คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2991-2992/2549

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้คดีจะยังไม่ถึงที่สุดแต่ศาลแรงงานกลางก็ได้วินิจฉัยไว้แล้วว่าโจทก์มิได้กระทำความผิดหรือบกพร่องต่อหน้าที่ตามข้อกล่าวหาที่จำเลยอ้างเป็นเหตุแห่งการออกคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ เมื่อคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางยังมิได้ถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับ หรือให้งดเสีย จึงมีผลผูกพันจำเลยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานฯ มาตรา 31 จึงต้องถือว่ากรณีปรากฏว่าโจทก์ไม่ได้กระทำความผิด จำเลยจึงต้องจ่ายค่าจ้างในระหว่างพักงานให้แก่โจทก์ ตามข้อบังคับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคว่าด้วยระเบียบพนักงาน พ.ศ.2517 ข้อ 52 (1)
ส่วนที่จำเลยทั้งสิบห้าอุทธรณ์ว่า ลูกจ้างที่จะได้รับการคุ้มครองจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานฯ มาตรา 49 จะต้องเป็นลูกจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ จำเลยที่ 1 เป็นรัฐวิสาหกิจ โจทก์เป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ มีความสัมพันธ์กันภายใต้ พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ฯ ไม่ใช่นายจ้างลูกจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ จึงไม่อาจนำ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานฯ มาตรา 49 มาใช้บังคับได้ และกรณีที่จะถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามมาตราดังกล่าว จะต้องเป็นกรณีที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยอ้างว่าลูกจ้างกระทำความผิดตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 119 (1) ถึง (5) ข้อใดข้อหนึ่ง แต่ลูกจ้างไม่ได้กระทำความผิด จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะบกพร่องต่อหน้าที่ไม่ได้เลิกจ้างโดยอ้างเหตุว่าโจทก์กระทำความผิดดังกล่าวจะถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมไม่ได้ เห็นว่า พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานฯ มาตรา 49 บัญญัติว่า “การพิจารณาคดีในกรณีนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง ถ้าศาลแรงงานเห็นว่าการเลิกจ้างลูกจ้างผู้นั้นไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง ศาลแรงงานอาจสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างผู้นั้นกลับเข้าทำงานต่อไปในอัตราค่าจ้างที่ได้รับในขณะที่เลิกจ้าง ถ้าศาลแรงงานเห็นว่าลูกจ้างกับนายจ้างไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปได้ ให้ศาลแรงงานกำหนดจำนวนค่าเสียหายให้นายจ้างชดใช้ให้แทน…” บทบัญญัติดังกล่าวเป็นบทบัญญัติคุ้มครองลูกจ้างเพื่อมิให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม โดยให้อำนาจศาลแรงงานที่พิจารณาคดีเลิกจ้างมีอำนาจใช้ดุลพินิจสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงาน หรือให้นายจ้างชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ลูกจ้างแทนการรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานทุกคดี รวมทั้งคดีที่นายจ้างเป็นรัฐวิสาหกิจ มิได้จำกัดอยู่เฉพาะแต่คดีที่นายจ้างเป็นเอกชนหรือคู่กรณีเป็นนายจ้างลูกจ้างกันตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ เท่านั้น คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ถูกเลิกจ้างโดยไม่ได้กระทำความผิด ขอให้บังคับจำเลยทั้งสิบห้ารับโจทก์กลับเข้าทำงานและชดใช้เงินต่าง ๆ เป็นคดีที่ต้องพิจารณาในกรณีนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง ศาลแรงงานกลางจึงนำ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 มาใช้บังคับได้ และการที่จะพิจารณาว่าการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม อันเป็นเหตุให้นายจ้างต้องรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานหรือชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ลูกจ้างตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 หรือไม่ ต้องพิจารณาที่เหตุแห่งการเลิกจ้างว่ามีเหตุจริงหรือไม่ และเหตุนั้นเป็นเหตุสมควรที่นายจ้างจะเลิกจ้างหรือไม่ ซึ่งเหตุดังกล่าวอาจเป็นเหตุที่เกิดขึ้นจากการกระทำของลูกจ้าง หรือเหตุอื่น ที่ไม่ใช่ความผิดของลูกจ้างก็ได้ ส่วนการเลิกจ้างที่นายจ้างซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยจะต้องปรากฏว่าลูกจ้างได้กระทำความผิดตามที่บัญญัติไว้ในระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 ข้อ 46 (1) ถึง (6) ข้อใดข้อหนึ่ง เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์มิได้กระทำความผิดหรือบกพร่องต่อหน้าที่ดังที่จำเลยอ้างเป็นเหตุแห่งการเลิกจ้าง จึงเป็นการเลิกจ้างโดยไม่มีเหตุสมควร อันเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
สำหรับคดีสำนวนแรกซึ่งศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 1 ที่สั่งพักงานโจทก์ และให้โจทก์กลับเข้าทำงานตามเดิมนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏในคดีสำนวนหลังว่าโจทก์มีอายุพ้นเกณฑ์ที่จะเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 แล้ว จึงไม่อาจให้โจทก์กลับเข้าทำงานตามเดิมต่อไปได้ และศาลแรงงานกลางได้พิพากษากำหนดจำนวนค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ให้จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ที่ 6 ที่ 7 ที่ 9 ที่ 10 และที่ 12 ถึงที่ 15 ชดใช้แทนการรับโจทก์กลับเข้าทำงานครอบคลุมถึงความเสียหายของโจทก์ตั้งแต่วันที่โจทก์ถูกจำเลยที่ 1 สั่งพักงานจนถึงวันเลิกจ้างด้วยแล้ว จึงไม่จำต้องพิจารณาว่าคำสั่งพักงานของจำเลยที่ 1 เป็นคำสั่งที่ชอบหรือไม่ มีเหตุที่จะเพิกถอนและให้โจทก์กลับเข้าทำงานตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางหรือไม่ เพราะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่โจกท์ ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ชอบที่จะให้จำหน่ายคดีสำนวนแรกเสีย

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานมีคำสั่งให้รวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน โดยให้เรียกจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 2 ในคดีสำนวนหลัง ซึ่งเป็นจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในคดีสำนวนแรกเป็นจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ตามลำดับ
คดีสำนวนแรก โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องโดยขอให้ศาลมีคำสั่งว่า คำสั่งการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ที่ 4/2545 ที่สั่งให้โจทก์หยุดปฏิบัติหน้าที่ คำสั่งการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคที่ กฟภ. 7/2545 ที่แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยโจทก์ และคำสั่งการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ที่ กฟภ. 8/2545 ที่สั่งพักงานโจทก์เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ ให้เพิกถอนเสีย และให้โจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคตามเดิม ห้ามไม่ให้จำเลยทั้งสิบห้าสั่งพักงานโจทก์อีก
ระหว่างการพิจารณา โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 15 ศาลแรงงานกลางอนุญาตและให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 ถึงที่ 15 และโจทก์ไม่ติดใจเกี่ยวกับคำสั่งการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคที่ 4/2545 และ กฟภ. 7/2545 ตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 19 เมษายน 2545 และคำร้องของโจทก์ลงวันที่ 27 มิถุนายน 2545
จำเลยที่ 1 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคที่ กฟภ. 8/2545 เรื่อง พักงาน และให้โจทก์กลับเข้าทำงานตามเดิม คำขออื่นให้ยก
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
คดีสำนวนหลังโจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ที่ กฟภ. 15/2545 เรื่อง ให้พนักงานออกจากตำแหน่ง ลงวันที่ 21 สิงหาคม 2545 คำสั่งการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ที่ กฟภ. 7/2545 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย ลงวันที่ 15 มีนาคม 2545 และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2545 ที่เห็นชอบตามมติคณะกรรมการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ให้จำเลยทั้งสิบห้ารับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งเดิมโดยได้รับค่าจ้าง สวัสดิการตลอดจนสิทธิต่าง ๆ ตามกฎหมาย และร่วมกันชำระเงินดังกล่าวข้างต้นพร้อมดอกเบี้ยและเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 15 ทุกระยะเวลา 7 วัน ของเงินค่าจ้างค้างจ่าย นับแต่วันที่ 27 มีนาคม 2545 และของเงินอื่นนับแต่วันที่ 21 สิงหาคม 2545 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสิบห้าให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคที่ กฟภ. 15/2545 เรื่อง ให้พนักงานออกจาตำแหน่ง ลงวันที่ 21 สิงหาคม 2545 ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 6 ที่ 7 ที่ 9 ที่ 10 และที่ 12 ถึงที่ 15 ร่วมกันชำระสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 116,064 บาท ค่าจ้างค้างจ่าย 551,304 บาท เงินโบนัสประจำปี 2545 จำนวน 96,720 บาท และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 1,500,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 2,264,088 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ สำหรับดอกเบี้ยของเงินค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมให้นับแต่วันพิพากษา (วันที่ 29 ธันวาคม 2546) ส่วนดอกเบี้ยของเงินอื่นให้นับแต่วันที่ 21 สิงหาคม 2545 โดยจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ที่ 6 ที่ 7 ที่ 9 ที่ 10 และที่ 12 ถึงที่ 15 ไม่ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัว คำขออื่นและคดีสำหรับจำเลยที่ 5 ที่ 8 และที่ 11 ให้ยก
โจทก์และจำเลยทั้งสิบห้าอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า เห็นสมควรวินิจฉัยคดีสำนวนหลังซึ่งโจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยโจทก์ คำสั่งให้โจทก์ออกจากตำแหน่งและมติเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ให้จำเลยทั้งสิบห้ารับโจทก์กลับเข้าทำงานและชำระเงินต่าง ๆ ให้แก่โจทก์เสียก่อน คดีดังกล่าวศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทรัฐวิสาหกิจ จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พ.ศ.2503 มีคณะกรรมการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเป็นผู้วางนโยบายและควบคุมดูแลกิจการ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 15 เป็นคณะกรรมการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคโดยจำเลยที่ 2 เป็นประธานคณะกรรมการดังกล่าว จำเลยที่ 1 มีข้อบังคับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคว่าด้วยระเบียบพนักงาน พ.ศ.2517 มีระเบียบการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคว่าด้วยการจ้างและบรรจุผู้มีประสบการณ์ พ.ศ.2537 มีข้อบังคับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคว่าด้วยการซื้อ พ.ศ.2543 โจทก์เข้าทำงานเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2511 ในตำแหน่งนายช่างเอกประจำกองก่อสร้าง และได้เลื่อนชั้นเลื่อนตำแหน่งเรื่อยมาจนกระทั่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2542 ไม่ได้เข้าทำงานดังกล่าวตามสัญญาจ้างผู้บริหาร เงินช่วยเหลือค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ ค่าเบี้ยประชุมคณะกรรมการและค่ารถประจำตำแหน่งเป็นสวัสดิการ ไม่ใช่ค่าตอบแทนการทำงานตามปกติ ไม่ใช่ค่าจ้าง โจทก์จึงได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 96,720 บาท เนื่องจากมีผู้ร้องเรียนไปยังรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยว่าโจทก์กระทำความผิดหลายข้อหา วันที่ 31 มกราคม 2545 จำเลยที่ 2 ถึงที่ 15 จึงได้ประชุมพิจารณาลงมติให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงและมีคำสั่งให้โจทก์หยุดปฏิบัติหน้าที่ คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงสอบสวนแล้วรายงานผลการสอบสวนว่ากรณีมีมูลว่าโจทก์ได้กระทำหรืองดเว้นกระทำโดยไม่เหมาะสมแก่ฐานะผู้บริหารระดับสูง 3 กรณี คือ กรณีบริหารงานบุคคลใช้ระบบอุปถัมภ์ โดยบรรจุแต่งตั้งนางกาญจนา น้องสาวตนเองเข้าเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 และแต่งตั้งข้ามลำดับอาวุโส กรณีไม่สามารถจัดซื้อจัดจ้างให้เป็นไปตามข้อบังคับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคว่าด้วยการซื้อ พ.ศ.2543 ทำให้มีการยกเลิกการประกวดราคาที่ได้ดำเนินการไปแล้ว เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ไม่สามารถดำเนินการตามเป้าหมายที่วางไว้ และกรณีไม่ดำเนินการจัดหาสิ่งอุปกรณ์จำเป็นมาใช้เมื่อสต๊อกลดลงถึงระดับความปลอดภัยที่จะต้องจัดหาแล้ว ทำให้เกิดความเดือดร้อนแก่หน่วยงาน จำเลยที่ 2 ถึงที่ 15 ประชุมพิจารณาแล้วลงมติให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยและสั่งพักงานโจทก์ จำเลยที่ 1 จึงมีคำสั่งการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ที่ กฟภ. 7/2545 แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยโจทก์ คำสั่งดังกล่าวจึงชอบด้วยระเบียบข้อบังคับ ส่วนคำสั่งให้โจทก์ออกจากตำแหน่งผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคชอบหรือไม่ ต้องพิจารณากรณีที่โจทก์ถูกกล่าวหาทั้งสามกรณีว่าโจทก์กระทำความผิดหรือไม่ สำหรับกรณีที่กล่าวหาว่าบริหารงานบุคคลใช้ระบบอุปถัมภ์ ข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่าโจทก์มีความผิด กรณีไม่สามารถจัดซื้อจัดจ้างให้เป็นไปตามข้อบังคับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคว่าด้วยการซื้อ พ.ศ.2543 เนื่องจากเรื่องดังกล่าวมีปัญหาในการตีความเกี่ยวกับการปฏิบัติตามข้อบังคับดังกล่าว ซึ่งในที่สุดนายกิตติซึ่งรักษาการแทนผู้อำนวยการจัดหาในประเทศจึงทำบันทึกลงวันที่ 12 ธันวาคม 2544 เสนอให้ยกเลิกหนังสือสั่งซื้อเสาไฟฟ้าจากบริษัทโชคถาวรคอนกรีต จำกัด ผู้ชนะการประกวดราคา และให้ประกาศประกวดราคาจัดซื้อใหม่ โดยผ่านความเห็นชอบตามลำดับชั้นจนถึงโจทก์ลงนามอนุมัติ การยกเลิกประกวดราคาดังกล่าวสืบเนื่องมาจากปัญหาการตีความข้อบังคับ โจทก์อนุมัติไปตามที่ผู้ใต้บังคับบัญชาเสนอมาตามลำดับชั้นมิได้สั่งการแย้งกับความเห็นของผู้ใต้บังคับบัญชา หากเกิดความเสียหายก็ควรจะสืบสาวถึงต้นตอแห่งความผิดพลาดที่ให้ความเห็นที่บกพร่อง จะด่วนสรุปว่าเป็นความผิดพลาดบกพร่องของโจทก์ไม่น่าจะถูกต้อง ข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่าโจทก์มีความผิดหรือบกพร่องต่อหน้าที่ตามที่จำเลยอ้าง ส่วนกรณีไม่เตรียมการจัดหาสิ่งอุปกรณ์จำเป็นมาใช้สอยเมื่อสต็อกลดลงถึงระดับความปลอดภัยที่จะต้องจัดหา ปรากฏจากคำเบิกความของหม่อมหลวงชัยพร อดีตผู้อำนวยการฝ่ายพัสดุว่า ก่อนปี 2542 จำเลยที่ 1 จัดซื้อพัสดุโดยไม่จำกัดจำนวนจนถูกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินตำหนิในรายงานการตรวจสอบการดำเนินงานของจำเลยที่ 1 ปีงบประมาณ 2541 ว่าการจัดซื้อพัสดุมากเกินความต้องการ โจทก์จึงแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นกำกับตรวจสอบและติดตามผลเพื่อให้การบริหารพัสดุเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ณ วันที่ 1 มกราคม 2545 มิเตอร์ขนาด 5 (15) แอมป์ มีปริมาณคงคลังใช้ได้นาน 21.2 เดือน ขนาด 15 (45) แอมป์ มีปริมาณคงคลังใช้ได้นาน 17 เดือน และนายประเจิด รักษาการผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคพยานจำเลยเบิกความยอมรับว่ามิเตอร์มิได้ขาดแคลน ณ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2545 หม้อแปลงไฟฟ้าขนาด 30 เควีเอ ถึงขนาด 250 เควีเอ ทุกขนาดมีปริมาณคงคลังใช้ได้นานตั้งแต่ 8.2 เดือน ถึง 15.1 เดือน ในวันที่ 14 ธันวาคม 2544 หม้อแปลงไฟฟ้าขนาด 50 เควีเอ มีปริมาณคงคลังใช้ได้นาน 14.2 เดือน หม่อมหลวงชัยพรยังทำบันทึกเสนอขอยกเลิกการจัดซื้อหม้อแปลงไฟฟ้าขนาดดังกล่าวจำนวน 100 เครื่อง จึงฟังไม่ได้ว่ามิเตอร์และหม้อแปลงไฟฟ้าขาดแคลนดังที่จำเลยอ้าง ทั้งโจทก์ไม่เคยไม่อนุมัติการจัดซื้อพัสดุดังกล่าว โจทก์เพียงแต่ทักท้วงเรื่องราคาว่าสูงเกินไปอันเป็นการกระทำเพื่อปกป้องรักษาผลประโยชน์ของจำเลยที่ 1 จึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์กระทำความผิดหรือบกพร่องต่อหน้าที่ตามที่ถูกกล่าวหา ไม่มีเหตุสมควรที่จะให้โจทก์ออกจากตำแหน่ง มติคณะกรรมการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและคำสั่งการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคที่ กฟภ. 15/2545 ที่ให้โจทก์ออกจากตำแหน่งผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจึงเป็นมติและคำสั่งเลิกจ้างโดยโจทก์ไม่มีความผิด เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 แต่จำเลยที่ 5 ที่ 8 และที่ 11 ไม่ได้เข้าร่วมประชุมพิจารณาลงมติดังกล่าวด้วยจึงไม่ต้องร่วมรับผิด และขณะพิพากษาโจทก์มีอายุพ้นเกณฑ์ที่จะเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 แล้ว จึงไม่อาจให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานได้ เมื่อคำนึงถึงความเสียหายของโจทก์ที่ต้องพ้นจากการเป็นพนักงานก่อนครบกำหนดเกษียณอายุ เสียสิทธิได้รับยกเว้นภาษีเงินได้เกี่ยวกับเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เสียความรู้สึกและเกียรติภูมิที่ควรจะได้เกษียณอายุในตำแหน่งผู้ว่าการ เสียความศรัทธาจากญาติมิตรและคนทั่วไปอันเนื่องมาจากถูกกล่าวหาว่าบกพร่องต่อหน้าที่และความเสียหายอื่น ๆ โดยตลอดแล้ว สมควรกำหนดค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมให้แก่โจทก์ 1,500,000 บาท จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิดและไม่บอกกล่าวล่วงหน้าเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2545 จึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านับแต่วันเลิกจ้างถึงวันกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้าคือวันที่ 27 กันยายน 2545 รวม 1 เดือน 6 วัน คิดเป็นเงิน 116,064 บาท โจทก์มีสิทธิได้รับโบนัสประจำปี 2545 เป็นเงิน 96,720 บาท จำเลยที่ 1 ไม่ได้จ่ายค่าจ้างให้โจทก์มาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2545 จนถึงวันเลิกจ้างรวม 5 เดือน 21 วัน คิดเป็นเงิน 551,304 บาท โจทก์ถูกเลิกจ้างไม่ได้ออกจากงานเพราะเกษียณอายุจึงไม่ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จำเลยที่ 1 ได้จ่ายเงินค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้าง 6 เดือน ตามคำสั่งการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจำนวน 580,320 บาท กับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 30 วัน จำนวน 96,720 บาท ให้แก่โจทก์ตามสิทธิแล้ว และหลังจากจำเลยที่ 1 มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยและสั่งพักงานโจทก์แล้ว โจทก์ได้ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งพักงานเป็นคดีสำนวนแรก ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวและให้โจทก์กลับเข้าทำงานตามเดิม คดียังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา
ส่วนที่จำเลยทั้งสิบห้าอุทธรณ์ว่า โจทก์ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ไม่ใช่นายจ้างของโจทก์ การให้โจทก์ออกจากงานจึงไม่เป็นการเลิกจ้างโดยอ้างเหตุผลต่าง ๆ นั้น เห็นว่า จำเลยทั้งสิบห้าไม่ได้ให้การต่อสู้ในเรื่องดังกล่าวไว้ จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลาง ทั้งไม่ใช่ข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ต้องห้ามไม่ให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยเช่นกัน และต้องถือว่าโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 มิได้กระทำความผิดหรือบกพร่องต่อหน้าที่ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 6 ที่ 7 ที่ 9 ที่ 10 และที่ 12 ถึงที่ 15 เลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีเหตุอันสมควร และไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า คำสั่งของจำเลยที่ 1 ที่ให้โจทก์ออกจากตำแหน่งอันเป็นคำสั่งเลิกจ้างจึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 6 ที่ 7 ที่ 9 ที่ 10 และที่ 12 ถึงที่ 15 ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 ให้แก่โจทก์ แม้คดีจะยังไม่ถึงที่สุดแต่ศาลแรงงานกลางก็ได้วินิจฉัยไว้แล้วว่าโจทก์มิได้กระทำความผิดหรือบกพร่องต่อหน้าที่ตามข้อกล่าวหาที่จำเลยดังกล่าวอ้างเป็นเหตุแห่งการออกคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ เมื่อคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางยังมิได้ถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับหรือให้งดเสีย จึงมีผลผูกพันจำเลย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 จึงต้องถือว่ากรณีปรากฏว่าโจทก์ไม่ได้กระทำความผิด จำเลยจึงต้องจ่ายค่าจ้างในระหว่างพักงานให้แก่โจทก์ ตามข้อบังคับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคว่าด้วยระเบียบพนักงาน พ.ศ.2517 ข้อ 52 (1) อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสิบห้าในเรื่องคำสั่งให้โจทก์ออกจากตำแหน่ง สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าจ้างค้างจ่ายในระหว่างพักงานฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยทั้งสิบห้าอุทธรณ์ว่า ลูกจ้างที่จะได้รับการคุ้มครองจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 จะต้องเป็นลูกจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 จำเลยที่ 1 เป็นรัฐวิสาหกิจ โจทก์เป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ มีความสัมพันธ์กันภายใต้พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 ไม่ใช่นายจ้างลูกจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 จึงไม่อาจนำพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 มาใช้บังคับได้ และกรณีที่จะถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามมาตราดังกล่าว จะต้องเป็นกรณีที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยอ้างว่าลูกจ้างกระทำความผิดตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (1) ถึง (5) ข้อใดข้อหนึ่ง แต่ลูกจ้างไม่ได้กระทำความผิด จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะบกพร่องต่อหน้าที่ ไม่ได้เลิกจ้างโดยอ้างเหตุว่าโจทก์กระทำความผิดดังกล่าวจะถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมไม่ได้ เห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 บัญญัติว่า “การพิจารณาคดีในกรณีนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง ถ้าศาลแรงงานเห็นว่าการเลิกจ้างลูกจ้างผู้นั้นไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง ศาลแรงงานอาจสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างผู้นั้นกลับเข้าทำงานต่อไปในอัตราค่าจ้างที่ได้รับในขณะที่เลิกจ้าง ถ้าศาลแรงงานเห็นว่าลูกจ้างกับนายจ้างไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปได้ ให้ศาลแรงงานกำหนดจำนวนค่าเสียหายให้นายจ้างชดใช้ให้แทน…” บทบัญญัติดังกล่าวเป็นบทบัญญัติคุ้มครองลูกจ้างเพื่อมิให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างอย่างไม่เป็นธรรมโดยให้อำนาจศาลแรงงานที่พิจารณาคดีเลิกจ้างมีอำนาจใช้ดุลพินิจสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงาน หรือให้นายจ้างชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ลูกจ้างแทนการรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานทุกคดีรวมทั้งคดีที่นายจ้างเป็นรัฐวิสาหกิจ มิได้จำกัดอยู่เฉพาะแต่คดีที่นายจ้างเป็นเอกชนหรือคู่กรณีเป็นนายจ้างลูกจ้างกันตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 เท่านั้น คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ถูกเลิกจ้างโดยไม่ได้กระทำความผิด ขอให้บังคับจำเลยทั้งสิบห้ารับโจทก์กลับเข้าทำงานและชดใช้เงินต่าง ๆ เป็นคดีที่ต้องพิจารณาในกรณีนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง ศาลแรงงานกลางจึงนำพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 มาใช้บังคับได้ และการที่จะพิจารณาว่าการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม อันเป็นเหตุให้นายจ้างต้องรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานหรือชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ลูกจ้างตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 หรือไม่ ต้องพิจารณาที่เหตุแห่งการเลิกจ้างว่ามีเหตุจริงหรือไม่ และเหตุนั้นเป็นเหตุสมควรที่นายจ้างจะเลิกจ้างหรือไม่ ซึ่งเหตุดังกล่าวอาจเป็นเหตุที่เกิดขึ้นจากการกระทำของลูกจ้าง หรือเหตุอื่นที่ไม่ใช่ความผิดของลูกจ้างก็ได้ ส่วนการเลิกจ้างที่นายจ้างซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยจะต้องปรากฏว่าลูกจ้างได้กระทำความผิดตามที่บัญญัติไว้ในระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 ข้อ 46 (1) ถึง (6) ข้อใดข้อหนึ่ง เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์มิได้กระทำความผิดหรือบกพร่องต่อหน้าที่ดังที่จำเลยอ้างเป็นเหตุแห่งการเลิกจ้าง จึงเป็นการเลิกจ้างโดยไม่มีเหตุสมควร อันเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสิบห้าฟังไม่ขึ้น
สำหรับคดีสำนวนแรกซึ่งศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 1 ที่สั่งพักงานโจทก์ และให้โจทก์กลับเข้าทำงานตามเดิมนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏในคดีสำนวนหลังว่าโจทก์มีอายุพ้นเกณฑ์ที่จะเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 แล้ว จึงไม่อาจให้โจทก์กลับเข้าทำงานตามเดิมต่อไปได้ และศาลแรงงานกลางได้พิพากษากำหนดจำนวนค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ให้จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ที่ 6 ที่ 7 ที่ 9 ที่ 10 และที่ 12 ถึงที่ 15 ชดใช้แทนการรับโจทก์กลับเข้าทำงานครอบคลุมถึงความเสียหายของโจทก์ตั้งแต่วันที่โจทก์ถูกจำเลยที่ 1 สั่งพักงานจนถึงวันเลิกจ้างด้วยแล้วจึงไม่จำต้องพิจารณาว่าคำสั่งพักงานของจำเลยที่ 1 เป็นคำสั่งที่ชอบหรือไม่ มีเหตุที่จะเพิกถอนและให้โจทก์กลับเข้าทำงานตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางหรือไม่ เพราะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่โจทก์ ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ชอบที่จะให้จำหน่ายคดีสำนวนแรกเสีย
พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางในคดีสำนวนหลังและให้จำหน่ายคดีสำนวนแรก

Share