แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ดำรงตำแหน่งในระดับผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่กองของกลางและของตกค้าง มีหน้าที่สอดส่องดูแล ตรวจสอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับและคำสั่งของโจทก์ จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 จึงมิใช่เจ้าหน้าที่ผู้ลงมือปฏิบัติในการเก็บรักษาของกลางโดยตรง หากจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 มิได้ทำละเมิดหรือร่วมกับบุคคลอื่นทำละเมิดก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์เสียเอง หรือมิได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อจนเป็นเหตุให้คนร้ายลักลอบเอาของมีค่าซึ่งโจทก์เก็บรักษาไว้ในตู้นิรภัยที่เกิดเหตุไปได้แล้ว จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ก็หาต้องรับผิดต่อโจทก์ฐานละเมิดไม่ ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 4 ที่ 5 และที่ 7 ซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 และเป็นผู้ลงมือปฏิบัติในการเก็บรักษาของกลางโดยตรงได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อจนเป็นเหตุให้คนร้ายลักลอบเอาของมีค่าในตู้นิรภัยของโจทก์ไป จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาและประมาทเลินเล่อ ปล่อยปละละเลย ไม่ได้มีการตรวจสอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ให้เป็นไปตามระเบียบ ข้อบังคับ และคำสั่งของโจทก์ จึงต้องร่วมรับผิดด้วย
ป.พ.พ. มาตรา 448 บัญญัติว่า “สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดนั้น ท่านว่าขาดอายุความเมื่อพ้นปีหนึ่งนับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน…” โจทก์เป็นกรมในรัฐบาลและเป็นนิติบุคคล มีอธิบดีเป็นผู้กระทำการแทน ความประสงค์ของโจทก์ย่อมแสดงออกโดยอธิบดีของโจทก์ ต้องถือว่าโจทก์เพิ่งรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2530 ซึ่งเป็นวันที่อธิบดีของโจทก์ลงนามทราบผลสรุปรายงานผลการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดทางแพ่งของคณะกรรมการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดทางแพ่ง เมื่อนับแต่วันดังกล่าวถึงวันที่โจทก์ฟ้องยังไม่เกิน 1 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องว่า โจทก์เป็นกรมในรัฐบาล สังกัดกระทรวงการคลัง จำเลยทั้งเก้าเป็นเจ้าหน้าที่ของโจทก์ มีหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามระเบียบแบบแผน ข้อบังคับ และข้อกำหนดของโจทก์ แต่จำเลยทั้งเก้าหาได้ปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบและคำสั่งดังกล่าวไม่ โดยจำเลยทั้งเก้าได้ร่วมกันจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ร่วมกันกระทำการและปฏิบัติฝ่าฝืนระเบียบแบบแผน ข้อบังคับ ข้อกำหนด และคำสั่งของโจทก์ดังกล่าว เป็นเหตุให้โจทก์เสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งเก้าร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายเป็นเงิน 10,908,933.02 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ให้จำเลยที่ 6 ที่ 8 และที่ 9 ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายเป็นเงิน 2,200 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 และที่ 7 ถึงที่ 8 ให้การขอให้ยกฟ้อง จำเลยที่ 6 และที่ 9 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 4 ที่ 5 และที่ 7 ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายเป็นเงิน 10,908,933.02 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 6 ที่ 8 และที่ 9 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 6 ที่ 8 และที่ 9 ให้เป็นพับ
โจทก์ จำเลยที่ 4 ที่ 5 และที่ 7 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 6 และที่ 8 ร่วมชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน 10,908,933.02 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ จำเลยที่ 4 ที่ 5 และที่ 7 ฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ดำรงตำแหน่งในระดับผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่กองของกลางและของตกค้าง มีหน้าที่สอดส่องดูแล ตรวจสอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับและคำสั่งของโจทก์ จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 จึงมิใช่เจ้าหน้าที่ผู้ลงมือปฏิบัติในการเก็บรักษาของกลางโดยตรง หากจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 มิได้ทำละเมิดหรือร่วมกับบุคคลอื่นทำละเมิดก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์เสียเอง หรือมิได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อจนเป็นเหตุให้คนร้ายลักลอบเอาของมีค่าซึ่งโจทก์เก็บรักษาไว้ในตู้นิรภัยที่เกิดเหตุไปได้แล้ว จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ก็หาต้องรับผิดต่อโจทก์ฐานละเมิดไม่ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 4 ที่ 5 และที่ 7 ซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 และเป็นผู้ลงมือปฏิบัติในการเก็บรักษาของกลางโดยตรง ได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อจนเป็นเหตุให้คนร้ายลักลอบเอาของมีค่าในตู้นิรภัยของโจทก์ไป จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาและประมาทเลินเล่อ ปล่อยปละละเลย ไม่ได้มีการตรวจสอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ให้เป็นไปตามระเบียบ ข้อบังคับ และคำสั่งของโจทก์ จึงต้องร่วมรับผิดด้วย
ป.พ.พ. มาตรา 448 บัญญัติว่า “สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดนั้น ท่านว่าขาดอายุความเมื่อพ้นปีหนึ่งนับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน…” ข้อเท็จจริงปรากฏว่า โจทก์ซึ่งเป็นผู้ต้องเสียหายคดีนี้ได้รู้ถึงการละเมิดตั้งแต่หลังเกิดเหตุใหม่ ๆ คงมีปัญหาเพียงว่าโจทก์รู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์วันใด เห็นว่า โจทก์เป็นกรมในรัฐบาลและเป็นนิติบุคคล มีอธิบดีเป็นผู้กระทำการแทน ความประสงค์ของโจทก์ย่อมแสดงออกโดยอธิบดีของโจทก์ ปรากฏว่าหลังจากเกิดการโจรกรรม ไม่มีใครทราบว่าผู้ใดเป็นคนร้าย โจทก์โดยอธิบดีจึงตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ต้องถือว่าโจทก์เพิ่งรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2530 ซึ่งเป็นวันที่อธิบดีของโจทก์ลงนามทราบผลสรุปรายงานผลการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดทางแพ่งของคณะกรรมการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดทางแพ่ง นับแต่วันนั้นถึงวันฟ้องยังไม่เกิน 1 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 9 ร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 10,908,933.02 บาท และจำเลยที่ 6 ที่ 8 และที่ 9 ร่วมรับผิดใช้ค่าเสียหายอีกจำนวนหนึ่งเป็นเงิน 2,200 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 12 กรกฎาคม 2531) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 6 ที่ 8 และที่ 9 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้รวม 60,000 บาท ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีการะหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 4 ที่ 5 และที่ 7 ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์.