คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2967-2971/2523

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การนัดหยุดงานนั้น เมื่อพิจารณาในแง่ของการกระทำแล้ว ก็ย่อมเรียกได้ว่าลูกจ้างแต่ละคนซึ่งร่วมในการนัดหยุดงานนั้นต่างได้ละทิ้งการงานซึ่งตามปกติตนมีหน้าที่ปฏิบัติให้แก่นายจ้างด้วย โจทก์นัดหยุดงานในระหว่างการพิจารณาวินิจฉัยของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ เป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ มาตรา 34 (6) และกระทำไปในระหว่างที่มีประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ให้ข้อพิพาทแรงงานเข้าสู่การชี้ขาดและห้ามนายจ้างปิดงานหรือลูกจ้างนัดหยุดงานในระหว่างประกาศใช้กฎอัยการศึก ลงวันที่ 8 ตุลาคม 2519 ที่ห้ามลูกจ้างนัดหยุดเวลาโดยเด็ดขาด การนัดหยุดงานของโจทก์จึงเป็นความผิดอันมีโทษทางอาญาตามมาตรา 139 และ 141 ได้ และเมื่อการหยุดงานนั้นเป็นการละทิ้งหน้าที่อยู่ในตัวและนัดหยุดงานกันโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกัน จึงต้องถือว่าเป็นการละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุสมควรด้วยกรณีต้องด้วยมาตรา 31 (4) ของพระราชบัญญัติดังกล่าว และข้อ 47 (4) แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองงานฯ จำเลยผู้เป็นนายจ้างจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย เมื่อประมาณเดือนเมษายน ๒๕๒๒ ลูกจ้างของจำเลยได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อจำเลยขอให้ปรับปรุงสภาพการจ้างและสวัสดิการแต่ไม่สามารถตกลงกัน ลูกจ้างบางส่วนจึงประท้วงด้วยการไม่เข้าทำงานในวันที่ ๗, ๘ และ ๙ พฤษภาคม ๒๕๒๒ จำเลยได้ไล่ลูกจ้างที่ไม่เข้าทำงานรวมทั้งโจทก์ออกจากงานโดยไม่จ่ายค่าชดเชย อ้างว่าละทิ้งงานเกินกว่า ๓ วันติดต่อกัน ความจริงโจทก์หยุดงานเพื่อประท้วงเพียง ๒ วัน เพราะวันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๒๒ เป็นวันพืชมงคล เป็นวันหยุดราชการอันเป็นวันหยุดตามประเพณีมีสิทธิหยุดงานได้โดยชอบด้วยกฎหมาย จะนับเป็นวันที่โจทก์ละทิ้งงานไม่ได้ ที่จำเลยปลดโจทก์ออกจากงานโดยไม่จ่ายค่าชดเชยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการที่จำเลยไล่โจทก์ออกโดยไม่เป็นธรรมนี้ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายโดยขาดรายได้ ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเลยและค่าเสียหาย
จำเลยให้การว่า เหตุที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์นั้นเนื่องจากโจทก์กับลูกจ้างจำเลยได้ร่วมกันนัดหยุดงานเพื่อบีบบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของโจทก์ การหยุดงานดังกล่าวเป็นการกระทำอันมิชอบด้วยกฎหมาย จำเลยได้ประกาศขอร้องให้โจทก์กับพวกกลับเข้าทำงาน โจทก์ไม่เชื่อฟังยังหยุดงานต่อไป จำเลยจึงต้องไล่โจทก์ออกจากงาน วันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๒๒ มิใช่วันหยุดงานตามประเพณีของจำเลย โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยและค่าเสียหายเพราะถูกไล่ออกเนื่องจากการกระทำความผิดของโจทก์เอง การกระทำของโจทก์ถือได้ว่าจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย ฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลย ละทิ้งหน้าที่การงานเป็นเวลา ๓ วันติดต่อกันโดยมิได้แจ้งให้จำเลยทราบและไม่มีเหตุสมควรขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยพบว่า โจทก์ได้ร่วมกันหยุดงานเป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกัน การนัดหยุดงานของโจทก์เป็นการจงใจร่วมกันละเว้นไม่ปฏิบัติหน้าที่ที่จะต้องกระทำตามวันและเวลาที่กำหนดไว้ เป็นการละทิ้งหน้าที่ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.๒๕๑๘ และฝ่าฝืนประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ให้ข้อพิพาทแรงงานเข้าสู่การชี้ขาด และห้ามนายจ้างปิดงานหรือลูกจ้างนัดหยุดงานฯ เมื่อโจทก์กระทำโดยไม่มีสิทธิและยังเป็นการละเมิดต่อกฎหมายจึงไม่เป็นเหตุอันสมควรอยู่ในตัวจำเลยชอบที่จะเลิกได้และกรณีต้องด้วยข้อ ๔๗ (๔) แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า การนัดหยุดงานก็คือการที่ลูกจ้างหลายๆ คนพร้อมกันไม่ทำงานตามปกติโดยได้นัดหมายกัน แม้การนัดหยุดงานส่วนมากจะกระทำเพื่อเป็นหน้าที่ของลูกจ้างเพียงบางคนอาจกระทำไปโดยมิได้มีจุดประสงค์ดังกล่าวก็ตาม แต่การนัดหยุดงานนั้น เมื่อพิจารณาในแง่ของการกระทำแล้ว ก็ย่อมเรียกได้ว่าลูกจ้างแต่ละคนซึ่งร่วมในการนัดหยุดงานนั้นต่างได้ละทิ้งการงานซึ่งตามปกติตนมีหน้าที่ปฏิบัติให้แก่นายจ้างด้วย กรณีที่การนัดหยุดงานที่โจทก์ได้กระทำไปในระหว่างการพิจารณาวินิจฉัยของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๓๔ (๖) ของพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ และกระทำไปในระหว่างที่มีประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ให้ข้อพิพาทแรงงานเข้าสู่การชี้ขาด และห้ามนายจ้างปิดงานหรือลูกจ้างนัดหยุดงานในระหว่างประกาศใช้กฎอัยการศึก ลงวันที่ ๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๕ และมาตรา ๓๖ แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ ที่ห้ามลูกจ้างนัดหยุดงานโดยเด็ดขาดด้วย การนัดหยุดงานของโจทก์จึงเป็นความผิดอันมีโทษทางอาญาตามมาตรา ๑๓๙ และมาตรา ๑๔๑ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวได้ แม้ลูกจ้างผู้ร่วมการนัดหยุดงานครั้งนี้แต่ละคนอาจมีความผิดในทางอาญาแล้ว แต่เมื่อการหยุดงานของแต่ละคนก็เป็นการละทิ้งหน้าที่ของลูกจ้างแต่ละคนอยู่ในตัวและได้นัดหยุดงานกันโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกัน จึงต้องถือว่าเป็นการละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรด้วย กรณีต้องด้วยมาตรา ๓๑ (๔) แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ และข้อ ๔๗ (๔) แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ ๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๑๕ จำเลยผู้เป็นนายจ้างจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
ที่ศาลแรงงานกลางอ้างการที่โจทก์กับพวกนัดหยุดงานโดยฝ่าฝืนประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ให้ข้อพิพาทแรงงานเข้าสู่การชี้ขาด และห้ามนายจ้างปิดงานหรือลูกจ้างนัดหยุดงานฯ ลงวันที่ ๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ นั้น ก็เพื่อชี้ให้เห็นว่าการละทิ้งหน้าที่ของโจทก์กับพวกกระทำไปโดยไม่มีเหตุอันสมควรเท่านั้น และการนัดหยุดงานซึ่งมีโทษทางอาญาเพราะทำงานความสงบเรียบร้อยของรัฐย่อมไม่ลบล้างสิทธิของนายจ้างที่จะเลิกจ้างเพื่อการนัดหยุดงานนั้นนับว่าเป็นการละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรอยู่ด้วยในตัว ส่วนที่โจทก์เห็นว่าการเลิกจ้างครั้งนี้ร้ายแรงกว่าการปิดงานงดจ้างชั่วคราวนั้น ไม่ว่าจะเป็นความจริงดังความเป็นของโจทก์หรือไม่ แต่เมื่อการเลิกจ้างของจำเลยยังไม่เป็นกรณีที่จะถือได้ว่าเป็นการปิดงานอันจะเป็นการฝ่าฝืนประกาศกระทรวงมหาดไทยฉบับที่กล่าวแล้ว จำเลยย่อมมีสิทธิเลิกจ้างได้
พิพากษายืน

Share