแทนตามปกติธรรมดาทั่วไป ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน