คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2639-2640/2518

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ฎีกาจำเลยเป็นเพียงโต้เถียงว่าที่ดินตามบัญชีท้ายฟ้องเป็นสินเดิมของ ส. โดยมิได้อ้างข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายเป็นเหตุผลแห่งข้อโต้แย้งให้ชัดแจ้งในฎีกา ฎีกาของจำเลยในประเด็นข้อนี้จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคแรก
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 246 ประกอบกับมาตรา 167 บัญญัติให้เป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์ในอันที่จะมีคำสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียม ไม่ว่าคู่ความทั้งปวงหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจักมีคำขอหรือไม่ก็ดี ศาลอุทธรณ์จึงหยิบยกเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมนี้ขึ้นกล่าวเองได้ แม้ประเด็นแห่งคดีมิได้มีข้อโต้เถียงในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียม
โจทก์ได้รับอนุญาตในฟ้องคดีอย่างคนอนาถา และจำเลยได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์อย่างคนอนาถา เมื่อเรื่องปรากฏต่อศาลอุทธรณ์ก่อนศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า โจทก์จำเลยต่างฝ่ายต่างมีส่วนได้รับทรัพย์พิพาทจากกองมรดกเป็นจำนวนมาก ถือได้ว่าทั้งโจทก์และจำเลยมีทรัพย์สินพอจะเสียค่าฤชาธรรมเนียมได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 149 ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจสั่งให้คู่ความทั้งสองฝ่ายชำระค่าฤชาธรรมเนียมที่ได้รับยกเว้น หากไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ให้ยึดหรืออายัดทรัพย์พิพาท แล้วเอาชำระค่าฤชาธรรมเนียมจากทรัพย์สินที่ยึดนั้นได้

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นสั่งรวมการพิจารณา โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่า ทรัพย์ตามบัญชีหมาย ๓ ท้ายฟ้อง เป็นสินสมรสระหว่างบิดาของโจทก์กับนางละมูน แย้มเกษม โดยเป็นของบิดาโจทก์ ๒ ใน ๓ ส่วน เป็นเงิน ๖,๐๕๘,๑๒๖.๔๔ บาท และให้หักสินสมรสใช้สินเดิมของบิดาโจทก์ที่ขาดไป ๔,๒๐๐ บาท รวมเป็นมรดกตกได้แก่โจทก์ ๖,๐๖๒,๓๒๖.๔๔ บาท (ตามคำขอในคดีหมายเลขดำที่ พ.๘๕๕/๒๕๑๖) และที่ดิน ๒ แปลง (ตามคำขอในคดีหมายเลขดำที่ พ.๘๕๖/๒๕๑๖) ตกได้แก่โจทก์ ๒ ใน ๓ ส่วน เป็นราคา ๖๐๐,๐๐๐ บาท หากแบ่งทรัพย์ดังกล่าวให้โจทก์ไม่ได้ ให้ประมูลระหว่างโจทก์กับจำเลยหรือขายทอดตลาดแบ่งเงินให้โจทก์ ๒ ใน ๓ ส่วน ฯลฯ
จำเลยให้การต่อสู้คดี
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ทรัพย์ตามบัญชีสินสมรส หมายเลข ๓ ท้ายฟ้อง คดีหมายเลขดำที่ พ.๘๙๕/๒๕๑๖ ตั้งแต่อันดับ ๑-๒๐ และที่ดินโฉนดเลขที่ ๔๗๐๖ โฉนดเลขที่ ๔๒๑ ตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้อง ในคดีหมายเลขดำที่ พ.๘๕๖/๒๕๑๖ กับค่าเช่า ๑,๐๐๐ บาท เป็นส่วนของบิดาโจทก์ ตกให้แก่โจทก์ ๒ ใน ๓ ส่วน ให้จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนางละมูน แบ่งทรัพย์ให้โจทก์ตามส่วน ทรัพย์ที่มิใช่ตัวเงินให้ตกลงแบ่งกันเอง ถ้าตกลงกันไม่ได้ ให้ประมูลราคาระหว่างโจทก์กับจำเลย หากยังไม่ตกลงกัน ทรัพย์ใดอาจขายทอดตลาดได้ ก็ให้ขายทอดตลาดแบ่งเงินตามส่วน ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ
จำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน และมีคำสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมในตอนท้ายของคำพิพากษาว่า โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฟ้องคดีอย่างคนอนาถา และจำเลยได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์อย่างคนอนาถา ปรากฏต่อศาลจากสำนวนในคดีนี้ว่า ทั้งโจทก์ทั้งจำเลยพิพาทกันเพียงว่า ผู้ใดจะมีส่วนได้รับทรัพย์สินจำนวนเท่าใด ไม่ว่าจะชี้ขาดให้โจทก์หรือจำเลยชนะคดี แต่ละฝ่ายก็จะได้รับทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก ศาลเห็นว่าทั้งสองฝ่ายมีทรัพย์สินพอจะเสียค่าฤชาธรรมเนียมได้อาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๕๙ สั่งให้คู่ความทั้งสองฝ่ายชำระค่าฤชาธรรมเนียมที่ได้รับยกเว้น หากไม่ปฏิบัติตามคำสั่งให้ยึดหรืออายัดทรัพย์พิพาทแล้วเอาชำระค่าฤชาธรรมเนียมจากทรัพย์สินที่ยึดนั้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองสำนวนฎีกา
ในชั้นฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยเกี่ยวกับข้อกฎหมายไว้ดังนี้ คือ ที่ดินตามบัญชีท้ายฟ้องหมายเลข ๓ อันดับที่ ๔ ที่ ๕ และที่ ๑๐ เป็นสินเดิมของนางละมูนหรือไม่นั้น จำเลยเป็นแต่เพียงโต้เถียงว่าเป็นสินเดิม โดยมิได้อ้างอิงข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายเป็นเหตุผลแห่งข้อโต้แย้งให้ชัดแจังในฎีกา ฎีกาของจำเลยในประเด็นข้อนี้จึงต้องห้ามตามบทบัญญัติมาตรา ๒๔๙ วรรคแรก แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ศาลฎีกาจึงไม่วินิจฉัยให้
ส่วนประเด็นที่ว่า คำสั่งของศาลอุทธรณ์ในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ในประเด็นข้อนี้ จำเลยฎีกาเป็น ๒ ข้อ คือ ข้อแรกจำเลยฎีกาว่า ศาลชั้นต้นได้อนุญาตให้จำเลยยื่นฟ้องอุทธรณ์อย่างอนาถาได้แล้ว คำสั่งเป็นที่สุด คู่ความก็ไม่ได้โต้แย้ง และประเด็นแห่งคดีก็มิได้มีข้อโต้เถียงในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียม ทั้งมิใช่เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลอุทธรณ์จะหยิกยกขึ้นว่ากล่าวเองมิได้ เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๐ ศาลฎีกาเห็นว่าเรื่องนี้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๖ ประกอบกับมาตรา ๑๖๗ บัญญัติให้เป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์อยู่แล้ว ในอันที่จะมีคำสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียม ไม่ว่าคู่ความทั้งปวงหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจักมีคำขอหรือไม่ก็ดี ศาลอุทธรณ์จึงหยิบยกเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมนี้ขึ้นกล่าวเองได้ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยจึงตกไป
ข้อสองจำเลยฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์จะสั่งให้จำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียม คดีนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๕๙ ไม่ได้ เพราะไม่ปรากฏว่า จำเลยมีทรัพย์สินพอที่จะเสียค่าฤชาธรรมเนียมได้ ทั้งเมื่อก่อนศาลอุทธรณ์พิพากษาและในขณะฎีกา ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยมีทรัพย์สินพอที่จะเสียค่าธรรมเนียมได้ ทรัพย์สินที่จำเลยได้รับจากนางละมูนในคดีนี้ยังไม่แน่นอนว่าจะได้รับเท่าใดและเมื่อใด ศาลฎีกาเห็นว่า ในกรณีนี้เป็นเรื่องที่ปรากฏต่อศาลอุทธรณ์ก่อนศาลอุทธรณ์วินิจฉัยชี้ขาดคดีนี้แล้ว โจทก์และจำเลยต่างฝ่ายต่างมีส่วนได้รับทรัพย์พิพาทจากกองมรดกในคดีนี้เป็นจำนวนมาก จึงถือได้ว่าทั้งโจทก์และจำเลยมีทรัพย์สินพอจะเสียค่าฤชาธรรมเนียมได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๙ คำสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมของศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาเป็นพับ โดยให้จำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียมที่รับยกเว้น ในชั้นฎีกาต่อศาล

Share