คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 973-974/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประมวลรัษฎากรมาตรา 31 บัญญัติแต่เพียงว่า การอุทธรณ์ไม่เป็นการทุเลาการเสียภาษี ซึ่งหมายความว่าโจทก์ต้องชำระค่าภาษีทั้ง ๆ ที่อุทธรณ์แล้วเท่านั้น แต่ไม่มีข้อความใดแสดงว่าถ้าไม่เสียภาษีแล้วจะอุทธรณ์คำวินิจฉัยตามมาตรานี้ไม่ได้
การทำคำวินิจฉัยอุทธรณ์ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 34 นั้น ผู้ทำคำวินิจฉัยอุทธรณ์จะวินิจฉัยให้ผู้อุทธรณ์เสียภาษีในประเด็นอื่นนอกไปจากรายการที่เจ้าพนักงานประเมินเรียกเก็บหาได้ไม่.

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้ โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นนิติบุคคล มีเงินได้ระหว่าง พ.ศ.๒๔๙๔ ซึ่งได้เสียภาษี ๔๓,๗๔๕.๔๘ บาท ระหว่าง พ.ศ.๒๔๙๕ เสียภาษี ๑๖,๔๘๘ บาท ๓๒ สตางค์ เจ้าพนักงานประเมินเรียกเก็บภาษีสำหรับเงินได้ พ.ศ. ๒๔๙๔ เงิน ๓,๑๕๕,๐๑๖ บาท ๑๔ สตางค์ โจทก์ยื่นอุทธรณ์ต่อจำเลย จำเลยได้แจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์โดยคำชี้ขาดอุทธรณ์ที่ ๑๖๗๓๐/๒๕๐๑ คงให้เรียกเก็บเฉพาะค่าภาษีสำหรับ พ.ศ.๒๔๙๔ เป็นเงิน ๗๐,๒๐๐.๒๘ บาท เพราะเจ้าพนักงานประเมินเรียกเก็บนอกเหนือเกินกว่ากฎหมาย แต่จำเลยสั่งให้โจทก์เสียภาษีเพิ่มขึ้นในประเด็นอื่นนอกไปจากรายการที่เจ้าพนักงานประเมินเรียกเก็บอีก ๒,๕๒๗,๙๕๓.๕๒ บาท และโดยคำชี้ขาดที่ ๑๖๗๓๗/๒๕๐๑ ให้ปลดเงินภาษีและเงินเพิ่มที่เจ้าพนักงานประเมินเรียกเก็บสำหรับ พ.ศ.๒๔๙๕ เสียทั้งสิ้น แต่ให้โจทก์เสียภาษีในประเด็นอื่นอีก ๑,๐๑๓,๕๕๔.๖๙ บาท โดยจำเลยไม่มีอำนาจทำได้เพราะจำเลยไม่ใช่เจ้าพนักงานประเมิน ทำให้โจทก์ขาดสิทธิอุทธรณ์การประเมินไปคั่นหนึ่งจึงขอให้ศาลพิพากษาให้โจทก์คงเสียภาษีสำหรับ พ.ศ.๒๔๙๔ เพียง ๗๐,๒๐๐.๒๘ บาท สำนวนหนึ่ง และสำหรับ พ.ศ.๒๔๙๕ ไม่ต้องเสียอีกสำนวนหนึ่ง
จำเลยให้การต่อสู้คดีหลายประการ
ศาลชั้นต้นเห็นว่า จำเลยสั่งการไปตามอำนาจหน้าที่ตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๓๐ โจทก์ฟ้องจำเลยได้ ประมวลรัษฎากรมาตรา ๓๑ มิได้ห้ามมิให้โจทก์ฟ้องคดีนี้ก่อนชำระค่าภาษีที่จำเลยเรียกเก็บ จำเลยมิใช่เจ้าพนักงานประเมินที่รัฐมนตรีแต่งตั้งตามประมวลรัษฎากรมาตรา ๑๖ กฎกระทรวงการคลัง ฉบับที่ ๗๔ (พ.ศ.๒๔๙๖) และที่ ๙๙ (พ.ศ.๒๔๙๗) ประมวลรัษฎากรมาตรา ๓๔ เป็นแต่บัญญัติให้ทำคำวินิจฉัยอุทธรณ์เป็นหนังสือแจ้งไปให้ผู้อุทธรณ์ทราบเท่านั้น คดีนี้ จำเลยชี้ขาดให้ลดและปลดเงินภาษีที่เจ้าพนักงานประเมินเรียกเก็บซึ่งอยู่ในอำนาจของจำเลยทำได้ในการวินิจฉัยชี้ขาดอุทธรณ์ แต่จำเลยไม่มีอำนาจสั่งให้โจทก์เสียภาษีเพิ่มเติม เพราะตามรูปเรื่องจะต้องปฏิบัติตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๑๙,๒๐ ซึ่งเป็นอำนาจของเจ้าพนักงานประเมิน พิพากษาว่าจำเลยจะเรียกเก็บภาษีเพิ่มอีกไม่ได้ คงให้โจทก์เสียภาษีเพียง ๗๐,๒๐๐.๒๘ บาท.
จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกาในปัญหาหลายข้อ
ในปัญหาว่า โจทก์ไม่อยู่ในข่ายที่จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีก่อนฟ้องตามประมวลรัษฎกร มาตรา ๓๑ ศาลฎีกาเห็นว่า มาตรา ๓๑ บัญญัติแต่เพียงว่า การอุทธรณ์ไม่เป็นการทุเลาการเสียภาษี ซึ่งหมายความว่า โจทก์ต้องชำระค่าภาษีทั้ง ๆ ที่อุทธรณ์แล้วเท่านั้นแต่ไม่มีข้อความตอนใดแสดงว่า ถ้าไม่เสียภาษีแล้วจะอุทธรณ์คำวินิจฉัยของจำเลยตามมาตรา ๓๑ ไม่ได้ ฯลฯ
ในปัญหาว่า ตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๓๔ จำเลยวินิจฉัยให้โจทก์เสียภาษีได้อย่างกว้างขวาง ศาลฎีกาเห็นว่า กรณีนี้จำเลยได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ในประเด็นที่โจทก์อุทธรณ์การประเมินของเจ้าพนักงานประเมิน โดยให้โจทก์เสียภาษีแต่เพียง ๗๐,๒๐๐.๒๘ บาท โดยเจ้าพนักงานประเมินคำนวณราคาขายยางเป็นเงินตราต่างประเทศมากเกินไป จึงคิดค่าเสียเงินตราต่างประเทศไม่ถูกต้อง เป็นเหตุให้ประเมินภาษีในส่วนนี้มากเกินไป คำวินิจฉัยของจำเลยในส่วนนี้เป็นถูกต้องชอบด้วยอำนาจและหน้าที่ในการวินิจฉัยอุทธรณ์แล้ว แต่ปรากฎจากคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยเองต่อไปอีกว่า “แต่เพราะเหตุว่า กรมสรรพากรได้ตรวจสอบในประเด็นอื่น ซึ่งปรากฎว่าได้ยอดราคาขายเพิ่มขึ้นอีก ๑๒,๖๗๑,๘๕๔.๖๐ บาท จึงเรียกเก็บภาษีได้อีกเป็นเงิน ๒,๕๒๗,๙๕๓.๕๒ บาท ” ในพ.ศ.๒๔๙๔ และอีกจำนวนหนึ่งใน พ.ศ.๒๔๙๕ จำเลยจึงวินิจฉัยให้โจทก์เสียภาษีในราคาขายซึ่งเจ้าพนักงานประเมินยังมิได้ประเมินเรียกเก็บ ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยเป็นแต่ผู้มีอำนาจวินิจฉัยอุทธรณ์ มิได้เป็นเจ้าพนักงานประเมินซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้ง ข้อนี้เป็นยุติโดยไม่มีข้อโต้แย้ง ตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๑๙
เจ้าพนักงานประเมินเป็นเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจหน้าที่ในการไต่สวนผู้ยื่นรายการและให้แสดงหลักฐานแล้วสั่งแก้จำนวนเงินที่ประเมินหรือที่ยื่นรายการไว้โดยอาศัยพยานหลักฐานที่ปรากฎและแจ้งจำนวนเงินที่ต้องชำระอีกไปยังผู้ต้องเสียภาษีตามมาตรา ๒๐ ในกรณีนี้จะอุทธรณ์การประเมินก็ได้ กฎหมายบัญญัติวางวิธีการไว้ให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติเป็นลำดับ โดยให้โอกาสผู้เสียภาษีได้ชี้แจงแสดงหลักฐานและอุทธรณ์โต้แย้งได้เป็นชั้น ๆ ดังนี้ จำเลยจะวินิจฉัยอุทธรณ์ในประเด็นอื่นที่เจ้าพนักงานประเมินมิได้มีคำสั่งไว้ตามมาตรา ๑๙,๒๐ ย่อมไม่เป็นการปฏิบัติตามที่กฎหมายได้บัญญัติไว้ จำเลยไม่มีอำนาจวินิจฉัยให้โจทก์เสียภาษีเช่นนั้นได้ ฯลฯ
ศาลฎีกาพิพากษายืน.

Share