คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6270-6271/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ที่ดินของโจทก์ทั้งสองและจำเลยเป็นที่ดินแปลงเดียวกันมาก่อน ต่อมามีการแบ่งแยกที่ดินเป็นเหตุให้ที่ดินของโจทก์ทั้งสองไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะส่วนที่ดินของจำเลยอยู่ติดถนนและอยู่ด้านหน้าที่ดินของโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองจึงเรียกร้องที่ดินของจำเลยให้เป็นทางจำเป็นแก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสองได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1350 แม้โจทก์ทั้งสองจะไม่เคยยกข้อต่อสู้เรื่องทางจำเป็นในคดีที่จำเลยฟ้องโจทก์ทั้งสองปลูกโรงเรือนรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของจำเลยก็ตาม ก็หาทำให้ทางจำเป็นซึ่งเป็นผลโดยกฎหมายเสียไปไม่
การสร้างอาคารพาณิชย์หรือตึกแถวต้องเว้นที่ว่างด้านหน้าอาคารพาณิชย์หรือตึกแถวไม่น้อยกว่า 6 เมตรตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295(ว่าด้วยกฎหมายเกี่ยวกับทางหลวง) แสดงว่าผู้ซื้อที่ดินและอาคารพาณิชย์ดังกล่าวจาก ว. และ ช. ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินเดิมสามารถใช้ที่ดินของจำเลยที่เหลือจากการแบ่งแยก ซึ่งเป็นที่ดินที่เว้นไว้ห่างหน้าอาคารพาณิชย์ 6 เมตร ตามกฎหมาย โดยไม่ต้องขออนุญาตจากผู้ใดและไม่ใช่เป็นการใช้ที่ดินดังกล่าวออกสู่ทางสาธารณะโดยถือวิสาสะด้วย เมื่อโจทก์ทั้งสองซื้อที่ดินและอาคารพาณิชย์ดังกล่าวจึงสามารถใช้ที่ดินออกสู่ทางสาธารณะ เมื่อโจทก์ที่ 1 ได้รับโอนที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์มาเมื่อกลางปี 2525 ส่วนจำเลยได้รับโอนที่ดินมาเมื่อปลายปี 2535 จึงฟังได้ว่าโจทก์ที่ 1 ใช้ที่ดินของจำเลยเป็นทางออกสู่ทางสาธารณะเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี ก่อนที่จำเลยจะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวแล้ว ที่ดินของจำเลยจึงตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ที่ 1 สำหรับโจทก์ที่ 2 รับโอนที่ดินมาในปี 2526 และ2527 แม้คำนวณระยะเวลาถึงวันที่จำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินยังไม่ถึง 10 ปี แต่เมื่อนับถึงปี 2538 ที่จำเลยปิดกั้นไม่ให้ใช้เป็นทางออกสู่ทางสาธารณะแล้วเป็นระยะเวลาเกิน 10 ปี ที่ดินของจำเลยจึงตกเป็นทางภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ที่ 2 ด้วย
การที่จำเลยปิดกั้นที่ดินมิให้โจทก์ที่ 2 ใช้เป็นทางออกสู่ทางสาธารณะย่อมทำให้โจทก์ที่ 2 เสียหายเพราะโจทก์ที่ 2 ค้าขายวัสดุก่อสร้าง จึงมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยได้ ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายส่วนนี้เดือนละ 10,000 บาท โดยคำนึงถึงการใช้ที่ดินของจำเลยเป็นทางออกสู่ทางสาธารณะด้วย จึงนับว่าเหมาะสมแล้ว

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันโดยให้เรียกโจทก์สำนวนแรกว่าโจทก์ที่ 1 เรียกโจทก์สำนวนที่สองว่า โจทก์ที่ 2และเรียกจำเลยทั้งสองสำนวนว่าจำเลย

โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องเป็นใจความว่า โจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 60087 และ 60088 พร้อมอาคารพาณิชย์ เลขที่ 14/77-79 โจทก์ที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินตามโฉนดเลขที่ 60092, 65757 และ 65758 พร้อมอาคารพาณิชย์เลขที่ 14/83-85 ส่วนจำเลยเป็นเจ้าของที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 3711เดิมที่ดินทั้งหกแปลงดังกล่าวเป็นที่ดินแปลงเดียวกัน โดยเป็นกรรมสิทธิ์ของนายหวาด แสงบำรุง ตามโฉนดที่ดินเลขที่ 3711 ซึ่งอยู่ติดถนนสายธนบุรี-ปากท่อ หรือถนนพระราม 2 อันเป็นทางสาธารณะ เมื่อเดือนมีนาคม 2525 นายหวาดร่วมกับนายวิชิต เพชรดำรงค์สกุล ได้แบ่งแยกที่ดินดังกล่าวออกเป็นโฉนดที่ดินหลายแปลงและปลูกสร้างอาคารพาณิชย์ออกขาย ที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 3711 ที่เหลือมีความกว้าง6 เมตร ยาวประมาณ 30 เมตร ติดกับถนนสายธนบุรี-ปากท่อ หรือถนนพระราม 2 อันเป็นการแบ่งแยกตามกฎหมายเพื่อให้อาคารพาณิชย์ที่ก่อสร้างต้องอยู่ห่างจากถนนสาธารณะ 6 เมตร ที่ดินของโจทก์ทั้งสองและของบุคคลอื่นที่แบ่งแยกออกมาจากที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 3711 ไม่ติดทางสาธารณะและไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะการแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวเพื่อให้ที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 3711 เป็นทางเข้าออกและใช้สำหรับจอดรถยนต์ของที่ดินโจทก์ทั้งสอง ซึ่งเป็นทางจำเป็นที่ต้องใช้เข้าออกสู่ทางสาธารณะ โจทก์ที่ 1 รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและอาคารพาณิชย์ดังกล่าวเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2525 โจทก์ที่ 2รับโอนกรรมสิทธิ์เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2526 จากนั้น โจทก์ทั้งสองและผู้ซื้อที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์ใช้ที่ดิน โฉนดที่ดินเลขที่ 3711 เป็นทางเข้าออกและใช้จอดรถยนต์กับรถบรรทุกสินค้าโดยความสงบและโดยเปิดเผยเป็นระยะเวลาติดต่อกันเกินกว่า 10 ปี ไม่มีผู้ใดโต้แย้ง ที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 3711 จึงเป็นภารจำยอมของที่ดินดังกล่าวของโจทก์ทั้งสองเดือนกรกฎาคม 2538 จำเลยนำเสาปูนมาตั้งในที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 3711 ต่อมาวันที่ 2 สิงหาคม 2538 จำเลยได้ขุดหลุมในที่ดินบริเวณหน้าอาคารพาณิชย์ของโจทก์ทั้งสองโดยเตรียมเสาปูนและลวดหนามมาและปักเสาปูนล้อมลวดหนามเพื่อปิดกั้นบริเวณหน้าอาคารพาณิชย์กับนำก้อนหินขนาดใหญ่มาเทลงบนที่ดินเพื่อป้องกันมิให้โจทก์ทั้งสองและบุคคลอื่น ๆ ใช้ที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 3711 ออกสู่ทางสาธารณะได้ ทำให้โจทก์ทั้งสองเสียหาย เพราะไม่สามารถออกสู่ทางสาธารณะ จำเลยกระทำการโดยไม่สุจริต และรู้อยู่ว่าที่ดินดังกล่าวเป็นภารจำยอมหรือทางจำเป็นโจทก์ที่ 2 ไม่สามารถประกอบการค้าวัสดุก่อสร้างได้ตามปกติ ขอคิดค่าเสียหายเดือนละ 20,000 บาท ขอให้พิพากษาให้ที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 3711 เนื้อที่ 90 ตารางวา ของจำเลย ตกเป็นทางภารจำยอมหรือทางจำเป็นของที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 60087 และ 60088 ของโจทก์ที่ 1 กับที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 60092, 65757 และ 65758 ของโจทก์ที่ 2 และที่ดินแปลงอื่น ๆที่แบ่งแยกผ่านเป็นทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะได้ ให้จำเลยจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดิน หากจำเลยไม่ดำเนินการให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ห้ามจำเลยและบริวารกระทำการใด ๆอันเป็นการทำให้ทางภารจำยอมหรือทางจำเป็นไม่สามารถใช้ประโยชน์ที่จะนำรถยนต์ออกสู่ทางสาธารณะได้ ให้จำเลยรื้อถอนเสารั้วและปรับพื้นที่ให้เรียบร้อยเพื่อให้เป็นทางภารจำยอมหรือทางจำเป็นโดยสะดวก หากไม่ปฏิบัติตามให้โจทก์ทั้งสองเป็นผู้ดำเนินการรื้อถอนโดยจำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 2 เดือนละ 20,000บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยจะเลิกปิดกั้นและรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างหรือรื้อถอนลวดหนามออกทั้งหมด

จำเลยทั้งสองสำนวนให้การเป็นใจความว่า โจทก์ทั้งสองไม่ใช่เจ้าของผู้ครอบครองที่ดินและอาคารพาณิชย์ตามฟ้อง จำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 3711 โดยซื้อมาจากนายชะเอม กาญจนโสภณและนางจรัญรักษ์ ฐิติพิสุทธิ เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2535 โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน การที่นายหวาด แสงบำรุง กับนายวิชิต เพชรดำรงค์กุลแบ่งแยกที่ดินโดยมีเงื่อนไขใด ๆ ในทางการค้าไม่อาจนำมาผูกพันกับจำเลยซึ่งเป็นบุคคลที่สามและข้อตกลงนั้นไม่ได้ทำสัญญาและจดทะเบียนไว้โจทก์ทั้งสองไม่ได้ใช้ที่ดินของจำเลยโดยความสงบและโดยเปิดเผยเป็นเวลากว่า 10 ปี เพราะผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินของจำเลยก่อนจำเลยได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสองตลอดมา โจทก์ทั้งสองใช้สิทธิเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด และที่ดินของโจทก์ทั้งสองมีทางออกสู่ทางสาธารณะที่ดินของจำเลยไม่ตกเป็นภารจำยอมและทางจำเป็น จำเลยปักเสาลงในที่ดินของจำเลยเป็นการแสดงกรรมสิทธิ์และเขตพื้นที่ดินของจำเลยเป็นการกระทำโดยสุจริต ไม่ได้ปิดทางเข้าออกโจทก์ที่ 2 ยังสามารถขนย้ายวัสดุก่อสร้างให้ลูกค้าได้ตามปกติ โจทก์ที่ 2 ไม่ได้รับความเสียหายหากเสียหายก็ไม่เกินเดือนละ 500 บาท

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 3711 เป็นทางจำเป็นและทางภารจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ที่ 1 โฉนดที่ดินเลขที่ 60087และ 60088 กับที่ดินของโจทก์ที่ 2 โฉนดที่ดินเลขที่ 60092, 65757 และ65758 เพื่อใช้เป็นถนนผ่านเข้าออกทางสาธารณะได้ ให้จำเลยไปจดทะเบียนให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 3711 ดังกล่าวเป็นทางภารจำยอมแก่ที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 60087 และ 60088 ของโจทก์ที่ 1 และที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 60092, 65757 และ 65758 ของโจทก์ที่ 2 หากไม่ไปให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ห้ามจำเลยและบริวารกระทำการให้ทางจำเป็นและทางภารจำยอมไม่สามารถใช้ประโยชน์ในการนำรถยนต์เข้าออกสู่ทางสาธารณะได้ ให้จำเลยรื้อถอนเสารั้วและปรับสภาพพื้นที่ให้เรียบร้อยเพื่อให้เป็นทางจำเป็นและทางภารจำยอมโดยสะดวก กับให้จำเลยใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ที่ 2 เดือนละ 20,000 บาท นับแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2538 ซึ่งเป็นวันฟ้องจนกว่าจะเลิกปิดกั้นและรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างหรือรื้อลวดหนามออกทั้งหมดคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 3711ของจำเลยตกเป็นทางจำเป็นแก่ที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 60087 และ60088 ของโจทก์ที่ 1 และที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 60092, 65757 และ65758 ของโจทก์ที่ 2 ให้ยกคำขอส่วนที่ให้จำเลยไปจดทะเบียนทางภารจำยอมต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย กับให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 2 เดือนละ 10,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ทั้งสองและจำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาคัดค้านว่า โจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 60087 และ 60088 ซึ่งเป็นที่ตั้งอาคารพาณิชย์เลขที่ 14/77-79 ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.2และ จ.3 โจทก์ที่ 2 เป็นเจ้าของที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 60092, 65757และ 65758 ซึ่งเป็นที่ตั้งอาคารพาณิชย์เลขที่ 14/83-85 ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.9 ถึง จ.11 ส่วนจำเลยเป็นเจ้าของที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 3711 ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.4 เดิมที่ดินของโจทก์ทั้งสองกับจำเลยเป็นที่ดินแปลงเดียวกันตามโฉนดที่ดินเลขที่ 3711 โดยมีนายหวาด แสงบำรุง เป็นเจ้าของและอยู่ติดถนนพระราม 2 ซึ่งเป็นทางสาธารณะ ต่อมานายหวาดร่วมกับนายวิชิต เพชรดำรงค์สกุล แบ่งแยกที่ดินดังกล่าวและโอนขายแก่บุคคลอื่นเป็นเหตุให้ที่ดินของโจทก์ทั้งสองที่ซื้อมาจากการแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ โจทก์ทั้งสองใช้ที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 3711 ที่เหลืออยู่จากการแบ่งแยก ซึ่งอยู่ด้านหน้าที่ดินของโจทก์ทั้งสองและอยู่ติดถนนพระราม 2 เป็นทางออกสู่ถนนพระราม 2 ซึ่งเป็นทางสาธารณะ ต่อมาที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 3711 ดังกล่าว ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย และเมื่อปี 2538 จำเลยได้ปักเสาปูนล้อมรั้วลวดหนามในที่ดินของจำเลยปิดกั้นมิให้โจทก์ทั้งสองเข้าออกสู่ถนนพระราม 2

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า ที่ดินของจำเลยเป็นทางจำเป็นแก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสองหรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่ดินของโจทก์ทั้งสองและจำเลยเป็นที่ดินแปลงเดียวกันมาก่อนโดยอยู่ติดถนนพระราม 2 ซึ่งเป็นทางสาธารณะ ต่อมาเมื่อมีการแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวเป็นเหตุให้ที่ดินของโจทก์ทั้งสองไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะส่วนที่ดินของจำเลยอยู่ติดถนนพระราม 2 และอยู่ด้านหน้าที่ดินของโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองจึงเรียกร้องที่ดินของจำเลยให้เป็นทางจำเป็นแก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสองเป็นทางออกสู่ทางสาธารณะได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1350 แม้โจทก์ทั้งสองจะไม่เคยยกข้อต่อสู้เรื่องทางจำเป็นในคดีที่จำเลยฟ้องโจทก์ทั้งสองกับพวกปลูกโรงเรือนรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของจำเลยเมื่อปี 2536 ก็ตาม ก็หาทำให้ทางจำเป็นซึ่งเป็นผลโดยกฎหมายเสียไปไม่ ที่ดินของจำเลยจึงตกเป็นทางจำเป็นแก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสอง ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น

มีปัญหาต่อไปต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่า ที่ดินของจำเลยตกเป็นทางภารจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสองด้วยหรือไม่ เห็นว่าทางจำเป็นและทางภารจำยอมอาจเป็นได้ในขณะเดียวกัน คดีนี้โจทก์ทั้งสอง นายวิชิต เพชรดำรงค์สกุล เบิกความสอดคล้องต้องกันว่า นายหวาดและนายวิชิตร่วมกันแบ่งแยกที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 3711 และก่อสร้างอาคารพาณิชย์บนที่ดินดังกล่าว ซึ่งจะต้องเว้นที่ดินหน้าอาคารพาณิชย์ให้ห่างจากทางสาธารณะ คือถนนพระราม 2 ประมาณ 6 เมตรตามกฎหมายส่วนนี้จึงเป็นที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 3711 ที่เหลือจากการแบ่งแยกกว้าง6 เมตร ยาว 30 เมตร เพื่อให้ผู้ซื้อที่ดินและอาคารพาณิชย์ดังกล่าวใช้ที่ดินที่เว้นไว้เป็นทางออกสู่ทางสาธารณะ และโจทก์ทั้งสองยังมีนายชัยสิทธิ์ไชยศรีมา ซึ่งรับราชการฝ่ายโยธา สำนักงานเขตจอมทอง มาเบิกความว่าถนนพระราม 2 อยู่ในความรับผิดของกรมทางหลวง การสร้างอาคารพาณิชย์หรือตึกแถวต้องเว้นที่ว่างด้านหน้าอาคารพาณิชย์หรือตึกแถวไม่น้อยกว่า 6 เมตร ตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295 (ว่าด้วยกฎหมายเกี่ยวกับทางหลวง) ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2515 และประกาศกรมทางหลวงที่ 82/2516 เอกสารหมาย จ.20 และ จ.21 มาสนับสนุนอีกโดยจำเลยไม่ได้นำสืบโต้แย้งข้อเท็จจริงให้เห็นเป็นอย่างอื่น แสดงว่าผู้ซื้อที่ดินและอาคารพาณิชย์ดังกล่าวจากนายหวาดและนายวิชิตสามารถใช้ที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 3711 ที่เหลือจากการแบ่งแยกซึ่งเป็นที่ดินที่เว้นไว้ห่างหน้าอาคารพาณิชย์ 6 เมตรตามกฎหมาย โดยไม่ต้องขออนุญาตจากผู้ใดและไม่ใช่เป็นการใช้ที่ดินดังกล่าวออกสู่ทางสาธารณะโดยถือวิสาสะด้วย เมื่อโจทก์ทั้งสองซื้อที่ดินและอาคารพาณิชย์ดังกล่าว จึงสามารถใช้ที่ดินดังกล่าวออกสู่ทางสาธารณะโดยไม่ต้องขออนุญาตผู้ใดและไม่เป็นการใช้โดยถือวิสาสะ ปรากฏว่าโจทก์ที่ 1 ได้รับโอนที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 60087 และ 60088 พร้อมอาคารพาณิชย์บนที่ดินดังกล่าวเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2525 ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.2 และจ.3 ส่วนจำเลยได้รับโอนที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 3711 เมื่อวันที่ 28ธันวาคม 2535 ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ล.1 จึงฟังได้ว่าโจทก์ที่ 1 ใช้ที่ดินของจำเลยเป็นทางออกสู่ทางสาธารณะเป็นเวลาเกินกว่า10 ปี ก่อนที่จำเลยจะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวแล้ว ที่ดินของจำเลยจึงตกเป็นภารจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ที่ 1 ด้วย ส่วนโจทก์ที่ 2ได้รับโอนที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 60092 และ 65757 พร้อมอาคารพาณิชย์บนที่ดินดังกล่าวเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2526 และรับโอนที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 65758 พร้อมอาคารพาณิชย์บนที่ดินดังกล่าวเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2527 ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.9 ถึง จ.11 แม้คำนวณระยะเวลาถึงวันที่จำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวนั้นยังไม่ถึง 10 ปี และหลังจากจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวเคยฟ้องโจทก์ที่ 2 ปลูกโรงเรือนรุกล้ำที่ดินของจำเลยเมื่อปี 2536โดยโจทก์ที่ 2 ไม่ได้ต่อสู้ว่าที่ดินของจำเลยเป็นทางภารจำยอมก็ตาม แต่เมื่อไม่ใช่พิพาทกันเรื่องการใช้ที่ดินของจำเลยเป็นทางออกสู่ทางสาธารณะโจทก์ที่ 2 ย่อมไม่จำต้องต่อสู้ว่าเป็นทางภารจำยอมเพราะเป็นคนละเรื่องกันและก็ไม่อาจถือว่าจำเลยแสดงอาการหวงกันมิให้โจทก์ที่ 2 ใช้ที่ดินของจำเลยเป็นทางออกสู่ทางสาธารณะ จึงฟังได้ว่า หลังจากจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวแล้วไม่ปรากฏว่าเคยหวงกันไม่ให้โจทก์ที่ 2 ใช้ที่ดินของจำเลยออกสู่ทางสาธารณะแต่อย่างใด เมื่อรวมระยะเวลาที่โจทก์ที่ 2ใช้ที่ดินของจำเลยเป็นทางออกสู่ทางสาธารณะ จนถึงปี 2538 ที่จำเลยปิดกั้นไม่ให้ใช้เป็นทางออกสู่ทางสาธารณะแล้วเป็นระยะเวลาเกิน 10 ปีที่ดินของจำเลยจึงตกเป็นทางภารจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ที่ 2 ด้วย ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น

มีปัญหาสุดท้ายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ที่ 2 และจำเลยว่าโจทก์ที่ 2 เสียหายหรือไม่ เพียงใด เห็นว่า การที่จำเลยปิดกั้นที่ดินของจำเลยมิให้โจทก์ที่ 2 ใช้เป็นทางออกสู่ทางสาธารณะย่อมทำให้โจทก์ที่ 2 เสียหายเพราะโจทก์ที่ 2 ค้าขายวัสดุก่อสร้าง จึงมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยได้ สำหรับจำนวนค่าเสียหายนั้น โจทก์ที่ 2 มีเพียงโจทก์ที่ 2 เท่านั้นที่เบิกความว่าโจทก์ที่ 2 เสียหายโดยรายได้จากการค้าขายลดลง คิดค่าเสียหายเดือนละ20,000 บาท แม้จำเลยจะไม่ได้นำสืบโต้แย้งส่วนนี้ แต่เมื่อโจทก์ที่ 2 ไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาประกอบให้รับฟังได้ว่าเสียหายตามจำนวนที่ขอมาจึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ที่ 2 เสียหายเป็นจำนวนดังที่เบิกความ ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายส่วนนี้เดือนละ 10,000 บาท โดยคำนึงถึงการใช้ที่ดินของจำเลยเป็นทางออกสู่ทางสาธารณะด้วย จึงนับว่าเหมาะสมแล้ว ส่วนที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์ที่ 2 เสียหายเพียง 1 เดือนนั้น แม้จะได้ความจากโจทก์ที่ 2เบิกความตอบทนายความจำเลยถามค้านว่า นับแต่วันที่จำเลยปิดกั้นล้อมรั้วลวดหนามถึงวันที่ศาลสั่งรื้อรั้วลวดหนามเป็นเวลา 1 เดือน แต่วันที่จำเลยปิดกั้นล้อมรั้วลวดหนามเป็นวันที่ 2 สิงหาคม 2538 และปรากฏว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้รื้อถอนรั้วตามคำสั่งศาลชั้นต้นแล้ว เมื่อวันที่ 25กันยายน 2538 ตามหนังสือของกรมบังคับคดีลงวันที่ 18 ตุลาคม 2538ในสำนวนที่โจทก์ที่ 2 ฟ้องจำเลย นับระยะเวลาได้ 1 เดือนเศษ แสดงว่าโจทก์ที่ 2 เบิกความโดยกะประมาณว่าเป็นเวลา 1 เดือน ซึ่งต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ได้ความ แต่เมื่อโจทก์ที่ 2 ขอให้จำเลยใช้ค่าเสียหายนับแต่วันฟ้องคือวันที่ 9 สิงหาคม 2538 หลังจากวันที่จำเลยปิดกั้นล้อมรั้วลวดหนาม จึงต้องบังคับไปตามคำขอของโจทก์ที่ 2 เมื่อนับระยะเวลาถึงวันที่มีการรื้อถอนตามคำสั่งศาลชั้นต้นแล้ว เป็นเวลา 1 เดือน 16 วันจำเลย จึงต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 2 เพียง 15,333.33 บาทเท่านั้น ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ที่ 2 ฟังไม่ขึ้น ส่วนฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 3711 ของจำเลยตกเป็นทางภารจำยอมแก่ที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 60087 และ 60088ของโจทก์ที่ 1 และที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 60092, 65757 และ 65758ของโจทก์ที่ 2 ด้วย ให้จำเลยไปจดทะเบียนเป็นทางภารจำยอมแก่ที่ดินดังกล่าวของโจทก์ทั้งสอง หากจำเลยไม่ไปให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย กับให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 2 จำนวน15,333.33 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share