คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1519-1521/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความตกลงระหว่างคณะกรรมการปรองดองเพื่อพิจารณาไกล่เกลี่ยค่าทดแทนให้แก่เจ้าของทรัพย์เพื่อสร้างทางพิเศษสายดินแดง- ท่าเรือ กับเจ้าของผู้ครอบครอง หรือผู้ทรงสิทธิในอสังหาริมทรัพย์ไม่มีกฎหมายกำหนดว่าจะต้องทำตามแบบอย่างไร การที่คณะกรรมการปรองดองให้ผู้เข้าร่วมประชุมลงชื่อไว้ในบัญชีผู้เข้าประชุมและจดข้อตกลงต่างๆ ไว้ในรายงานการประชุมเป็นหลักฐานถูกต้องตามแบบอย่างทางราชการย่อมใช้บังคับกันได้ หาต้องทำเป็นรูปสัญญาใดๆอีกไม่ คณะกรรมการดังกล่าวเป็นคณะกรรมการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยผู้มีอำนาจหน้าที่กำกับโดยทั่วไปซึ่งกิจการของจำเลยแต่งตั้งขึ้นเพื่อพิจารณาไกล่เกลี่ยค่าทดแทนให้แก่เจ้าของผู้ครอบครองหรือผู้ทรงสิทธิอื่นในอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืน อันเป็นอำนาจหน้าที่ของจำเลย จึงเป็นตัวแทนของจำเลยในกิจการที่กล่าวนั้นด้วย เมื่อคณะกรรมการดังกล่าวได้ทำความตกลงกับโจทก์ยอมให้ค่าเสียหายแก่โจทก์ จำเลยจึงต้องผูกพันตามนั้นจะอ้างระเบียบภายในว่าความตกลงดังกล่าวต้องได้รับอนุญาตจากผู้ว่าการหรือคณะกรรมการของจำเลยแล้วแต่กรณีก่อนมาปฏิเสธความผูกพันโดยไม่มีข้อความเช่นนั้นเป็นเงื่อนไขในข้อตกลงหาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เป็นเจ้าของผู้ครอบครองหรือทรงสิทธิอาคารตึกแถวสามชั้นซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 3197 ถนนเพลินจิตต์ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร จำเลยเป็นนิติบุคคลตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 290 เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2517 มีประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดให้การทางพิเศษสายดินแดง – ท่าเรือ เป็นทางพิเศษที่จะสร้างโดยเร่งด่วน และได้ตราพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตพญาไท เขตปทุมวัน เขตพระโขนง และยานนาวา กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2517 ออกใช้บังคับ ปรากฏว่าทางพิเศษสายดินแดง – ท่าเรือ สร้างผ่านที่ดินโฉนดเลขที่ 3197 ซึ่งเป็นที่ตั้งตึกแถวดังกล่าวของโจทก์ทั้งสาม จำเลยมีหน้าที่จะต้องชดใช้ค่าเสียหายและค่าทดแทนทรัพย์สินของโจทก์ทั้งสามในส่วนที่ถูกเขตทางพิเศษผ่าน ต่อมาวันที่ 18 กรกฎาคม 2520 โจทก์ทั้งสามและจำเลยได้ตกลงกันโดยจำเลยยินยอมใช้ค่าเสียหายและค่าทดแทนแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 160,000 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 105,000 บาท และโจทก์ที่ 3 จำนวน 147,900 บาท ก่อนที่จะเข้าครอบครองหรือรื้อถอนตึกแถวดังกล่าวโจทก์ทั้งสามทวงถามแล้ว จำเลยไม่ยอมชำระ จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาและข้อตกลงที่ทำไว้ ขอให้ศาลบังคับ

จำเลยให้การทำนองเดียวกันว่า โจทก์ทั้งสามไม่มีสิทธิจะได้รับเงินค่าทดแทน จำเลยไม่เคยตกลงยินยอมที่จะจ่ายค่าทดแทนหรือค่าเสียหายให้แก่โจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าทดแทนตามกฎหมาย ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง

โจทก์ทั้งสามยื่นคำร้องขอให้ศาลหมายเรียกนายชวาลเข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต

จำเลยร่วมให้การว่า โจทก์ทั้งสามไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนหรือเรียกเอาจากจำเลยร่วม ขอให้ยกฟ้อง ในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นโจทก์ที่ 3 มรณะนางจินดาพรภริยาโจทก์ที่ 3 เข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นอนุญาต

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสาม

จำเลยทั้งสามสำนวนอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ทั้งสามสำนวนฎีกา

ในปัญหาที่ว่า คณะกรรมการปรองดองเป็นตัวแทนของจำเลยได้ตกลงจ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์ ส่วนจำเลยร่วมก็ได้สัญญาว่าเงินค่าเสียหายดังกล่าวให้จ่ายแก่โจทก์ทั้งสาม จำเลยและจำเลยร่วมจึงต้องรับผิดจ่าค่าเสียหายแก่โจทก์ตามฟ้องนั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อนี้ได้ความตามที่คู่ความนำสืบรับกันว่าเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2520 กระทรวงมหาดไทยได้มีคำสั่งที่ 110/2520แต่งตั้งคณะกรรมการปรองดองเพื่อพิจารณาไกล่เกลี่ยค่าทดแทนให้แก่เจ้าของทรัพย์สินเพื่อสร้างทางพิเศษสายดินแดง – ท่าเรือ ขึ้นประกอบด้วยนายปรีดี จันทรวิทุร หัวหน้าหน่วยงานประเมินราคา การทางพิเศษแห่งประเทศไทย นายบัญชา วิสุทธิพงศ์ เจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร และหัวหน้าเขตที่ทางผ่านโดยสำหรับเขตปทุมวัน คือนายประเจียด สกุลวงศ์ หัวหน้าเขต คณะกรรมการดังกล่าวได้ตกลงให้นายปรีดี จันทรวิทุร เป็นประธานกรรมการวันที่ 18 กรกฎาคม 2520 ได้มีการประชุมคณะกรรมการดังกล่าวเพื่อพิจารณาค่าทดแทนทรัพย์สินของผู้ที่ถูกทางพิเศษ โจทก์ทั้งสามและจำเลยร่วมได้รับเชิญให้เข้าร่วมประชุมและได้เข้าร่วมประชุมด้วย ผู้เข้าร่วมประชุมได้ลงชื่อไว้ในบัญชีผู้เข้าร่วมประชุมตามเอกสารหมาย จ.5 และมีการจดรายงานการประชุมไว้ตามเอกสารหมาย จ.6 เฉพาะที่เกี่ยวกับข้อนี้จดไว้ว่า “ประธานฯ ได้เสนอว่า เงินช่วยค่าก่อสร้างที่ผู้เช่าเสียไปเพื่อให้ได้รับสิทธิการเช่าตึกแถวดังกล่าว มีกำหนดระยะเวลา 10 ปีนั้น จะได้ติดต่อบริษัทก่อสร้างตึกแถวเพื่อทราบข้อเท็จจริงด้วย แต่เนื่องจากผู้เช่าจำต้องออกจากตึกแถวที่เช่าก่อนสัญญาเช่าระงับ เห็นว่า ผู้เช่าควรจะมีสิทธิได้รับค่าเสียหาย โดยคิดจากระยะเวลาเช่า 10 ปี ต้องเสียเงิน 175,000 บาท ซึ่งเท่ากับเสียค่าเช่าปีละ 17,500 บาท ถ้าหากผู้เช่ายังเหลือระยะเวลาเช่าอีกเท่าใดก็ให้คิดค่าเสียหายตามส่วนของระยะเวลาเช่าที่เหลือของแต่ละราย นายชวาล แพรัตนกุล และผู้เช่าพอใจในหลักการนี้โดยขอให้ การทางพิเศษแห่งประเทศไทยดำเนินการต่อไป” เห็นว่า แม้ข้อความที่จดไว้มีว่าประธานกรรมการปรองดองเป็นผู้เสนอก็ตาม แต่นายปรีดี จันทรวิทุร ประธานกรรมการเบิกความเป็นพยานโจทก์ว่า ผลการประชุมที่ออกมาตามเอกสารหมาย จ.6 ต้องมีการถกเถียงและสรุปผลออกมาเป็นรายงานการประชุม และนายบัญชา วิสุทธิพงศ์ กรรมการคนหนึ่งเบิกความเป็นพยานโจทก์ว่า พยานมีความเห็นว่ากรรมการตกลงกันตามนี้ จึงฟังได้ว่าการเสนอและตกลงกับโจทก์ดังกล่าวเป็นการกระทำของคณะกรรมการปรองดองนั่นเอง ความตกลงระหว่างกรรมการปรองดองกับเจ้าของผู้ครอบครองหรือผู้ทรงสิทธิในอสังหาริมทรัพย์ไม่มีกฎหมายกำหนดว่าจะต้องทำตามแบบอย่างไร การที่คณะกรรมการปรองดองให้ผู้เช่าร่วมประชุมลงชื่อไว้ในบัญชีผู้เข้าประชุมและจดข้อตกลงต่าง ๆ ไว้ในรายงานการประชุมเป็นหลักฐานถูกต้องตามแบบอย่างทางราชการย่อมใช้บังคับกันได้หาต้องทำเป็นรูปสัญญาใด ๆ อีกไม่คณะกรรมการปรองดองเป็นคณะกรรมการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยผู้มีอำนาจหน้าที่กำกับโดยทั่วไปซึ่งกิจการของจำเลยแต่งตั้งขึ้น เพื่อพิจารณาไกล่เกลี่ยค่าทดแทนให้แก่เจ้าของผู้ครอบครองหรือผู้ทรงสิทธิอื่นในอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนอันเป็นอำนาจหน้าที่ของจำเลย คณะกรรมการปรองดองดังกล่าวจึงเป็นตัวแทนของการทางพิเศษแห่งประเทศไทยจำเลยในกิจการที่กล่าวนั้นด้วย เมื่อคณะกรรมการปรองดองให้ทำความตกลงกับโจทก์ยอมให้ค่าเสียหายแก่โจทก์ จำเลยจึงต้องผูกพันตามนั้น จะอ้างระเบียบภายในว่าความตกลงดังกล่าวต้องได้รับอนุมัติจากผู้ว่าการหรือคณะกรรมการของจำเลยแล้วแต่กรณีก่อนมาปฏิเสธความผูกพันโดยไม่มีข้อความเช่นนั้นเป็นเงื่อนไขในข้อตกลงหาได้ไม่

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน92,458.25 บาท แก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 76,856.13 บาท และแก่โจทก์ที่ 3เป็นเงิน 147,900 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ย

Share