คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2658-2659/2523

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามคำฟ้องโจทก์อ้างว่าโจทก์ได้บอกเลิกสัญญากับจำเลยทั้งสองแล้วเพราะจำเลยทั้งสองทำผิดสัญญา จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยทั้งสองไม่เคยผิดสัญญา อันเป็นการต่อสู้ว่าสัญญาระหว่างโจทก์จำเลยทั้งสองยังไม่เลิกกัน ที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นพิพาทว่า จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาหรือไม่ จึงรวมอยู่ในประเด็นที่ว่าสัญญาระหว่างโจทก์จำเลยทั้งสองเลิกกันแล้วหรือยังด้วย เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์กับจำเลยทั้งสองตกลงเลิกสัญญาต่อกันแล้ว ดังนี้ ที่ศาลวินิจฉัยว่าโจทก์กับจำเลยทั้งสองตกลงเลิกสัญญาต่อกันแล้ว โดยมิได้วินิจฉัยว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาหรือไม่อีกนั้น จึงมิใช่เป็นการพิพากษานอกคำฟ้องและนอกประเด็น
จำเลยจ้างเหมาโจทก์ปลูกสร้างอาคาร ในสัญญาจ้างแบ่งเงินค่าจ้างออกเป็นงวดๆ โดยงวดสุดท้ายกำหนดชำระเป็นจำนวนเกือบจะเท่ากับกึ่งหนึ่งของค่าก่อสร้างทั้งหมด เมื่อโจทก์จำเลยได้ตกลงเลิกสัญญาต่อกันโดยกรณีต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 โจทก์และจำเลยต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งกลับคืนสู่ฐานะดังเป็นอยู่เดิม ส่วนการงานที่โจทก์ได้กระทำให้จำเลยทั้งสองแล้วนั้น จำเลยทั้งสองจำต้องใช้เงินให้โจทก์ตามค่าแห่งการงานที่โจทก์ได้ทำไปแล้ว ค่าแห่งการงานที่จะต้องชดใช้กันนั้นไม่จำต้องมีราคาตรงตามงวดของงานที่ระบุไว้ในสัญญา ต้องพิจารณาถึงผลงานที่ทำให้ไปแล้วทั้งหมด
ความรับผิดชั้นที่สุดสำหรับค่าฤชาธรรมเนียมของคู่ความในคดีนั้นเป็นดุลพินิจของศาลโดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการต่อสู้คดีหรือการดำเนินคดีของคู่ความ

ย่อยาว

คดี ๒ สำนวนนี้ศาลชั้นต้นรวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกันโดยให้เรียกนางสาววิลาวัณย์ว่าจำเลยที่ ๑ นางนกแก้วว่าจำเลยที่ ๒
โจทก์ฟ้องสองสำนวนเป็นใจความว่า จำเลยที่ ๑ ว่าจ้างเหมาโจทก์ปลูกสร้างอาคารพาณิชย์ ๒ คูหา ในราคา ๓๔๕,๐๐๐ บาท แบ่งการจ่ายเงินค่าจ้างออกเป็น ๗ งวด และนายอุไร ปัทมาลัย ว่าจ้างโจทก์ปลูกสร้าง ๑ คูหา ราคา ๑๖๗,๐๐๐ บาท แบ่งการจ่ายเงินออกเป็น ๒ งวด นายอุไรโอนสิทธิตามสัญญาจ้างเหมาให้จำเลยที่ ๒ โจทก์ได้ก่อสร้างอาคารพาณิชย์ตามสัญญาตลอดมา จำเลยทั้งสองได้จ่ายเงินค่าจ้างให้โจทก์แล้ว ๓ งวด จำเลยทั้งสองไม่จ่ายเงินค่าจ้างงวดที่ ๔ ที่ ๕ ให้ ในระหว่างก่อสร้าง จำเลยทั้งสองได้กระทำผิดสัญญาหลายประการเป็นเหตุให้โจทก์เสียหายและได้สั่งแก้ไขเปลี่ยนแปลงงานก่อสร้างนอกเหนือไปจากสัญญาและแบบแปลนโดยจำเลยทั้งสองจะต้องจ่ายเงินค่าจ้างให้แต่ก็ไม่ยอมจ่าย การกระทำของจำเลยทั้งสองทำให้โจทก์ไม่สามารถทำงานก่อสร้างต่อไปได้ โจทก์จึงบอกเลิกสัญญากับจำเลยทั้งสอง และบอกให้จำเลยที่ ๑ นำเงินค่าจ้างงวดที่ค้าง ๗๐,๐๐๐ บาท เงินค่าแก้ไขเพิ่มเติมการก่อสร้าง ๑๒,๐๐๐ บาท และเงินค่าก่อสร้างที่โจทก์ทำเกินงวดที่ ๖ ที่ ๗ อีกจำนวน ๑๓๖,๐๐๐ บาท รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน ๒๒๘,๓๐๐ บาท ให้จำเลยที่ ๒ นำเงินค่าจ้างวดที่ค้าง ๓๐,๐๐๐ บาท เงินค่าแก้ไขเพิ่มเติมการก่อสร้าง ๑๑,๐๐๐ บาท เงินค่าก่อสร้างที่โจทก์ทำเกินงวดที่ ๔ โดยทำเสร็จเรียบร้อยไปประมาณ ๘๐ เปอร์เซ็นต์ของงานงวดที่ ๖ อีกจำนวนเงิน ๔๕,๖๐๐ บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๙๐,๖๐๐ บาท จำเลยทั้งสองไม่ยอมชำระให้ขอให้จำเลยที่ ๑ ชำระเงิน ๒๒๘,๓๐๐ บาท จำเลยที่ ๒ ชำระเงิน ๙๐,๘๗๙ บาท ให้แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๑๙ จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การในทำนองเดียวกันว่า เหตุที่จำเลยทั้งสองไม่จ่ายเงินงวดที่ ๔ ที่ ๕ เนื่องจากโจทก์ไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามสัญญาและโจทก์ไม่สามารถก่อสร้างให้เสร็จภายในกำหนดในสัญญาได้ ซึ่งอาจจะต้องถูกจำเลยปรับ จึงนำคดีมาฟ้องจำเลยไม่เคยผิดสัญญาและไม่เคยให้โจทก์แก้ไขเปลี่ยนแปลงงานก่อสร้างจึงไม่ต้องรับผิดขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัย จำเลยทั้งสองจะต้องชำระเงินค่าก่อสร้างงวดที่ ๔ ที่ ๕ ค่าแก้ไขเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมรายการก่อสร้าง โจทก์ทำงานงวดที่ ๖ ที่ ๗ ให้จำเลยที่ ๑ และงวดที่ ๖ ให้จำเลยที่ ๒ แล้วเสร็จประมาณคนละ ๘๐ เปอร์เซ็นต์พิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ชำระเงิน ๒๒๘,๓๐๐ บาท จำเลยที่ ๒ ชำระเงิน ๔๐,๖๐๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๑๙ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์กับจำเลยทั้งสองได้ตกลงเลิกสัญญาต่อกันแล้วเป็นผลให้คู่สัญญากลับคืนสู่ฐานะที่เป็นอยู่เดิม แต่การงานที่โจทก์ทำไปแล้ว จำเลยทั้งสองต้องชำระให้โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๙๑ วรรคสาม ฟังว่าราคาค่าก่อสร้างที่ทำไปแล้วของจำเลยที่ ๑ แล้วเสร็จ ๓ ใน ๔ เป็นเงิน ๒๕๘,๗๕๐ บาท จำเลยที่ ๑ ชำระให้มาแล้ว ๙๕,๐๐๐ บาท คงต้องชำระอีก ๑๖๓,๗๕๐ บาท ของจำเลยที่ ๒ แล้วเสร็จ ๕ ใน ๖ เป็นเงิน ๑๓๙,๑๖๕ บาท จำเลยที่ ๒๑ ชำระให้แล้ว ๗๕,๐๐๐ บาท คงต้องชำระอีก ๖๔,๑๖๕ บาท งานที่จำเลยทั้งสองสั่งแก้ไขเพิ่มเติมนอกเหนือจากแบบแปลนจำเลยทั้งสองไม่อุทธรณ์จึงฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ ๑ ต้องชำระส่วนนี้ ๑๒,๓๐๐ บาท จำเลยที่ ๒ ต้องชำระ ๑๑,๐๐๐ บาท พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ ๑ ชำระเงิน ๑๗๖,๐๕๐ บาท จำเลยที่ ๒ ชำระเงิน ๗๕,๑๖๕ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๑๙ ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความสำหรับจำเลยที่ ๑ เป็นเงิน ๓,๐๐๐ บาท จำเลยที่ ๒ เป็นเงิน ๑,๒๕๐ บาท
โจทก์ฎีกาว่า ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์ทำการก่อสร้าง ตึกแถวพิพาทของจำเลยที่ ๑ แล้วเสร็จไป ๓ ใน ๔ และของจำเลยที่ ๒ แล้วเสร็จไป ๔ ใน ๖ ไม่ถูกต้องและที่ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสองนั้น ปรากฏว่า จำเลยเป็นฝ่ายบิดพลิ้วความรับผิดเกี่ยวกับค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์จึงควรให้จำเลยทั้งสองรับผิด
จำเลยทั้งสองฎีกาว่า โจทก์ไม่มีผลงานในงวดที่ ๖ ที่ ๗ สำหรับตึกแถวของจำเลยที่ ๑ และผลงานในงวดที่ ๖ สำหรับตึกแถวของจำเลยที่ ๒ จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าการงานในงวดเหล่านี้จากจำเลยทั้งสอง โจทก์ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญากับจำเลยทั้งสอง และจำเลยทั้งสองไม่ได้ตกลงเลิกสัญญากับโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์กับจำเลยตกลงเลิกสัญญาต่อกันเป็นการพิพากษานอกคำฟ้องและบอกประเด็น
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่าโจทก์ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญากับจำเลยทั้งสองและจำเลยทั้งสองไม่ได้ตกลงเลิกสัญญานอกคำฟ้องและนอกประเด็นนั้น เห็นว่า การที่โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญากับจำเลยทั้งสองอ้างว่าจำเลยทั้งสองผิดสัญญา และจำเลยทั้งสองมีหนังสือตอบโจทก์ว่าไม่ขัดข้องในการเลิกสัญญา ทั้งยังนัดหมายให้โจทก์ตกลงเรื่องค่าจ้าง ที่ยังค้างตามผลงานที่ได้กระทำไปแล้วด้วยเช่นนี้ เห็นได้ว่า คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายตกลงยอมเลิกสัญญาต่อกันโดยปริยายแล้วตามคำฟ้องโจทก์อ้างว่าโจทก์ได้บอกเลิกสัญญากับจำเลยทั้งสองแล้วเพราะจำเลยทั้งสองกระทำผิดสัญญาหลายประการ จำเลยทั้งสองให้การว่าไม่เคยผิดสัญญาอันเป็นการต่อสู้ว่าสัญญาระหว่างโจทก์จำเลยยังไม่เลิกกัน ดังนั้นที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาหรือไม่จึงรวมอยู่ในประเด็นที่ว่าสัญญาระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสองเลิกกันแล้วหรือยังด้วย เมื่อทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยทั้งสองได้ตกลงเลิกสัญญาต่อกันแล้วก็ไม่จำเป็นจะต้องวินิจฉัยว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาหรือไม่อีก ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์กับจำเลยทั้งสองได้ตกลงเลิกสัญญาต่อกันแล้วโดยมิได้วินิจฉัยว่า จำเลยมิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาหรือไม่ จึงหาเป็นการนอกคำฟ้องนอกประเด็นดังที่จำเลยทั้งสองฎีกาไม่
ที่โจทก์ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยถึงผลงานของโจทก์ที่ทำไปแล้วไม่ถูกต้องและที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า โจทก์ไม่มีผลงานในงวดที่ ๖ ที่ ๗ สำหรับตึกแถวของจำเลยที่ ๑ และผลงานในงวดที่ ๖ สำหรับตึกแถวของจำเลยที่ ๒ จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าการงานในงวดเหล่านี้จากจำเลยทั้งสองนั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงในทางพิจารณาปรากฏว่า โจทก์และจำเลยทั้งสองได้ตกลงเลิกสัญญาต่อกันแล้ว กรณีก็ต้องด้วยบทบัญญัติ มาตรา ๓๙๑ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กล่าวคือ โจทก์และจำเลยทั้งสองจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ส่วนการงานที่โจทก์ได้กระทำให้จำเลยทั้งสองแล้วนั้นจำเลยทั้งสองจำต้องให้เงินให้โจทก์ ตามค่าแห่งการงานที่โจทก์ไปทำไปแล้ว ค่าแห่งการงานที่โจทก์ทำไปแล้วนั้นไม่จำต้องมีราคาตรงตามงวดของงานที่ระบุไว้ในสัญญาเพราะสัญญาระหว่างโจทก์จำเลยทั้งสอง งานงวดสุดท้ายของสัญญาแต่ละฉบับระบุไว้เหมือนกัน คือทำทุกอย่างให้เรียบร้อยตามแบบแปลนรายการและเก็บทำความสะอาดเป็นที่เรียบร้อย โดยกำหนดให้จำเลยที่ ๑ ชำระเงิน ๑๕๐,๐๐๐ บาท จำเลยที่ ๒ ชำระเงิน ๖๒,๐๐๐ บาท เป็นจำนวนเกือบจะเท่ากับกึ่งหนึ่งของค่าก่อสร้างทั้งหมด ซึ่งไม่สัมพันธ์การงานที่ทำ ดังนั้น จำเลยทั้งสองจะเจาะจงมุ่งเอาผลงานแต่ในเฉพาะงวดสุดท้าย ไม่คำนึงถึงผลงานในงวดก่อนๆ หาได้ไม่ ศาลฎีกาพิจาณาข้อเท็จจริงแล้ววินิจฉัยว่าผลงานของโจทก์ที่ทำไปแล้วนั้นศาลอุทธรณ์วินิจฉัยชอบแล้วหาเป็นการคลาดเคลื่อนดังโจทก์ฎีกาไม่ ฎีกาโจทก์จำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่โจทก์ฎีกาว่าฝ่ายจำเลยเป็นฝ่ายบิดพลิ้ว ความรับผิดเกี่ยวกับเงินค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ควรให้จำเลยทั้งสองรับผิดนั้น เห็นว่า ความรับผิดชั้นที่สุดสำหรับค่าฤชาธรรมเนียมของคู่ความในคดีนั้นเป็นดุลพินิจของศาลอุทธรณ์โดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริต ในการต่อสู้คดี หรือการดำเนินคดีของคู่ความทั้งปวง สำหรับคดีนี้ยังไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงดุลพินิจของศาลอุทธรณ์เป็นอย่างอื่น
พิพากษายืน

Share