แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การวินิจฉัยว่า ข้อความตามฟ้องเป็นการใส่ความโจทก์โดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังหรือไม่ เป็นการวินิจฉัยลักษณะของการกระทำมิใช่วินิจฉัยผลแห่งการกระทำ จึงเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่ศาลวินิจฉัยเองได้ โดยพิเคราะห์จากข้อความเหล่านั้นว่ามีความหมายอย่างไร
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษนายจำนงค์จำเลยซึ่งเป็นบรรณาธิการ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา และนายสมพงษ์จำเลยซึ่งเป็นนักข่าว ฐานหมิ่นประมาทโจทก์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326,328, 83 ขอให้ยึดและทำลายหนังสือพิมพ์ฉบับที่ลงข้อความหมิ่นประมาทโจทก์ กับโฆษณาคำพิพากษาด้วย
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วมีคำสั่งให้ประทับฟ้องทั้งสองคดี
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การปฏิเสธ
ในวันสืบพยานโจทก์ จำเลยแถลงรับว่าได้ร่วมกันพิมพ์ข้อความและมีบุคคลที่สามได้อ่านตามที่โจทก์ฟ้องจริง โจทก์จำเลยแถลงรับกันว่า เอกสารตามที่โจทก์จำเลยอ้างมาและที่ส่งศาลไว้แล้วมีข้อความถูกต้องทั้งหมด โจทก์จำเลยไม่สืบพยาน
นายจำนงค์จำเลยคนหนึ่งยื่นคำร้องว่า ฟ้องไม่บรรยายองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ว่าโจทก์ต้องเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังทั้งโจทก์ไม่สืบพยานว่าโจทก์ได้รับความเสียหายประการใดบ้าง โจทก์อาจไม่ใช่ผู้เสียหายขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ฟ้องสมบูรณ์แต่โจทก์มีหน้าที่นำพยานเข้าสืบให้ได้ความว่าโจทก์เสียหายอย่างไร เพราะการที่จะเสียหายหรือไม่บุคคลแต่ละคน แต่ละฐานะ ย่อมแตกต่างไม่เหมือนกัน เป็นปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อโจทก์ไม่สืบพยานในข้อนี้ จึงยังฟังไม่ได้ว่าข้อความที่จำเลยลงพิมพ์โฆษณาเป็นการหมิ่นประมาท พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การกระทำหรือการกล่าวใส่ความน่าจะทำให้ผู้เสียหายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังหรือไม่ย่อมพิจารณาได้จากความหมายของข้อความที่กล่าวนั้นเอง กรณีจึงเป็นปัญหาข้อกฎหมาย โจทก์ไม่ต้องสืบพยานในข้อนี้ และเมื่อพิเคราะห์ข้อความที่จำเลยได้โฆษณาล้วนเป็นข้อความที่น่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามฟ้อง พิพากษากลับ ให้ลงโทษจำคุกและปรับจำเลยทั้งสองส่วนโทษจำคุกให้รอ คำขอของโจทก์ที่ให้ยึดและทำลายหนังสือพิมพ์ตลอดจนให้โฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ ให้ยก
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำคุกจำเลย และให้โฆษณาคำพิพากษาตามขอ
จำเลยฎีกาว่า โจทก์เสียหายหรือไม่ เป็นปัญหาข้อเท็จจริงเมื่อโจทก์ไม่นำสืบไว้ก็ไม่มีข้อเท็จจริงให้ศาลวินิจฉัยว่าโจทก์เป็นผู้เสียหาย ขอให้พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นยกฟ้องโจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ศาลฎีกาวินิจฉัยฎีกาจำเลยว่า ข้อความเกี่ยวกับโจทก์ที่จำเลยนำลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์คู่ความรับกันแล้วว่าเป็นดังที่กล่าวในฟ้อง เหลือปัญหาจะต้องวินิจฉัยแต่เพียงว่า ข้อความตามฟ้องเป็นการใส่ความโจทก์โดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังหรือไม่ ซึ่งเป็นการวินิจฉัยลักษณะของการกระทำ มิใช่วินิจฉัยผลแห่งการกระทำ จึงเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่ศาลวินิจฉัยเองได้ โดยพิเคราะห์จากข้อความเหล่านั้นว่ามีความหมายอย่างไร คดีนี้ศาลฎีกาเห็นว่า เป็นการใส่ความที่น่าจะให้โจทก์ต้องเสียชื่อเสียง โจทก์จึงเป็นผู้เสียหาย เมื่อวินิจฉัยปัญหาอื่นด้วยแล้ว พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยตัดประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 11 ข้อ 2 ออก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์