แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โรงงานสีครั่งและผลิตครั่งบริสุทธิ์ ใช้ยาเคมีละลายกับน้ำทำการล้างครั่งทั้งกลางวันและกลางคืน ส่งกลิ่นเหม็นอันเป็นอันตรายแก่อนามัย และทำให้ผู้อยู่บ้านใกล้เคียงเดือดร้อนรำคาญ เจ้าของโรงงานย่อมต้องรับผิดฐานละเมิดต่อผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนรำคาญ
ย่อยาว
สำนวนแรกโจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงเดือนธันวาคมพ.ศ. 2497 จำเลยดัดแปลงเครื่องจักรของโรงสีข้าวจากการสีข้าวเป็นสีครั่งและผลิตครั่งบริสุทธิ์ โดยมิได้รับอนุญาตตามกฎหมายและใช้น้ำยาเคมีละลายล้างครั่ง เทน้ำละลายครั่งปนน้ำยาเคมีลงในสระหนองในบริเวณโรงสีด้วยความประมาทเลินเล่อจำเลยปล่อยให้น้ำละลายครั่งปนน้ำยาเคมีซึ่งมีพิษร้ายเอ่อล้นข้ามตรอกทางเดิน ซึ่งคั่นระหว่างที่ดินของโจทก์และโรงสีข้าวท่วมบ่อสระ และที่ดินของโจทก์ทั้งสองผู้เป็นสามีภริยากัน เป็นเหตุให้โจทก์และครอบครัวได้รับความเสียหาย คือ
1. ต้องสำลักความฉุนของไอเคมีและกลิ่นเน่าเหม็นของน้ำครั่งทำให้แสบตา แสบจมูก แสบคอ และเจ็บอกทำให้จิตใจอนามัยทรุดโทรมปราศจากความสุขสบายในการกินอยู่และการประกอบการงานคิดค่าเสียหาย 7,500 บาท
2. โจทก์ทั้งสองต้องเจ็บป่วย 1 เดือน สิ้นค่ารักษาพยาบาลรวม1,000 บาท
3. ขาดการประกอบอาชีพตามปกติ 5 เดือน เสียรายได้ 2,500 บาท
4. ปลาที่เลี้ยงในบ่อตาย และใช้น้ำรดพืชผักไม่ได้ เสียหาย1,000 บาท
5. บ่อน้ำใช้รับประทานไม่ได้ เสียหาย 3,000 บาท ขอให้ใช้ค่าสินไหมทดแทน รวม 15,000 บาท กับดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งนับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
สำนวนหลังโจทก์บรรยายฟ้องอย่างเดียวกับสำนวนก่อน และว่าทำให้เกิดความเสียหาย คือ
1. สำลักไอเคมีซึ่งฉุนจัด และรับกลิ่นเน่าเหม็นทำให้แสบตา แสบจมูก แสบคอ เจ็บอก อยู่กินและทำการงานตามปกติไม่ได้ ทำให้จิตใจและอนามัยทรุดโทรม คิดค่าเสียหาย 10,000 บาท
2. โจทก์ไปขุดดินถมคันเพื่อป้องกันการไหลเอ่อล้น ต้องเจ็บป่วยอีก 1 เดือน เสียค่ารักษาพยาบาล 500 บาท
3. ขาดการประกอบอาชีพตามปกติ 5 เดือน เสียรายได้ 2,500 บาท
4. ปลาที่เลี้ยงในบ่อตาย ใช้น้ำรดพืชผักไม่ได้ เสียหาย 10,000 บาท
5. พืชผักและหญ้าคาตาย เสียหายเป็นเงิน 2,000 บาท
ขอให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทน รวม 25,000 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ย ให้จำเลยระงับการก่อความรำคาญด้วย
จำเลยให้การต่อสู้ทั้งสองสำนวนทำนองเดียวกันว่า จำเลยล้างครั่งมายังไม่ถึง 4 เดือน ตัวยยาเคมีที่ใช้ไม่ใช่ของอันตรายมีพิษ น้ำล้างครั่งไหลตามรางน้ำลงสู่บ่อและหลุมรับน้ำที่ขุดในบริเวณโรงสี จำเลยไม่ได้ปล่อยให้น้ำดังกล่าวไหลเอ่อล้นข้ามตรอกทางเดิน หากแต่เป็นเพราะน้ำนองท่วมทุกแห่งตลอดทั้งตรอกนี้ด้วย เป็นเหตุสุดวิสัยที่จำเลยจะป้องกันเองได้ ทั้งตรอกทางเดินและที่ของโจทก์อยู่ระในดับต่ำกว่าที่โรงสีของจำเลย หากมีความเสียหายเกิดขึ้นก็ไม่เป็นผลที่จำเลยจะต้องรับผิด จำนวนความเสียหายแต่ละรายนั้นไม่เป็นความจริง และเป็นข้อหาที่ไม่ได้แสดงชัดแจ้ง
ศาลชั้นต้นพิจารณาตั้งประเด็น ดังนี้
1. จำเลยปล่อยน้ำละลายครั่งปนน้ำยาเคมี ซึ่งมีพิษร้ายเอ่อล้นข้ามถนนผ่านที่ของโจทก์โดยประมาทเลินเล่อ หรือว่าเป็นเหตุสุดวิสัยเพราะน้ำท่วม
2. การที่จำเลยปล่อยน้ำดังกล่าวท่วมที่ของโจทก์ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายหรือไม่ และ
3. จำนวนค่าเสียหาย
ศาลชั้นต้นพิจารณาประเด็นข้อแรกฟังข้อเท็จจริงว่า น้ำยาล้างครั่งไปเข้าที่ดินของโจทก์คราวเดียว เพราะเหตุน้ำนองทั่วไปเป็นเหตุการณ์ที่ไม่มีผู้ใดอาจป้องกันได้ จะถือว่าเป็นเพราะจำเลยปล่อยให้เอ่อล้นไหลไปเองโดยความประมาทเลินเล่อหาได้ไม่และไม่มีเหตุที่ศาลจะสั่งระงับได้ตามคำขอของโจทก์ ความเสียหายที่เกิดขึ้นจึงไม่ใช่ผลที่จำเลยจะต้องรับผิด ไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นข้ออื่นต่อไป พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องร้องเรียกค่าสินไหมทดแทนความเสียหายจากจำเลยให้ถูกต้องตามกฎหมายต่อไป
โจทก์ทั้งสองสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิจารณายกคำพยานโจทก์ที่ปรากฏว่า น้ำล้างครั่งไหลข้ามถนนเข้าไปในที่ดินของโจทก์ 2 ครั้ง แสดงให้เห็นว่าน้ำครั่งของจำเลยไม่ใช่ไหลข้ามถนนเข้าไปในที่ของโจทก์เป็นปกติส่อให้เห็นเค้าว่า น่าจะเกิดจากน้ำท่วมดังที่จำเลยนำสืบ คดีจึงน่าเชื่อว่า เหตุที่น้ำล้างครั่งและน้ำยาเคมีของจำเลยเข้าไปในบ่อและที่ดินของโจทก์นั้นเกิดจากน้ำท่วมอันเป็นเหตุสุดวิสัยที่จำเลยไม่สามารถป้องกันได้ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดดังคำชี้ขาดของศาลชั้นต้น
ศาลอุทธรณ์พิเคราะห์รายงานการตรวจสถานที่เกิดเหตุของศาลลงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2498 ว่า “เมื่อลมพัดจากโรงสีมาทางบ้านโจทก์จะได้กลิ่นเหม็นของน้ำครั่ง โจทก์ว่า ถ้าอยู่นาน ๆ จะมีการแสบตา”เห็นว่า กลิ่นเหม็นย่อมเป็นอันตรายแก่อนามัยของโจทก์และทำให้โจทก์เดือดร้อนรำคาญ เมื่อจำเลยปล่อยให้มีกลิ่นเหม็นเข้าไปในบ้านโจทก์จำเลยก็ต้องรับผิดฐานทำละเมิดต่อโจทก์ แม้โจทก์นำสืบถึงค่าเสียหายเป็นจำนวนเงินแน่นอนไม่ได้ ศาลก็กำหนดให้จำเลยใช้ค่าเสียหายได้ตามจำนวนที่ศาลเห็นสมควรแก่พฤติการณ์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 444 ศาลอุทธรณ์เห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์แต่ละคน ๆ ละ 200 บาท ส่วนคำขอตามฟ้องเดิมของโจทก์ในสำนวนที่ 2 ซึ่งขอให้จัดการระงับความรำคาญนั้นโจทก์มิได้มีคำขอในเรื่องนี้ในคำฟ้องอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์จึงไม่รับวินิจฉัย จึงพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์คนละ 200 บาท นอกจากที่แก้นี้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกาว่า น้ำล้างครั่งและกลิ่นเหม็นไปทางบ้านโจทก์ มิใช่เกิดจากการที่จำเลยปล่อยหรือประมาทเลินเล่ออย่างใด จำเลยยังไม่ควรต้องรับผิด และจำเลยยื่นคำร้องขออ้างบันทึกของนายปทิวแพทย์ซึ่งได้ทำการบันทึกอาการเจ็บป่วยของโจทก์ไว้ด้วย
ศาลฎีกาประชุมปรึกษาคดีแล้ว คดีขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะเรื่องกลิ่นเหม็นไปทางบ้านโจทก์นั้น เกิดจากการที่จำเลยปล่อยหรือประมาทเลินเล่ออย่างใด ปรากฏว่า บริเวณบ้านโจทก์ทั้งสองอยู่ติดต่อกันมีถนนคั่นระหว่างบริเวณบ้านโจทก์กับบริเวณโรงสีจำเลย ติดถนนข้างโรงสีมีบ่อน้ำครั่งขังอยู่ตามคำพยานโจทก์ ปรากฏว่าจำเลยใช้ยาเคมีละลายกับน้ำ ทำการล้างครั่งทั้งกลางวันกลางคืน น้ำยาที่ล้างค้างอยู่ย่อมส่งกลิ่นเหม็นไปทั่วบริเวณข้างเคียง เมื่อลดพัดไปทางบ้านใครบ้านนั้นย่อมได้รับความเดือดร้อนในเรื่องกลิ่นนี้ตามรายงานของศาลปรากฏชัดว่า เมื่อลดพัดจากโรงสีมาทางบ้านโจทก์จะได้กลิ่นเหม็นของน้ำครั่ง โจทก์ว่าถ้าอยู่นาน ๆ จะมีอาการแสบตากับโจทก์เบิกความว่า ก่อนศาลไปดูสถานที่เกิดเหตุ มีกลิ่นเหม็นฉุนจัดกว่านี้ ฉะนั้น พวกชาวบ้านข้างเคียงจึงต้องทนสูดกลิ่นอย่างแรงเช่นนี้ เพราะจะหลบไปอยู่ไหนก็ไม่ได้ จนต้องพากันไปร้องต่อผู้ว่าราชการจังหวัด แม้แต่คนงานของจำเลยเองยังป่วยเจ็บเพราะกลิ่นนี้ กลิ่นเหม็นอย่างร้ายแรงเช่นนี้ จำเลยเถียงว่าเพราะน้ำล้างครั่งที่ไหลไปเมื่อน้ำนองเข้าบ้านโจทก์ยังติดค้างอยู่ในบ้านโจทก์ ยังมีกลิ่นเหม็นอยู่ แต่ปรากฏตามรายงานศาลดังกล่าวแล้วว่าเมื่อลมพัดจากโรงสีมาทางบ้านโจทก์จะได้กลิ่นเหม็นของน้ำครั่งดังนี้จะเห็นว่า กลิ่นนี้เป็นกลิ่นปกติจากโรงสีจำเลย เมื่อกระแสลมพัดไปทางบ้านใครก็ย่อมส่งกลิ่นไปทางนั้น โดยเฉพาะบ้านโจทก์ทั้งสองอยู่ใกล้บริเวณบ่อน้ำครั่งของโรงสีจำเลย ย่อมได้รับกลิ่นเหม็นมากกว่าผู้อื่นซึ่งจำเลยเป็นผู้ก่อขึ้นทั้งสิ้น เป็นการทำให้โจทก์เสียหายแก่ร่างกายอนามัย ซึ่งจำเลยจะต้องรับผิดฐานละเมิดทั้งสิ้น แต่โจทก์สืบถึงจำนวนค่าเสียหายได้ไม่แน่นอน จำเลยก็ยังต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 444 ซึ่งศาลจะกำหนดให้ตามสมควร เมื่อพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์ต่าง ๆ ดังกล่าวแล้วเห็นว่า ศาลอุทธรณ์กำหนดให้จำเลยใช้ค่าเสียหายให้โจทก์คนละ 200 บาทและไม่สั่งระงับความรำคาญด้วยนั้น โจทก์ไม่ฎีกาขึ้นมา ย่อมเป็นผลดีแก่จำเลยอยู่มากแล้ว ความผาสุกในร่างกายและอนามัยของประชาชนเป็นอภิสิทธิ์อันสูง ย่อมได้รับความคุ้มครองป้องกันตามกฎหมายที่จำเลยยื่นคำร้องขออ้างบันทึกของแพทย์เป็นพยานประกอบชั้นพิจารณาของศาลฎีกานั้น เห็นว่าไม่อาจทำให้การวินิจฉัยผันแปรเป็นอย่างอื่นได้ จึงให้ยกเสีย
เหตุฉะนี้ ศาลฎีกาจึงพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น ให้ยกเสีย ให้จำเลยเสียค่าทนายความชั้นฎีกาแทนโจทก์สำนวนละ 25 บาท