คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 267-268/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อปรากฏว่าค่าเสียหายที่คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์สั่งให้จำเลยชำระแก่โจทก์ ในกรณีเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมแยกเป็นค่าชดเชย ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน 6 เดือน ค่าที่ไม่บอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 1 เดือน และค่าเสียหายเท่ากับระยะเวลาที่คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์พิจารณาคำร้องอีก 3เดือน ประกอบกับตามใบรับเช็คที่โจทก์เซ็นรับก็ระบุว่า โจทก์ยอมรับว่าในค่าเสียหายนั้นมีเงินค่าชดเชยและเงินค่าสินจ้างเนื่องจากเลิกจ้างรวมอยู่ด้วย ดังนี้ ต้องถือว่าโจทก์ได้รับเงินค่าชดเชยไปถูกต้องแล้ว โจทก์ไม่อาจเรียกร้องจากจำเลยอีก

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางรวมพิจารณาพิพากษาโดยเรียกโจทก์สำนวนแรกและสำนวนที่ 2 ว่า โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ตามลำดับ

โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องทำนองเดียวกันว่า โจทก์ที่ 1 ที่ 2 เป็นลูกจ้างประจำของจำเลยแต่ละคนได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 3,000 บาท ทำหน้าที่พนักงานขายและเก็บเงินเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2521 และวันที่ 30 มกราคม2521 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ที่ 1 ที่ 2 โดยไม่มีความผิดและไม่จ่ายค่าชดเชยขอให้ศาลบังคับให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 คนละ18,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยตามกฎหมายนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งสองสำนวนให้การว่า จำเลยได้จ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ที่ 1จำนวน 15,840 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 18,000 บาท แล้ว จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์อีก

ในวันพิจารณาโจทก์ส่งเอกสารบันทึกใบรับเช็ค 2 ฉบับ คำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ สำเนาคำพิพากษาศาลฎีกาอย่างละ 1 ฉบับจำเลยส่งเอกสารบันทึกคำให้การของนายพูลสวัสดิ์ คำให้การจำเลยสำเนาคำพิพากศาลชั้นต้น สำเนาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อย่างละ 1 ฉบับต่อศาลคู่ความแถลงรับกันว่า เอกสารที่โจทก์จำเลยส่งอ้างเป็นพยานเป็นเอกสารที่ถูกต้องแท้จริงและแถลงไม่ติดใจสืบพยานบุคคล

ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า จำเลยได้จ่ายเงินค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานให้แก่โจทก์ทั้งสองแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำนวน

โจทก์ทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ตามคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ 23/2521 ที่ให้จำเลยจ่ายเงินให้แก่โจทก์ทั้งสองนั้น สั่งให้จ่ายเป็นเงินจำนวนเท่ากับอัตราค่าจ้างคนละ 10 เดือน โดยให้โจทก์ที่ 1 ได้รับจำนวน26,400 บาท โจทก์ที่ 2 ได้รับ 30,000 บาท ซึ่งแยกเป็นค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน 6 เดือน ค่าที่ไม่บอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 หนึ่งเดือนและค่าเสียหายเท่ากับระยะเวลาที่คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์พิจารณาคำร้องอีก 3 เดือน ต่อมาจำเลยได้จ่ายเงินให้แก่โจทก์ทั้งสองไปตามคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ในจำนวนเงินดังกล่าวมีเงินค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงานรวมด้วยแล้ว โจทก์ที่ 1 ได้รับค่าชดเชยเป็นจำนวน15,840 บาท โจทก์ที่ 2 ได้รับค่าชดเชยเป็นจำนวน 18,000 บาท นอกจากนั้นตามใบรับเช็คฉบับลงวันที่ 16 กันยายน 2524 รวม 2 ฉบับ ที่โจทก์อ้างส่งศาลก็ได้ระบุข้อความไว้ว่า “ข้าพเจ้ายอมรับว่าเงินค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานและเงินค่าสินจ้างที่บริษัทต้องจ่ายให้ข้าพเจ้าเนื่องจากเลิกจ้างโดยมิได้บอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้รวมอยู่ในค่าเสียหายจำเลยดังกล่าวด้วยแล้ว” ตามบันทึกข้อความดังกล่าวโจทก์ทั้งสองในคดีนี้ได้ลงชื่อรับเงินตามเช็คไปแล้ว แสดงว่าโจทก์ทั้งสองก็ได้ยอมรับว่ามีเงินค่าชดเชยรวมอยู่ในเงินค่าเสียหายจำนวนดังกล่าว ฉะนั้นในเมื่อจำเลยได้จ่ายเงินค่าชดเชยให้โจทก์ทั้งสองรับไปแล้วเช่นนี้ การที่โจทก์ทั้งสองจะยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์อย่างไร หรือคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์จะมีอำนาจสั่งให้จำเลยจ่ายเงินค่าชดเชยหรือไม่ จึงหาใช่ข้อสารสำคัญที่จะต้องนำมาพิจารณาไม่

พิพากษายืน

Share