คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1482-1483/2492

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การให้ค่าสินไหมทดแทนในกรณีผิดสัญญา ก็เพื่อที่จะชดใช้ และให้ความพอใจแก่ฝ่ายที่ไม่ผิดสัญญาสำหรับความเสียหายที่ฝ่ายนั้นได้รับ ฉะนั้น จึงต้องกำหนดจำนวนเงินที่จะให้ให้เพียงพอที่จะทำให้ฝ่ายที่ไม่ผิดสัญญากลับไปอยู่ในฐานะเดิมเช่นเดียวกับเมื่อไม่มีการผิดสัญญาเกิดขึ้น
คดีโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยโอนที่ให้โจทก์ตามสัญญาจะขาย ถ้าจำเลยโอนที่ให้โจทก์ โจทก์ก็ย่อมได้ที่ถ้าหากที่นั้นมีราคามากกว่าราคาที่ตกลงไว้ในสัญญาราคาที่ผิดกันนั้น ย่อมเป็นผลประโยชน์ที่โจทก์สูญเสียไปจึงเป็นหลักค่าคำนวณค่าเสียหายได้
ในกรณีที่ผู้ขายที่ดินผิดสัญญา มีปัญหาว่าจะเอาราคาอันใด เมื่อได้ไปเทียบกับราคาในสัญญา ป.ม.แพ่งฯมาตรา 222 ไม่ได้กำหนดข้อนี้ไว้ ทั้งเป็นกรณีไม่ได้กำหนดเบี้ยปรับกันไว้ในสัญญา จึงไม่เข้ามาตรา 380 เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าเมื่อครบกำหนดโอนตามสัญญา จำเลยผัดผ่อนเรื่อยมาเพิ่งมาปฏิเสธไม่ยอมขายในภายหลัง จึงจะถือเอาราคาที่ดินในวันที่ครบกำหนดโอนตามสัญญาไม่ได้

ย่อยาว

คดีแรก น.ส.แดงฟ้องว่าจำเลยได้ทำสัญญาจะขายที่ดินของจำเลยให้โจทก์ ๓ ไร่ โจทก์ได้วางมัดจำไว้ ๕๐๐ บาท ตกลงโอนกันภายใน ๙๐ วัน เมื่อถึงกำหนดจำเลยกลับให้ทนายความมีหนังสือขอเลิกสัญญา จึงขอให้ศาลบังคับให้จำเลยโอนขายตารางวาละ ๑๐ บาท ถ้าไม่สามารถก็คืนมัดจำและใช้ค่าเสียหาย ๖๐๕๐๐ บาท จำเลยรับว่าทำสัญญาจริง แต่โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยได้บอกเลิกสัญญากับโจทก์แล้ว นายผันผู้เป็นเจ้าของร่วมกับจำเลยไม่ยอมขายเป็นการพ้นวิสัยที่จำเลยจะขายได้ ค่าเสียหายโจทก์ตีราคาสูง
อีกคดีหนึ่ง นางจันทร์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญาจะขายที่ดินให้แก่นายประวัติสามีนางจันทร์ ๔ ไร่ ๆ ละ ๑๐ บาท นายประวัติวางมัดจำไว้ ๖๐๐ บาท ตกลงไปโอนขายใน ๙๐ วัน แล้วจำเลยไม่จัดการโอน บัดนี้นายประวัติตาย จำเลยรับมฤดกสิทธิตามพินัยกรรม์ จึงขอให้บังคับจำเลยโอนขายถ้าไม่สามารถก็ให้คืนมัดจำ และใช้ค่าเสียหาย ๘๐๐๐๐ บาท จำเลยต่อสู้เช่นเดียวกับคดีแรก
ศาลชั้นต้นพิจารณาคดี ๒ เรื่องรวมกัน แล้วพิพากษาว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา ให้จำเลยโอนขายที่ให้โจทก์ ถ้าไม่สามารถโอนได้ ให้คืนมัดจำและใช้ค่าเสียหายให้ น.ส.แดง ๓๖,๐๐๐ บาท นางจันทร์โจทก์ ๔๘,๐๐๐ บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ย ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า การให้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายในกรณีผิดสัญญา ก็เพื่อที่จะชดใช้และให้ความพอใจแก่ฝ่ายที่ไม่ผิดสัญญา สำหรับความเสียหายที่ฝ่ายนั้นได้รับ ฉะนั้นจึงต้องกำหนดจำนวนเงินที่จะให้เพียงพอที่จะทำให้ฝ่ายที่ไม่ผิดสัญญากลับไปอยู่ในฐานะเดียวกับถ้าไม่มีการผิดสัญญาเกิดขึ้น แต่การคำนวณให้ตรงแน่ชัดนั้น ปกติย่อมไม่สามารถจะกระทำได้ ถึงกระนั้นก็ต้องพยายามคำนวณให้ใกล้ที่สุดที่จะใกล้ได้ สำหรับคดีเรื่องนี้ ถ้าจำเลยโอนทีให้โจทก์ ๆ ย่อมได้ที่และว่าที่นั้นมีราคามากกว่าราคาที่ตกลงไว้ในสัญญา ราคาที่ผิดกันนั้นย่อมเป็นผลประโยชน์ที่โจทก์สูญเสียไป จึงเป็นหลักคำนวณค่าเสียหายได้ ปัญหามีว่าจะเอาราคาในวันใดเมื่อได้ไปเปรียบเทียบกับราคาในสัญญา ป.ม.แพ่งฯมาตรา ๒๒๒ ก็ไม่ได้กำหนดข้อนี้ไว้ทั้งกรณีในคดีนี้ก็ไม่ได้กำหนดเบี้ยปรับกันไว้ในสัญญาจึงไม่เข้ามาตรา ๓๘๐ เมื่อคิดถึงหลักในการให้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวข้างต้น ประกอบกับกฎหมายไม่ประสงค์ให้มีการค้ากำไรในการผิดสัญญา และเป็นหน้าที่ของฝ่ายผิดสัญญา จะต้องช่วยเหลือให้การเสียหายเบาบางลงตามที่ควร สำหรับคดีนี้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อครบกำหนดการโอนตามสัญญาแล้วจำเลยได้ผัดผ่อนเรื่อยมา ต่อมาภายหลังจึงปฏิเสธไม่ยอมขาย เมื่อจำเลยเองเป็นฝ่ายผัดผ่อนให้ความหวังต่อโจทก์มาเช่นนี้ จะถือราคาวันครบโอนตามสัญญาไม่ได้
พิพากษายืน

Share